ถอนกล้าทำนาอย่าลืมถอนอาสวะไปด้วย
หลังงานอโศกรำลึกต้นกล้านาโยนที่เหลือไม่ได้ใช้ งอกรากหยั่งลงดินมาก จึงต้องใช้กำลังพลชาวราชธานีอโศก ทั้งสัมมาสิกขาราชธานีอโศก สมุนพระราม รวมทั้งเด็กอาชีวะศึกษารวมทั้งผู้ใหญ่ไปช่วยกันถอนกล้านาโยน
ช่วงเช้าของวันจันที่ 11 มิถุนายน 2561 พระอาทิตย์เป็นใจไม่ส่องแผดแสงแรงนัก เมฆฝนก็ร่วมช่วยกำบังแสงให้ ฝนก็หยุกตกพอดี ทำให้บรรยากาศเป็นการทำงานสบายๆ แบบ บวร มีสมณะ สิกขมาตุ ชาวชุมชน และเด็กนักเรียนต่างแบ่งกันทำหน้าที่ มีทั้งถอนกล้า มีทั้งล้างถาดหลุม ส่วนเด็กนักเรียนอาชีวศึกษาเป็นม้าเร็วขับรถกระบะ นำพาต้นกล้าไปปักดำในทุ่งนาคำยอด ที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือหลาย 100 ไร่ในราชธานีอโศก
ผู้ใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานอดทนแต่ไม่รวดเร็ว เด็กๆมีกำลังเหลือเฟือทำได้รวดเร็วแต่ไม่ค่อยมีความทนทาน โดยเฉพาะเด็กสมุนพระราม เมื่อทำไปก็เริ่มจะเมื่อยจับกลุ่มกันพูดคุยและเล่นสนุกสนาน ผู้ใหญ่ก็มีใจเอ็นดูไม่ได้ถือสาหาความอะไรกับเด็ก ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานไป
สำหรับผู้ใหญ่บางท่านที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบฝึกฝนอบรมเด็ก ก็ต้องคิดหาวิธีพัฒนาให้เด็กไม่เอาแต่เล่นเอาแต่คุยกัน แต่ให้หันมาทำงานอย่างตั้งใจขึ้นมาบ้าง จึงได้บอกให้เด็กเด็กสมุนพระรามไปทำงานกับผู้ใหญ่ หรือพวกพี่ๆที่มีความรับผิดชอบสูงกว่า ก็สามารถทำให้เด็กเด็กสมุนพระรามไม่คุยกันและหันมาตั้งใจทำงาน เพราะต้องทำงานร่วมกับผู้ใหญ่หรือพี่ๆที่มีความรับผิดชอบมากกว่าจึงเกิดการซึมซับ “osmosis” ส่ิงที่ดีเข้าใส่จิตวิญญาณ และทำให้เกิดความสัมพันธ์กัน ลดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่หรือระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องลงได้อีกด้วย ผู้ใหญ่และพี่ๆก็คุยกับเด็กๆสมุนพระรามอย่างเป็นกันเอง
แต่หากเป็นผู้ใหญ่ที่ยึดถือเอา “ผลงานการทำงานเป็นตัวตั้ง” มากกว่า “ความเจริญทางจิตวิญญาณเป็นตัวตั้ง” มี “ความยึดดี ถือดี” ก็คงจะเกิดความไม่พอใจไม่ชอบใจที่เด็กๆเอาแต่เล่นไม่ยอมทำงาน อาจพูดจาทำให้บรรยากาศการทำงานเสียไปได้อีก แต่ก็ถือว่าเป็นโจทย์สำหรับทุกฝ่ายที่จะได้ฝึกหัดไม่เอาแต่ใจตัวเองกันทั้งนั้น “หากมีสัมมาทิฏฐิ” ก็ย่อมเอาประโยชน์ได้ทุกสถานการณ์
