610608_พ่อครู เทศน์ ทวช. อโศกรำลีกครั้งที่ 37 สัปปายะ 4 ชี้ทางบรรลุธรรม
อ่านทั้งหมดที่ หรือดาวโหลดเอกสารที่… https://drive.google.com/open?id=1wddU9jgMFgUyHpKv7R8X4Peff1SuuG61nRU-rowlUwM
ดาวโหลดเสียงที่.. https://drive.google.com/open?id=1s6rCqNAjxbDUrIDXxYxAZ_E-o6vJRNbF
ดูยูทิวป์ได้ที่…
พ่อครูว่า…วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2561 ที่บวรราชธานีอโศก
สุขภาพ 8 อ ของพ่อครู ยอดความรู้ของลูกหลาน
ปฏิบัติตามทำได้ใจเบิกบาน ภูมิต้านทานแข็งแรงไร้โรคา
ขอเริ่มที่ อารมณ์ไม่ข่มเครียด อาชีพเบียดเบียนตนไม่ค้นหา
มองอาหาร นั้นหรือถือเป็นยา เอนกายตามเวลาพักผ่อนใจ
เอาพิษออกจากตัวที่ชั่วคั่ง ออกกำลังตามกำหนดจะสดใส
อากาศหวาน ซ่านสมลมหายใจ อิทธิบาทยิ่งใหญ่ให้พลัง
สุขภาพ 8 อ ของพ่อครู สำเร็จสู่ 84 ปีมีความขลัง
ถึงเป้าหมาย 151 ปี ที่จีรัง ไม่หยุดยั้งด้วยเราเฝ้าพากเพียร
….ประพันธ์โดย….ศ.ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์
อวยพรมา ก็ขอบคุณ …พ่อครูดูที่มะระลูกใหญ่ที่บนโต๊ะ …นึกไปถึงอดีต ที่เคยกินตอนสมัยเป็นฆราวาส แกงจืดมะระน้ำใสใส่เครื่องในไก่ กินอยู่ประจำ ไม่ต้องสั่งร้านเขาก็รู้ …อายุมากเขาก็บอกว่า พูดถึงความหลัง
_สุริยา รักการศิลป์….ประเทศไทยเราเคยมีหลายลัทธิ จนสมัย ร.5 ท่านรวมให้เข้ากันเป็นลัทธิเดียว 2 นิกาย คือ มหานิกาย กับธรรมยุตินิกาย แต่ในที่สุดเราก็กลับไปสู่ลัทธิใครลัทธิมันคล้ายๆ เดิม ใครจะนับถืออย่างไรเราก็ไม่ค่อยจะอินังขังขอบสักเท่าไร ยกเว้นแต่มีประเด็นใหญ่ๆ เกิดขึ้น
จะเห็นได้ว่า พวกเทพจากสวรรค์มาเกือบครบทุกชั้น จะสร้างรามเกียร์ณ ไม่ต้องใช้ดาราจากอินเดียก็น่าจะได้ แต่ก็ยังไม่มีใครดำเนินการอะไร นอกจากจะก่อให้เกิดเรื่องใหญ่ๆ ออกนอกกรอบไปไกลๆ อะไรเทือกนั้น
โดยส่วนตัวผมก็ปฏิบัติตามลัทธินี้อยู่หลายปี เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นมังสวิรัติกลายพันธุ์อยู่ ถ้าไม่ยึดสำนัก ผมก็ชอบสำนักนี้แหละครับ แต่กลัวว่าเราเองแหละจะปฏิบัติไม่ได้หมด
พ่อครูว่า…ก็ให้ฟังทั้งสองฝั่ง อะไรเป็นธรรมวาทีก็ให้เลือก อะไรไม่ใช่ธรรมวาทีก็ไม่เลือก
_ถาวร ทิพย์โชติ…. มุมมองของพ่อท่าน ผมได้ประโยชน์อย่างยิ่งว่า เงิน เป็นต้นเหตุสำคัญของการทำลายพุทธ คนอื่น ๆ ผู้นำสงฆ์ และผู้นำรัฐบาล จะคิดอย่างไร ท่านให้ปรับที่ตนเอง คือไม่ส่งเสริมสงฆ์ใช้เงินครับ
_จากคุณมิ้ง…ทูนไทพุทธ… ถ้าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีมหาปุริสลักษณะ 32 (และอนุพยัญชนะ 80) เหมือนกันหมดก็แสดงว่าไม่ว่าในยุคกาลใดก็ตาม สรีรพันธุ์ที่สมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตที่เจริญสูงสุด ก็คือปัญจสาขา ที่มีขันธ์ห้า อายตนะหกครบพร้อม อันเป็นสรีรพันธุ์เหมือนของมนุษย์ในยุคนี้เหรอครับ
แปลเป็นไทยง่ายๆก็คือพระพุทธเจ้าทุกพระองค์แม้ในกาลอนาคตก็จะมีรูปร่างเหมือนมนุษย์ในยุคเราๆนี่เหรอครับ (แม้ขนาดอาจจะไม่เท่า เช่นบางยุคที่อาจใหญ่โตกว่า)
คือ ผมสงสัยว่ากลไกมูลฐานในกระแสธรรมชาตินั้น มีกลไกใดบ้างที่จะไม่แปรเปลี่ยนไปตามยุคกาลน่ะครับ เช่นตำรากล่าวว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้อริยสัจจ์เหมือนกันหมด
นี่แสดงว่ากลไกแห่งอริยสัจจ์นั้นเป็นมูลฐานมิแปรเปลี่ยนไม่ว่าในยุคกาลใด
แล้วพระพุทธเจ้าทุกพระองค์แม้จะเห็นกลไกหนึ่งอันชื่อว่าโพธิปักขิยธรรมเหมือนกัน แต่ทุกพระองค์จะบัญญัติจัดกลุ่มสิ่งสิ่งนั้น ด้วยกลุ่ม 4445578 เหมือนกันทุกพระองค์ไหมครับ นี้อาจจะแปรเปลี่ยนให้เหมาะสมตามปัจจัยแวดล้อมในยุคนั้นๆ โดยในยุคนั้นท่านอาจ “ไม่” ป่าวประกาศธรรมะด้วยโครงสร้าง 4445578 แต่จัดหมวดหมู่เป็นโครงสร้างหลักแบบอื่นแทน เป็นไปได้ไหมครับ
พ่อครูว่า…4445578 คือ โพธิปักขิยธรรม 37 คือ อิทธิบาท 4 สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8 อาตมาย่อเหลือ 4578
โพธิปักขิยธรรม 37 คือโลกุตรธรรม สติปัฏฐาน 4 ก็เป็นโลกุตรธรรมข้อแรก แล้วก็ 7 ข้อ ทั้งหมด คือโลกุตรธรรม 7 ข้อปฏิบัติธรรมให้เกิดมรรคผลก็จะเป็นอรหันต์สมบูรณ์แบบ ไปตามลำดับ มีโลกุตระ 9 คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหัตตมรรค อรหันตผล นิพพาน คือโลกุตระ 9
คือโครงสร้างที่ปฏิบัติให้บรรลุอริยสัจ 4 ถ้าเข้าใจเราจะไม่สับสน แล้วก็เข้าใจสภาวะในภาษาต่างๆ สติคืออะไร การพิจารณากายคืออะไร เวทนาคืออะไร จิตคืออะไร ธรรมคืออะไร ไม่มีอะไรมากกว่านี้ที่จะให้ศึกษา
เจาะที่เวทนาเป็นกรรมฐาน เวทนา 108 แยกตรงหัวใจของศาสนาคือ มโนปวิจาร 18 คือ เคหสิตะ 18 เราก็ทำให้เป็นเนกขัมมสิตเวทนา 18 จนบรรลุ ฐานนิพพานคืออุเบกขา เนกขัมสิตอุเบกขา ปฏิบัติให้ได้เนกขัมสิตอุเบกขาเรื่อยๆ ด้วยการปฏิบัติฌาน ให้เกิดการเผาการชำระกิเลส กิเลสคือไฟราคะโทสะโมหะ ถูกไฟฌาน เผา ทำลายไปเรื่อยๆ ก็สะอาด กิเลสหมดไปจิตใจก็ตกตะกอนตกผลึกที่สะอาดขึ้นเป็นสมาธิ
สมาธิคือจิตที่ตั้งมั่นจิตที่ทำให้สะอาดแล้วก็สั่งสมตกผลึก จนแข็งแรงตั้งมั่นจนเป็นกอบเป็นกอง รวมกันเข้าเป็นสมาธิ สมาธิเกิดได้จากการปฏิบัติ ฌาน เกิดได้จากการปฏิบัติโพธิปักขิยธรรม 37 หรือมรรค 7องค์ มีชีวิตในขณะปกติธรรมดาทำอาชีพอยู่ ทำกรรมกิริยาอยู่ พูดอยู่ คิดอยู่ ก็มีสัมมัปปธาน 4
สังวรปธาน สัมผัสทวารทั้ง 6 ปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ให้เกิดการชำระกิเลส ปหานปธาน จนเกิดผลเรียกภาวนาปธาน แล้วรักษาผลเรียกอนุรักขนาปธาน ด้วยอิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
