ธรรมปัจจเวกขณ์ (14)
5 มีนาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
จงมีเพียรดังกล่าวแล้ว และพยายามตามรู้ความละเอียดในความละเอียด จิตใจของเราเป็นสำคัญที่สุด ที่เราจะพยายามสังเกตอ่านรู้ แม้จะประกอบไปด้วยเสียง ประกอบไปด้วยรส ประกอบไปด้วยกลิ่น ประกอบไปด้วยสัมผัสทางลิ้น ทางกาย หรือแม้แต่จิตที่คิดขึ้นมาเอง กอร์ปก่อขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง หรือสัมผัสอยู่ข้างในๆ เราก็จะต้องรู้รสชาติแห่งผัสสะ หรือรู้เวทนาตามผัสสะ ให้ชัดเจนอย่างแท้จริง และเล่นกับจิตให้ช่ำชอง เล่นกับจิตให้มั่นคง กระทำให้จริงให้แน่วแน่ รู้อยู่ว่าเรากระทำถูกแล้ว ก็ให้รู้อยู่ว่า เรากระทำถูกแล้ว ดีแล้ว ชำนาญมากขึ้น แม้แต่จะมาผัสสะกับข้างนอก จะเป็นคามวาสี คือผัสสะกับบุคคล หรือจะอยู่กับความเงียบ เรียกว่าอรัญวาสี เราสัมผัสกับความสงัดของธรรมชาติ ในธรรมชาติเองก็ยังมีเสียง ยังมีกลิ่น ยังมีรส ยังมีสัมผัสอื่นๆที่เบาบาง เป็นไปโดยที่เราไม่เห็นชัดแจ้งว่ามันปรุง แต่มันก็ปรุงอยู่อย่างธรรมชาติ ก็เรียกว่าสงัดมาก อยู่โดยไม่มีอะไรหลอกอะไรลวงมาก เราก็เอาความสงบสงัดนั้น ให้อยู่กับใจของเรา ใจของเราจะไม่ไปยุ่งไปหมาย ใจของเราจะอยู่กับใจมาก เราจะอ่านอะไรก็ไม่ออกไปไกล นอกจากคนที่ฟุ้งซ่านจริงๆ อยู่กับที่สงัดแล้วก็อยู่ไม่ได้ จิตมันดึงออกไปสู่ความจุ้นจ้าน ความเป็นกาม ความเป็นโลกียะ มันก็จะพาตัวออกไปสู่โลกียะ แต่ถ้าเผื่อว่า จิตมันไม่ไปสู่โลกียะแล้ว จะอยู่กับความสงัด มันก็สงบสบาย สงบอยู่ และมันก็ไม่มีอะไรอิดหนาระอาใจร้อนรน อยู่กับมันเสพย์ความสงบ ก็จะติดความสงบ อยู่เฉยๆก็จะซาบซึ้งต่อความสงบ แต่ถ้าเผื่อว่า เราอาศัยความสงบนั้นแหละ เป็นสภาพที่จะพิจารณาต่อ เล่นกับจิตต่อ อ่านจิตรู้ต่อ ทำความซาบซึ้งไปในจิต รู้แม้แต่เศษเล็กเศษน้อยละอองน้อย มีความรู้สึกอย่างโน้นอย่างนี้ ชอบแม้แต่กับบรรยากาศธรรมชาติ เราชอบอะไรในบรรยากาศของธรรมชาติ ชอบความเคลื่อนไหว ชอบรสสัมผัสสะทางตา-หู-จมูก ขณะนั้นๆ หรือแม้แต่ว่างลงไปก็ไม่ได้ ต้องคิดต้องปรุง พวกนี้เราชอบกว่าหรืออย่างไร อ่านให้ชัดเข้าใจให้จริง หรือเราจะอ่านหนังสือ เราจะอยู่กับตัวหนังสือ แล้วก็รับรสของหนังสือนั้น แล้วเราก็ไปชอบใจ ในรสของหนังสือนั้นอย่างไร แยกแยะมันให้ออกละเอียดลออ เราก็จะได้ลึกซึ้ง ได้ความละเอียดลออ แม้อยู่ในสภาวะสงัด เราก็จะได้ความสงัด ได้ธรรมะจากความสงัด เรียกว่าอรัญวาสี บุคคลพึงได้ผล จากการปฏิบัติจากที่สงัด หรือได้ผลจากคามวาสี ได้ผลจากการกระทบสัมผัสกับมนุษยโลก เราก็จะเก่งแกล้วกล้า เก่งกาจกับความเป็นมนุษย์ เราจะอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ได้เร็วไว ผู้มีอินทรีย์พละกล้า ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องออกป่า ออกที่สงัด ก็ตัดกิเลสได้ ผู้ที่มีอินทรีย์พละยังไม่กล้านัก ก็จะต้องออกที่สงัด บ่ม เรียนรู้ อย่างเข้าใจไปถึงความละเอียดของจิต