ธรรมปัจจเวกขณ์ (4)
21 กุมภาพันธ์ 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
เป็นมนุษย์จะสุดประเสริฐได้ ก็ตรงที่เป็นผู้ที่มีสติ แล้วก็รู้จักแบ่งรู้จักแยก มีสติมั่น รู้ว่าตนกำลังทำอะไร ตนกำลังมีความรู้สึกยังไง มีความคิดยังไง กำลังจะทำดีหรือกำลังจะทำชั่ว มีความรู้ ทำลงไปในกรรม หรือในการกระทำนั้นๆของเรา ว่ามันเป็นชั่วหรือมันเป็นดี ผู้นั้นเป็นมนุษย์สุดประเสริฐ ขณะที่เรารู้ เราเรียกว่ามรรค ขณะที่เรารู้ว่านี่ดีนี่ชั่ว แล้วเราก็ได้ตั้งใจโน้มน้อมอยู่ กระทำเพื่อที่จะได้มาสู่จุดดี เราจะพยายามอยู่ ไม่ให้มีจุดชั่ว เรียกว่าผู้ได้เริ่มประเสริฐ จนสามารถทำให้สติสมบูรณ์ได้ ไม่ให้มีชั่วเหลือ ไม่ให้มีชั่วเศษอยู่ เลิกความชั่วนั้น รู้ด้วยความจริง รู้ด้วยสติสัมปชัญญะทุกขณะทุกกรรม ทุกการงาน ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ ถึงผลเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็คือการที่จะกระทำตนให้มีสติ และก็สตินั้น เราก็จะต้องมีจิตอ่านตนอยู่ในตัว ขณะกระทำนั้นอยู่ว่า ควรพอหรือยัง หรือว่าควรทำต่อไปอีก บางอย่างมันมากไป เขาก็เรียกว่าชั่วหรือว่าเสีย บางอย่างน้อยไป ก็เรียกว่าชั่วหรือว่าเสีย
การกระทำใดๆ ก็มีขอบเขตแห่งความพอดี ทำในจุดที่พอดี มันจึงจะเรียกว่าบริบูรณ์ หรือเรียกว่างาม หรือเรียกว่าเจริญ หรือเรียกว่ากุศล การพอดีนี่เป็นหลักเกณฑ์ที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นได้ เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เรียกว่าความเป็นกลาง ความปานกลาง ความพอเหมาะพอสม ความไม่ล้น ไม่น้อยไปไม่มากไป ในการใดที่มันเป็นความเจริญ เป็นสิ่งที่ต้องการในโลกสังคมในคน เราทำมากไปหน่อย เราทำให้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติหน่อย โดยเรามีความพยายามพากเพียรอยู่ อย่างนั้นไม่เสีย แต่สิ่งใดที่มันไม่ดี แม้แต่เราจะเพิ่มให้มันมีอีกนิดหนึ่งขึ้นไป ก็เป็นการเสีย ถ้าเผื่อว่าสิ่งใดที่มันไม่ดี แทนที่เราจะทำเพิ่ม เรากลับทำลด เรากลับทำน้อย ทำให้มันทำลายไป เราทำสิ่งที่ไม่ดีนั้นให้เสียไปนั้นแหละ เป็นความดีด้วย ต้องฟังให้เห็นชัด ให้รู้ความจริง บางอย่างทำลายก็เป็นความดี แต่เราต้องทำลาย สิ่งที่มันไม่เหมาะสมกับสังคม ไม่เหมาะสมกับโลก เป็นความเลวที่โลกเขาคิดค้นทำขึ้นมา หรือว่ามันมีเกิดขึ้นมากับในโลก เราต้องทำลายสิ่งเหล่านั้นลง ลดลง อย่าให้มันมีอันนั้นเป็นความเจริญ หรือเป็นคุณงามความดี
ส่วนสิ่งที่ดีเห็นแล้วว่านี่เป็นของดี สังคมต้องการ มนุษย์ต้องการ ทำไปแล้ว เป็นประโยชน์แก่มวลชนแก่สัตวโลก ทำขึ้นมากๆก็ดี เราพยายามทำอยู่ มากอยู่ขยันขันแข็งอยู่ ก็เป็นประโยชน์เป็นการดี เป็นบุญคุณ เราก็ส่งเสริม เราก็จรรโลง เราจึงเรียกว่าเป็นผู้มีประโยชน์ เป็นมนุษย์ เป็นผู้สร้างสรร เราต้องพิจารณาเสมอๆ แล้วก็ตั้งตนให้อยู่ในสติ มีสติมีธัมมวิจยะ มีวิริยะ มีโพชฌงค์อย่างนี้ มีสติจริงๆ แยกแยะออก รู้ชั่วรู้ดีชัดเจน ไม่หลงเลอะ เข้าใจอย่างถูกต้องว่านี่เป็นชั่ว เป็นดีอย่างแท้จริง เหมาะสมกับเศรษฐกิจของสังคม เหมาะสมกับกาละเวลา ว่าสิ่งนี้มันควรสร้างอยู่ สิ่งนี้ไม่ควรทำลาย สิ่งนี้ควรก่อเกิดไปได้อีก เพราะว่าเป็นประโยชน์อยู่ โลกยังต้องการ สังคมยังต้องการ ยังขาดแคลน ถ้าสิ่งใดโลกไม่ต้องการแล้ว ไม่ขาดแคลนแล้ว เฟ้อด้วย มากด้วย สิ่งนั้นเราไม่พึงต้องเพิ่ม ไม่พึงต้องทำ พึงต้องลดไว้หรือหยุดยั้งไว้ เราต้องรู้มุมเหลี่ยมอย่างนี้ เรียกว่ารู้เศรษฐกิจ มีความรู้ถึงความพอ หรือว่าความไม่พอ ของทุกๆอย่างที่พึงจะเกิด หรือพึงสร้างมันขึ้น เพราะบางอย่างเราไม่สร้างแต่ลด บางอย่างเราต้องสร้างเพิ่มขึ้นๆ จึงเรียกว่าเป็นผู้รู้ เป็นอริยชน หรืออารยะชน เป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นผู้ที่ทำให้เกิดประโยชน์อยู่ในโลก มีบุญคุณอยู่ เป็นคนเจริญอย่างแท้จริง.
*****