ธรรมปัจจเวกขณ์ (25)
23 มีนาคม 2519 พุทธสถานแดนอโศก
ผู้ที่เหนือจิต ผู้ที่มีสติครองตน ผู้ที่รู้เท่าทันในผัสสะ แล้วก็อ่านผัสสะนั้นตามเข้าไปรู้ถึงจิต หยั่งจิตลงไป อ่านเวทนาได้ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ที่จะเข้าอยู่ที่จิต เป็นผู้ที่ได้เป็นพระโยคาวจร เป็นผู้ที่จะกระทำผลให้แก่ตนได้ เมื่ออ่านออกด้วยสุขด้วยทุกขเวทนา รู้ทุกข์แล้วก็เบาทุกข์ ตัดทุกข์ คลายทุกข์ เปลื้องทุกข์ออก ทำให้มันลดลง จนกระทั่งไม่เหลือทุกข์ได้ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติสติปัฏฐาน หรือปฏิบัติวิปัสสนาแท้ เป็นผู้รู้ชัดในเรื่องของจิต โดยเฉพาะตั้งแต่ขั้นเวทนา อ่านหยั่งลงไปถึงจิตอย่างนั้นจริงๆ มีอาการสุข มีอาการทุกข์ รู้ชัดว่ามันแตกต่างกันอย่างไร ระงับถูก ลดได้จริง เกิดผลจริง นั่นคือปฏิบัติวิปัสสนาที่แท้จริง หรือสติปัฏฐานจริง
ผู้กระทำรู้อย่างนี้ว่าความปรุงของจิต มันเป็นลักษณะที่ปรุงเป็นสุขเป็นทุกข์นั่นเอง หรือแม้แต่พยายามที่จะให้มันเป็นสภาพของจิต ไม่เหลือเศษของทุกข์ จะเหลือเศษของสุขบ้าง เราก็รู้ชัดว่าเป็นการพ้นจากทุกข์มาบ้างแล้ว เป็นขั้นตอน แต่สุขก็ยังเป็นสังขาร จะไปติดในสุขนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องลดสุขนั้นให้อ่อนบาง ให้เป็นอุเบกขาธรรม นั้นเป็นการวางเฉย หรือจิตเป็นธาตุรู้ ที่รู้ความจริงตามความเป็นจริงอยู่เท่านั้น การกระทำที่รู้เท่าทันสังขารอย่างนี้ เป็นธาตุรู้ที่รู้ชัดเจนจริงๆ เราเรียกมันว่าวิญญาณ วิญญาณอย่างนี้รู้เท่าทัน แบ่งออกว่า ที่ไปรู้นั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่เรียกว่านาม ที่สิ่งที่ถูกรู้ขณะนี้ คือตัวจิตเองนั้น จิตที่ถูกรู้นั้นเรียกว่า รูป แต่เป็นรูปจิต หรือบางทีเป็นอรูปจิตก็ตาม เป็นสิ่งที่ได้รู้ชัดรู้แจ้ง รู้ลักษณะอาการของมันแล้ว แล้วเราก็เข้าใจที่มันรับรู้ได้ เพราะมันยังมีสภาวะที่เรียกว่า อายตนะต่างๆ มีผัสสะอยู่ จึงได้เกิดเวทนาเหล่านั้น เรารู้เท่าทันด้วยประการอย่างนี้ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่มีความรู้เยี่ยมยอด เป็นผู้ที่ถือว่าตัววิชชา เป็นความรู้ เป็นผู้ที่มีตัวรู้ และมีความรู้ซ้อนอยู่ในนั้นเสร็จ เรียกว่าวิญญาณที่มีวิชชา และรู้เท่าทันสังขารทั้งปวง จะให้สังขารเหล่านั้น เป็นไปโดยควรขนาดใดก็รู้ และรู้ด้วยว่า ตัดทุกข์ออกจากสังขารนั้นแล้ว ไม่มีทุกข์อยู่ในจิตที่มันยังปรนปรุงอยู่ ยังเป็นไปอยู่ ก็รู้อย่างแท้จริง ผู้นั้นจึงเป็นผู้หมดตัณหา หมดอุปาทาน หมดภพหมดชาติ แม้กระทั่งชรา มรณะ โศกะ ปริเทว ทุกข โทมนัส อุปายาส ทั้งหมด เกลี้ยงอย่างแท้จริง
จงพิจารณาไตร่ตรองผัสสะเป็นสำคัญ แล้วก็อ่านให้เท่าทัน ในเวทนาจริงๆ อยู่ในจิต ข้างนอกนั้นเป็นแต่เพียงภายนอก ที่ผัสสะแล้วเข้าไปถึงจิต แม้แต่อยู่ในจิตเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะต้องรู้เท่าทันในผัสสะของจิตนั้นๆเอง และรู้ในเวทนานั้นด้วย และก็เข้าใจลักษณะของสุขของทุกข์จริงๆ อุเบกขา เข้าใจให้จริง แล้วเราใช้อุเบกขาเป็นฐาน เป็นสิ่งที่ยืนอยู่ เราจะให้เฉย ให้วางได้อยู่อย่างนั้นเป็นปกติ เป็นอย่างเก่ง ทำได้อย่างจริงจัง ผู้นั้นก็เป็นผู้แข็งแรง เป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้เรียกว่า ถึงแล้วซึ่งการกระทำได้ เป็นปันโนที่เรียกว่า “สุปฏิปันโน” ทำออก-ทำเข้า ทำสูง-ทำต่ำ ทำมาก-ทำน้อย ทำได้อย่างแท้จริงแล.
*****