โดยภาคปฏิบัติคือประหารกิเลสไป โดยโพชฌงค์ 7 สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีวิริยะสัมโพชฌงค์ จิตที่จะมีปัญญารู้ทันทุกสัมผัสอิริยาบท แยกแยะ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ เกิดปีติ สั่งสมเป็น อินทรีย์ 5 พละ 5 เกิดผลเป็นปัสสัทธิที่ไม่ใช่หยุดนิ่งแข็ง สะกดจิตให้นิ่งดับลงไม่ใช่ กิเลสมันหยุดบทบาท แต่จิตใจยิ่งคล่องแคล่วว่องไวปราดเปรียวเป็นมุทุภูตธาตุ จิตรู้เร็วมีปฏิภาณรู้เร็วๆเปลี่ยนแปลงได้เร็วไวยิ่งขึ้น แก้ไขให้หมดกิเลสไปได้เร็วยิ่งขึ้นทั้งเจโตและปัญญา จิตก็สะอาด ปริสุทธา ปริโยทาตา เกิดมุทุภูตธาตุ องค์ธรรมของอุเบกขา 5 จิตก็ผ่องใส ปภัสสรา
นี่คือสภาวธรรมที่อาตมาเข้าใจมีภูมิปัญญาของตน เมื่อสัมผัสสูตรของพระพุทธเจ้า บัญญัติของพระพุทธเจ้า ก็มาอธิบายให้ฟังอย่างนี้ได้ แต่ไม่มีปัญหาอะไรแล้วก็มั่นใจว่าพูดถูกอธิบายถูก มานานจนป่านนี้แล้ว 47- 48 ปีมาแล้ว นี่คืออาตมาต้องทำหน้าที่สืบทอดธรรมะ พระพุทธเจ้า ทำด้วยความอุตสาหะวิริยะ ยากจริงๆ เพราะคนไม่ค่อยศรัทธาเลื่อมใสไม่เข้าใจ และที่นี่ไม่บำเรอกิเลสด้วย มาขัดเกลากิเลสก็เลยคนมาน้อย ก็ไม่เป็นไร งานอโศกรำลึกปีนี้ไม่น้อยเหมือนกัน
_สิ่งที่พระเทวทัตขอพระพุทธเจ้าคือให้ภิกษุฉันแต่ผักอย่างเดียวไม่ฉันเนื้อหรือปลา แสดงว่าก่อนหน้านั้นภิกษุมีการฉันเนื้อสัตว์และปลาอยู่ก่อนแล้วใช่หรือไม่
พ่อครูว่า..ก็มีบ้าง แต่ อินเดียเป็นรากของศาสนาตั้งแต่ฮินดูถึงพุทธ รู้โดยปริยายกันว่า นักบวชที่เคร่งครัดที่น่านับถือบูชา นักบวชประพฤติพรตต่างๆ ที่ถูกต้องจะต้องไม่ฉันเนื้อสัตว์ ไม่มีส่วนไปฉันเนื้อสัตว์เลย เขารู้ว่าดีโดยปริยาย เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปก็จะไม่ฉันเนื้อสัตว์ จะมีคนที่กินเนื้อสัตว์ฉันเนื้อสัตว์อยู่บ้างที่เป็นนักบวช เป็นบางคน บางผู้ พระพุทธเจ้าก็เลยไม่ออกกฎ ไม่ออกเป็นวินัยเลยว่าห้ามฉันเนื้อสัตว์ห้ามฉันปลา ไม่ออก
_ถ้าใช่ คือภิกษุทุกหมู่เหล่าฉันผักเป็นปกติแล้ว ทำไมพระเทวทัตจึงไปทูลขอให้พระพุทธเจ้าออกกฎให้ฉันแต่มังสวิรัติ
พ่อครูว่า…วินัยไม่ใช่ศีล แต่ศีลต่างๆรอบรัดไว้แล้ว ศีลข้อที่ 1 ข้อเดียวก็ไม่มีให้ฉันเนื้อสัตว์แล้ว มีใจกรุณาเอ็นดูหวังประโยชน์ต่อสัตว์ทั้งปวง จะไปฆ่าสัตว์ได้อย่างไร มันจะเป็นประโยชน์ต่อสัตว์อย่างไร มันก็เป็นโทษแก่สัตว์ สัตว์มันก็ตาย ข้อเดียวนี้ก็ชัดแล้ว หลักเกณฑ์ของพระพุทธเจ้า
1.ไม่ให้ฆ่าสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาสใครก็ตาม ท่านก็ไม่ให้ฆ่าสัตว์ ท่านไม่ได้ห้ามแต่พระนะว่าอย่าฆ่าสัตว์ ท่านให้ปฏิบัติศีลโดยอย่าฆ่าสัตว์
-
อย่าค้าขายเนื้อสัตว์ อย่าค้าขายสัตว์เป็นหรือสัตว์ตาย หรือเนื้อสัตว์ โดยหลักธรรมของศาสนา มีศีลข้อที่ 1. อย่าฆ่าสัตว์ 2. มิจฉาวณิชชา 5 พวกฆราวาสอย่าไปค้าขายเนื้อสัตว์ก็ห้ามฆราวาสนั่นแหละ เพราะพระนั้นไปขายไม่ได้ ฆราวาสก็ยังห้ามฆ่าสัตว์และห้ามขายเนื้อสัตว์ ก็แค่สองข้อนี้เป็นหลักเกณฑ์ แม้แต่เป็นฆราวาสพุทธศาสนิกชนก็ไม่ให้ทำ แล้วจะมีเนื้อสัตว์ที่ไหนมาให้กินกันให้ขายกัน เหลือแต่ 1. เดนสัตว์กิน 2. สัตว์มันตายเองเป็นปวัตตมังสะ
ถ้าอุทิสมังสะ คือ คนไปเจาะจงฆ่ามัน ไม่ใช่เจาะจงมุ่งหมายฆ่าสัตว์นี้เพื่อให้นาย ก. กิน ดังนั้น นายก. กินไม่ได้ ฆ่าสัตว์นี้เพื่อให้นาย ข. กิน นายข.ก็กินไม่ได้ ส่วนนายคนอื่นกินได้หมด คือเจาะช่อง เพื่อให้ตนเองได้กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องที่น่าเกลียด
_พระพุทธเจ้าไม่ได้เอาตามพระเทวทัตแต่ให้กินเนื้อสัตว์ได้โดยบริสุทธิ์ในส่วน 3
พ่อครูว่า..บริสุทธิ์ด้วยส่วน 3 คือ 1. ไม่เห็นว่าเขาฆ่า 2. ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่า ไม่ได้ข่าวคราวว่าเขาฆ่า 3. ไม่สงสัยไม่รังเกียจว่าเขาฆ่าหรือเปล่า แล้วใจเรารังเกียจหรือไม่รังเกียจ เขาก็ตีความว่า เห็นอยู่กับตาว่าเขาเจาะจงมีคนเจาะจงฆ่า สัตว์ที่ตายเพราะคนเจาะจงฆ่าสัตว์นี้เพื่อคนนี้เท่านั้น ให้แคบๆลงไป แท้จริงไม่ใช่บริสุทธิ์โดยส่วนสามคือ สัตว์นี้ตายด้วยคนเจาะจงฆ่า ตายด้วยฝีมือคนด้วยหลัก 5 ประการ 1. สัตว์มีชีวิต 2. สัตว์มีชีวิตก็รู้อยู่ 3. ปรารถนาฆ่า 4. พยายามฆ่า 5. ฆ่าให้มันตายลง สำเร็จ นี่คือองค์ 5 ของปาณาติบาต พอครบองค์ห้านี้ก็บาปครบ
-
สัตว์มันมีชีวิตก็มีชีวิตของมันเป็นธรรมดาต่างคนต่างมีชีวิต วิบากใครวิบากมัน อย่าไปฆ่ากัน สัตว์ใดก็ไม่ต้องฆ่า ไปเกี่ยวข้องทำไม ไปฆ่าก็สร้างวิบากใส่ตน
-
เขาก็รู้ว่าสัตว์มันมีชีวิต ก็ไม่ต้องไปสร้างวิบากใส่กันและกัน
-
ไปอยากฆ่ามัน
-
ไปพยายามฆ่ามัน
-
สัตว์นั้นก็ตายลงสำเร็จ
อยู่ที่คนมีความรู้จิตที่ประสงค์จะฆ่ามันหรือไม่ ถ้าไม่ฆ่ามันจะไปกินมันทำไม แต่อยากจะกินก็เลยเจาะช่อง ปวัตตมังสะ ท่านเจาะไว้ที่ เดนสัตว์กิน คือเนื้อสัตว์กินเหลือ สัตว์มันทิ้งแล้ว สัตว์มันฆ่ากันก็เป็นวิบากของมัน เราไม่ได้เป็นคู่ร่วมวิบาก แต่มันทิ้งแล้ว ส่วนสัตว์มันตายเอง สัตว์เจ้าของชีวิตมันตายเองก็ทิ้งแล้ว จึงเรียกว่า ปวัตตมังสะ เป็นสัตว์ที่ไม่มีใครไปเจตนาฆ่า
นัยที่เขาอธิบายเป็นการเจาะจงให้คนๆนั้นคนเดียวกินไม่ได้ มันน่าเกลียดอธิบายเลี่ยงบาลี อธิบายเพื่อเอาเนื้อใส่ปากตัวเอง เพราะฉะนั้นการบริสุทธิ์โดยส่วน 3 ก็ตีความต่างกัน
_ภิกษุใดต้องการกินผักก็ฉันผักได้ตามอัธยาศัยทำไมครับ
พ่อครูว่า…เพราะพระพุทธเจ้าให้อิสระ โดยส่วนใหญ่มันก็ดีอยู่แล้ว ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งอิสระเสรีภาพโดยไม่ต้องออกกฎเกณฑ์บังคับ เพราะว่าส่วนใหญ่ดีแล้วแข็งแรงแล้วไม่มีความเป็นบาปไม่เสื่อมเสียก็ปล่อยไป จะมี error ส่วนเล็กส่วนน้อยก็ให้เป็นไปตามปัญญา ตามปฏิภาณ ใครรู้เองว่า หมู่ใหญ่ เขาไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเราจะมากินอยู่ทำไม เราจะมาพากเพียรเป็นคนดี ผู้มีญาณปัญญารู้จักชีวะ รู้จักความเป็นพลังงานใน อุตุ พีชะ จิต กรรม ธรรมะ รู้การสัมพันธ์ผูกพันเกี่ยวข้อง
