ธรรมปัจจเวกขณ์ (35)
31 พฤษภาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ข้อสำคัญที่สุด ทุกๆคนต้องพยายามรู้ตัวเองให้ชัด ตัวเองอยู่ในฐานะอย่างไร เหมาะสมอย่างไร เราก็จะต้องทำให้ถูกตามฐานะของเรา ซึ่งในตอนแรก เราจะเป็นผู้ที่หัดหยุดเสียก่อน ก็หยุดให้มาก อย่าไปพยายามทำอะไรมาก พูดมาก คิดมากไม่เอา หยุดคิดไปให้มาก พิจารณาพอสมควร คิดก็คิดแต่นิดๆหน่อยๆ พอสมควร คิดยาวแล้วฟุ้ง คนเรามันคิดยาวมามาก มันฝันมามาก เพราะฉะนั้น หยุดฝันหยุดฟุ้งลงไป ให้คิดแต่พอทำเอาพอดิบพอดี พอเหมาะพอเจาะ แล้วก็พักพอเหมาะพอเจาะ แล้วก็พัก พูดก็พูดแต่จุดสำคัญ หยุดพูด ถ้าไม่สำคัญก็ไม่ต้องพูดเลย แม้แต่การทำ ก็ส่วนใดที่เราทำ แล้วมันจะเสีย มันจะพลาด หรือมันจะเป็นการแสดงกิเลสออกมามาก เราก็หยุดทำ
ในช่วงต้นนี่ ท่านจึงสอนหยุดเสียก่อน สอนหยุด เน้นหยุดเสียก่อน ส่วนผู้ที่จะทำนั้นเป็นผู้ที่รู้แล้ว รู้ในตัวหยุดและมีหยุดในตัวเองแล้ว สิ่งใดควรละควรเลิกควรหยุด ได้อย่างสนิทของตัวเอง ท่านก็หยุด เพราะฉะนั้น ผู้หยุดให้แก่ตัวเองได้แล้ว เวลาจะทำก็ทำให้ผู้อื่นทั้งนั้น เมื่อการทำให้ผู้อื่น เราก็ทำให้ผู้อื่นโดยไม่ต้องไปคิดว่า ทำให้ผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ เรามียศมีศักดิ์ มีบุญคุณ เราทำก็เป็นบุญคุณ เสียหมด ไม่ได้ อันนั้นเป็นมานะทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจะทำก็ทำ ถ้าเราทำแล้วมันยังเป็นบุญคุณก็อย่าไปทำ ไปทำแล้วและเดี๋ยวคนอื่นเขากลัว เขากลัวจะมาทวงบุญคุณกับเขา เมื่อไปทำกับเขาแล้วก็เป็นบุญคุณ ทีหลังไปทวงบุญคุณกับเขา แล้วมันไม่รู้จะทำอย่างไร บางทีมันตอบแทนไม่ได้ แล้วมันก็จะเสีย ถ้าเผื่อทำเพื่อจะไปไว้ทวงบุญคุณแล้วละก็ ไม่ต้องทำ พักเสียหยุดเสีย แต่ถ้าเราจะทำโดยรู้และเราคิดว่า นี่เป็นประโยชน์ เป็นการเสียสละ เป็นการให้ที่ดี เป็นการจ่ายออกไป เป็นคุณค่าให้แก่โลก ค้ำจุนโลกไว้ ด้วยแรงของเราที่มี ด้วยปัญญาของเราที่มี ด้วยสมบัติของเราที่มี เราก็จงทำ อย่างนี้เรียกว่าสะอาด ทำอย่างสะอาด ทำอย่างที่ไม่มีความจองเวร
การที่ยังไปทวงบุญคุณเขาอยู่ ยังเรียกว่าจองเวร มันยังไม่สิ้นสุด มันยังไม่หมดพยาปาทะ หรือความเกี่ยวข้อง มันยังไม่ตัดขาด มันยังไม่วางไม่ว่างไม่ปล่อย มันยังไม่หลุดล่อน เพราะฉะนั้น เราจะทำอันใดเราก็ทำ เราจะพูดอะไร ก็พูดตามควรตามฐานะ แม้เราจะคิดของตัวเราเอง เราต้องประมาณในความคิด ประมาณในมโนกรรม ประมาณในวจีกรรม ประมาณในกายกรรม ผู้เก่งเท่านั้นถึงจะทำได้มาก ถึงจะพูดได้มาก และถึงจะคิดได้มาก ถ้าไม่เก่งแล้วคิด แล้วประเดี๋ยวก็เป็นบ้า ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น จึงต้องระงับให้รู้ขั้นตอน พูดวนอีกทีหนึ่งให้รู้ขั้นตอน ให้รู้ระดับตัวเอง ให้รู้ฐานะของตัวเองว่า เราคิดมากไป เราต้องหัดพักหัดหยุด