ให้พอสมควรก่อน เพราะอะไรกวนข้างนอกนั้น มันก็จะไม่สามารถที่จะทำให้ จิตมันสงบสงัดไปหาจิตลึกๆ จิตละเอียดๆได้ จึงอาศัยสิ่งแวดล้อม ที่สงัดสงบเสียก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา บางองค์ก็ตรัสรู้โดยที่ไม่ต้องอาศัย สภาพสงัดสงบอะไรนัก พระโคดมของเราอาศัยที่สงัดปลายป่า พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ บางองค์ไม่ต้องออกป่า อยู่ที่สวนข้างวัดนั่นเอง อาศัยบำเพ็ญเจ็ดวัน ก็บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ก็มี แล้วแต่อินทรีย์พละ แล้วแต่ความเป็นจริง เราไม่วัดละ เราไม่วัดว่าอะไรจะดีกว่าอะไร เราต้องรู้ฐานของจิตของเรา ฐานจิตของเราควรจะปฏิบัติอันไหนได้ผลสูง เราก็เอาฐานจิตของเรานั้นแหละ เป็นสำคัญ มันดีทั้งคู่อย่างไรก็ได้ อย่างไรก็ดี ผลต่างหากที่เป็นสิ่งตัดสิน ว่าเราได้ธรรมะ เราเจริญด้วยธรรมะ ผู้ที่จะเจริญธรรมะเพราะอรัญวาสี เพราะอาศัยที่สงบสงัดก็เอา ผู้ที่จะเจริญธรรมะเพราะอาศัยคามวสีก็เอา แล้วก็เวียนเข้าเวียนออก เวียนรู้ให้ถ้วนทั่ว ทั้งคามวาสีและอรัญวาสี อย่าไปหลงติดอรัญวาสี อย่าหลงติดคามวาสีเสีย หลงติดในกรุง ในฐานของกรุง ในหมู่ของบุคคลก็ไม่ได้ จะหลงติดในความสงบสงัดก็ไม่ได้ เราจะไม่ติดอะไร ทั้งสองซีกสองส่วน
เราจะเป็นผู้รู้เท่ารู้ทันทั้งหมด ทดสอบ… ถ้าเราอยู่ในที่สงบ เราอยู่สบายแล้ว ก็รู้ความจบความสบายของเราเพียงพอ ทำได้แคล่วคล่องแล้ว ทนได้โดยไม่ยาก ทนได้โดยไม่ลำบาก และค่อนจะติดด้วย ก็ให้รู้ความติดของตัว แล้วก็ออกมาสู่คามะ ออกมารู้ผัสสะข้างโลก แล้วเราก็จะได้หัดตัดกิเลส ในสภาวะข้างโลกด้วย อยู่กับโลกจนกระทั่งติดโลก สงัดก็ไม่ค่อยลง สงบก็ไม่ค่อยลง ก็ให้รู้ว่า เราเองจะติดโลกแล้วนะ มาลองดู อยู่สงัดสงบพอได้ไหม สบายได้ไหม ก็จะเห็นว่า ถ้าผู้ใดเอนเอียงมาความสงัด แล้วก็จะได้สบาย ก็อยู่สงัดพอสมควร แล้วก็ทำงานกับโลกเป็นอีก แม้ที่สุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไปทำงานกับโลก ยังต้องออกมาสู่ความสงัด มีปฏิสัลลีนะ ออกสู่ความว่างบ้าง ออกสู่ความสงบบ้าง เพื่อที่จะรู้ เพื่อที่จะพัก รู้ในความจริงที่ตัวเอง ยังอยู่ในความสงบสงัดจริง ไม่ใช่ว่าเราไปติดโลกเข้าแล้ว จึงมีการเวียนเข้าเวียนออกอยู่
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมณโคดมของเรา ก็มีตัวอย่างให้เห็น แต่ท่านสู้กับโลกได้มาก ท่านถึงอยู่กับโลกเขามาก นานๆ ท่านถึงออกปฏิสัลลีนะทีหนึ่ง เราเองก็กระทำงานต่อสู้กับโลก เหนื่อยนัก ก็มาพักกับที่สงัดสงบ ก็เบาคลาย แล้วเราก็จะเข้าไปต่อสู้กับโลกอีก หรือช่วยเขานั่นเอง หรือทดสอบตนเองนั่นเองไปในตัว
เป็นผลหนุนเข้าหนุนออก อย่างนี้เรื่อยไป เราก็จะเป็นผู้ที่แกร่งกล้า เป็นผู้ที่เข้มข้น เป็นผู้ที่สู้กับโลกได้ยาวนาน และเป็นผู้ที่สงบสงัด อยู่ในตัวได้มาก แล้วเราก็จะมาหาอาศัย สถานที่สงบสงัดนั้น น้อยลงๆทุกทีๆไป เราจะมีความสงัด แม้อยู่ในกลางกองของโลกียะ.
*****