ธรรมปัจจเวกขณ์ (32)
25 พฤษภาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ทุกวาระเราไม่ประมาท ยิ่งจะทำการงานใด ที่จะเป็นการงานที่เป็นหลักเป็นเรื่อง จะต้องตั้งสติ ให้มีสัมปชัญญะมีปัญญา ให้รู้ตัวรู้ตนต่อผัสสะ ที่เราจะกระทำ ที่เราจะมีบทบาทลงไปในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นบทบาทอย่างไร รูปใหญ่ที่เราเรียกว่ากาโย หรือว่าเป็นบทบาทอยู่แล้วจี ก็ต้องให้รู้ หรือแม้แต่อยู่ในจิต ที่จะเกิดการปรุง การทำงานมีบทบาทของจิตขึ้นมา จะต้องให้รู้เท่าทันอารมณ์ให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะ และให้มีปัญญาพิจารณาให้ชัดเจน อย่าให้สิ่งที่มันเป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าเป็นไปโดยไม่งามตามสมมุติ แม้ไม่งามตามสมมุติ มันก็เป็นของที่เรียกว่ามันไม่ดี โลกนี้เขาก็ยึดเอาตามสมมุติ ว่าดีว่าควรว่างาม แต่โดยสัจจะนั้นเป็นไปเพื่อว่า ไม่ไประรานแตกแยก โทสะต่อโทสะ หรือไปแหย่ให้เขาก่อโลภะจนเกินควร และก็โลภะก็ก่อโลภะไปในทางที่จะเป็นไปเพื่อ การหนักการเกิดทุกข์ การไม่รู้จักจบสิ้น
เราก็ไม่เอา มันหมุนวนขึ้นมาแล้ว มันชักจะสงสัยหรือว่า พูดแล้วก็ลำบากใจในการคิด ถ้าเราโลภนิพพาน (คำว่า โลภนิพพาน หมายความว่า เราปรารถนาที่จะละ คลาย หน่าย วาง ปล่อย) แต่ถ้าเผื่อว่า เราโลภ ในสิ่งที่ไม่เป็นการก่อการสร้าง การมีการเป็น ที่มาเพื่อตัวเรา ด้วยลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี ถ้าจิตของเราแม้ต้องการ ไม่ต้องเอาถึงลาภถึงยศ เอาแต่สรรเสริญ มันก็ยังเป็นจิตที่เรียกว่ายังสั่งสม ที่สุดแม้จะยังสั่งสมสุข สุขมันเป็นสภาวะ เป็นสภาวะเป็นเพียงเรารับ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอาจิตไปผูกพัน ที่สุดแม้จะยังสมสุข สุขมันเป็นสภาวะ เป็นสภาวะเป็นเพียงเรารับ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอาจิตไปผูกพัน หรือผูกมัดมัน หรือสั่งสมให้เราติดชิน ถ้าเราไปสั่งสมให้ติดชิน เราก็จะหยั่งลงตรงนั้นแหละ จะตั้งมั่นลงตรงนั้นแหละ เกินไป เพราะฉะนั้น มันจะเป็นการผูกพันหรือเป็นอัตตา หรือเป็นสิ่งที่ดูดเอาไว้ ดึงเอาไว้อยู่ให้แท้จริง มันจะเอาให้เป็นให้แท้จริงให้ได้ มันจะเป็นยังงั้น
เราจะต้องพิจารณา ละ หน่าย คลาย ดังที่หลักที่พูดแล้วอธิบายแล้ว คงไม่สงสัย เมื่อไม่สงสัยก็จับหลักปฏิบัติเลย พิจารณาไปเรื่อยตั้งแต่หยาบ อบายมุข รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส กามารมณ์ต่างๆ ไปจนกระทั่งลาภ ยศ สรรเสริญ สุขใดๆอีก ที่เราได้แล้ว เราว่างเราเบา แม้แต่สุขที่เราเบาเราว่างอีก เราก็จะต้องสำคัญ ทำความมั่นหมายทำความชัดเจนให้รู้ แล้วก็สักแต่ว่ารู้ ใช้มันตามโอกาส เป็นที่พัก ฐานพักเท่านั้น ไม่ใช่ที่หยั่งลงราก ไม่ใช่ที่จะเกาะยึดติด แม้แต่สถานที่เบาที่ว่างนั้น เป็นแต่เพียงที่พักอาศัย เป็นวินาทีได้ยิ่งดี หรือน้อยกว่าวินาทีได้ยิ่งดี พักอาศัยได้ก็ปล่อย อย่าไปหยั่งลงราก อย่าไปเกาะอย่าไปติด ถ้าเกาะถ้าติด ก็จะเป็นการสร้างรากสร้างเหง้า จะเป็นการเกิดที่ถาวร ทำให้เรานี่แหละทุกข์ สัจจะอันนี้ สัจจะจุดนี้เป็นการพบได้ยาก เป็นการถึงได้ยาก คนขั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาค้นพบแล้ว จึงได้เผยแพร่ ตีแผ่ออกมา แล้วก็ถึงได้เรียนรู้ตาม เพราะฉะนั้น เอาให้เห็นให้ได้เจอให้ได้ พิจารณาให้จริง อย่าไปประมาท เพราะทุกเวลาทุกโอกาส จึงจะตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาททั้งนั้น มีสติสัมปชัญญะ พิจารณา มีวิริยะ มันไม่อยากพิจารณาเท่าไร ก็มีวิริยะ วิริยะนี้เลี้ยงเราไว้ เลี้ยงโลกไว้ เลี้ยงทุกอย่างไว้ มีวิริยะและก็เป็นไป ด้วยความไม่ประมาทอย่างแท้จริง แม้ทุกทีทุกครั้ง ที่เราจะกิน เราจะนอน เราจะทำงาน เราจะพูด เราจะทำอิริยาบถอะไรก็ตามแต่ ที่เป็นอิริยาบถใหญ่ๆ หรือแม้แต่ไม่มีอิริยาบถ จิตมันจะตั้งต้นทำงานไป เป็นอิริยาบถใหญ่ของจิต เราจะนั่งละนะ จะนั่งอยู่คนเดียวเรารู้แล้ว ก็ต้องจับไปที่จิตแล้ว อิริยาบถใหญ่ๆของจิต มันจะมีอะไร มันจะเล่นบทบาทอย่างไร ติดตามมัน พิจารณามันให้จริงทีเดียว แล้วก็ ละ-หน่าย-วาง หรือว่าพยายามทำความรู้ ให้มันชัดเจน มันจึงจะได้ผลได้ประโยชน์ของนักปฏิบัติ และก็สุดท้าย จบให้รู้จบ ลงให้รู้ แต่การตัดสินลงตัว พอให้รู้จักพอ และอย่าไปซ้ำแซะ อย่าไปเที่ยวได้สงสัยอะไรมากเกินไป แล้วก็เลยไม่จบ เวียนวน ปวดหัว ทุกข์ มันตัดสินแล้วก็ให้ตัดสิน ว่านี่ประโยชน์สูงแล้ว ประหยัดสุดแล้ว นี่พอดีแล้วลงตัวแล้ว ก็ให้ตัดสิน แล้วเราก็จะสบายทำสิ่งนั้นไป ถ้ามันเกิดผลร้ายแรงต่อไปอีก เราก็จะได้รู้ หรือว่ามันเป็นผลดีต่อไป เราก็จะได้รู้เหมือนกัน ต้องมีความแน่ใจ และต้องมีความแน่นอนดังนี้.
*****