ธรรมปัจจเวกขณ์ (1)
18 กุมภาพันธ์ 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ต้องตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาททุกเมื่อ พยายามมีสติ รำลึกตนรู้ตนรู้ตัว ภาษาฟังง่าย แต่การกระทำต้องพยายาม แต่ไม่ใช่ว่าจะเคร่งเครียดจนเกินไป เราหนักไม่เบิกบานแจ่มใส มีทางลงไปในทางท้อแท้หดหู่ จนเกินไป อย่างนั้นก็ไม่ใช่
มัชฌิมาหรือสัมมาปฎิปทานั้น จะต้องเป็นผู้ที่รู้ตัวรู้ตนอยู่ อย่างจริง รู้ในกฎในข้อที่เราควรจะมีกฎมีข้อ ในการที่จะกำหราบตน ปราบตน ระวังตน ส่วนใดมันเป็นอกุศล ก็ต้องเลิก-ละ-ลด ตรวจทั้งกายกรรม ตรวจทั้งวจีกรรม ตรวจทั้งมโนกรรม โดยเฉพาะมโนกรรมนั่นเป็นอันสำคัญ ทำให้ได้ก่อน มันตัวอ่อนตัวละเอียด มันตัวเมามันตัวง่าย ที่จริงแล้วมันง่าย เราเองที่ไม่รู้เหลี่ยมมัน เราไม่รู้จิตเราไม่รู้มโน เราจึงตัดจึงไล่มันไม่ออก ถ้าเรารู้แล้วมันง่าย มันจะละลายทันที มันสลัดออกได้ทันที ปรับเปลี่ยนเหตุนี้ได้ด้วยจิต รู้ให้จริงว่า นี่เป็นอกุศลแล้วอย่าเอาไว้ รู้ว่านี่เป็นทุกข์อย่าเอาไว้ เอามันไว้ทำไมทุกข์ รู้ความจริงตามความเป็นจริง ให้ได้อย่างแท้จริง เราอยู่กับงานกับการ เราอยู่กับอะไรก็ช่าง ต้องระลึกและก็ต้องพยายาม ประกอบกายกรรม ประกอบวจีกรรม มีสติอยู่กับการเป็นอยู่อันธรรมดา
แต่ธรรมดานั้น เราก็อยู่อย่างงามพร้อม อยู่อย่างมีประโยชน์สูง-ประหยัดสูง ไม่เป็นผู้ที่เปลืองมากจนเกินไป เผาผลาญมากจนเกินไป การกินก็ดี การอยู่ก็ดี การใช้ก็ดี เราก็เป็นผู้ที่ดูแลระมัดระวัง ไม่ให้เฟ้อไม่ให้ฟุ่มเฟือย ส่วนการงานนั้น เราก็ให้เป็นไปในทางที่ดีที่เป็นกุศล จึงเรียกว่า ให้กุศลถึงพร้อมไปในทางที่มันดีงาม เราก็ร่วมมือร่วมไม้ แล้วก็ต้องรู้จักขอบเขต รู้จักกติกา เราเป็นสมณะ ก็อยู่ในขอบเขตของงานการของสมณะ ผู้ที่อยู่ในฐานะอื่นลดหลั่นไป ก็ทำงานทำการลดหลั่นไป มีขั้นตอนไล่เรียงกันไป ไม่แย่งกัน มีหน้าที่หนักอันใด ก็พยายามทำให้มากเท่าที่เราจะรู้หน้าที่ของเรา
เราเป็นสมณะไม่ทำหน้าที่สมณะ นี่ก็ผิด ทั้งที่เราแบ่งแล้วว่า งานอื่นให้คนอื่นทำ แต่เราเป็นสมณะไม่ทำงานสมณะ มันก็บกพร่อง เราจะต้องทำให้บริบูรณ์ให้พอดี และแม้แต่การกินอยู่ ก็เตือนกันทุกเวลา ตั้งแต่การตื่นนอนมาหลับนอนต่อ จนกระทั่งขึ้นมากิน ขึ้นมาทำงาน ขึ้นมาพบปะกัน มาทำงานร่วมกัน ก็เตือนกันต่อ เท่าที่เราจะมีความสามารถที่จะเตือนกันได้ อย่ารำคาญ เราเจตนาแล้ว เราตั้งใจแล้วว่า เราจะมาเรียนมาศึกษาหรือมาทำสิกขา ปริยัติสิกขาเราก็ต้องมี ปฏิบัติสิกขาเราก็ต้องมี ถึงเรียกว่าบรรลุปฏิเวธ หรือศีลสิกขาเราก็ต้องศึกษา ก็คือหลักเกณฑ์ต่างๆ นั่นเอง
จิตสิกขาเราก็ต้องศึกษา คือ พยายามเรียนรู้ให้ถึงจิต ให้มันลดมันละมันค่อยๆปล่อยออก หรือปล่อยได้แรงเลยได้จริงเลย ถึงจิตเลยก็เอา ถ้าปล่อยได้ถึงจิตถึงจิตสิกขา และมันเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ถึงความจริงทุกอย่าง สิ่งที่ปล่อยแล้วก็เห็นด้วยปัญญา สิ่งที่ปล่อยยังไม่ได้ ยังหมักอยู่ในจิต ก็ให้รู้ด้วยปัญญา แล้วก็พยายามหาทางปล่อยคลายวาง อย่าเอามันไว้ ไอ้ที่มันทุกข์มันไม่ดี ทำให้ได้จริงโดยจริงตามที่ว่านี้ ทุกประการ.
*****