ธรรมปัจจเวกขณ์ (38)
15 มิถุนายน 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
เราต้องมาเรียน เมื่อเรามาอยู่โรงเรียน สถานที่นี้เป็นสถานที่ ที่จะอบรมบ่มนิสัย และปรับปรุงใจปรับปรุงจิต เพราะฉะนั้น บทบาทหรือว่าการกระทำ ด้วยจารีตประเพณีแบบอย่าง เราจะต้องพยายามทำความเข้าใจ และทำตามตั้งแต่เราจะอยู่จะกิน จะหลับจะนอน กิน เราก็จะเป็นแบบอย่าง อยู่ เราก็จะมีการงานอันเป็นแบบอย่าง ตามขั้นตามตอน และแม้เวลานอน เราก็จะมีเวลามีแบบอย่าง ซึ่งเราจะต้องเรียนรู้ชีวิตรอบ ๒๔ ชั่วโมง ว่าเราควรทำตัวอย่างไร เราควรจะรู้ว่าที่ทำอย่างนั้น มีเหตุผลอะไร ทำแล้วเราได้ผลประโยชน์อย่างไร จะต้องอ่าน จะต้องพยายามพิจารณา ทำความเข้าใจเองให้ได้ หรือถ้าไม่ได้ ก็ถามก็ไถ่พี่ๆ หรือว่ารุ่นผู้พี่… เป็นน้องก็อาจมาช้ากว่า แต่เขาเข้าใจได้ก่อนก็มี ปรึกษาหารือกันดู ถามไถ่กันดู วิเคราะห์กันดู วิจัยกันดู
เราเป็นผู้เรียนรู้สิ่งที่ไม่ควรจะกระทำ ไม่ว่ากายกรรมอย่างนั้นๆ เราจะเรียนรู้วจีกรรม ว่าไม่ควรจะทำ ไม่ควรจะพูดอย่างนั้นๆ และเราก็จะระงับใจของเราให้ได้ มันเคยชินในการทำทั้งทางกาย การพูด มาอย่างหนึ่ง เมื่อเรามาเรียนรู้แล้วเราจะรู้ว่า อ้อ เรานี่จะปรับปรุงกายกรรม ที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งโน้นๆ ซึ่งหยาบ แม้แต่กิริยาอาการกายอย่างนี้ มันไม่งามไม่เหมาะ หยาบอยู่ เราก็จะปรับปรุงจิตใจของเรา ยังก่อยังคิดยังปรุง ไปแต่เรื่องอย่างโน้น หยาบ จะต้องเปลี่ยนให้มาคิดให้มาเห็น มาในทางที่ดี หรือแม้แต่จะให้มันพักให้มันหยุดเลย เราก็หัดทำให้มันหลุดจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ให้มันเลิกจากทำอย่างโน้นอย่างนี้ คิดอย่างโน้นอย่างนี้ ให้มาคิดอย่างดี เรียกว่าเปลี่ยนจิตเสีย ให้มาจากอกุศล หรือแม้ที่สุดเรามีอำนาจ สามารถที่จะทำให้จิตของเราหยุดระงับ ผ่อนเบาจากสิ่งที่มันเคยไปคิดยุ่งๆ ลงมาเป็นจิตที่สงบระงับ และแม้ที่สุด หยุดคิด หยุดรู้ เรียกว่า อสัญญี สงบหมดก็ได้ หรือไม่ทำอสัญญี แต่เราเรียนรู้แต่เฉพาะเรื่องของกิเลสตัณหา โลภะ-โทสะ-โมหะที่เป็นอาการของจิต เราก็รู้ชัด แล้วก็ไล่ออกเปลี่ยนออก ให้จิตมันรับรู้ และ มีแต่ตัวดี มีเจตนาดี มีจิตกุศลเท่านั้น แล้วเราก็ให้มันเป็นไปตามกุศล ตามเจตนาที่เป็นกุศลตลอดไปอยู่ อย่างนั้นเรียกว่าผู้เจริญ
สิ่งใดไม่เป็นกุศลดับได้สนิท สิ่งใดเป็นจิตเลวเป็นเจตนาเลว ดับได้สนิท แม้มันโผล่ขึ้นมา ก็รู้อาการของมัน แล้วก็เปลี่ยนดับทันที สลัดออกได้ทันที ผู้ที่รู้อย่างนี้ และทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ผู้บรรลุธรรม ผู้สำเร็จพระอริยะ ถ้าทำได้หมดเกลี้ยง เท่าที่เราเคยมีอยู่ในจิตแล้ว แล้วเราอ่านอาสวะออก แม้ที่ซ่อนแฝงละเอียดลง เราก็รู้แน่ แล้วก็ทำได้จริงๆเมื่อรู้ ต่อเมื่อไม่รู้เท่านั้น เราถึงทำไม่ได้ ความรู้สึกของเราไม่รู้ หยั่งอ่านลงไปในจิตลึกก็ไม่รู้ ไม่รู้เท่านั้นเราจึงทำไม่ได้
ต่อให้เมื่อรู้แล้ว ไม่ว่าจะอ่อนจะบางจะหนาจะหยาบ เราดับได้ เปลี่ยนจิตเป็นดีได้ทุกทีไป เป็นผลสำเร็จอย่างนั้น ผู้นั้นเรียกว่าพระอรหันต์ เป็นผู้ที่รู้จริงๆ สามารถรู้จิตใจได้อย่างแท้ หมดเจตนาที่เป็นกรรมอย่างแท้ ผู้นี้จึงเรียกว่า ‘พระอรหันต์’ พยายามอ่านจิตของตนให้ลึกซึ้ง และก็รู้ความจริง ที่สามารถหยั่งรู้ได้ ของอาการของจิต และก็ทำให้ซื่อตรง แล้วก็เป็นผู้สบายเถิด.
*****