พลังงานในจิตนิยามคือสัตว์มันมีเวทนา มันมีวิญญาณมันมีความจองเวรจองกรรม มันมีการรักการชัง ส่วนพืช พีชนิยาม มันไม่มีพลังงานเหล่านี้ ผู้รู้แล้วจะไปสร้างวิบากผูกพันเป็นบาปเป็นเวรไปกินเนื้อสัตว์ทำไม สัตว์มันมีเวทนามีวิญญาณมีตัวกูของกู ไปทำร้ายมันก็พยาบาท ไปสร้างทำไม คนที่สามารถเข้าใจธรรมะอย่างนี้ เพราะมันเป็นสัจจะความจริง ธาตุรู้ระดับวิญญาณเวทนา ระดับที่มันรักมันชังมีอัตตา จองเวรจองกรรมกันได้ คุณมีวิบากที่มีสัตว์อื่นจองเวรจองกรรมกันน้อยหรือไง คุณกินแต่พืชก็อยู่ได้ดีด้วย ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์เข้าใจแล้วว่ากินแต่พืชดีแม้แต่หมอ ถ้าเป็นโรคพอสมควร เขาก็บอกว่าหยุดกินเนื้อสัตว์ กินแต่พืชนะ ขนาดหมอก็ยังกินเนื้อสัตว์อยู่นะ ก็ยังรู้เลยว่ากินแต่พืชนี้ดีแล้วล่ะ กินมังสวิรัตินี้ดีกว่ากินเนื้อสัตว์ ขนาดนั้นยังรู้เลย เพราะฉะนั้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็ตามทางธรรมะยิ่งชัดเจน ผู้มีภูมิธรรมทางธรรมะก็ไม่มีปัญหา ผู้ที่มีกิเลสมากอยากกินเท่านั้นแหละที่ปัญญาไม่พอ จึงกินเนื้อสัตว์อยู่
_แสดงว่าการฉันเนื้อสัตว์และปลาไม่ขัดต่อมรรคผลนิพพานใช่หรือไม่
พ่อครูว่า…ขัดต่อมรรคผลนิพพาน ศีลข้อที่ 1 ยังไม่บริสุทธิ์แล้วคุณจะได้นิพพานได้มรรคผลได้อย่างไร มรรคผลนิพพานคือการสะอาดจากกิเลส แล้วกิเลสหยาบ กลาง ละเอียด แล้ว กินเนื้อสัตว์ก็เป็นกิเลสต้นง่ายๆด้วย
_พระพุทธเจ้าต้องการให้สัตว์ทั้งหลายเข้าถึงนิพพานให้มากที่สุด
พ่อครูว่า…พระพุทธเจ้าให้มีปัญญารู้เอง มันเจริญกว่าการบังคับ เพราะฉะนั้นเมื่อส่วนใหญ่เขาทำได้แล้วก็จะเป็นพลังงานรวม เป็นแกน เป็นสนามแม่เหล็กที่จะจัดการพวกนี้ ส่วนที่เล็กๆในน้อยท่านก็ไม่ออกกฎเกณฑ์ ให้เป็นไปตามสัจธรรมอิสระเสรีภาพ เอาตัวอิสระเสรีภาพเป็นตัวตัดสิน แต่ทุกวันนี้มันผิดเพี้ยนไปหมดแล้วที่ไปกินเนื้อสัตว์กันเป็นส่วนใหญ่ แทนที่จะไม่กินเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ มันก็เลยต้องออกวินัยบังคับ หรือมีกฎเกณฑ์บังคับ อาตมาก็เลยพยายามที่จะให้ ปฏิบัติ ปฏิบัติศีลข้อ 1 เขาถึงไม่ได้มรรคผลอะไร พวกเราปฏิบัติแล้วมันเกิดจิตเมตตากรุณา เกิดความเอ็นดูต่อสัตว์ทั้งปวงจริงหรือไม่ มันจริงนะ
แต่ก่อนคนเห็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็ฆ่ามัน บี้เลย หวงแหนมาก ใช่ไหม ไม่เหลือหรอก มดมาไต่ตอมน้ำตาลบี้หมด สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่คนฆ่าได้ง่ายก็ทำ ถ้าเป็นช้างเป็นเสือ ก็ต้องไปหาเจ้าหน้าที่มาช่วยหน่อย ช้างมากินพืชฉัน หากเป็นมดเป็นแมลงก็ฆ่าให้เรียบ
_จากยูทูปของท่านพ่อบอกว่า ใครยังกินเนื้อสัตว์อยู่กินปลาอยู่ก็ปฏิบัติได้แค่มรรค ถ้าเป็นอย่างนี้ทำไมไม่ทรงอนุญาตตามพระเทวทัตทูลขอล่ะครับ สมัยที่พระพุทธองค์ยังมีชีวิตอยู่ ก่อนการทูลขอของพระเทวทัต ด้านหลังการทูลขอของพระเทวทัตยังมีคนบรรลุมรรคผลนิพพานอยู่หรือไม่ครับ
พ่อครูว่า…อาตมาก็ยังบรรลุได้เลย แล้วจะมาสงสัยอะไร
_คุณหายโง่เขียนมาว่า…ขอโอกาสอธิบายการเลือกตั้งของฟินแลนด์ ความซับซ้อนของประชาธิปไตยในฟินแลนด์ยุคปัจจุบัน ผู้สมัครรับเลือกตั้งหาเสียงกับประชาชนว่า จะให้หรือสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้แก่ประชาชน เมื่อได้รับเลือกตั้ง เขาก็สร้างให้จริงๆตามสัญญา แต่ประชาชน ต้องเสียภาษีแพงมากเพราะรัฐบาลต้องเอาไปใช้จ่ายในสิ่งที่นักเลือกตั้งได้สัญญาไว้ สรุปคือสิ่งที่ประชาชนได้จากคำสัญญาของนักเลือกตั้งนั้น ประชาชนจ่ายเงินเองในรูปนั้น
พ่อครูว่า…เขาก็ทำจริงตามสัญญาแต่เขาขึ้นภาษีเอาเงินคุณนั้นไปทำ นี่ก็เป็นนัยยะซับซ้อนที่เขาเห็นว่าไม่มีปัญหา เขาก็ทำกันไปเขาก็ได้คะแนนเสียง ประชาชนก็ได้ ประชาชนถูกขูดรีดขึ้น แทนที่จะเก่งในทางเศรษฐกิจแบบที่ไม่ต้องไปรีดจากประชาชนแต่คุณทำให้เงินสะพัดในประเทศมันเกิดหมุนเวียนมา มีคนเสียภาษีหรือให้แก่สังคมส่วนรวมมากขึ้น ชาวอโศกทำงานแล้วไม่เอาเป็นของตน เอาเข้ากองกลางหมด
กองกลางก็ไม่ได้สะสมเป็นของตัว แต่สะพัดให้ประชาชนได้รับประโยชน์ จากพวกเราเอาไปให้แก่ประชาชนรับประโยชน์มากขึ้น สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อประชาชน ปลูกพืชผักเพื่อให้ประชาชนได้กินใช้ดีๆ ขายให้ถูกๆ หรือแจกอย่างที่เราทำ ทุกวันนี้เราทำเป็นผลมีผลตรงนี้แล้ว เห็นของจริงขึ้นมาไม่ใช่พูดลอยลมพูดว่างเปล่า แต่เราทำแล้วเกิดผลจริง นี่เป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ซับซ้อน
_คุณถี่ถ้วน สรณชาวนา…ขอความเมตตาพ่อครู อธิบายเชื่อมร้อย อาหาร 4 อุปาทาน 4 กรรม 3 ทุกข์ 12
พ่อครูว่า…อาหาร 4 อุปาทาน 4 กรรม 3 เข้าใจ อธิบายมา แต่ทุกข์ 12 นี่มีอะไรบ้าง เคยอธิบายแต่ทุกข์ 10 คือทุกข์ที่เลี่ยงได้กับไม่ได้ ก็ขอพักไว้ก่อน จะอธิบายเรื่องเศรษฐกิจ
อาตมาพยายามอธิบาย เศรษฐกิจ 5 ชนิด
เศรษฐกิจ 5 ชนิด
(1) เศรษฐกิจชนิดหนึ่งนั้น เรียกขาน
ยึดสิทธิรวบ“เผด็จการ” กาจกล้า
“ผู้เดียว”เดี่ยวบริหาร สุดเก่ง
หรือ“กลุ่มอำนาจ”ล้นฟ้า ก็แท้“เผด็จการ”
(2) สองขานเศรษฐกิจโก้ “ประชา- ธิปไตย”
แต่ถูก“ทุนนิยม”พา เฟื่องฟุ้ง
ครอบงำทั่วโลกทา- รุณแนบ เนียนเลย
หลงว่าเจริญรุ่งรุ้ง สู่รู้ อวิชชา
(3) ต่อมา“คอมมูนิสต์”แท้ ชนิดสาม
อิสระถูกคุกคาม หมดสิ้น
หากใครไม่ทำตาม คณะเผด็จ การแฮ
ไม่คุกก็ทัณฑ์ดิ้น ไป่ได้ตายเป็น
(4) เห็นระบอบต่างแบบไซร้ สามชนิด
ตามสัจจ์แห่งเศรษฐกิจ บ่งชี้
แต่ยังซ่อนภัยพิษ แทรกอยู่ ลึกเลย
เพราะฉลาดโลกีย์นี้ ไม่พร้อมปัญญา
(5) ต้องศึกษาพุทธซึ้ง “โลกุตระ”