ต่อมา รุ่นพี่อาชีวะที่เอากล้าไปดำที่นาคำยอด ทำงานเสร็จเร็ว จึงกลับมาขนต้นกล้า เด็กๆจึงช่วยกันขนต้นกล้าขึ้นรถกันอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากต้นกล้าข้าวมีหลายสายพันธุ์ ผู้ใหญ่เห็นเข้าก็เลยบอกสอนเด็กๆว่า ทำไมไม่ถามก่อนเอาต้นกล้าขึ้นรถ เด็กๆก็นิ่งรับฟังด้วยดี แต่ทว่า ต้นกล้าถ้ามีหลายสายพันธุ์ก็ปนกันไปหมดแล้ว ผู้ใหญ่เกรงจะมีปัญหาในการเก็บเกี่ยวหลังปลูก เพราะว่าต้นกล้าแต่ละสายพันธุ์มีอายุการเก็บเกี่ยวที่ต่างกัน หากเอาไปปลูกปนกัน ข้าวจะสุกไม่พร้อมกัน เป็นปัญหาตอนเก็บเกี่ยวแน่ เด็กๆฟังแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ทำใจ ส่วนผู้ใหญ่เป็นกังวลใจเช่นกัน
สุดท้าย เหลียวไปดูบริเวณที่ถอนต้นกล้า ปรากฏว่า โชคดีที่ทุกคนถอนแต่ต้นกล้าพันธุ์ “ขาวบ้านนา” อย่างเดียวพอดี ไม่ได้ไปถอนพันธุ์อื่นเลย …ก็เลยโชดดีไป เด็กๆก็ได้ฝึกรับคำตำหนิอย่างได้ประโยชน์ ผู้ใหญ่ก็ได้รู้จักประมาณการบอกสอนเด็ก และได้ลดโลกธรรมไปด้วย…..Everythings happen for the best.
สื่อธรรมะพ่อครู(อัตตา) ตอน ฉลาดแท้จึงแพ้เป็น
ดูยูทิวป์ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=1QakI0KjICI
_หนูอยากทราบว่า ทำไมคนเราไม่หัดยอมซึ่งกันและกัน ทำไมถึงอยากเอาชนะแต่อย่างเดียว
“พ่อครูตอบ…มันมีอัตตา มันมีตัวตน ทำไมไม่ยอม เพราะมันถือตัว ทำไมอยากจะเอาชนะ ก็เพราะว่าถือดี
พูดถึงเรื่องอยากเอาชนะ อาตมาฉลาดมาก นี่พูดความจริงนะ เพราะใจลึกๆอาตมาไม่เห็นว่า การแพ้ผู้อื่น มันจะเลวตรงไหน ถ้าเราผิดเราควรแพ้ แม้ถ้าเราถูก ถ้าคนจะมาว่าเราผิด แล้วก็ข่มให้เราแพ้ เราไม่ผิด คนผิดก็คือคนว่า คนโง่ก็คือคนว่า อาตมาฉลาดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ถือสา คนที่มาเอาผิดกับอาตมา
อาตมาก็ตรวจสอบ ความผิดของตัวเอง ว่าเราผิดจริงหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้ผิด เขาจะว่าเราแพ้ ว่าเราผิด ก็ศีรษะเขา ไม่ใช่เรา ศีรษะเขาประกอบด้วยสมอง แต่ไม่ฉลาดเท่าไหร่ ก็เลยรู้ผิดมาลงโทษเรา อาตมาก็ได้รับโทษมาแล้ว ในชีวิตนี้ ขออภัย ที่ต้องพูดความจริง รับโทษถึงขนาด ที่ทางศาสนาก็หาว่าผิด ก็ถูกลงโทษทางศาสนา ส่งเรื่องไปถึงทางโลกทางกฎหมาย กฎหมายทางการเมือง ก็ตัดสินว่าอาตมาผิดอีก อาตมามีแต่แพ้และแพ้ ไม่เป็นไร อาตมาก็ยังเบิกบาน ร่าเริงแจ่มใสเพราะตรวจตัวเองแล้วว่า เราไม่ผิด แพ้ก็แพ้ชะตาทราม ดวงใจทรงความมั่นคง