กรรมฐานต้นๆ เราจึงมาให้นั่งหลับตา แล้วถึงมาให้นั่งทำกสิณ เกาะไว้ที่ดินที่น้ำ ที่ไฟที่ลม เกาะไว้ที่รูปนั่นรูปนี่ เกาะไว้ที่ลมหายใจ เกาะไว้ที่อะไรก็ตามแต่ ให้หัดหยุดให้มากนั่นเอง หยุดคิด พวกที่นั่งทำกสิณ นั่งพวกนี้ก็คือทำพวกระงับอุทธัจจะกุกกุจจะ เมื่อระงับอุทธัจจะกุกกุจจะได้แล้ว มันก็จะตก ถีนะมิทธะ ก็ค่อยมาปรุงขึ้นมาใหม่ อย่าให้มันติดถีนะมิทธะ ที่ทำย้อน ทำย้อนมาจากอุทธจจะกุกกุจจะ แล้วก็มาตกถีนะมิทธะแล้วก็ปรุงขึ้นใหม่ อย่าให้เป็นถีนะมิทธะ เรียกว่าตั้งสติขึ้น ตั้งจิตให้ใส ตั้งจิตอย่าให้มันตกถีนะมิทธะ ซึ่งยาก เพราะฉะนั้น ต้องตื่นขึ้นมา จึงต้องลุกมาทำงาน จึงต้องอะไรๆขึ้นมา ฝืนขึ้นมา เมื่อเป็นถีนะมิทธะ จิตฟุ้งซ่านมันมีน้อยแล้ว มันไม่มีฟุ้งซ่านแล้ว มันมีแต่คิด ตามรูปตามเรื่องไปตามธรรมดา คนนั้นก็อยู่สบาย แต่ว่าผู้ใดมาหัดนั่งดับ อุทธัจจะกุกกุจจะ โดยวิธีหลับตาตกถีนะมิทธะ มาแก้ถีนะมิทธะ แต่ไม่เรียนรู้พยาบาท ไม่เรียนรู้กามฉันทะ ไม่ด้วยรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สำผัสด้วยอะไร นอกๆ มันก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเรียนรู้ด้วย เรียนรู้ จะเอามาจากอุทัจจะกุกกุจ จะนั่งหลับตามา แล้วก็ดับอุทัจจะกุกกุจจะ แล้วก็แก้ไขไม่ให้มีถีนมิทธะ ได้แล้วก็ตาม ต้องมาเรียนรู้ถึงสภาพของพยาบาท โทสะ ความกดขี่ข่มเหง หรือความผูกพัน และมาเรียนรู้ถึงกามฉันทะ ต่างๆให้ได้ และก็ละพวกนี้ มันก็เป็นบริบูรณ์เหมือนกันก็ได้ แต่ธรรมดาแล้ว เราจะต้องเรียนรู้กามฉันทะ ด้วยของหยาบ ตา-หู- จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ ที่มันยังเกี่ยวข้องใคร่อยากอยู่ ลดจิตที่โกรธที่เคือง ที่จะต้องไปอำมหิต กดขี่ขูดรีด อะไรต่างๆนานา หรือไปก่อโทสะอะไร ลดลงมาหมด แล้วจิตมันจะลง ตกถีนะมิทธะ เหมือนกัน มันตกเอง เราตัดกามฉันทะ เราตัดพยาบาท มาว่างจากพวกนี้ มันจะตกถีนะมิทธะ จิตมันจะมีลอยฟุ้ง อยู่ในจิตอยู่บ้าง ก็หัดดับอันนั้น ถ้าจิตนั้น ไม่ทำให้เราถึงรำคาญ ลำบากลำบนอะไร มันก็ไม่มีกุกกุจจะ มันก็เป็นอุทธัจจะธรรมดา คือ จิตมันต้องฟุ้งอยู่ตามรูปเรื่องของมัน มันเป็นนิมิต หรือมันเป็นฝัน มันเป็นอะไร ที่นอกกว่าเรื่องแล้ว
