ธรรมปัจจเวกขณ์ (18)
14 มีนาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
คนเราต้องสำนึกต้องพิจารณา ต้องรู้ในชีวิตการเป็นไป เราสัมพันธ์อยู่กับอะไร เราก็จะต้องพิจารณาไปว่า สิ่งนั้นมันพาให้เราเหน็ดเหนื่อย พาให้เราหนักหนา พาให้เราวุ่นวายมากหรือไม่ ถ้ามันวุ่นวายมากก็ลดลง เราเอาสาระของมัน เพราะว่าคนที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยความปรุงแต่ง หรือว่าความพอกเพิ่ม ปรุงกัน เป็นสิ่งที่เฟ้อขึ้นมา เรียกว่าอนุพยัญชนะตามภาษาบาลี เป็นรูปบ้าง เป็นรสบ้าง เป็นกลิ่นบ้าง เป็นเสียงบ้าง เป็นสัมผัสบ้างต่างๆ ซึ่งเราเองรู้ไม่เท่าทันมานานแล้ว ควรพิจารณารู้เท่าทัน แล้ว ลด-ละ-เลิก-ถอย ลงไปให้มันน้อยเข้าหาแก่น เข้าหาสาระของมันแท้ๆ เราจะมีภาระเบา เราจะลดภาระของเรา เราจะเหน็ดเหนื่อยน้อยลง เราจะมีเวลาเหลือ ไปสร้างสิ่งที่เป็นแก่นอื่นๆได้อีก เพราะเราได้ลดเวลา เราได้ลดแรงงาน ที่เราไปเปลืองเปล่านั้นไปเสีย แม้แต่ทุนรอนที่ไปจ่าย เพราะเราไปหลงในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ในสัมผัส ที่เขาไปสร้างกันขึ้นมาพอกเอาไว้ แล้วเราก็ไปเปลืองเปล่าพวกนั้น เมื่อเราได้ลดลงมาแล้ว เราจึงเป็นผู้กำไร เป็นผู้ที่เหลือสาระ เอาสาระให้มันงอกเงยขึ้นไปให้มีได้อีก ถ้าเราไม่เปลืองแม้ที่สุด เราไม่เปลืองแรงกาย แรงปัญญาของเรา ทุนทรัพย์ไม่ได้เสีย เวลาเราไม่ได้เสียไป เราก็เอาไปสร้างอันอื่น เอาไปทำอันอื่น เราจะมีการได้ มีส่วนได้ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ดังนี้เราเรียกว่าความเจริญ คนต้องทำให้มันเกิดความเจริญ ไม่ใช่ว่าจะไปเปลืองเปล่า ถูกเขาหลอกแล้วหลอกเล่า แล้วก็เป็นวรรคเป็นเวรกับสิ่งที่เขาหลอก จะต้องแทงเข้าหาแก่นสาร แทงเข้าหาเนื้อหาสาระแท้ๆ อย่าหลงสิ่งพอกสิ่งเพิ่ม อย่าหลงสิ่งที่เป็นเหยื่อล่อนอกๆ ที่เป็นโลกีย์ๆอยู่ เราจะต้องเข้าใจสาระให้จริง และเป็นผู้ ลด ละ เลิก ออกมาจากสิ่งที่ไม่ใช่สาระนั้นๆ.
*****