ธรรมปัจจเวกขณ์ (8)
25 กุมภาพันธ์ 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ผู้ที่มีฐานเบื้องต้น ก็พิจารณาเบื้องต้น พิจารณารูป-รส-กลิ่น-สี-สัมผัสต่างๆ ของอาหาร ของรูปมัน อย่าไปหลงมัน รูปน่ากิน กลิ่นน่ากิน รสน่ากินอะไรก็อย่าไปหลงมันมาก รู้แค่ว่ามันมีสาระ มันมีธาตุอย่างนั้นๆ ที่ควรกินเข้าไปเลี้ยงร่างกายก็กิน รสมันอาจจะขมจะเปรี้ยวจะขื่นบ้าง บางอย่างมันไม่ล่อใจ มันไม่ชูใจ ก็เห็นว่ามันเป็นประโยชน์ก็รับประโยชน์นั้น ผู้พิจารณาสูงกว่านั้น ให้รู้ไปถึงสภาพของสิ่งที่ซ้อนแฝงอยู่ ไม่ว่าจะรูป-รส-กลิ่น-เสียง เข้าไปถึงจิต จิตของเราต่อต้านอย่างไร จิตของเรามันไปโลภ มันไปรัก มันไปชอบอย่างไร ให้ทำงานกับจิต เล่นกับจิตอยู่ให้จริง มันจะได้รู้เหลี่ยมของจิต จับให้มั่น เข้าใจอารมณ์ เข้าใจอาการจิตให้ชัดเจน แล้วก็เปลี่ยนมาสู่จิตที่มันไม่ยึดถือ จิตที่มันปล่อยวาง จิตที่มันว่างไม่รักไม่ชัง ไม่มีโลภะไม่มีโทสะ ไม่มีอึดอัดหม่นหมอง รู้ความจริงตามความเป็นจริง รส-รูป-กลิ่น-เสียง-สัมผัสอะไรมันเป็นอย่างนั้น ก็ให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องไปติดไม่ต้องไปชอบ ไม่ต้องไปชังอะไรกัน ต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนเข้าไปถึงจิตให้ได้จริงๆ แล้วก็ทำการฝึกหัด ปรับเปลี่ยนเล่นมัน เอาให้ชัดกำหนดให้มั่น รู้ความหมาย รู้อาหารของมัน ต้องลงร่องลงช่องกันจริงให้ชัดเจน ฝึกหัดจริงๆทุกเวลา แม้แต่การกิน แม้แต่การจะไปสัมผัสกับสิ่งอื่น ไปกระทบกับสิ่งอื่น ไปรับรู้กับสิ่งอื่น เราก็พยายามพิจารณา อย่าไปหลงเป็นทาสมันมากนัก เกิดมาเป็นทาสมันมากแล้ว เป็นทาสลิ้น เป็นทาสตา เป็นทาสหู เป็นทาสจมูก เป็นทาสกาย เป็นทาสแม้แต่หัวใจตัวเอง หัวใจตัวเองจะต้องเอายังนั้นก็จะเอาให้ได้ดังใจ เอาอย่างนี้ก็จะเอาให้ได้ดังใจ บางทีจะเอาสิ่งชั่วๆเลวๆด้วยก็ยังไม่รู้ อย่างนี้เป็นต้น เราจะต้องพิจารณาให้ออก ว่าเราจะไปเป็นทาส แม้แต่หัวใจตัวเอง อยากได้อยากเอา อยากมีอยากเป็น แม้สิ่งที่มันชั่วมันเลว ก็ยังไปอยากได้อยากเอา อยากมีอยู่อย่างนั้นแหละ มันใช้ไม่ได้ เป็นมนุษย์จะต้องเป็นมนุษย์ที่ดี ที่รู้ว่าไอ้นี่มันชั่วมันเลวไม่ดี จะไปเอามาทำไม อยากได้มาทำไม อยากเป็นมาทำไม ลดลง ปล่อยลง วางลง เลิกมาเสีย มาใฝ่ดีก็ยังดี
สุดท้าย เราก็ไม่ต้องไปอยากอะไรมากมาย เป็นแต่เพียงรู้ดี แล้วก็ดำเนินการดี กระทำดีไปตามเวลาที่มี ไปตามโอกาสที่มี มีโอกาสพัก มีโอกาสทำงานไปดีที่สุด พักพอเพียงแล้วก็ทำงาน ทำงานได้มากเท่าใด มันก็ดีเท่านั้นแหละ นั่นเป็นเรื่องของขั้นสุดท้าย ของผู้ที่จะรู้จริงจะเห็นจริง ที่จะกำหนดได้ แล้วก็เป็นผู้อยู่กับความดี ทำแต่ความดี มีโอกาสพัก มีโอกาสทำไปตามความเหมาะสม ที่ตัวเองตัดให้แต่ตัวเอง จัดให้แก่ตัวเอง กระทำให้แก่ตัวเองได้ ก็เป็นผู้เจริญถึงที่สุด.
*****