ธรรมปัจจเวกขณ์ (24)
22 มีนาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
อิริยาบถแห่งการกิน เป็นอิริยาบถใหญ่ เป็นเรื่องที่จะต้องมีต้องเป็น เพราะฉะนั้น เราจะเตือนตนให้สำคัญ ทุกครั้งทุกคราที่เราจะกิน ปุถุชนก็ต้องกิน เป็นพระอริยะขึ้นก็ต้องกิน แม้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ให้ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องมีอิริยาบถแห่งการกิน ตัดขาดออกไปไม่ได้
จึงจำเป็นเหลือเกิน ที่จะต้องรู้เท่าทันในการกิน เรากินคืออะไร เรากินนั้น เราเอาธาตุเข้าไปสังเคราะห์ธาตุ เราไม่ใช่เป็นผู้ที่จะหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กินต้องกำหนดว่า เป็นอยู่สุขหรือพออาศัย เป็นอยู่พอสบาย มากไปก็อึดอัด มากไปก็ทำลายสุขภาพ น้อยไปก็ไม่พอเพียง แต่ถ้าน้อยไป ถ้าเราได้ทดสอบดูแล้ว ถ้าเราจะให้น้อย ลดลงๆได้ เราจะได้รู้ขอบเขต ความเป็นที่สุดของชีวิตร่างกายของเรา ว่าเราจะให้ร่างกายของเรา น้อยที่สุดได้เท่าใด พยายามหาจุดนั้นของเราให้ได้
แม้ที่สุดมันไม่ได้รับ แม้วันหนึ่ง สองวัน สามวัน ก็จะได้พิสูจน์ต่อไปอีก ว่ามันไม่ตายง่ายนักหรอกชีวิต แม้เราจะไม่มีธาตุเข้าไปสังเคราะห์ มันจะดำรงอยู่ได้ ยิ่งจิตเราปล่อยวางได้ ยิ่งจะรู้ชัดเข้าไปอีก ว่าร่างกายนี้ มันไม่ได้อ่อนเพลียง่าย มันไม่ได้ตายง่าย เพราะจิตของเราไปง้อ ไปเที่ยวได้หลงอาหารมากเกินไป ไม่ได้กินแล้วก็ไปมีจิตเร่งเร้า เป็นการทำลายพลังงานซ้อนลงไปอีกขั้นหนึ่ง มันจึงทำให้เราอ่อนเพลียง่าย แล้วก็ท้อแท้ง่าย เสร็จแล้วเราสู้ไม่ได้ จะอดข้าวก็ไม่ได้หลายวัน เพราะเหตุแห่งจิต ความที่ไม่รู้จริง
ผู้ใดได้เรียนรู้ ผู้ใดได้ทดสอบ แล้วก็จะมั่นใจ จะเข้าใจในสภาวะของกาย สภาวะจิต เมื่อจิตไปเที่ยวได้เป็นศัตรูต่อร่างกายเอง เพราะความหิวเป็นกิเลส เมื่อไม่หิว เมื่อเป็นไปโดยธรรมดา เราคิดไม่มาก เราใช้แรงไม่มาก มันก็ไม่จ่ายแรงมาก มันก็ไม่เปลืองมาก เรากินน้อยก็อยู่ได้ กินวันหนึ่งไปได้หลายวันจริงๆ แต่ถ้ากินให้พอดี เราทำงานไปด้วย จ่ายพลังงานไป กินไป พอประมาณ เท่าที่เป็นไปได้ตามมีตามได้ เราก็จะสบาย แม้จะขาด ไม่ได้กินสักวันหนึ่ง สองวันอะไร ก็ไม่เดือดร้อน หรือกินไปวันต่อวันๆ แล้วทำงานวันต่อวันเป็นพอดี ตามสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้วางไว้แล้ว วันหนึ่ง หนึ่งหน นั่นก็พอดีแล้ว ได้ตามมีตามได้ กินตามมีตามได้ มากบ้างน้อยบ้าง ถ้ามีน้อยก็กินน้อย ถ้ามีมากก็กินพอดี กินมากเกินไป ก็จะทำให้เราเปลืองอีก เป็นพลังงานซ้อน เปลืองในการย่อย เปลืองในการดีดดิ้น เปลืองอะไรต่ออะไร และจิตก็ฟุ้งซ่าน ทำให้ต้องจ่ายพลังงานมาก นั่งเฉยๆก็ไม่ได้ จะต้องฟุ้งซ่าน จะต้องคิด จะต้องจ่ายพลังงาน การคิดก็คือการจ่ายพลังงานชนิดหนึ่ง จะต้องเปลืองมากอย่างนี้เป็นต้น ก็เพราะเหตุแห่งการหลงกิน โลกมันจะหลอกกันด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กินมันก็จะหลอก วิธีหลอกด้วยรูป หลอกด้วยรส หลอกด้วยสี หลอกด้วยกรรมวิธีต่างๆ แม้แต่สมมุติ แม้แต่เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียง แม้แต่เปลี่ยนบรรยากาศ แม้แต่เอาอะไรมาประกอบ มันจะหลอกให้เรากิน เรากินมากเท่าใด มันจะยิ่งมากๆ
คนไม่ได้เกิดมากินทีเดียว 3 มื้อ 5 มื้อ เหมือนอย่างทุกวันนี้ แรกเริ่มก็กินกัน มันรู้สึกว่าไม่พอในร่างกาย ก็ค่อยกิน อาจจะสองสามวันกินที ต่อมาก็กินมากขึ้น หลอกล่อกันมากขึ้น วันหนึ่งกินหนหนึ่ง นานเข้าวันหนึ่งกินสองหน นานเข้าสามหน นานเข้าสี่หน ทุกวันนี้กินไม่ยั้ง ไม่รู้กี่หน กินกระปิดกระปอย กินเล่นกินหัว กินอะไรต่ออะไร กินแบบตกแต่ง กินแบบอะไรต่ออะไรต่างๆนานา มันยิ่งเปลืองมากยิ่งขึ้น แล้วก็ทรมานตน ทรมานร่างกายตนนั่นเองมากขึ้น คนตายเพราะการกินมากที่สุด ทุกวันนี้ แต่ไม่รู้ มองเผินมองผ่าน ไม่เข้าใจว่าการกินนั้น ทำลายตน
ต้องพิจารณาแล้วก็ต้องทดสอบ การกินให้แก่ตน แล้วก็ทำให้แก่ตนได้อย่างพอดี ง่าย ประโยชน์สูงที่สุด และประหยัดที่สุด เท่าที่เราจะกระทำได้อย่างพอดี แล้วก็เลิกยึดมั่นถือมั่นด้วย ตามมีตามได้ ตามพอเหมาะพอเจาะ ไม่มากไป แล้วก็แนวโน้มจะต้องทำ อย่างผู้ที่โน้มไปทางน้อยไว้หน่อยดี เพื่อเป็นตัวอย่าง แต่อย่าให้ถึงขั้นทรมานตน ทรมานสุขภาพร่างกาย ทรมานจิตใจตนเกินไป อย่าไปให้ถึงขนาดนั้น จึงจะเรียกว่า เป็นผู้รู้รอบ แล้วกระทำตนเป็นครู กระทำตนเป็นตัวอย่างให้แก่โลก จะได้ช่วยเหลือโลก ไปโดยปริยายอยู่.
*****