สร้างฉลาดธาตุอัญญะ อื่นให้
ธาตุรู้เกิดใหม่จะ ปัจจัต- ตังเฮย
เปลี่ยนโลกเศรษฐกิจได้ แน่แท้จริงจัง
(6) ดังมีชนิดสี่แล้ว ยืนยัน
ไทยประเทศสุดสำคัญ พุทธแท้
“ประชาธิปไตย”อัน มีกษัตริย์
ทรงทศพิธฯวิศิษฐ์แล้ เลิศแม้อภิบาล
(7) “ศรีอาริย์”ชนิดห้า “สาธาระ- ณะโภคี”
มี“ประชา”พร้อม”ก- ษัตริย์”ไซร้
กินใช้ร่วมกันสละ ลดอัต- ตาเฮย
เศรษฐกิจห้าชนิดให้ โลกแจ้งเป็นจริง
“สไมย์ จำปาแพง” 2 มิ.ย. 2561
[นัยปก “เราคิดอะไร” ฉบับ 336 ประจำเดือนกรกฎาคม 2561]
ประชาธิปไตยขาเดียวนั้นมีแต่ใครก็ไม่รู้สามารถขึ้นมาได้เป็นกษัตริย์ ไม่มีระบบระเบียบระบอบอะไรที่สืบทอดต่อเชื่อมทางจิตวิญญาณ แต่ประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์นี้มีกรอบที่ พระมหากษัตริย์จะต้องรักประชาชนเหมือนลูก ส่วนประชาธิปไตยขาเดียวนั้นไม่มีจารีตประเพณีวัฒนธรรมที่จะเป็นประชาชนเป็นลูก มีแต่เห็นแบบโลกๆ ตามความหมายง่ายๆ แต่ความหมายของการอธิบายหรือการประพฤติการเข้าใจนัยลึกซึ้งว่า ประชาชนเหมือนลูก กับที่ไม่ได้มีความหมายแค่นี้ มันต่างกันแล้ว
ยิ่งในการสืบทอดสายกษัตริย์ กษัตริย์จะต้องเห็นประชาชนเหมือนลูกจริงๆ ประชาชนก็มีน้ำใจ มีการบริหาร จึงมีจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งในความเห็นแก่ประชาชน ต่างกัน
ประชาธิปไตยขาเดียวนั้นมันเอียงไปทางวัตถุนิยม หรือคอมมิวนิสต์ก็เอียงไปทางวัตถุนิยม ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จึงเป็นประชาธิปไตยที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ ว่ามนุษย์มีจิตวิญญาณเป็นประธานสิ่งทั้งปวง จึงต้องเอาจิตวิญญาณเป็นสำคัญ ไม่ได้เอาแต่วัตถุเป็นสำคัญ หากเอนเอียงไปทางวัตถุสำคัญหรือเอนเอียงไปทางเอาจิตเป็นสำคัญก็ต่างกันแล้ว ส่วนศาสนาพุทธนั้นสูงสุดถึงขั้นพระศรีอารย์ ถึงขั้นสาธารณโภคี ถึงขั้นหมดตัวหมดตน หมดตัวเราของเรา หมดความหวงแหนตระหนี่ หมดความเป็นของตัวของตน
ศาสนาพุทธลึกซึ้งมากจิตวิญญาณหมดอัตตาหมดอัตตนียา ทุกคนมีส่วนรวมเป็นหนึ่ง One For All All for one มีเอโกปิ หุตฺวา พหุธา โหติ, พหุธาปิ หุตฺวา เอโก โหติ มีหลากหลายมากมายมาเป็นหนึ่ง หรือเป็นหนึ่งไปสู่ความเป็นหลักหลายก็ได้
อย่างพวกเรามารวมกันเป็นหนึ่ง สมบัติมารวมกันเป็นของกลาง ร่วมกันบริหารร่วมกันกินร่วมกันใช้ โดยทุกคนลดละตัวเอง ไม่ไปหลงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สุรุ่ยสุร่าย ก็ต้องสร้างนิสัยส่วนตนให้ดีขึ้น สังคมก็เกิดความประพฤติที่ดีนิสัยที่ดีขึ้น มีปัญญารู้การสูญเสียและความเจริญ ก็ทำให้เจริญได้ด้วยความสูญเสียน้อยลง จนไม่สูญเสีย มีแต่ความเจริญขึ้น
การจะเกิดเป็นวิธีการตั้งเป็นระบบหลักสูตรทฤษฎีอธิบายกันไป ของพระพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ มีประชากรเป็นพุทธศาสนิกชน 95% ก็เอาสูตรของพระพุทธเจ้าทฤษฎีพระพุทธเจ้ามาศึกษาให้ดี ผู้บริหารถ้ามีความรู้โลกุตรธรรม มีความรู้เศรษฐกิจแบบพระพุทธเจ้า อย่างที่อาตมามีความรู้เศรษฐกิจแบบพระพุทธเจ้ามา เอามาให้พวกเราได้ศึกษาและปฏิบัติอย่างนี้จนเกิดสังคมกลุ่มชาวอโศก ที่มีเศรษฐกิจแบบสาธารณโภคีสำเร็จผล
อาตมาทำงานมาทุกวันนี้ พูดเต็มปากเลยว่า อาตมาพาทำตามสูตรพระพุทธเจ้าทฤษฎีพระพุทธเจ้าบรรลุผล พวกเรามีความเข้าใจมากพอ นำพาไปได้ โดยอาตมาตายลงวันนี้พวกคุณก็ทำต่อไปได้ เป็นเศรษฐกิจแบบนี้ไปได้สบายเลย
มีสัปปายะ 4 มีสถานที่หมู่บ้านชุมชนบุคคลอาหารเครื่องอาศัยเครื่องกินเครื่องใช้ มีธรรมะสัปปายะ 4 ที่มีคุณภาพมีคุณธรรม มีฤทธิ์มีอำนาจมีพลังดำเนินไปได้ เป็นสุคโต ไปดีแล้ว ใช้ได้แล้ว
อาตมาก็เห็นว่า เราพาทำ อาตมาพาทำอยู่นี้ ก็เหมือนกันกับที่สังคมประเทศชาติต้องการ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธเขาก็ไม่เข้าใจไม่ใช้ทฤษฎีแบบนี้ ในหลวงเราเข้าใจและท่านพาทำ แต่ในหลวงท่านเหมือนพระพุทธเจ้า ไม่พยายามใช้บังคับ กดข่ม ให้ใช้ปฏิภาณปัญญารู้เอง แล้วท่านก็อนุโลมเพราะประเทศไทยเป็นเมืองอิสระเสรีภาพ ศาสนาไม่มีแต่ศาสนาพุทธเท่านั้น แม้แต่มีส่วนน้อยท่านก็ให้เกียรติส่วนน้อย ท่านอนุโลมตาม เพราะท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ประชาชนคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ก็มี ท่านก็ไม่ได้ไปบังคับอะไร ท่านก็ไม่ตรัสเรื่องนี้ เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ได้อธิบายไปตอนต้นแล้ว
มีคนให้ข้อมูลว่า…ในวิสุทธิมรรค มีทุกข์ 12 ประการ ไปเอามาจากท้ายของปฏิจจสมุปบาท ชาติ ชรา มรณะ โศกะ ปริเทว ทุกข โทมนัส ความพรากจากสิ่งที่รัก ความไม่ได้สมปรารถนาที่ต้องการ
อาตมาไม่ได้สนใจวิสุทธิมรรคเพราะว่าเป็นเทวนิยมอยู่เยอะ แต่ก็มีของพุทธอยู่บ้าง อาตมาไม่ได้สนใจไม่ได้อ่าน ได้รู้ตามที่กระแสมีในสังคม ในความรู้วิสุทธิมรรคเขาก็มีก็เอามาใช้อธิบายกัน ขยายความกันอยู่ อาตมาก็ขอบคุณท่านพุทธโฆษาจารย์ ที่เอา ธรรมนิยาม 5 ตราเอาไว้ แต่ธรรมนิยาม 5 นี้ ไม่มีใครสามารถแยกได้นอกจากพระพุทธเจ้า เป็นความลึกซึ้งของธรรมนิยาม 5 นี้ มันสุดวิสัยมันต้องเป็นพุทธวิสัยเท่านั้นที่จะแยก เพราะมันเกินไปแม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังรู้ไม่ถึงเลย วิทยาศาสตร์โลกในยุคปัจจุบันนี้ก็เก่งนะพวกนาซ่าก็เก่ง แต่ไม่เข้าใจในนิยาม 5 นี้ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม ธรรมนิยาม เขาไม่รู้ได้
