ธรรมปัจจเวกขณ์ (11)
28 กุมภาพันธ์ 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
มนุษย์ทุกคนต้องฉันอาหาร หรือต้องรับประทานอาหาร แต่อาหารนั้น ก็เป็นตัวหลอกเหลือหลาย มันมีกิเลสอยู่ในตัวของมัน มันมีทั้งรูป มันมีทั้งรส มันมีทั้งกลิ่น มันมีทั้งสัมผัส ที่เป็นดักหลอกผสมผเสอยู่ หลอกให้เราชอบ หลอกให้เราหลง รสอย่างนี้ก็หลงรักมันชอบกิน รูปอย่างนี้ก็หลงรักมันชอบกิน สัมผัสอย่างนี้ก็หลงรักมันชอบกิน ได้สิ่งเหล่านั้น เป็นสิ่งที่พอกเพิ่มอยู่ เป็นสิ่งที่หลอกลวงเรา ถ้าผู้ใดฉลาด มองลึกเข้าไปถึงของแท้ ไปถึงสาระของอาหารนั้นๆ ไม่ติดอยู่ในเฉพาะแต่รส ไม่ติดอยู่ในเฉพาะแต่รูป ไม่ติดอยู่ในเฉพาะแต่กลิ่น หรือไม่ติดอยู่ในแต่เฉพาะสัมผัส ว่ามันเหนียว มันกรอบ มันง่ายมันดี สัมผัสถูกต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ชอบใจชื่นใจ จะไม่ติดอยู่ถึงขนาดนั้น เมื่อเรารู้จริงเห็นจริงแล้วว่า อาหารนั้นเป็นสิ่งที่พอกินไป เพื่อจะสงเคราะห์ร่างกายเข้าไปอยู่ในกาย เพื่อให้กายมันปรุงแต่ง เพื่อที่รักษารูปขันธ์นี้ไว้ เหมาะสมจะกินแล้วตามมีตามได้ ไม่ดิ้นรนเกินควร ไม่หลงใน รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ที่พอกหุ้ม ต้องปรุงแต่ง ต้องแต่งต้องฉาบต้องทา ต้องผสมผเส ให้หนักหนาเหน็ดเหนื่อยมากมายเกินไป เราก็จะเป็นผู้เบาภาระ เป็นผู้ง่าย เป็นผู้สบาย ไม่ติดยึดในส่วนนอก หรือส่วนเปลือก
ผู้พิจารณาเห็นอย่างนั้น ก็จะลดความยากลำบากต่อชีวิต จะมีชีวิตที่ง่ายขึ้น และเป็นผู้รู้แก่นแท้ รู้สาระของอาหารมากขึ้น นั่นก็เป็นความจริงเป็นสัจธรรม แต่สำหรับผู้ไม่มี แยกแยะยังไงก็ไม่ออก ลดว่าไม่ให้มันติดรสก็ไม่ได้ ลดว่าไม่ให้มันติดรูปก็ไม่ได้ ลดว่าไม่ให้มันติดกลิ่น ติดสัมผัสอะไรก็ไม่ได้ ก็ให้หัดพิจารณาให้เห็นว่า อาหารนี้เป็นสิ่งที่ปฏิกูล เป็นสิ่งที่กินแล้วถ้าลองเคี้ยว เคี้ยวดูแล้ว ก็คายออกมาดู จะเห็นว่ามันไม่ใช่ของที่มันมีรูป มีรส มีกลิ่น มีสัมผัสอะไรกันมากมาย เกินที่จะชวนให้เราเป็นผู้ที่หลงใหลใฝ่ฝันอะไรมากมายนักหรอก มันเป็นแต่ของที่จะเป็นแต่เพียง ใส่ปากเข้าไปเคี้ยว เพื่อให้มันแหลก เพื่อให้มันง่ายในการกลืน แล้วเราก็จะกลืนเข้าไปในกระเพาะ แล้วมันก็จะบด จะไปปรุงแต่ง ไปแยกธาตุอะไรข้างในโน้น โดยจริงโดยแท้แล้ว มันไปติดอยู่แต่แค่ตาเห็น มันไปติดอยู่แต่แค่กลิ่นจมูกสัมผัส มันไปติดอยู่แค่ลิ้น มันสัมผัสติดอยู่แค่นี้แหละ ไม่ใกล้ไม่ไกลอะไรนักเลย เพราะฉะนั้น เราอย่าไปหลงติดแต่สิ่งภายนอกนี่นัก และเราจะได้เบากาย เราจะได้เบาชีวิต เราจะได้ง่ายดาย มีชีวิตที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น เอาเวลาไปทำประโยชน์อื่นได้มากขึ้น ผู้นั้นก็จะจบภาระเบาภาระ แม้ในเรื่องอาหารนี่ ก็เป็นการตัดกิเลส เป็นการลดกิเลสแห่งบุคคล คนธรรมดาก็กิน
แม้แต่บรรลุเป็นพระอรหันต์เจ้าแล้วก็ยังกิน แต่พระอรหันต์เจ้ากับคนธรรมดา กินอาหารไม่เหมือนกัน แต่พระอรหันต์เจ้า กินอาหารฉันอาหาร โดยที่ท่านไม่หลงในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ส่วนคนธรรมดานั้น หลงอยู่ติดอยู่เป็นภาระ ติดอยู่จนทำให้ตนลำบากลำบน จึงควรจะพิจารณาให้เห็นจริง แล้วลดละความรู้สึก ลดละจิตของเรา หน่ายคลายจาง หรือว่าเห็นความแท้จริงให้ได้ว่า ไม่ควรไปหลงมันมากนัก อย่าไปเป็นทาสมันมากนัก เจ้าตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย หรือแม้แต่ใจของเราเองนั่นแหละ ไปสำคัญ ไปกำหนด ไปสมมติหมายเอาไว้ ไปยึดถือเอาไว้ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันน่าจะเป็นความสุข ถ้าเรารับรสอย่างนี้ รูปอย่างนี้ กลิ่นอย่างนี้ สัมผัสอย่างนี้แล้วเป็นสุข เราจะต้องพิจารณาให้ถึงความจริงอย่างนั้น จะเกิดประโยชน์ในการกิน อย่ากินผลีผลาม อย่ากินตะกละตะกราม อย่ากินจนกระทั่ง ไม่ตั้งเนื้อตั้งตัว จะต้องตั้งเนื้อตั้งตัว ตั้งใจพิจารณาไปด้วยในการกิน นั่นถือว่าผู้ปฎิบัติธรรมแล้ว
จะมีอานิสงส์ เป็นผู้ที่จะทำอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ที่บ้านเรา อยู่ที่ไหนๆ ไม่เฉพาะในบ้าน นอกบ้านที่ไหนก็ได้ ถ้าจะมีการกินอยู่ที่ใดเมื่อใด ก็ขอให้รำลึกอย่างนี้เสมอ และปฏิบัติอย่างนี้เสมอ ลด หน่าย คลาย จาง อย่าไปจับไปติดไปยึดมันมากนัก หัดลดหัดละหัดฝืนหัดทนบ้าง ในบางสิ่งบางอย่าง แล้วเราจะมีประโยชน์ในการกิน ด้วยประการอย่างนี้.
*****