ธรรมปัจจเวกขณ์ (30)
2 พฤษภาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
เราก็จะต้องพยายามรู้นอกรู้ใน รู้เขารู้เรา ให้มากด้วย เราจะตำหนิติเตียนคนอื่น ไปเสียทั้งหมดนั้น ไม่ควร เพราะว่าเราจะต้องมี บุคคลปโรปรัญญุตา หรือมีปริสัญญุตา ต้องรู้ให้ชัดเจนว่า ปัญญาเขามีแค่นั้นจริงๆ และเขาเข้าใจไม่ได้ เราควรสงสาร และก็พยายามที่จะปลดปล่อย หรือว่าใช้อุบาย หรือว่าจะใช้ทางปัญญาของเราให้แจ้ง ว่าเราจะอุบายอย่างไร ที่จะให้เขาได้มีปัญญาแหลมลึกลงไป และก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นไร้ผล หรือว่ามันมีผล ควรเลิกหรือความยึดไว้ เราก็ควรจะมีปัญญาที่จะใช้อุบายต่างๆ นั้นไป ให้แก่เขาไปตามสมควร นั่นเป็นความฉลาดของเราจะช่วยเขา ไม่ใช่เราจะไปเที่ยวไปตำหนิติเตียนด่าว่ากราดเขาไป หรือว่าจะดูถูกดูแคลนเฉยๆ นั้นก็ไม่ดี
ความเป็นจริงก็เป็นความเป็นจริง เขาไม่มีปัญญา หรือเขายังติดยึดอยู่มาก เขายังโมหะมากก็เป็นได้นั้นแล้วแต่ ถ้ามันเป็นจริงอย่างนี้ๆ เราต้องพิจารณา ถ้าจะแก้ไขช่วยกันได้ ให้พิจารณาช่วยแก้ไข ถ้าจำเป็นต้องตัดปล่อยก็ตัดไปก่อน ถ้าเผื่อว่าไม่จำเป็นจะต้องตัดปล่อย เราก็พยายามมากขึ้น จะมากด้วยการพยายามอย่างดี หรือบางคนเขามีศรัทธาเลื่อมใส เราจะพูดอย่างแรง หรือเขาเชื่อมั่น ในสิ่งที่เราเองจะกล่าวนี้ได้ หรือเราสามารถที่จะใช้ภาษา ใช้วจีกรรมอะไร ที่จะทำให้เขารู้สึกแรง และสามารถที่เอาไปคิดนาน มีผลที่เขาจะรับเอาไปพิจารณา แล้วจะเกิดผลประโยชน์แก่เขาได้ อุบายอย่างนั้น ก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ว่าให้พิจารณาให้มากๆ ถ้าเผื่อว่ามันไม่ควรแล้วไปใช้ แล้วมันก็จะเกิดการแตกแยก เกิดการชัง เข็ด ตีจากไปเสียเร็วเกินไป ถ้ายังไม่สมควรที่จะให้ตีจากเลย ด้วยความจำเป็น เราก็อย่าพึ่งไปตีจาก เราจะตัดหรืออย่างฆ่าม้าพยศทิ้ง เราก็ต้องรู้กาละที่จำเป็นที่สุด เป็นขั้นสุดท้าย ที่เราจะฆ่าม้าพยศทิ้ง นี่ก็เป็นความรู้ของพระ หรือของผู้ที่จะยังประโยชน์ให้แก่ชาวโลก แก่ผู้อื่นเขาเหมือนกัน เราจะต้องคิดต้องพิจารณา เราต้องใช้โดยความจริงแล้วเราไปดูถูกใคร เราไปกล่าวกราด ไปยกตนข่มใครเขาหมดนั้น มันเป็นความผิดอยู่แล้วในตัว เพราะฉะนั้นก็ไม่ควร
