ธรรมปัจจเวกขณ์ (49)
13 สิงหาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ก่อนจะกินหรือก่อนจะฉันนั้น ธรรมดาท่านให้ปัจจเวกขณ์ หรือว่าปฏิสังขา ก็คือ การทบทวน นั้นเขาเรียกกันสั้นๆว่า ปฏิสังขาโย ปฏิสังขาโยก็ให้พิจารณาปัจจัยต่างๆ อันมีความหมายว่า การบิณฑบาต แต่คำว่า “บิณฑบาต” ไม่ได้หมายความว่า “ไปเดินบิณฑบาต”อย่างเดียว คำว่า “บิณฑบาต” หมายถึง “อาหาร” การไปเดินบิณฑบาตก็เกี่ยวข้อง การไปฉันอาหารก็ไปเกี่ยวข้อง เป็นเนื้อเดียวกัน ท่านจะพิจารณาอะไร ในคำท่องคำสวดในบาลีนั้นสั้นๆ ไม่ได้ขยายความ มันรู้ไม่ละเอียด รู้ไม่กระจ่าง เราจะต้องพิจารณาถึงอาหารที่กิน อาหารที่ได้
การรับ ถ้าไปเดินบิณฑบาตก็รับมา เรื่องการไปเดินบิณฑบาตรับเอามา จนกระทั่ง รับเอามาแล้ว เราก็จะต้องมาพิจารณาอีก อันไหนควรเลือกควรเฟ้น อันไหนควรจะรับประทาน หรือไม่ควรจะรับประทาน เพื่อเป็นบทปฏิบัติของเรา บางสิ่งอย่างอย่าง เราอาจจะเคยชอบ เคยไม่ชอบ บางอย่างเราไม่ชอบ แต่เราพิจารณาแล้วว่า มันเป็นอาหาร เป็นของที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเรา อย่างแท้จริง เราก็จะต้องรับ เราก็จะต้องเข้าใจได้ แล้วก็ลองฝึกตน เมื่อมันไม่ชอบ ก็ลองฝึกรับประทาน แล้วอ่านจิต พยายาม ที่มันไม่ชอบ มันเป็นอย่างไร จิตที่พยายามปฏิเสธ มันเป็นอย่างไร เราก็จะได้รู้จิต แล้วก็พยายามปรับเปลี่ยน เล่นกับจิต วางจิตมันเฉยดู ทำให้จิตลดความไม่ชอบดูบ้าง การกระทำอย่างนั้น เป็นบทปฏิบัติได้ผลสูง สิ่งที่เราชอบ เราก็จะเอามากิน แล้วก็ลดความชอบลงบ้าง มันยากกว่ายาก เราลดความไม่ชอบออกจากจิต มันก็ยากอยู่แล้ว แต่ลดความชื่นชอบออกจากจิต นี่มันยากยิ่งกว่ายากลงไปอีก เพราะว่ามันติด มันจะปล่อยออกยาก ลักษณะของธรรมะ มันจะเป็นลักษณะ หน่าย คลาย ตัดออกอยู่ในตัว ที่จะทำให้มันได้
ลักษณะใด ที่มันช่วยให้ปล่อยออกอยู่แล้ว เช่นว่าสิ่งที่ไม่ชอบ มันปล่อยออกมันไม่ติด มันเป็นของมันในตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ยากนัก ที่เรากระทำให้มันลงตัว แต่ยากที่จะรับเท่านั้นเอง ถ้าเรารับได้แล้ว ผ่านลงไป มันก็เป็นประโยชน์ของมัน จิตมันติด เราไม่อาวรณ์อาลัย จิตเราไม่มีอุปาทาน แต่สิ่งที่ชอบนั้น มันมีอาลัยอาวรณ์ มันมีอุปาทาน มันมีการฉวยเอาไว้ ฉวยเศษไว้ หรือฉวยสิ่งที่ตนยังติดนั้นเองแหละไว้ เราล้างไม่หมดง่าย เพราะฉะนั้น เราจะฝึกปรือโดยรับสิ่งที่ชอบเข้าไป แล้วก็พยายามทำจิตให้วาง ทำจิตให้ปล่อยนั้น จึงเรียกว่ายากกว่ายาก เพราะว่าจะหมดสนิทได้ลำบาก หมดสิ้นได้ยากจริงๆ มันจะมีเศษ แต่ก็พึงทำหรือจะใช้วิธี เมื่อเราชอบเราจะไม่รับสิ่งนั้น เมื่อมันมีสิ่งอื่นที่จะรับได้แทน เป็นประโยชน์อยู่แล้ว เกื้อกูลอยู่แล้ว เราก็จะรับ เราก็จะทำอย่างนั้น คือพรากมันเสียบ้าง พรากสิ่งที่เราเองชอบ หัดจากมัน แล้วก็ดูใจที่มันอาลัย ใจที่มันอาวรณ์ ใจที่มันเอื้อมเอา ใจติดของมัน มันจะมีอาการอย่างไร ทดสอบ แล้วก็พยายามอ่านจิต เปลี่ยนจิต เล่นอยู่กับจิตนั่นแหละ เราเรียกว่าวิปัสสนา หรืออานาปานสติ หรือตัดขอบเขตของจิต เมื่อรู้จิตได้ เรียกว่าพ้น “มิจฉาทิฏฐิ” เมื่อทำให้มันลดลงได้ เรียกว่าพ้น “สักกายทิฏฐิ” เมื่อทำให้มันเบาบาง จางคลายลงไปเลย จิตเป็นอุเบกขาเวทนา วางเฉยอยู่ได้จริง ในช่วงระยะเราทำได้เพียงชั่วครู่ ก็เป็น ‘ตทังคปหาน’ หรือ ‘ตทังควิมุตติชั่วครู่’ ถ้าทำได้นานหน่อย ก็เป็น ‘สมุจเฉทปหาน’ ก็นานหน่อย จะเด็ดขาดหรือยัง เราก็อย่าเพิ่งไปตัดสิน เราจะรู้เอง เมื่อเวลามันนานเข้า เราจะเข้าใจเองว่า อันนี้เราขาดแล้ว สมุจเฉทแน่นอนแล้ว ไม่ต้องมีปหานกันอีก มันเป็นวิมุตติแล้วแน่นอน เป็นสมุจเฉทวิมุตติแล้วก็จะรู้ เราก็ทำอย่างนั้นจริงๆ เศษเล็กเศษน้อย อาการที่มีอยู่ในจิตไม่มี เราก็เป็นผู้สบาย ถ้ามันเหลืออ่อน เหลือบาง เหลือเบา เหลือน้อย เราก็รู้ว่าน้อย มันไม่มีฤทธิ์แรงอะไร แต่ว่าไม่ใช่สิ่งที่จะประมาทเท่านั้น แม้เป็นรูปราคะ อรูปราคะ ที่เป็นเชื้อเหลืออยู่ไม่มากแล้ว ไม่ออกมาทางกายแล้ว ไม่ออกมาทางวจีแล้วก็ดี สามารถควบคุมมันได้ มีอำนาจเหนือมันเด็ดขาดจริงๆก็ตาม แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะประมาท พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ประมาท แม้โทษภัยประมาณน้อย
เราจะต้องพยายามตัดปล่อย ปรับเปลี่ยน มันจืด ให้มันจาง ให้มันคลาย ให้มันสนิทลงไปเรื่อยๆ ทุกระยะ กาลที่มีผัสสะ หรือมีการกระทบสัมผัสกับสิ่งใดๆ เราก็จะเรียนรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ตลอดเวลา แม้การกินการใช้ปัจจัยต่างๆ ซึ่งไม่ได้พูดถึงปัจจัยอื่นในวันนี้
ก็ขอให้เข้าใจว่าอยู่ในนัย หรือโครงสร้างคล้ายๆกัน ที่เราจะใช้การพิจารณา แล้วก็กระทำขึ้นมา ให้เป็นบทปฏิบัติ เป็นบทฝึกหัด ผู้ใดกระทำนั้นได้ ผู้ใดถึงก็จริงเป็นจริง ปรากฏผลจริง เป็นผู้ถึงซึ่งมิจฉาทิฏฐิแล้วพ้นได้ เป็นผู้ถึงซึ่งลักษณะ แล้วก็พ้นสักกายะนั้นได้ เป็นผู้ถึงซึ่งอัตตานุทิฏฐิ แล้วก็พ้นอัตตานุทิฏฐิได้ อ่านรู้สภาวธรรม เข้าใจสภาวธรรมชัดเจน ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่กระทำได้ มีประโยชน์ทางธรรมอันบริบูรณ์.
*****