ธรรมปัจจเวกขณ์ (15)
6 มีนาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
แม้ในกาละใด ที่ไม่ได้มีใครจะเตือนสติ แบบที่ผมเตือนอยู่อย่างนี้ เราจะมีรูปแบบเป็นเครื่องหมาย เช่นว่า เราจะไปฉันที่ไหน เราก็จะมีการสำรวมจิตของเรา ถ้าคนเดียวจะไม่ทำซะ ไม่เอามือแตะก็ได้ หรือมีสองคนสามคน ก็พึงกระทำเป็นรูปหมาย เป็นสมมุติหมาย เพื่อที่จะเตือนสติของเราเอง ตั้งใจขึ้น ให้คนอื่นได้เห็นด้วย เป็นสื่อความหมายเหมือนกัน เพื่อจะให้เขาถาม เพื่อเป็นสื่อในการที่จะได้ มีเชิงอธิบายธรรมะก็ได้ ถ้าเขายังสงสัยอยู่ เราก็อธิบายเขาได้ ถ้าเขาซักถาม หรือถ้าเขาไม่ซักถาม แต่ถ้าเราเห็นเชิงเห็นโอกาส เราจะยกอ้างขึ้น เพื่ออธิบายเลยก็ได้ ก็เป็นนโยบาย เป็นกุศโลบายอันหนึ่ง ที่จะใช้ในการประพฤติกรรม หรือเผยแพร่ธรรมะแก่ตน ก็ได้ประโยชน์ แก่ผู้อื่นก็ได้ประโยชน์ เราจะต้องตั้งใจจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่า ทำเป็นศีลพตปรามาส ทำเป็นจารีต ทำเป็นรูปแบบเฉยๆ โดยไม่มีจิตเข้าไปสัมพันธ์ ไม่มีสติ ไม่มีธัมมะวิจยะ ไม่มีวิริยะอันควร ไม่เข้าใจในความมุ่งหมาย ทำกิจลงไป ไม่ตรงกับกิจ สัญญากำหนดลงไปไม่เกิดผล อันนั้นก็ไม่ได้ความอะไร เป็นศีลพตปรามาส สักแต่ว่าทำๆ สักแต่ว่าลูบๆคลำๆ เป็นสิ่งยังงั้นแหละ รูปอย่างนั้น รสอย่างนั้น หรือว่าเสียงอย่างนั้น ท่าทางอย่างนั้น แต่ไม่เกิดผลอะไรโน้มน้าวเข้าไปให้เตือนสติ อย่างน้อยเป็นการเตือนจิต-ตั้งจิตก็ดี ให้ระลึกเสมอว่า เราจะพิจารณาตนอยู่ว่า เราเป็นอะไร เรากำลังมีกิริยาอะไร เรากำลังมีกรรมอะไร กำลังกระทำงาน หรือกำลังกระทำกรรมอะไรอยู่ เราจะต้องมีศีลอะไร เอาประกอบโภชเนมัตตัญญู อาหาเรปฏิกูลสัญญา หรือจะพิจารณาอย่างไรก็ตามแต่ หรือจะตามไม่ต้องไปเอาภาษาอย่างนั้น ก็รู้ละเอียดลงไปแล้วว่าเราจะกินเพื่ออยู่ เราจะรู้ไปถึงขนาดอื่น ไม่ใช่เกี่ยวกับอาหารนี้ก็ตาม
แล้วเราก็พึงพยายาม ที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการนำตัวเราอยู่เสมอ เตือนตัวเราอยู่เสมอ เป็นการตั้งใจให้ดี เป็นอธิษฐาน อธิษฐานแปลว่า ตั้งใจขึ้น แล้วมันจะได้มีอะไร สั่งสมลงไปในใจ เป็นใจที่ตั้งมั่นขึ้น มีพลัง อธิษฐานไม่ใช่ขอ อธิษฐานคือตั้งใจ มีการตั้งขึ้นที่ใจในการที่จะมีศีล จะมีสมาธิ จะทำให้เกิดปัญญา เป็นที่บริบูรณ์อันที่สุด.
*****