ธรรมปัจจเวกขณ์ (65)
7 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
ศาสนา ย่อมสอนให้คนรู้จักสัจธรรม คือรู้จักสิ่งที่เป็นจริง ที่เกิดเป็นรูปก็ดี ที่เกิดเป็นดินเป็นน้ำ เป็นลมเป็นไฟ หรือว่าเป็นรูปเป็นรส เป็นกลิ่นเป็นเสียง เป็นวัตถุ จนกระทั่งถึงเป็นสิ่งที่ละเอียด เราเรียกว่านามธรรม หรือรูป อรูปก็เป็นรูปที่ละเอียด หรือนามธรรมก็คือความรู้สึก แม้แต่เรื่องของความรู้สึกที่มันเป็นดี ความรู้สึกที่มันเป็นชั่ว ศาสนาสอนให้เรารู้ เมื่อรู้แล้ว เราก็พึงเพียร ที่จะยังสิ่งที่เหมาะสม ในส่วนที่ดี ในส่วนที่ถูกต้อง ตามขั้นตอน ตามองค์ประกอบต่างๆ ดังกาลเทศะฐานะ อันต่างของมัน ให้ไปด้วยดี นั่นเรียกว่า รู้ความจริง
ส่วนความรู้ ที่แทรกซ้อนอยู่ในทุกๆกาละ ทุกๆเทศะ ทุกๆฐานะ นั้นเรียกว่าปัญญา ผู้มีปัญญายังจะประกอบความดี ความเหมาะควรไป ถูกแก่กาลเทศะฐานะ ได้ละเอียดลออ เราก็ยังมีธรรม หรือทรงธรรมนั้นไว้ เป็นผู้ที่ทรงขึ้น เป็นผู้ที่ประกอบอันใดที่มันไม่ดี ก็จะแสดงลักษณะ โน้มไปในทางดึงรั้งความไม่ดีไว้ ไม่ให้ความไม่ดีนั้นเจริญ ถ้าสิ่งใดนั้นดี ก็จะพยายามสนับสนุน ทำแนวโน้มเปิดทาง ทำการเปิดทาง หรือว่าส่งเสริมให้ความดีนั้น เจริญขึ้นๆ และก็ไม่ให้พรวดพลาดเกินไป มันก็แรง
ลักษณะที่แรงนั้น ไม่ใช่ลักษณะธรรมะ ลักษณะธรรมะนั้นสุขุมประณีต เป็นไปโดยก้าวเร็ว แต่เร็วมีขอบเขต มีอำนาจแรงเหมือนกัน แต่แรงอยู่ในระดับที่เหมาะควร ถ้าแรงเกินไป เราเรียกว่าทำลาย ถ้าแรงเกินไปนั้น จะเกิดการทำลาย ถ้าเบาเกินไปก็ไม่มีน้ำหนัก ช้าและก็น้อยเกินไป ฉะนั้น จะต้องแรงพอสมควร แล้วก็ก้าวไปเร็ว เร็วแหละดี ถ้าสิ่งที่ดีมันเร็ว แต่ถ้าสิ่งที่ชั่วแล้ว อย่าให้มันเร็ว ให้มันช้าลงๆๆ จนไม่มีหรือไม่เกิด หรือว่าความเลวนั้นหนะ อย่าให้แรง ให้มันเบาๆๆๆๆ ความไม่ดีเบา เบาจนมันไม่มีฤทธิ์เลย อย่างนั้นก็เป็นการดี ต้องเข้าใจความหมายของภาษา ที่อธิบายนี้ให้ชัดเจน แล้วเราจะเป็นผู้ที่พิจารณาให้รู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรที่เหมาะสมแล้ว กับไม่เหมาะสม ตามกาลเทศะฐานะ
ศาสนา จะสอนให้เรารู้ความจริงพวกนี้ อย่างแท้จริง จนตัวรู้นั้น รู้ความจริง ด้วยเหตุด้วยปัจจัยว่า เรามีชีวิตอยู่ก็เท่านั้น ปัจจัยของชีวิต พระพุทธเจ้าก็สอนไว้แล้วว่า อาหารพอยังกาย เครื่องนุ่งห่ม พอกันร้อนกันแดดกันฝน กันแมลงสัตว์กัดต่อย กันหนาว ส่วนที่อยู่ ก็เป็นแค่ที่พักพอสมควร ไม่ใช่ที่โอ่อ่าที่จะต้องฟุ่มเฟือย ที่จะต้องมากมายอะไร เป็นที่ที่พอจะอาศัยดำเนินกิจ ดำเนินงาน ดำเนินการพัก การทำงาน ส่วนยารักษาโรคก็คือยาจริงๆ ไม่ใช่ของเสพย์ของติด ไม่ใช่ของกินเล่นกินหัวอะไร
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่แท้ เมื่อเข้าใจปัจจัยแล้ว ทุกอย่างง่าย มีปัจจัยที่ประหยัด มีปัจจัยที่รู้ประโยชน์เต็ม แล้วเราก็ง่าย เมื่อง่ายแล้ว เราก็จะพึงช่วยผู้อื่น ให้รู้สัจธรรมที่เรารู้ความจริงนี้ไปด้วย ว่าสิ่งที่จะประกอบให้เกิดไปด้วยดี คืออะไร สิ่งที่จะลดลงมา อย่าให้เกิด สุดท้ายไม่ให้มีเลย ให้ดับเลย คืออะไร ผู้นั้นก็จะพยายามช่วยเหลือเฟือฟายนี้ไป และสิ่งที่เกิดอยู่ที่ตนก็คือจิต จิตเรารู้ดีไม่รู้ชั่ว จิตเรารู้ดี แต่จะส่งเสริมดีนั้นไม่ได้ จิตเรารู้ชั่วแต่ระงับมันไม่ได้ จิตของเรานี่แหละ มันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เราจะต้องมาเรียนรู้ความจริง และก็เรียนหัดดับหัดเกิด ให้รู้ดับรู้เกิด จึงเรียกว่า “จุตูปปาตญาณ” เกิดญาณแห่งความรู้ ความเกิดความดับ แล้วก็พยายามดับสิ่งที่ควรดับ พยายามดำเนินไปในสิ่งที่ดี เรียกว่า “สุคโต” ให้ไปดี หรือเรียกว่า “ตถาคโต” เรียกว่าให้ไปดีแล้ว สิ่งที่ดีแล้ว รู้ดีแล้ว ก็ทำให้ดีแล้วนั้นไปเรื่อยๆ จึงเรียกว่า รู้เกิด รู้ดับ และจรรโลงหรือสร้างสรร และก็รู้ความราบรื่น ความสงบระงับ สงบระงับก็ดี คือสิ่งที่มันเป็นกิเลสตัณหาหมด และก็ดำเนินทุกอย่างไป โดยราบรื่น ไม่มีอะไรร้อน ไม่มีอะไรขัด ไม่มีอะไรแย้ง ไม่มีอะไรต่อต้าน ไม่มีอะไรทำลาย ไม่มีอะไรเป็นพิษเป็นภัยต่อกัน สิ่งนั้นก็เรียกว่า เรียบร้อยหรือราบรื่น นี่แหละความหมายของคำว่า “สันติ” เราจะต้องทำสันติให้เกิดอย่างนี้ เป็นที่สุดให้ได้ ด้วยการรู้ และการทำสำเร็จ.
*****