“ข้าวหม้อดินคนเมือง” ที่ชุมชนสันติอโศก
เริ่มอีกครั้งหนึ่งแล้ว “ข้าวหม้อดิน” ที่ชุมชนสันติอโศก และเป็น “ข้าวกล้องงอก” ที่มากคุณค่าอีกด้วย ห่างหายไปนานในช่วงเทศกาลเจ ที่ทุกคนต่างไปรวมแรงรวมใจกันที่ศูนย์มังสวิรัติ คราวนี้ลงตัวกว่าเดิมทั้งเรื่องสถานที่และทีมงาน
การหุงข้าวด้วยหม้อดิน เป็นกิจกรรมที่เริ่มจากการดำริของ สมณะจันทเสฏโฐ (ท่านจันทร์) และเหตุจากมีญาติธรรมหญิงผู้หนึ่งนำข้าวกล้องที่หุงด้วยหม้อดินห่อใบตองมาขึ้นศาลาฯ ถวายนักบวชอยู่เป็นประจำมานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว เป็นที่น่าอนุโมทนา
ชาวชุมชนฯ เห็นสอดคล้องกับ “ท่านจันทร์” จึงช่วยกันตั้งกลุ่มทำกิจกรรม หุงข้าวกล้องงอกด้วยข้าวหม้อดิน ขึ้นศาลาฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๘ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันแม้จะมีเหตุปัจจัยทำให้ต้องหยุดไประยะหนึ่งดังกล่าว แต่ด้วยความที่ต่างเห็นคุณค่าประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพและจิตวิญญาณ ชาวชุมชนฯ คนวัดและญาติธรรมจึงแวะเวียนกันมาช่วยในส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่เก็บฟืน, ติดไฟ, เก็บใบเตยมาล้างให้สะอาดและช่วยกันหุง เมื่อเสร็จแล้วก็นำไปส่งที่ศาลาส่วนกลาง ซึ่งเป็นที่ฉันอาหารและรับประทานอาหารร่วมกัน
การใช้ “ข้าวกล้องงอก” มาหุงในหม้อดินนั้น อาดอกบัวน้อย บอกว่าจะทำให้ข้าวสุกเร็วและนุ่ม ทานง่ายขึ้น ย่อยก็ง่าย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พวกเราที่ได้รับประทานกันแล้ว นอกจากนี้อาดอกบัวน้อยยังคอยนำน้ำด่างมาเตรียมไว้ให้ใช้ในการหุงด้วย สำหรับวิธีเพาะข้าวกล้องงอกนั้น อาดอกบัวน้อยผู้ทำหน้าที่นี้ได้บอกขั้นตอนวิธีทำ ดังนี้
๑. แช่ข้าวกล้องปริมาณเท่าที่ต้องการ นาน ๔ ชั่วโมง
๒. เทน้ำออกแล้วปิดฝาไว้ นาน ๖ ชั่วโมง
๓. นำไปล้างน้ำ ๑ ครั้ง เทน้ำออกแล้วปิดฝาไว้อีก ๑๔ ชั่วโมง
๔. เมื่อเปิดดูจะเห็นจมูกข้าวงอกออกมา นำไปหุงได้เลยหรือจะล้างน้ำอีกครั้งก็ได้
ส่วนผู้ที่หุงข้าวฯ เป็นหลัก ก็คือ คุณป้ากุลนที น้อมในธรรม มีผู้ช่วยหลายท่าน เช่น คุณลุงวิรัติ อัตตสัมพันธ์ (เสื้อสีเหลือง), คุณเอี่ยม มานะโทน (เสื้อสีเขียว), คุณลุงเอ๋ (สขจ.), อาหนู (สขจ), คุณป้าดารา เป็นต้น โดยเริ่มหุงเวลาประมาณ ๐๕.๓๐ – ๐๖.๐๐ น.