เรากล่าวกันก็ต้องมีสำนึกว่า นี่เรากล่าวเพื่อที่ทำให้เห็นแง่ว่า มันผิดมันเลว มันต่ำมันไม่ควร แต่ใจของเรา เราอย่าเป็นอย่างนั้น ใจของเราให้มีสำนึก มีสำเหนียกอยู่ในตัวเสมอ ว่าอะไรไป อย่าวี้ว้าๆ เป็นการเกลียดชัง หรือว่าเป็นการแบ่งแยกว่าเขาว่าเรา ทุกอย่างในโลกนี่ เราถือว่าเป็นเราเสียหมดนั่นแหละ ที่จะช่วยกันได้เป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นญาติกัน เป็นพี่น้องกัน เป็นสัตว์เดียวกัน แล้วเราก็จะช่วยไปตามฐานะ พูดแล้วมันเหมือนสับปรับ คล้ายๆกับว่าคำพูดว่าด่าแล้ว ก็ยังมาเที่ยวได้ท้าตีหัว แล้วก็ลูบหลังอะไรยังงี้ ที่จริงไม่ใช่ เราต้องเอาความสุจริตใจของเราเป็นใหญ่ ต้องเห็นจิตของเราให้ชัดเจน จะทำก็ทำด้วยเจตนาที่เป็นกุศลแท้จริง ไม่ใช่แกล้งร้าย ไม่ใช่ใส่ร้าย ไม่ใช่ทำให้ฆ่าให้ตาย ให้พังลงไป ไม่ใช่
เราจะเห็นได้ว่า สุดท้าย พระพุทธเจ้าที่ลงทัณฑ์สูงสุด ท่านฆ่าม้าพยศของท่านก็คือ ปล่อย ตัดปล่อยหรือวางเฉย นั่นเป็นทารุณที่สุด จะเห็นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น การที่กล่าวรุนแรง หรือกล่าวคำที่เรียกว่า มันเป็นสิ่งที่เรียกว่าทุจริต นั่นเป็นบางคราวเท่านั้น แล้วเราก็เห็นว่า มันจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง อย่าไปตัดปล่อยโดยการใช้คำทุจริต หรือใช้คำรุนแรง แล้วเป็นการตัดปล่อยไปเลย โดยไม่จำเป็นที่สุด อย่าไปใช้ ที่จำเป็นที่สุดก็เพราะเหตุว่า นี่มันกาละนี้รัดตัวแล้ว ต้องจักการออกไปเร็วๆด่วนๆ อย่างนั้นเราก็ใช้ แต่ถ้าเผื่อว่า ไม่ถึงวาระอย่างนั้นแล้ว ยังมีเวลาต่ออยู่ เราจะต้องใช้การวางเฉย เงียบเสีย จะยังไงก็เฉยเสีย ปล่อย ให้กาละเวลาหรือให้อะไรมันปล่อย เป็นไป นั่นเป็นการฆ่าสุดท้าย ที่เราจะต้องกระทำถ้ามีเวลา ถ้ามีเหตุการณ์ ถ้ามีปัจจัยอะไรประกอบ เราพยายามให้ละเอียดลออพวกนี้ พยายามมีความคิดที่ดี แล้วเราจะเป็นผู้ทำได้งาม
ถ้าเราไม่ระมัดระวังพวกนี้แล้ว แล้วเราจะทำงานศาสนา หรือทำงานนี้เป็นประโยชน์ไม่ได้ ศาสนาจะเสื่อมเร็ว มวลมนุรษย์ก็เสื่อมเร็ว ค่าก็ไม่มี เราเองก็ไม่รู้ว่าไปอยู่ทำไม เกิดมาทำไม ตายไปเดี๋ยวนี้มันก็เท่านั้น ถ้าเผื่อว่ามันทำอะไรก็ไม่ได้ประโยชน์ อยู่ไปก็เปลืองสมบัติ เปลืองข้าวเปลืองอะไรเขาเปล่าๆ
ก็ขอให้เราพิจารณา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอะไรก็ใส่ใจ ถ้าใครมีรายละเอียด ก็เอารายละเอียดไปประกอบ ไปประพฤติไปกระทำ จนเกิดผล ส่งเสริมให้เราเจริญยิ่งๆขึ้น.
*****