สัมมาพัฒนา
สันติอโศก
ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน
เขียน
Right Development
The Santi Asoke
Buddhist Reform Movement of Thailand
Juliana Essen
ถนอม บุญ
แปลและเรียบเรียง
บทที่ ๑
บทนำ
ดร. จูลิอานา เอสเซน เริ่มต้นหนังสือเล่มนี้ ด้วยการกล่าวถึงนิทานปริศนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ปัจจุบัน ทรงใช้ในการสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์ ให้ใช้ความรอบคอบในการพัฒนาประเทศ นิทานเรื่องนี้ความว่า
วันหนึ่ง พระมหาชนก เสด็จประพาสพระราชอุทยานหลวง และได้เสวยมะม่วงผลหนึ่ง พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “มะม่วงต้นนี้ ให้ผลที่มีรสหวานกลมกล่อม” แล้วเสด็จเลยไป แต่เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาประพาส พระราชอุทยานอีก ในวันต่อมา ไม่เห็นมะม่วงต้นนั้น ทรงตรัสถามคนสวน ก็ได้ความว่า หลังจากที่พระองค์เสด็จผ่านไปแล้ว ผู้คนกรูกันเข้าแย่ง เก็บผลมะม่วง จนกิ่งหักโค่นลงมา บัดนี้ มะม่วงถูกขโมยไปทั้งต้น แม้แต่รากก็ไม่เหลือ
ดร. เอสเซน บอกว่า นักปราชญ์ไทยหลายคน เช่น หมอประเวศ วสี ให้อรรถาธิบายว่า ประเทศที่ขับเคลื่อน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ด้วยแรงแห่งความโลภ หรือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ก็จะลงเอย เหมือนนิทานเรื่องนี้ (คือจะไม่มีมะม่วงให้กิน -ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ให้ใช้อีกต่อไป) ตัวอย่าง ประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นแหล่ง ที่ให้ความผาสุกแก่พลเมือง แต่เมื่อมีการเร่งรัดพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยการลงทุนแบบอุตสาหกรรม ก็ประสบปัญหา อย่างที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน เช่น สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ศีลธรรมเสื่อมลง ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ระหว่าง คนมั่งมีกับคนจน เพิ่มมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ เป็นที่ประจักษ์ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ในอาเซียอาคเนย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ บัดนี้ คนไทยหลายคน ตระหนักถึง ผลร้ายที่เกิดขึ้น กับการพัฒนาเศรษฐกิจ แบบนั้น และหันมาหาทางเลือกใหม่ เช่น การมีสังคมแบบชนบท ซึ่งดำรงชีพตามหลักพุทธศาสนา
ดร. เอสเซน ชี้ให้เห็นว่า สันติอโศก ประสบความสำเร็จ ในการปฏิรูปพุทธศาสนา เพื่อใช้เป็นแนวทาง สำหรับ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เธอรายงานว่า ชาวสันติอโศกจำนวนหนึ่ง (๗ ชุมชน) ได้ดำเนินชีวิต ตามอุดมคติทางพุทธ เช่น การไม่ยึดติดในวัตถุ และพยายามเข้าให้ถึง ความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ ปรากฏว่า ตลอดเวลาที่ประเทศไทย กำลังประสบความหายนะทางเศรษฐกิจ ชาวอโศก กลับพบความเจริญรุ่งเรือง อโศกได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า คนธรรมดาสามัญทั่วไป ก็สามารถดำเนินชีวิต ให้เกิดความสำเร็จ หรือการเป็นคนที่มีคุณค่าได้
ดร. เอสเซน เป็นสตรีอเมริกัน เชื้อสายสแกนดิเนเวียน และนับถือศาสนาคริสต์ เธอรวบรวมข้อมูล สำหรับเขียนหนังสือเล่มนี้ จากการคลุกคลีอยู่กับชาวอโศก ที่พุทธสถานศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ ในระหว่าง กันยายน – ตุลาคม ๒๕๔๒ และ กันยายน ๒๕๔๓ – กรกฎาคม ๒๕๔๔ เธอเล่าว่า เธอทำทุกอย่าง เสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่ง ของศีรษะอโศก เช่น ถือศีล ๕ เว้นอบายมุข นอนบนเสื่อกกในเรือนไม้ ตื่นตี ๓ ครึ่ง เพื่อสวดมนต์ และฟังธรรม ช่วยงานวัด กินอาหารมังสวิรัติ สนทนากับเพื่อนบ้าน ดูแลเด็ก ฟังการประชุมคณะกรรมการ และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงมีความเข้าใจลึกซึ้ง ถึงหัวใจ ของสิ่งที่ชาวอโศก ยึดถือและปฏิบัติ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง นอกจากนี้ เธอยังรวบรวมข้อมูล จากแหล่งอื่นๆ เช่น ห้องสมุด พุทธสถานสันติอโศก ที่กรุงเทพฯ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ความเป็นมาของอโศก การสำรวจความคิดเห็น แบบสุ่มตัวอย่าง จากสมาชิก มากกว่าครึ่งหนึ่งของศีรษะอโศก การสัมภาษณ์ ตัวแทนชุมชนศีรษะอโศก การแปลความ จากภาพถ่าย และข้อเขียน ของสมาชิกชุมชนศีรษะอโศก ซึ่งบรรยายความสำคัญ ของชุมชนของเขา