เป็นสภาพที่ตัดรอบตรงไหนมาเป็นพีชะ เริ่มเป็นชีวะ พีชะเป็นชีวะแต่ไม่มีบาปไม่มีบุญไม่มีกุศลอกุศล เพราะฉะนั้นจึงเป็นอาหารที่กินได้ ปราศจากโทษภัย นอกจากคุณจะทำอาหารที่มีสารพิษเองก็เรื่องของคุณ แต่เราปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ไม่มีพิษก็ดีแล้ว เราก็กินแต่พืชผัก ไม่ต้องกินเนื้อสัตว์ แม้แต่ปูปลาสัตว์เล็กสัตว์น้อยเราก็ไม่กิน แต่ทางอีสานนี้กินแหลก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็กินหมด กินแม้แต่มดแมลง แมงกุ๊ดจี่นี้ต้องตัวโตๆ ตัวเล็กกว่านั้นเขาก็กิน ทางอีสานนี่กินหมด มีก้อยมดแดง เอามดแดงตัวเป็นๆขยี้ลงไปในเนื้อให้เกิดรสเปรี้ยว แล้วเนื้อจะสุกตามรสเปรี้ยวของมดแดง เขาเรียกก้อย ทำมานัก แต่ก่อนไม่รู้ก็ทำ ไม่ใช่กินแต่ไข่นะตัวมันก็กิน เสร็จแล้วตัวมดก็ผสมอยู่กับเนื้อ กินเข้าไปด้วยกัน แทนที่จะกินแต่เนื้อ เดี๋ยวนี้ก็ขออภัยปลงอาบัติ อย่าจองเวรกันและกันเลย เรารู้และเราก็หยุด แต่เธอสิยังไม่หยุด เราหยุดแล้วแต่เธอยังไม่หยุด
มาเข้าสู่เศรษฐกิจ 5
ทุกวันนี้เขาก็ยังปรับเศรษฐกิจ ข้อสรุปผลให้ฟัง จากปลายไปหาต้น เศรษฐกิจที่ยอดสุดนั่นคือเศรษฐกิจสาธารณโภคี คือ เศรษฐกิจของแต่ละประเทศเขาก็ต้องการเงินส่วนกลาง รายได้ส่วนกลาง ให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นลัทธิประชาธิปไตยลัทธิคอมมิวนิสต์ลัทธิเผด็จการ เผด็จการอย่างพระเจ้าแผ่นดินก็ริบได้หมดไม่ว่าจะเป็นสมบัติตรงไหนในแผ่นดิน เอามาเข้ากองกลางให้ได้มากที่สุด ประชาธิปไตยก็พยายามให้ได้กองกลางมากที่สุด คอมมิวนิสต์ก็เหมือนกัน ให้ได้เข้ากองกลางมากที่สุด เอามาแล้วเขาก็บอกว่าเขาเป็นผู้บริหารเก่งบริหารด้วยสุจริต บริหารเพื่อจัดแจกจ่ายเผื่อแผ่มีสาธารณูปโภค ช่วยกันให้ประชาชนมีการอยู่การกินกัน อย่าให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากนัก ก็สร้างขึ้นเป็นความรู้ของคน อย่างนี้ทั้งนั้นไม่ได้ยากอะไรหรอก เป็นความรู้ที่สากล
มีต่างกันที่นัยยะละเอียดว่า ถ้ามีสมบัติเข้ากองกลางมากๆแล้ว แล้วเศรษฐกิจก็ดีก็จบตรงนี้ แต่ศาสนาพุทธนั่นแหละ ไม่จบตรงที่กองกลางมีมาก จบตรงที่คน ต้องเน้นที่คน
ให้เป็นคน วรรณะ 9 เลี้ยงง่าย (สุภระ) บำรุงง่าย, ปรับให้เจริญได้ง่าย (สุโปสะ) มักน้อย, กล้าจน (อัปปิจฉะ) ใจพอ สันโดษ (สันตุฏฐิ) ขัดเกลากิเลส (สัลเลขะ) เพ่งทำลายกิเลส มีศีลสูงอยู่ปกติ (ธูตะ, ธุดงค์) มีอาการน่าเลื่อมใส (ปาสาทิกะ) ไม่สะสม ไม่กักเก็บออม (อปจยะ) ตรงข้าม อวรรณะ 9 ขยันเสมอ, ระดมความเพียร (วิริยารัมภะ)
สองข้อสุดท้ายของวรรณะ 9 นี้ เป็นผลสำเร็จของเศรษฐกิจ
ชาวอโศกไม่สะสม อปจยะ ชาวอโศกวิริยารัมภะ ทำได้ก็ไม่สะสม เอาเข้ากองกลางทั้งหมดเป็นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในโลก หมู่ชนชาวอโศกทำได้โดยอิสระเสรีภาพ อิสระเสรีภาพก็คือคุณเอาไหมระบบนี้ ถ้าหากเอาก็เข้ามาเป็นสมาชิกของชุมชนนี้ มาเป็นอย่างนี้นะ ทำงานฟรีนะเข้ากองกลางหมดเลย แล้วก็อยู่กินใช้ไปจนตาย ตายก็เผาให้ แม้ไม่มีพี่น้องมีญาติคนก็พึ่งเกิดแก่เจ็บตายกันได้ ที่นี่ทำสำเร็จจริงๆเอาไหม คุณมั่นใจว่าอันนี้เอาคุณก็มาจนเป็นชุมชนหมู่กลุ่มอย่างนี้ ทำมาตั้ง 40 กว่าปีนี้ก็ยังแข็งแรงดี อาตมาว่ามีความแน่นแฟ้นดีขึ้นเรื่อยๆได้ ได้อาริยบุคคลได้คนที่บรรลุธรรมมาอยู่ด้วย จิตใจที่ไม่มีปัญหาอะไร มีแต่ปัญญา
เพราะมีความสันโดษมีใจพอและมีความน้อยก็พอ ไม่มีสมบัติส่วนตัวมักน้อยขนาด ไม่ต้องมีทรัพย์สินส่วนตัว มีกินมีใช้เป็นบริขารส่วนตัวบ้าง มีเสื้อผ้ามีเครื่องใช้ไม้สอยพอเป็นบริขาร ถ้าเป็นพระสมัยโบราณก็มีบริขาร 8 สมัยนี้คนมีบริขารเพิ่มเติมขึ้นอีกเยอะ ก็เท่าที่จำเป็น คือจิตใจมันรู้ว่าความมัธยัสถ์ประหยัดไม่ฟุ่มเฟือยมันดี แล้วคนก็ระมัดระวัง ไม่ผลาญพร่าไม่สุรุ่ยสุร่าย รู้จักพอ แล้วสร้างสรรขยันแต่ไม่สะสม นอกนั้นก็เหลื่อมกันบ้าง คุณธรรมอาจจะต่างไปบ้างแต่พวกเราชื่อว่าเป็นพวกไม่ใช่นักสะสม
พวกที่เขาสะสมกอบโกยให้ได้มีมากให้เหนือชั้นกว่าใคร แต่พวกเรารู้จักพอรู้จักสันโดษใจพอสันตุฏฐิ น้อยก็พอ ตั้งแต่รูปธรรมง่ายๆ
รูปแบบ ตั้งแต่เนื้อตัว เสื้อผ้าหน้าแพรเครื่องใช้ประกอบ จนกระทั่งสถานที่อยู่เครื่องใช้ไม้สอยมันก็น้อยไม่ได้ฟุ่มเฟือยไม่สุรุ่ยสุร่าย ตามโลกเขา อะไรที่เป็นแฟชั่นสมัยใหม่ เขาขายเอาหมด แต่พวกเรามีปัญญารู้แล้ว ไม่ถูกหลอกที่เขาปรุงแต่งหลอกขายว่าดีมากต่างๆนานา แต่พวกเราเข้าใจ ไม่ไปฟังแล้วโฆษณา อะไรที่เราจะจำเป็นต้องใช้ไหมเขาจะทำดีจริงๆ ราคาแพงพอสมควรหรือจำเป็นต้องใช้เราก็เอา แต่หากไม่จำเป็นเราก็ไม่ต้องเอา ไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้นเอาถึงขนาดนั้น เราก็ใช้แต่พอเหมาะพอควร พอที่จะดำเนินการไปได้ อย่างพอเหมาะพอดี
สรุปแล้วอาตมานำพาทำ เศรษฐกิจชาวอโศกสมบูรณ์ ไปรอดอย่างเป็นระบบ เป็นวงล้อหมุนที่เคลื่อนไปได้อัตโนมัติ เป็นไปเองโดยพลังงานของพวกเราเอง เกิดจากปัญญาและจิตที่พอเพียงหรือจิตที่มักน้อย โดยอัตโนมัติ เคลื่อนไปแล้วเหมือนวงล้อพระธรรมจักร คือสุคโตไปดีแล้ว
ผู้ที่มาอยู่ในชุมชนชาวอโศกทุกชุมชนชาวอโศก ปฏิบัติเศรษฐกิจในสังคมโลกจบ บรรลุธรรม เป็นเมืองพระศรีอารย์เป็นเมืองพระอาริยะ เป็นเมืองที่มีความฉลาด เป็นเมืองที่คนมีจิตใจพร้อมเพรียงกัน ที่ในหลวงได้ตรัส มีจิตใจพอเพียง ไม่ตะกละตะกลามมากกว่านั้น แต่มีปัญญารู้ว่าเราจะสร้างสิ่งที่ควรสร้าง เช่น แต่ก่อนเราก็ไปเสียแคลอรี่พลังงานจะต้องไปแต่งเนื้อแต่งตัวจะต้องมีเสื้อผ้าแฟชั่น จะต้องไปเต้นไปดีด ไปตลาดก็ต้องช้อปปิ้ง พวกเราไม่แล้ว ไม่มีสิ่งที่มันเกินพวกนั้นแล้ว ที่มานี้ คนเหล่านี้พูดได้เต็มปาก ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว แฟชั่นเขาจะต้องนำสมัยแบบนั้นคุณไปบ้าสมัย เราเรียกว่าพวกบ้าสมัยก็ปล่อยไป พวกเราไม่บ้าแล้วสมัยแบบนั้น เราก็อยู่แค่นี้พอ มีสันโดษมีความพอ เข้าใจมีปัญญาว่ามันเป็นส่วนเหลือส่วนเกินเป็นกิเลส หนักเหนื่อย บ้าหอบฟางหมาหอบแดดไม่เอา ถึงมาเป็นคนสบายๆ แค่นี้พอ
