ธรรมปัจจเวกขณ์ (27)
26 เมษายน 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
เกิดมาเป็นคน ต้องพยายามหาความเจริญใส่ตัว ความเจริญนั้นน่ะ คือ ปัญญาที่รู้แท้รู้จริง รู้การลด รู้การเพิ่มให้แก่ชีวิต ชีวิตเราถูกเสี้ยมสอนมาให้เพิ่ม มากกว่าให้ลด แล้วก็มีการหัดเพิ่มมากกว่าหัดลด เมื่อเวลามาปฏิบัติธรรม หรือมาเรียนรู้ทางธรรมนั้น ธรรมมะสอนให้ลดมากกว่าเพิ่ม มีแนวโน้มมาทางด้านลด มากกว่าด้านเพิ่ม แม้แต่การกินการใช้ก็ลด การอะไรต่ออะไรหลายๆอย่างก็ลด ดูง่ายๆ ดูเผินๆ แม้แต่การทำงานก็ลดการทำงาน แต่แท้จริงไม่ได้ลดหรอก เราก็ยังมีเพิ่มอยู่ในการทำงานนั้น แม้การทำงานนั้นแปรสภาพมาเป็นการเรียน มาเป็นการฝึกฝนศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขาในเบื้องต้น และเราก็จะทำงานอื่นๆ ประกอบไปพลาง เท่าที่จำเป็น ไม่ได้ลดงาน
คนเราไม่มีการงานไม่มีกรรมไม่มีงาน ก็เป็นคนหมดค่า ไม่ใช่คนซะแล้ว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าดูเผินๆ เหมือนกับลดงาน แต่แท้จริงไม่ได้ลดงาน เป็นแต่เพียงเปลี่ยนสภาพเท่านั้น เปลี่ยนงานมา เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ลดงาน แต่เพิ่มงาน ลดสิ่งที่เราไปยึดติด ลดสิ่งที่เราไปเสพไปมัวเมามัน ลดลงมาทั้งหมดตั้งแต่ต่ำๆ หยาบๆ ตั้งแต่อบายมุขต่างๆ ลดลงมา รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ยียวนชวนใจ ก็พยายามลด อย่าไปตามใจตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย เจอรูป เจอรส เจอกลิ่น เจอเสียง เจอสัมผัสก็ไปตามใจมัน ไม่เอา! ลด ห้าม หยุด ลดในเรื่องการโลภโมโทสัน ในลาภในยศต่างๆ ในสรรเสริญต่างๆ แม้มันจะมีลาภเพราะความขยันของเรา จะมียศสูงเพราะสมรรถภาพ หรือความสามารถของเรา จะมีสรรเสริญเพราะเราได้กระทำดี มีความดีที่จะต้องรู้เท่าทันว่า มันเป็นไปตามธรรม แล้วเราจะไม่หลงตัวหลงตน เราจะไม่พยายามสะสม กอบโกย หรือยึดถือไว้เป็นของตัว จนหลงตัวหลงตน ลาภเป็นข้าวเป็นของเป็นวัตถุก็จ่ายออก ยศก็อย่าไปหลงมัน แม้มันจะมีหรือไม่มีก็ตาม สรรเสริญก็ดี แม้จะมีหรือไม่มี อย่าไปหลงตัวหลงตน ซึ่งเป็นเรื่องของจิตที่จะเข้าไปติดไปยึดอีกทีหนึ่ง เข้าไปพัวพันเพราะว่า สรรเสริญนี่มีแล้ว มันก็ฟูฟ่องในใจ แล้วมันก็ทำให้เรามีมานะทิฐิ พวกนี้เรามาลดทั้งนั้น ลดลงๆๆ หรือปล่อยคลายหรือรู้ความจริงว่า มันเป็นไปโดยสัจจะ เราเป็นคนดีย่อมได้รับสิ่งตอบแทน ในส่วนดีเป็นธรรมดา แล้วเราก็ไม่หลงติดยึดมัน รู้ชีวิตว่ามีปัจจัยเท่าไหร่ จะต้องประคบประหงมมัน ด้วยปัจจัยน้อยขนาดไหน ที่เราจะทำให้แก่ตนได้ อันใดไม่ควร ตัดออกๆ ลดออกไปจริงๆ จนตัดขาด บางอย่างไม่แตะต้อง ไม่เกี่ยวข้อง บางอย่างเกี่ยวข้องบ้าง ไม่เกี่ยวข้องบ้าง บางอย่างจำเป็นต้องเกี่ยวข้องอยู่ แต่จิตของเรา จะต้องไม่เข้าไปคลุกคลีคลุกเคล้า หรือไม่เข้าไปสังขารธรรมด้วย ไม่ปรุงเป็นชอบไม่ปรุงเป็นธรรม พวกนี้ต้องอ่าน ให้เป็นชั้นเชิงเข้าไปให้ละเอียดลออ แล้วหัดลด หัดเพิ่ม นี่แหละ ทางธรรมจะสอนอย่างนี้ ก็บอกเสมอ เตือนเสมอ ทั้งเครื่องใช้เครื่องกิน ทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพัน ที่มันจะสัมผัสทางหู-ตา-จมูก-ลิ้น-กาย แม้ที่สุด เกิดขึ้นเองที่ใจ เราจะต้องพยายามพิจารณา แล้วก็ลด ละ ปลดปล่อย อันไหนเป็นงานการที่เป็นกุศล ที่เป็นสิ่งจรรโลงสร้างสรร อยู่ตามฐานะตามหน้าที่ ตามความเหมาะสมของแต่ละฐานะ เราจะกระทำไปให้เจริญเป็นที่สุด จะต้องรู้แยกแยะให้ออกละเอียดลออ แล้วกระทำตรงตามนั้น จึงเรียกว่า “สัจธรรม”.
*****