ใช้ “เตาอั้งโล่” และใช้ไม้ฟืนที่หาได้ในชุมชนฯ แต่ก็ทำให้เกิดควันไม่น้อย เรื่องนี้จึงทำให้ คุณเลื่อนผา ทรรพวสุ (คุณโต้ง) ได้ศึกษาคิดค้นและประดิษฐ์ “เตาไร้ควัน” จากถังแก๊ซปิคนิค หัวถังแก๊ซบ้าน ถังดับเพลิง ซึ่งยังอยู่ในขั้นทดลอง ยังต้องปรับปรุงอยู่อีกเพราะเพิ่งทำครั้งแรก ดูออกจะมีหน้าตาแปลกแต่ก็แทบไม่มีควันเลย เนื่องจากอากาศจะหมุนเวียนทำการเผาไหม้อยู่ภายในปล่องเตาตอนล่าง และคุณโต้งบอกว่าไม่คิดทำขายเมื่อมีผู้ถามถึง ตั้งใจทำให้ใช้กันในชุมชนฯ เท่านั้น
คุณป้ากุลนที น้อมในธรรม ผู้เป็นหลักในกิจกรรมหุงข้าวฯ กล่าวว่ารู้สึกยินดีเต็มใจที่ได้มาช่วยงานฐานนี้ เพราะ
ประการแรก เพื่ออนุรักษ์วัฒธรรมไทยไว้ให้เด็กรุ่นหลังรับรู้ว่าเมื่อไม่มีเทคโนโลยีแล้วจะหุงข้าวได้อย่างไร? คนไทยสมัยก่อนหุงข้าวอย่างไร? ไม่ใช่รู้จักแต่หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
ประการต่อมา เด็กจะได้ไม่ถูกครอบงำจากสังคมทุนนิยมจนไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย
และประการสุดท้ายเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ อยากจะให้เกิดสิ่งดี ๆ ในสังคม ให้ได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบไทย ๆ ให้มีสุขภาพที่ดีเนื่องจากข้าวหม้อดินที่หุงนี้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ตั้งแต่ใช้ข้าวไร้สารพิษและหุงด้วยเตาฟืน
จึงยินดีเต็มใจที่ได้เป็นผู้หุงข้าวหม้อดินฯ ถวายนักบวชและเพื่อผู้ปฏิบัติธรรมตลอดจนถึงญาติธรรมทั่วไป
ส่วนขั้นตอนในการหุงข้าวกล้องงอกด้วยข้าวหม้อดิน (หม้อขนาด ๒๖ ซ.ม.) มีดังนี้
๑. ติดไฟด้วยฟืน คะเนว่าไฟติดไม้ฟืนแล้ว
๒. ใส่ข้าวกล้องงอกลงในหม้อดินประมาณ ๑.๕ – ๒ กิโลกรัม
๓. เติมน้ำจนท่วมข้าวประมาณ ๑ องคุลี ยกหม้อขึ้นตั้งบนเตา ระวังอย่าใส่น้ำมากเกินไปเพราะข้าวกล้องงอกมีความอิ่มตัวอยู่แล้ว
๔. นำใบเตยมาล้างให้สะอาดพันกันให้พอแน่นดี ใส่ลงในหม้อข้าว ใช้ใบเตยสัก ๓ – ๔ ใบต่อ ๑ หม้อ เพื่อให้ข้าวมีกลิ่นหอมใบเตยอ่อน ๆ นอกจากนี้น้ำใบเตยยังมีสรรพคุณบำรุงหัวใจอีกด้วย
๕. ปิดฝาและคอยเลี้ยงไฟให้สม่ำเสมอ
๕. รอจนน้ำข้าวเดือดปุด ๆ จึงเปิดฝาแล้วคนเป็นระยะเพื่อไม่ให้ข้าวติดก้นหม้อ แล้วเหยาะน้ำมันมะพร้าวลงไปประมาณ ๑ ช้อนโต๊ะ ต่อ ๑ หม้อ เพราะนอกจากจะได้เพิ่มประโยชน์จากน้ำมันมะพร้าวแล้วยังทำให้เมล็ดข้าวดูน่ารับประทานด้วย รออีกสักครู่จนข้าวสุกดี เปิดฝาดูจะเห็นน้ำข้าวงวดแล้ว
๖. ราไฟ แล้วเช็ดรอบ ๆ หม้อด้วยผ้าชุบน้ำมันมะพร้าว เพื่อให้ผิวหม้อดำเป็นมันวาว สะอาดปราศจากคราบน้ำข้าว ทั้งมือไม่เปื้อนเขม่าด้วย
๘. ดงข้าว เพื่อกระจายความร้อน ขั้นตอนนี้ต้องระวังข้าวไหม้ก้นหม้อด้วย
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง หุงวันละ ๓ – ๔ หม้อ หากวันไหนที่พ่อท่านและคณะปัจฉาสมณะอยู่ก็จะหุงถวายเพิ่มอีก ๑ หม้อ
ข้าวกล้องงอกที่หุงสุกแล้ว จะเห็นว่ามีรูระบายอากาศแสดงว่าข้าวสุกทั่วถึงดี เตรียมลำเลียงไปที่ศาลาส่วนกลาง เวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น.
คุณป้ากุลนทีและทีมงานใส่ใจและประณีตกับกิจกรรมนี้มาก ทำให้เห็นบรรยากาศที่ลงตัว ไม่รีบเร่ง เห็นความร่วมไม้ร่วมมือกัน เป็นบรรยากาศแบบไทย ๆ ในหมู่ญาติพี่น้องและเป็นมุมหนึ่งในชุมชนคนเมืองอย่าง “สันติอโศก”