อยู่ในทุนนิยมสามานย์ Fashion สามานย์ แต่เราไม่ตกเป็นทาสของทุนนิยมสามานย์ แฟชั่น สามานย์แล้ว การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงไม่ได้แก้ปัญหาที่มีเงินมากหรือมีเงินน้อย ถ้าหากที่นี่มีเงินมากขึ้นมา คุณจะเดือดร้อนไหม ก็ใช้เป็น ไม่มีปัญหาไม่เดือดร้อน คุณมีเงินน้อยก็ใช้เป็น ไม่มีปัญหาไม่เดือดร้อน แต่หากมีเงินมากแล้วคนก็ยังใช้ไม่เป็นเอาเงินไปออกดอกผล ไปหากำไรจากโลกมาอีกไม่มีทางหยุด แต่พวกเราไม่ทำแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่เคยเดือดร้อนไง ไม่เข้าไปขูดรีดกัน ถ้าหากต้นทุนเรามีมากมันก็ดูดได้มากใช่ไหม เพราะฉะนั้นลักษณะทุนนิยมจึงได้เปรียบอยู่ตลอดการเอาเปรียบตลอด ทุนนี้ เป็นทั้งตัวเงินและอำนาจ
ประชาธิปไตยทุนนิยมอย่างอเมริกา ขออภัยที่ต้องยกตัวอย่างอเมริกา คุณเด่นนะ แล้วคุณก็สามารถขี้โกงโลกได้ ปั๊มดอลล่าร์ ออกมาทั่วโลกโดยไม่มีหลักประกันในประเทศเลยให้ทั้งโลกใช้ ถ้าหากทั้งโลกเอาดอลล่าร์ไปคืนคุณ คุณไม่เหลือหรอก หมดประเทศก็ไม่พอด้วย แล้วคุณตีราคาสูงด้วย คุณเก่งที่ทำให้ราคามันสูง เมืองไทยนี่ ตั้ง 30 กว่าบาท แต่เก่งแย่งอำนาจบาตรใหญ่ กร่าง มันเปลืองผลาญ แล้วเฟ้อ
หากเราอยู่น้อยก็พอกิน เหลือเฟือ สังคมที่สงบอบอุ่น ไม่แย่งชิง ไม่โลภโมโทสัน ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมมาก พวกเรานี้เล่ห์เหลี่ยมน้อยลง มีความจริงใจซื่อตรงต่อกันและกัน ขึ้นไปทุกที แต่ทางโลกนี้มีเล่ห์เหลี่ยมแฝง ทำให้มากขึ้นซับซ้อนมากขึ้น เป็นอย่างนั้น มันจึงเป็นสังคมที่น่ากลัว สังคมที่จะประหารกัน ซ่อนมีดไว้เบื้องหลัง เอาอาวุธไปซ่อนในลำไส้ไม่ให้เขารู้ทันบ้าง อยู่กันอย่างทรมาน ซุกซ่อนซับซ้อน อาตมาพยายามอธิบายให้เห็นว่าชีวิตของคนนี้ คำว่าเศรษฐกิจ มันก็เป็นเรื่องของโลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ หากเราเข้าใจธรรมะพระพุทธเจ้าแล้วมีความพอ
มีสุภระ เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย สมาชิกชาวอโศกอยู่กันอย่างมีระบบระเบียบ มีวัฒนธรรมแล้วมีพฤติกรรมสังคมแบบนี้ ใครอยู่ 1. มาอยู่ที่นี่ไม่มีศีลไม่ได้ ต้องสังวรสำรวมในศีล 5 เป็นอย่างต่ำ คนอยู่ที่นี่อย่าว่าแต่ศีล 5 เลย มีศีล 8 ก็ได้ศีล 10 ก็ได้ไม่ต้องสะสมเงินทอง ขอยืนยันเลยว่าฆราวาสอโศกนี้เก่งกว่าพระเถรสมาคม เพราะไม่ต้องการเรื่องเงินทองอย่างพระเถระสมาคม ฆราวาสในนี้มีศีลมีวินัยสูงกว่าพระเถรสมาคมโดยค่าเฉลี่ย จริงแล้วจำนวนพระของเถรสมาคม กับฆราวาสอโศก หยิบมาดู ใครจะสะสมเงินทองมากกว่ากัน พระมากกว่า พูดได้อย่างนี้ อย่าหาว่าข่มหรือดูถูกดูแคลนเลย
การปฏิบัติธรรมะพระพุทธเจ้าด้วยหลักเดียวกัน ศีลเดียวกันวินัยเดียวกัน แต่อาตมาพาทำ พวกคุณเป็นพระได้ยิ่งกว่าพระ ไม่จำเป็นต้องมาโกนหัว ไม่ต้องมานุ่งห่มเหลือง เราก็ศึกษาอย่างมีคุณธรรม ชีวิตของเรานี้มีพฤติกรรมอันนี้ แสดงถึงจิตใจ เป็นคนมีวรรณะ 9 ได้ดีกว่า นี่เป็นผลสำเร็จแล้ว
ยิ่งมาบวชก็ยิ่งมีกฎเกณฑ์วินัยมากยิ่งขึ้นอีก แม้ฆราวาสชาวอโศกก็ยังทำได้ อาตมาเป็นหลักคนเดียว จนสร้างให้เกิดภิกษุและก็ช่วยกันให้เกิดเพิ่มขึ้น ทางด้านเถรสมาคม มีตัวหลักใหญ่ มีสังฆราช ก็โฆษณาเผยแพร่อธิบายศาสนาให้แก่ประชาชนในประเทศ อาตมาก็ทำ พวกเราก็มีสมาชิกชาวอโศก เถรสมาคมก็มีพระเป็นแสน ของอาตมานี่มีนักบวชไม่ถึงร้อย แต่คุณภาพสูงกว่าแน่ แม้ว่าปริมาณจะน้อยกว่า แน่นอนคนจะมีคุณภาพได้ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นอาริยธรรมในนี้ มันเป็นได้ง่ายที่ไหน โดยคุณค่าจริงๆแล้ว มันได้น้ำหนักน้ำเนื้อโลกุตระสัจจะสาระสัจจะสูงกว่า ก็ขออภัยพูดไปเหมือนยกตนข่มท่าน แต่ไม่รู้จะเลี่ยงอย่างไร เพราะเป็นสัจธรรมของสังคม ก็เอาสัจธรรมอธิบายว่าทำงานมีมรรคผลสำเร็จ ที่ทำกันอยู่นี้ ทำได้แล้วก็พูดบอกให้รู้ด้วยว่า อาตมาทำได้ก็น่าจะริษยากันบ้าง ไปทำอย่างโน้นทำศาสนาให้เป็นอย่างโน้นอาตมาไม่แข่งกับคุณหรอก อาตมาจะทำแบบนี้ มาจนมามักน้อยสันโดษ เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายมีทำให้ศีลเคร่งขึ้น จนเขาหาว่าสุดโต่ง พวกนี้มันเคร่งเกินไป แล้วพวกคุณเคร่งมากแล้วหรือยัง …ก็ไม่ ยังมีที่สูงกว่านี้อีกที่เรายังไม่ได้ทำ เราทำได้แค่นี้
เราทำได้ ขีดจุดที่คุณจะมีจิตเป็นโลกุตระอยู่ตรงนี้ เขียนเป็นรูปคนเดินไปสองทาง
คนไปทางรวยก็ไม่มีที่จบ สุขก็ไม่มีที่จบปรุงแต่งกันไปมีแต่สินค้าความสุข ถูกผลิตขึ้นมานานัปการ บางอย่างทุเรศทุรังการก็เอามาโฆษณาหลอกขาย นี่เป็นสินค้าใหม่เป็นความสุขนะจ๊ะ ที่จริงเป็นขี้หมาทาสีก็เอามาหลอกขาย ว่านี่ความสุขของใหม่ นวัตกรรมนะ คุณยังไม่เคยมีเคยเห็นเคยได้อะไร ขี้หมาทาสี บอกว่าหอมนะ เขาหลอกว่าหอม คุณก็อุปาทานตามว่าหอม
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีปัญญาสูงสุดก็คือโลกุตระ จนกระทั่งรู้ว่า ความสุขกับทุกข์นี้เป็นเรื่องอุปาทาน มันเป็นเรื่องหลอก มันไม่มีความสุขหรอก ไม่มี แต่ความจริงตามความเป็นจริง อันนี้ดี อันนี้สมบูรณ์ อันนี้ถูกต้อง อันนี้มันเสื่อม อันนี้ไม่สมบูรณ์ อันนี้มันบกพร่อง เราก็รู้ความจริงตามความเป็นจริงอย่างนั้น มันดีแล้วเราก็เลยเกิดความชอบและก็ไม่อยากได้แล้วไปแย่งชิง
มันดีก็ดี เรามีเยอะก็แบ่งคนอื่น ไม่ดีเราก็สร้างสิ่งดีขึ้นมาก็เท่านั้น เพราะฉะนั้นเรื่องฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้ออะไรเกินไปนั้นเราไม่เอา เราอยู่กับความพอ สร้างสิ่งที่เป็นสาระสิ่งที่เห็นว่าดีสิ่งที่เห็นว่าสมควรสิ่งที่เหมาะจบในตัวมันเอง ไม่ไปเอาแบบที่ดีๆดิ แต่ดีแตกก็ไม่รู้ว่าดีแตกแล้ว
พ่อครูชู เห็ดดอกใหญ่ขึ้นมา เรียกเห็ดตีนแรด..
