ธรรมปัจจเวกขณ์ (12)
29 กุมภาพันธ์ 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
คนก็เลี้ยงได้ด้วยอาหาร เป็นสิ่งที่จะชูให้สังขาร ชีวิตร่างกายเหลือไป นั่นก็ส่วนหนึ่ง เป็นปัจจัยสำคัญแห่งชีวิต เกิดมาแต่เล็กก็ต้องกิน แม้กระทั่งโตมาก็กิน แก่ก็กิน หรือเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังกิน แต่พระอรหันต์ท่านกิน ท่านไม่เหมือนกับคนกิน ท่านกินแล้วท่านรู้ถึงสาระของมัน ท่านรู้ถึงเนื้อแท้ๆของมัน ท่านไม่หลงรูป ไม่หลงรส ไม่หลงกลิ่น ไม่หลงสัมผัสของมัน ท่านจึงไม่เหมือนคนกิน คนผู้หลงรสหลงรูปหลงกลิ่น หลงสัมผัสของมัน ก็กินอย่างเมื่อย กินอย่างยุ่งยาก กินต้องปรุงกินต้องแต่ง กินต้องกระทำมามากมาย ผู้ใดไม่หลงแล้วก็ลดลง ก็จะได้สบายขึ้น เบาขึ้นว่างขึ้น นั่นเป็นผลของผู้รู้เท่าทัน เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้กินแล้วก็ไม่เป็นทาสการกิน ไม่เป็นทาสลิ้น ไม่เป็นทาสตา ทาสจมูก ได้กินเพราะรู้เท่าทัน บางอย่างมันหวานก็กิน บางอย่างมันขมก็กิน ถ้ามันเป็นอาหาร ถ้ามันเป็นสิ่งที่จะทำให้ร่างกายของเรา อยู่ได้ด้วยดีเราก็รู้ความจริงของมันว่ามันเป็นไปอย่างนั้นๆ ขมก็ตาม สีเหลืองก็ตาม สีแดงก็ตาม ไม่ต้องไปหมายว่า สีเหลืองเราชอบกิน สีแดงเราไม่ชอบ หรือสีเขียวเราไม่ชอบกิน ต้องกินสีเหลืองอะไรอย่างงี้ เราก็ต้องไม่ไปหมายอะไรยังงั้น แต่เรารู้ว่านี่เหมาะควรที่จะกินตามมีตามได้ เราก็ง่ายขึ้น ไม่กำหนดกฎเกณฑ์เกินไป จนกระทั่งต้องเป็นภาระ เสาะแสวงหาลำบากลำบน ผู้ไดรู้เท่าทันผู้นั้นง่าย ผู้ใดรู้ลด ผู้ใดรู้วาง ผู้ใดรู้ปล่อย ไม่เป็นทาสตัวเอง ไม่เป็นขี้ข้าตา ไม่เป็นขี้ข้าหู ไม่เป็นขี้ข้าปาก ไม่เป็นขี้ข้าจมูก ผู้นั้นก็จะสบายเบาง่าย ฝึกหัดดู ลดลงวางลงปล่อยลง แล้วเราก็จะได้กำไร เป็นผู้รู้เท่าทันสัจธรรม เรียกว่า เป็นผู้ที่บรรลุธรรมได้ ไปตามขั้นตอน.
*****