ธรรมปัจจเวกขณ์ (23)
21 มีนาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
มนุษย์เป็นผู้ที่รู้สาระ รู้ความเป็นจริงของชีวิต หรือสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย สิ่งที่เป็นสิ่งเชื่อมติดต่อซึ่งกันและกัน เพื่อยังอยู่เพื่อยังไป มนุษย์ต้องกินข้าว เป็นต้น ก็คือจะต้องอาศัยข้าวกับอาหาร อาศัยการงาน อาศัยความเป็นอยู่ ต้องรู้สาระ ถ้าเราจะทำการงาน เป็นการงานเผาผลาญ เราก็ต้องรู้ เราจะกินอาหาร เราก็ต้องรู้ว่า เนื้อสาระของอาหาร ไม่ประกอบไปด้วย รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส อะไรมากมายนักหรอก นอกนั้นมันหลอกเรา มันแกล้ง มันพยายามที่จะปรุงขึ้นมามอมเมาเรา เราจะเหน็ดเหนื่อยด้วยแรงที่ปรุง ปรุงด้วยสี ปรุงด้วยรูป ปรุงด้วยกลิ่น ปรุงด้วยรส ที่จะต้องจ่ายทั้งแรง จ่ายทั้งของ เปลือง มันจึงเป็นสิ่งที่แพง เป็นสิ่งที่หนัก
กินเราก็ต้องให้รู้สาระ ใช้เราก็ให้รู้สาระ แม้แต่ว่าไม่ใช่อาหาร เป็นเครื่องบริโภคอุปโภคอื่นๆ เครื่องใช้ไม้สอย เราก็ต้องพิจารณาใช้ หรือพิจารณาลด อย่าไปหวังเพิ่ม อย่าไปคิดเพิ่ม คิดให้พอเหมาะพอเจาะ กับสาระที่จะทำ เรามีแรงกายแรงใจ มีสุขภาพอันดี มีกําลังใจอันดี มีปัญญาอันเลิศ เพื่อที่จะอยู่กับโลกเขา ให้รังสรรค์ ให้ทั้งอยู่ให้เป็นไปโดยไม่ขาดแคลน ถ้าเราทำได้มาก เราก็เป็นคุณค่า เราก็เป็นผู้มีประโยชน์ต่อโลก ได้มากแล้วไม่ใช่หวงแหน ไม่ใช่เอา หอบเอาไว้ได้มากแล้วก็เจือจาน แจกจ่ายเกื้อกูลผู้อื่นได้รับ ไปใช้ไปสอย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ เป็นคุณค่าอีกต่อไป อย่างนี้เป็นต้น
โลกที่เป็นอย่างนี้ มนุษย์ที่เป็นอย่างนี้กันมากๆ ก็เป็นโลกที่สุขเย็น มนุษย์ที่มีสันติ ไม่แก่งแย่ง ไม่เบียดเบียน ไม่ทารุณโหดร้ายต่อกันและกัน เราจะต้องเป็นคนมีพิจารณา มีการรู้โดยธรรม ฝึกหัด มันเคยสั่งสม มันเคยหอบหวง มันเลยโลภมาก เคยมานานแล้ว
เพราะฉะนั้น ต้องลดความโลภ… ลดการที่จะหวงแหนเอาไว้ มีการแจกออก มีการทำทาน มีการช่วยเหลือเฟือฟายเกื้อกูล และเป็นผู้สร้างสรร อย่าดูดาย อย่าขี้เกียจขี้คร้าน เป็นผู้ทำงานที่เหมาะสมกับชีวิตของเรา เหมาะสมกับฐานะของเรา กระทำไปเรื่อยๆ อันใดที่เศรษฐกิจ อันใดที่โลกของเราไม่ต้องการแล้ว มันเฟ้อมากไปแล้ว ก็อย่าไปทำมันมากนัก ทำสิ่งที่มันขาดแคลนในสังคมในหมู่ชน อย่างนั้นจะเป็นประโยชน์
หัดพิจารณาอย่างนี้ แล้วก็ทำให้ได้ ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง แล้วตนเองจะได้เป็นคนมีประโยชน์ เกิดมาทั้งทีก็เป็นประโยชน์แก่โลก ตายไปก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่มีประโยชน์แก่โลก.
*****