อาหาร 4
-
กวลิงการาหาร (อาหารคำข้าว ให้รู้กิเลสเบญจกาม)
-
ผัสสาหาร (อาหาร คือ ผัสสะกระทบให้เกิดเวทนา)
-
มโนสัญเจตนาหาร (อาหารใจที่เจตนามุ่งกับตัณหา)
-
วิญญาณาหาร (อาหารของวิญญาณ กำหนดรู้นาม-รูป อันเป็นปัจจัยให้ตั้งอยู่แห่งสังขาร เพื่อการเกิดในภพใหม่ คือมีปัจจัยเกิดชาติชรามรณะ ทุกข์ และความคับแค้น)
(ปุตตมังสสูตร พตปฎ. เล่ม 16 ข้อ 241-244)
หากใครรู้อาหาร 4 และปฏิบัติธรรมลดกิเลสในอาหาร 4 ได้นี้ก็เป็นอรหันต์ได้ ไม่ต้องมากเลย
กวฬิงการาหารคือ อาหารคำข้าว กินเข้าไปเลี้ยงกายขันธ์ สัมผัสอาหาร ก็สามารถเกิดกิเลสได้ครบทุกทวาร มันมีกามคุณ 5 อาหาร คือคำข้าว คือเบญจกามคุณ จากตาหูจมูกลิ้นกาย ใจจะเกิดกิเลสในทางทวาร 5 คือกามคุณ
การปฏิบัติธรรมต้องมีสัมผัสภายนอกเป็นเบื้องต้น แล้วก็เรียนรู้กิเลส ฆ่ากิเลส กำจัดกิเลสให้ได้ พอได้แล้ว กาม ยิ่งกามหยาบๆ ที่เขาปรุงแต่ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ปรุงแต่งกันไม่รู้จักจบ อาหารปรุงแต่งรส รูป เต็มไปหมด เมืองไทยนี้ขึ้นชื่อนะ ที่หลอกเขา อาหารไทยจะเป็นที่ 1 ของโลกแล้วตอนนี้ มันบ้าปรุง คนไทยไปเมืองนอก ไปถึงบอกว่าแกง น้ำซุป ก็เลยบอกว่าทำไมรสมันจืดจาง ไม่นัวไม่เค็มเปรี้ยวเผ็ดอะไร น้ำแกงสู้ต้มยำกุ้งไม่ได้ ต้มยำกุ้งก็เลยไปดังทั่วโลกทั้งเปรี้ยวเผ็ดหวานมันเค็ม ปรุงรสตามที่ลิ้นชอบ ใครหนักรสไหน คนไทยรู้ดีมาก ทำแบบจืดนั้นง่าย ถ้าหากปรุงรสต่างๆนี้ให้สุดเลย ก็หลอกกันไป ก็มาเรียนรู้ที่เป็นอบายมุข มันแรงเกินไปจัดเกินไปมากเกินไป ก็ลดลงๆ เรียกว่ารสชาติ มีรูปก็ชวนกิน มีกลิ่นชวนกิน มีสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็ชวนกิน ที่จริงอาหารไม่มีเสียง แต่ว่า ร้านอาหารก็เลยเอาดนตรีไปประกอบกินข้าวเคล้ากับเสียงเพลง ที่จริงอาหารมันมีเสียงประกอบน้อย แต่อย่างไรก็ครบหมด เป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสหมด
อาหารจึงเป็นหนึ่งที่เอามาปฏิบัติธรรมเป็นโภชเนมัตตัญญุตา ในการประมาณเมื่อมีสัมผัส 6 การปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธต้องมี สัมผัส 6 แล้วเป็นอปัณกปฏิปทา 3 หลักปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้าถ้าอยู่ในกรอบ 3 อย่างนี้ไม่ผิด แต่ถ้าไม่อยู่ใน 3 อย่างนี้ เป็นการปฏิบัตินอกรีต
-
ต้องมีการสังวรสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ถ้าเอาแต่ปิดทวารนั้นมันผิด ปฏิบัติธรรมกับอาหารคุณจะตื่นหรือหลับ ชาคริยา หากคุณหลับก็ไม่มี สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตา มันเป็นการปฏิบัติที่ผิด ก็เรียนกันมารู้กันมา อธิบายกันมาแต่เขาโง่ ปฏิบัติกันแค่นี้ กลายเป็นนั่งสะกดจิตหลับๆตื่นๆ ก็ง่ายๆตื้นๆ ปฏิบัติในภพ แต่ของพระพุทธเจ้าต้องตื่นลืมตาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ขาดจากกายไม่ได้ พระพุทธเจ้าเห็นความเสื่อมของศาสนาออกนอกรีตไป ไปเข้าใจอานาปานสติว่า จะต้องนั่งสมาธิ แล้วก็กำหนดลมหายใจอานาปานา แปลว่า ลมหายใจเข้าออก ให้รู้ลมหายใจเข้าออก หากขาดจากลมหายใจเข้าออกแล้วไม่มีกายแล้ว ไม่ใช่การปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้าเพราะไม่มีกาย มันออกนอกรีตแล้วก็ไม่เข้าใจ
การนั่งหลับตาสะกดจิตไปเล่นลมหายใจเก่งมาก ออกนอกรีตตรงที่ว่า นั่งหลับตาแล้วลมหายใจข้างนอกไม่มี มันมีแต่ว่าไม่รู้จักแล้วไม่มีความรับรู้ต่อมันแล้ว ไม่สำคัญมั่นหมายกับมัน แล้วก็เล่นกับลมหายใจข้างใน ลมขึ้นบนลมลงล่าง ขยายลมใหญ่ลมเล็ก อธิบายไปเป็นคุ้งแควเละเทะไปหมด
หากขาดความรับรู้ลมหายใจเข้าออกที่มีภายนอกอยู่ นั่นคือไม่มีดินน้ำไฟลม ไม่มีมหาภูตรูป 4 ที่มีข้างนอกสัมผัสด้วย มันผิดจากศาสนาพุทธ นั่งเหลือแต่ลมหายใจนั้นมันเกือบหมดแล้วนะ แต่กลับไปหลงยินดีว่านี่แหละคือการปฏิบัติสมาธิ สัมมาสมาธินี้ไม่ได้หมายความว่าสะกดจิต ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องหรี่จิต แต่สมาธิหมายถึงจิตที่ตั้งมั่นตกตะกอนแข็งแรงจากการเรียนรู้จิตที่มีอกุศล แล้วทำให้กิเลสมันตาย กิเลสตายจิตใจก็สะอาดสั่งสมลงเป็นจิต ส่วนที่สะอาด จิตสะอาดสั่งสมตั้งมันแข็งแรงขึ้น เรียกว่าเป็นสมาธิ ในขณะปฏิบัติจิตรู้จักจิตรู้จักกิเลส แยกมโนไปวิจาร 18 ว่านี่คือกิเลส เอากิเลสออกได้ดับกิเลสไปได้เกิดจิตที่สะอาดสั่งสมลง จิตก็ยิ่งแคล่วคล่อง มีมุทุภูตธาตุ มีกายปาคุญญตา กายคือหมวดของจิตเจตสิก 3 คือ เวทนา สัญญา สังขาร คือกาย พยัญชนะก็ถูกต้อง แต่ความเข้าใจของชาวพุทธ แม้แต่พระเจ้าบอกว่ากายก็คือดินน้ำไฟลมไม่มีจิตใจร่วมด้วยเลย นี่คือออกนอกธรรมะพระพุทธเจ้าแล้ว หลุดไปเพี้ยนไปไกล
การปฏิบัติธรรมะพิจารณากายในกาย กายนอกกายก็ผิดไปหมด เพราะว่ากายมีแค่ดินน้ำไฟลม ไม่มีจิตใจร่วมด้วย
คำแรกของโลกุตรธรรมพิจารณากายในกายก็ไม่เหลือแล้ว เพราะคำว่ากายคำเดียวนี้ผิดไปแล้ว อาตมานำมูลกรรมฐาน 5 ที่พระบวชเริ่มต้น ต้องหัดพิจารณามูลกรรมฐานให้รู้กายรู้จิต เดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจกันแล้ว อุปัชฌาย์อาจารย์ที่สอนไม่รู้แล้ว ไปพิจารณากรรมฐาน 5 ว่าให้พิจารณาไตรลักษณ์ เห็นกายไม่เที่ยงเป็นทุกข์อนัตตา พิจารณา เวทนา จิต ธรรม เป็นไตรลักษณ์ ซึ่งไม่ใช่ ท่านให้พิจารณามูลกรรมฐานคือตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้พิจารณาว่าเมื่อใดเป็นกายเมื่อใดเป็นจิต เล็บเรา ผมเรา ส่วนใดที่เป็นกายส่วนใดไม่ใช่กาย แต่เขาไม่เรียนกันแบบนี้ เขาให้เรียนรู้ว่ามันไม่เที่ยงเป็นทุกข์มันไม่มีตัวตนเป็นไตรลักษณ์