ถ้ามันไม่ทำให้เรารำคาญ ไม่มีกุกกุจจะ ไม่มีเรื่องอึดอัด เดือดร้อนอะไร มันไม่ก่อรูปนิมิต กวนใจอะไรเรา เราไม่ติดในนิมิตอะไรพวกนั้น มันไม่มีปัญหา เราแก้ถีนะมิทธะอันเดียว เพราะฉะนั้น ขณะนี้พวกเรา ถ้าตรวจกามฉันทะของพวกเรา ก็ไม่มีแล้ว ไม่มากมาย หรือขาดสิ้นได้ ก็ยิ่งแน่ใจขึ้นยิ่งดี พยาบาทก็มีแล้วไม่มีอะไรมากมาย ตัดขาดหมดแล้วก็ดี หรือพยาบาทที่ไล่ไปจนถึงมานะ ดังที่เคยได้อธิบายให้ฟัง พยาบาท โกธะ อุปนาหะ ไล่ไปจนกระทั่งถึง ปมาทะ ที่อธิบายแล้ว ถ้าเข้าใจว่า เราไม่มีเศษเสี้ยวพวกนั้นได้ ก็ยิ่งดี ยังเหลือถีนะมิทธะ ก็แก้ถีนะมิทธะให้หาย เมื่อแก้ถีนะมิทธะหาย ก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง อุทัจจะจะถูกกุจจะ เราก็เข้าใจอยู่แล้วว่า เราไม่มีความลำบากใจอะไร ไม่ฟุ้งซ่านอะไรในโลก เรื่องเริกอะไรก็ไม่มีแล้ว แม้แต่เรื่องภพชาติ เอาสร้างภวตัณหาเป็นวิมาน เป็นรูป เป็นนรก เป็นสวรรค์ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่จะเกาะในจิตก็ไม่มี เราก็ยังเหลือแต่จิตเกาะในจิต ก็คือจิตสงบ จิตตกภวังค์ ตกหรี่ ตกดับ แล้วเราก็เป็นจิตอยากดับอยากหยุด อยากพักมาก ต้องแก้ตัวนี้ให้ฟื้นขึ้นมา แล้วเราแก้ถีนะมิทธะให้ฟื้นขึ้นมา อย่าให้เฉื่อยช้า เฉื่อยชา นิ่งเนือยหรือไม่ให้หยุด อย่างนี้มันเป็นแนวโน้ม ดูลักษณะของมันให้ดี ลักษณะของมันเฉื่อยชาเนือย โน้มไปในทางไม่เอาภาระ ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้ไม่ตื่น มันเป็นผู้งงๆ เป็นผู้เงื่องๆ หงอยๆ มันไม่ใช่เป็นผู้เบิกบานแจ่มใส ไม่ใช่ผู้ตื่น
เพราะฉะนั้น ต้องแก้กลับมาให้เป็นผู้ตื่น เบิกบานแจ่มใส แล้วก็รู้ชัด รู้เจน อะไรเหมาะอะไรควร พอพักก็พัก พอเพียรก็เพียร อย่างนั้นจึงจะเรียกว่าบริบูรณ์ เมื่อใดแก้กลับถีนะมิทธะ ได้ด้วยอุบายต่างๆนานา ที่เราได้พูดแล้วหลายนัย มีจุดอีกที่เราจะแก้อยู่ เมื่อเรารู้ถึงกามฉันทะ รู้ทั้งพยาบาทแล้วหมด มันไม่มีอะไรมาก มันจะหรี่จริงๆ มันจะอยากหยุด มันจะไม่เอาภาระกับโลก มันจะเป็นอย่างนั้น แล้วมันก็จะเสพย์ติด เพราะว่าจิตของเรา มารู้สงบนี่ มันสบายก็จริง สงบมันสบาย ทีนี้สงบมันมีหลายนัย สงบในกับสงบนอกด้วย เราลืมตาเรากระปี้กระเป่า เบิกบานแจ่มใส เป็นผู้ตื่นอยู่ ทำงานทำการ เป็นประโยชน์แก่โลกได้ เราก็อยู่โดยธรรมดา เราก็สงบ สงบโดยควรคือไม่เกินขอบเขต ไม่ดีดดิ้น ไม่แส่หาอะไรมากเกินไป ไม่เป็นโลกๆ แต่อยู่ในธรรมมีงานทำ มีสัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวาจา มีสัมมาสังกัปโป มีดำริที่ดี มีวาจาที่เป็นไปโดยธรรม เผยแพร่ธรรมอยู่ด้วยวาจา ทำกายกรรมอยู่ด้วยกัมมันโต ที่เป็นการงานที่เป็นธรรม เผยแพร่ธรรมอยู่ด้วยวาจา ทำกายกรรมอยู่ด้วยกัมมันโต ที่เป็นการงานที่เป็นธรรม เผยแพร่ธรรมอยู่ มีชีวิตอยู่ ด้วยการแสดงธรรม อย่างนี้เราก็เรียกว่า เราเป็นผู้กระทำอยู่ โดยบทบาทของกัมมันโต เป็นที่สุด เป็นสิ่งสืบต่อ เป็นกัมมัสสโก.
*****