ทำไมต้องแต่งเพลงผู้แพ้ แต่งตอนอายุ 20 พอดี(พ.ศ.2497) เป็นเพลงฮิตด้วย มาเปิดเผยความจริงว่า เกิดมาเป็นผู้แพ้นี่แหละ อาตมาเป็นผู้แพ้ ที่ไม่เคยเศร้าหมอง เป็นผู้แพ้ที่ไม่เคยหดหู่อะไรเลย และเป็นผู้แพ้ ที่ไม่เคยโกรธคนเอาชนะ คนที่เอาชนะอาตมา ก็เอาชนะไป อาตมาไม่เคยโกรธ ไม่เคยอยากเอาชนะ ทั้งที่อาตมาไม่ผิด อาตมามั่นใจว่า อาตมาไม่ผิด แต่อาตมาก็ยอมได้ยอมแพ้ได้ เพราะฉะนั้น อาตมาจึงประสบผลสำเร็จ
ถามว่า คนเราทำไม ไม่หัดยอมซึ่งกันและกัน ทำไมอยากเอาชนะอย่างเดียวก็เพราะ โง่ ถ้าเป็นคนฉลาดแล้ว จะยอมแพ้ แต่อย่าผิด เป็นประเด็นสำคัญนะ ยอมแพ้ได้ ในโลกสังคมประเทศไทย กำลังจะปรองดอง ถ้าเข้าใจประเด็นนี้ ถ้าอยากให้สังคมสงบปรองดอง คนฉลาดรู้ก็ยอมแพ้เถอะ เพราะคนโง่มันจะเอาชนะ ก็ให้มันชนะให้เข็ด แล้วเรายอมแพ้แล้ว เราเป็นผู้ยอมแพ้ คือผู้ฉลาด ผู้จะเอาแต่ชนะคือคนโง่ ผู้ที่แพ้บอกแล้วนะว่าคือผู้ฉลาด ก็เอาความฉลาดของเรานี่ล่ะ ประนีประนอม เพราะฉะนั้น สังคมต้องให้คนฉลาดเป็นคนทำ อย่าเอาคนโง่เป็นคนทำ เพราะมันจะเสีย ยอมแพ้แล้วพลังงานจะไม่สูญเสีย”
หากผู้ปฏิบัติธรรมที่ “ไม่สัมมาทิฏฐิ” มี “การทำงานเป็นกรรมฐาน” ไม่เอา “เวทนาเป็นกรรมฐาน” ก็จะมุ่งแต่เอาให้ได้ดั่งใจ เอาผลงานเป็นที่ตั้ง ซึ่งผลงานก็แฝงไปด้วยโลกธรรมนั่นเอง ทั้งไม่ยอมเสีย “โลกธรรมทางด้านบวก” และไม่อยากได้ “โลกธรรมด้านลบ” หรือ “เห็นแก่ประโยชน์ท่าน มากกว่าประโยชน์ทางจิตวิญญาณตนเอง” จึงมักไป “ทำนาคนอื่นก่อนทำนาตนเอง” จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิด “เวทนาเก๊”ขึ้น เกิดอารมณ์ “ขึ้น-ลง / สุข-ทุกข์” ไปกับการได้สมใจไม่สมใจกับ “ภพ-ชาติ” ที่เกิดขึ้น เป็น “เวทนาสอง” เป็น “เวทนาเก๊- เวทนาเทียม”
หากได้ “สมภพ/สมโลกธรรม” ก็ “สุข” ไม่ได้ “สมภพ/สมโลกธรรม” ก็ “ทุกข์” เมื่อเวทนาเกิดสุขเกิดทุกข์ ก็จะเกิด “ตัณหา” ที่เป็น “กามตัณหา/ภวตัณหา” ทำให้แสดงออกทางกายกรรม วจีกรรม ตาม “กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน” อ้าปากพูดออกมา ก็ทำให้คนฟังอยากเบือนหน้าหนี เหมือนได้ยินได้ฟังเสียงจากนรกก็เป็นได้
ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้น การมองหาความผิดของตนเองก่อนมองหาความผิดของคนอื่น จึงเป็น “สัมมาทิฏฐิเบื้องแรก” ที่ต้องทำ จึงจะทำให้ตนเองอ่านเวทนาตนเองได้ทัน และมีโอกาสในการแก้ไขทำ “เวทนาเทียม”ให้เป็น “เวทนาแท้”ได้ มากกว่าที่ทำใจแบบว่า เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดก็มองหาแต่ความผิดความบกพร่องของคนอื่น นั่นยิ่งจะทำให้เราเพิ่ม “เวทนาเทียม” เกิดอารมณ์ไม่ชอบใจมากยิ่งขึ้นได้ ทำให้ยิ่งเพิ่มอัตตาตัวตน เพิ่มความอยากเอาชนะคะคานกันมากขึ้นไปอีก
และสัมมาทิฏฐิที่ต้องทำใจในใจต่อ คือการมองว่า งาน,วัตถุหรือ คน ที่ทำให้เราไม่ได้ดั่งใจ ไม่ได้ “สมภพ/สมโลกธรรม” “สมอัตตาอยากเอาชนะคะคาน” ให้ได้นั้น เป็น “ผัสสะ” เป็น “สมุทัย” หรือเป็นเหตุให้เราได้ปฏิบัติธรรม ตามมูลสูตร 10 ทำให้เราได้เห็นอัตตาตัวตน เห็นความติดยึดในภพ ยึดติดในโลกธรรมของตนเอง เห็นความเอาแต่ใจตัวเองได้ เห็น “อาสวะ” ในตนที่วิ่งออกมาเพ่นพ่านได้ชัดเจน นั่นก็คือประโยชน์ที่แท้จริง ที่นักปฏิบัติธรรม ไม่ว่ารุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ควรได้เข้าถึง
และยิ่งได้ทำการจัดการ(ปุญญาภิสังขาร) ทำให้อาการใจที่ไม่ปกติ ทำให้กำลังอยากจะพูดออกไปหรือแสดงออกไปด้วยแรงแห่ง “กามตัณหา/ภวตัณหา”ที่ก่อ “เวทนาเทียม” อันเกิดจาก “ความชอบใจ/ไม่ชอบใจ” นั้นให้มีความสงบรำงับลงได้ ชั่วคราว เป็นขณะๆ แม้จะเป็นสถะวิธี หากทำได้ก็เป็นกำไรขั้นแรกแล้ว
และถ้ายิ่งลดอาการใจที่ไม่ปกตินั้นได้ด้วย “ปัญญา” เห็นทุกข์โทษภัยที่ต้องเกิดอาการนั้น มันเกิดจาก “ความยึดมั่นถือมั่น”ในอัตตาตัวตนใด ทำไมเราต้องไปโง่ยึดถือมันเอาไว้จนก่อทุกข์ ก่อความเดือดร้อนใจแก่ตนและผู้อื่น พิจาณาทำใจในใจ จนอาการมันค่อยจางคลายลงไป ลดลงไป จนมันหมดไปได้ และทำซ้ำทำทวนอย่างที่ได้ผล ทำให้มากๆๆๆๆ จนมันไม่กลับคืนมาอีกได้ตลอด ทำจนเห็นความเบาว่างสบายของการไม่ต้องได้สมใจเราก็ไม่ทุกข์ใจ หากจะได้สมตามตั้งใจตาม “เจตนาที่ไม่ได้มีความอยาก” เราก็ไม่ไปสุขใจไปกับมัน ให้อาการใจมันเบาๆกลางๆ อย่างที่เราตั้งใจทำมันได้ในขณะผัสสะ นั่นก็ยิ่งเป็นประโยชน์ที่แท้จริงที่นักปฏิบัติธรรมพึงได้ เป็นค่าจ้าง เป็นทรัพย์แท้ในการทำงานในระบบสาธารณโภคี คือได้ “ถอนอาสวะไปด้วยพร้อมกับการถอนต้นกล้าทำนา” นั่นเอง…
ตื่นรู้ตามโพธิ์…12 มิ.ย. 2561
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=1QakI0KjICI[/embedyt]