อาตมาพยามอธิบาย แต่มันไม่ง่าย ใครที่คิดว่าตัวเองเข้าใจดีแล้ว… มีอยู่ไม่กี่คน ใครเข้าใจไม่เต็มที่ …มีมากเลย
ขนาดอาตมาพูดฉ่ำปากเลยนะนี่ มันก็ยังไม่ได้ง่ายเลย
ตถาคตเรียกกายว่าคือจิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ล.16 ข. 230 มีในพระไตรปิฎกเขาอ่านแล้วก็จะงงกัน
ในร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า ความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี ของร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ทั้ง 4 นี้ ย่อมปรากฏ ฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้างหลุดพ้นบ้าง ในร่างกายนั้น แต่ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชน ผู้มิได้สดับ รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ ตลอดกาลช้านาน ฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงจะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นไม่ได้เลย ฯ
อย่างคุณเข่ง ใจแก้วนี้ แต่ก่อนที่มากับตอนนี้ ที่เห็นนี้เปลี่ยนไปไหม…เปลี่ยนไปมากเลยในร่างกายนี้ มหาภูตรูปนี้ ก็เป็นภาระเป็นทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ ต้องกินข้าว ต้องหาอาหาร ต้องออกกำลังกาย ต้องดูแลรักษา ให้มันมีธาตุเข้าไปเลี้ยงที่แข็งแรง แต่ก็เป็นวัตถุ ง่าย แต่เรื่องจิตสิ มันรู้ยากเห็นยากแล้ว บริหารให้เป็นอาริยะยาก พัฒนามันทำมัน มนสิการ หรือมนสิกโรติ ทำให้มันเจริญได้ยาก มันเป็นเรื่องที่จะทำให้ถ่องแท้จะทำให้ละเอียดลึกซึ้ง โยนิโสฯ ให้ลงไปถึงที่เกิด
อะไรคือลงไปถึงที่เกิด ที่เกิดคือปภวะหรือสัมภวะ คุณจะต้องมีการทำจิต ต้องมีการทำจิตหรือมนสิการเป็นสัมภวะ ในมูลสูตร 10
แต่เขาแปลโยนิโสมนสิการคือพิจารณาให้ถ่องแท้แยบคาย เขาทิ้งคำว่ามนสิการ การทำในใจของเรานี่แหละตรงนี้ที่จะทำให้เกิดให้ตาย เพราะมันมีกิเลสเกิดต้องทำให้กิเลสตายตรงที่ใจนี้ สัมภวะ เป็นแดนเกิดแดนตาย คุณจะต้องทำให้ตายให้ได้ ถ้าอันนี้ให้ตาย ทำให้กิเลสตาย แล้วจิตสะอาดจิตอาริยะก็จะเกิดตรงนี้ คือความเกิดความตายที่พระพุทธเจ้าให้เรียน ทางร่างกายนั้นไม่ได้ยากอะไร การเกิดและตายมันจัดการของมันเองอยู่แล้ว คนที่ยังไม่อยากตายทางร่างกายอยู่แล้ว แต่ทางจิตใจนี้สิ เราต้องเรียนให้ละเอียดลงไป คุณจะต้องรู้จักสมุทัย คุณจะต้องมีผัสสะเป็นสมุทัยเป็นเหตุ
สมุทัยนี้ ไม่ใช่ตัณหาในอริยสัจ 4 แต่เป็นสมุทัยในการปฏิบัติ การปฏิบัติที่ไม่มีผัสสะเป็นเหตุเป็นการปฏิบัติที่ออกนอกรีตศาสนาพุทธแล้ว นี่คือมูลสูตร สูตรต้นรากต้นแบบ ต้องเริ่มต้นมีฉันทะเป็นสำคัญ ปฏิบัติธรรมไม่มีฉันทะไม่มีความยินดีปฏิบัตินั้นไม่ง่าย จะมาเรียนปรมัตถ์อย่างที่พวกเราเรียนนี้ไม่ง่าย ต้องมีความฉันทะมีความตั้งใจยินดีมีความเสียสละ หลายคนรักโลกธรรมลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ไม่มีฉันทะพอเลยไม่มา ขนาดมีงานอโศกรำลึกยังไม่มาเลยเพราะติดงาน ติดงานที่เป็นโลกียะ แล้วงานที่มาเอาโลกุตระนี้ไม่ใช่งานสำคัญหรืออย่างไร ปีหนึ่งมีหนเดียว เราก็ต้องพยายามจัดให้มันเป็นวิธี ปลุกเสกฯ พุทธาภิเษกฯ มหาปวารณา รวมกันมาฟังธรรม มาปฏิบัติประพฤติไปด้วยกัน เป็นกลวิธีเป็นอุบายโกศล วิธีให้มาศึกษาฝึกฝนปริยัติปฏิบัติปฏิเวธ ก็เขาไม่เห็นความสำคัญ ขาดบาทขาดสลึง กลัวจะพร่องก็ปลีกมาไม่ได้ ชีวิตคุณจะอยู่กับแบบนั้นตลอดกาล ก็เอาเถอะ ใครจะเห็นความสำคัญกับธรรมะก็มา คนเห็นความสำคัญของสาระในสาระก็มา
เมื่อเราเองสามารถเรียนรู้เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรม เขตสำคัญคือ รู้จักเวทนาในเวทนา
-
มีธาตุรู้คือปัญญา 2. มีสิ่งที่ให้ธาตุรู้มากำหนดรู้ มีธาตุรู้ที่กำหนดรู้คือสัญญา สิ่งที่กำหนดรู้คือรูป แยกแยะ กาย เวทนา จิตได้
กายคือ ต้องมีวัตถุพร้อมข้างนอกพร้อม แล้วก็มีจิตร่วมด้วย ความมีรูปนาม เราสำคัญที่รูปนาม ธาตุรู้เมื่อรู้แล้วแยกแยะ สิ่งที่ถูกรู้เป็นรูป เช่น นี่มะระมีลูกสีเขียว กล้วยน้ำว้าสุกก็เป็นลูกเหลืองๆอย่างนี้ เราก็เห็นรูปร่างอย่างนี้ แต่นามธรรม เวทนาความรู้สึกของเรา
-
ธาตุรู้เวทนารู้แท้ ว่ามันเป็นอย่างนี้ เห็นแต่รูปเฉยๆ ได้กลิ่น ได้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งหรือรับรสว่ามันเป็นอย่างนี้ ใครมาสัมผัสทางลิ้น ว่ารสมะระอย่างนี้ คนไหนมาสัมผัสก็รสเดียวกันหมด เพราะว่ารสนี้มันเป็นของอันนี้ ส่วนอีกอันหนึ่งเป็น รสเก๊ อันนี้ชอบ ขมกำลังดี เข้าท่า แต่อีกคนก็ว่าไม่ไหวไม่เอา อีกคนหนึ่งก็ว่าขมน้อยไปนะ สวยแต่รูปจูบไม่หอม สู้สะเดาไม่ได้ คนติดรสอันนี้ก็เกิดความชอบความชัง ความชอบไม่ชอบคือรสเก๊ แต่รสจริงก็เป็นของมัน มะระมันก็เป็นการขมอย่างนี้ เอาสะเดามาแข่งมันก็เป็นของมัน แต่คุณชอบหรือไม่ชอบคุณกำหนดของมันเอง อันนั้นคือตัวปลอม ตัวเก๊ที่จะต้องไม่ให้มีในจิต