ธรรมปัจจเวกขณ์ (74)
18 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
เราได้ฟังซ้ำซาก ได้ฟังบ่อยๆ หลักแกนของมัน เราก็รู้อยู่ซ้ำซาก พูดอะไรออก เราก็พอจะกำหนดหมายเป็นสัญญา รู้ได้ว่าก็เป็นสิ่งเดียวกัน เป็นสิ่งที่เหมือนเดิม เราเข้าใจรากเหง้า ที่ได้พยายามพูด พยายามอธิบายสิ่งเคียง พยายามอธิบายสิ่งที่มันพอก มันเพิ่มพูนปรุงแต่ง มันงอกเงย มันผสมผเส กว้างออกไกลออกยาวออก มีเรื่องมากออก ก็พยายามพูดถึงสิ่งที่มันเป็นนั้นจริงๆ เท่าที่ใช้ภาษานำไปให้ระลึกถึงได้ ย่นย่อเข้ามาแล้วก็มาหารากเหง้า แต่ว่าเราจะรู้เท่าทันมันหรือไม่ เราจะให้จิตของเรานั้น เป็นทาสมันหรือไม่ หรือว่าสิ่งเหล่านั้น เราไปกำหนดรู้ ไปเข้าใจมัน หยั่งลงไปรู้ว่า เป็นค่าเป็นของที่จำเป็น เป็นสิ่งที่เป็นสาระแท้จริงตรงกัน โดยที่เรารู้อยู่ว่า เราจะทำสิ่งที่จำเป็นนั้น เป็นสาระนั้นให้แก่ตน เพราะตนจำเป็นจริงๆ หรือว่าทำให้แก่ตนด้วยเปลืองเปล่าไปเปล่าๆ และแม้เราจะร่วมผสมร่วมกระทำ ในสิ่งนั้นอยู่กับคนอื่น ซึ่งเราก็อนุโลม ตามฐานะของเรา เป็นขั้นเป็นตอน แม้เราเองเราก็ปล่อยแล้ว วางแล้วหละ แม้จะมีสิ่งนั้นเกินมาบ้าง เราก็อนุโลมไป ขาดไปบ้างเราก็อนุโลมไป แต่ทำเพราะเป็นฐานเป็นสาระ เป็นขั้นตอนให้แก่คนอื่น เรากำหนดตรงอย่างนั้น ตามจริงหรือไม่ หรือว่าเราเคร่งมากไป ไม่อนุโลม ไม่ยอม นอกจากไม่อนุโลมแล้ว ก็กระทำรุนแรงเกินไป ทั้งๆที่เราเอง เราก็รู้ว่า เขาไม่ได้ เขาทำไม่ไหว แต่เราก็ยังอุตส่าห์ทำ ดันทุรังไปอย่างนั้น และไม่เข้าใจด้วยว่า เราทำอย่างนั้น เพื่อประโยชน์ เพื่อตัดรอบไว้ก่อน หรือว่าเพื่อปล่อย กันไว้ก่อน ก็ไม่รู้ หรือทำให้ว่า เพื่อให้เขารู้สึกว่ามันเป็นพิษ มันเจ็บๆคันๆนะ หรือบางทีมันก็แสบนะ ถ้าเผื่อว่าเขาศรัทธาแรงๆ เราก็ทำให้รู้ว่าเจ็บและแสบด้วยนะ ให้เขารู้ฤทธิ์รู้รสของมันว่ามันไม่ดี เรารู้อยู่อย่างนั้น ถ้าเรารู้อยู่อย่างนั้น เราก็ทำถูกต้อง ถ้าเราไม่รู้ แล้วเราทำไปโดยเราไม่คำนวณ เราศรัทธาพอหรือเปล่า ไม่รู้ ทำไปแตกหัก เสียหาย หรือทำไปโดยที่เรียกว่า ไม่มีจุดเป้าหมาย ทำไปอย่างนั้นหนะ ส่งเลอะๆเทอะๆ อย่างนั้น เรียกว่าเป็นผู้ไม่มีวิชชา ไม่มีความรู้ ไม่เจตนา ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีปัญญา ทำส่งๆไป มันก็เป็นผล บางทีก็เป็นผลดีได้ บางทีก็เป็นชั่วได้ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยเอง ไม่งั้นทำส่งๆไป มันก็มีฟลุ้คดี มีฟลุ้คชั่ว ไปตามเรื่อง เพราะงั้น ผู้ที่รู้ดีแล้วไม่ใช่ฟลุ้ค เป็นผู้รู้ มีมโนสัญเจตนา มีปัญญาเข้าใจ ควบคุมขนาด ควบคุมปริมาณ พิจารณาพรั่งพร้อม มีกาลเทศะ มีบุคคลหมู่กลุ่ม มีการประมาณแท้จริง แม้กระทั่งตนรู้ เข้าใจสาระ รู้เหตุรู้ผลขนาดรู้ชั้นเชิง อย่างแท้จริง ก็เป็นผู้ที่กระทำได้จริงก็รู้จริง เพราะเรามาเรียนรู้
ทุกวันนี้มันไม่มีอะไรเลย นอกจากดูดและผลัก เราจะรับมาและเราจะผลักออกไป มันมีอยู่สองประเด็นเท่านั้นเอง เป็นประเด็นใหญ่ๆ เพราะฉะนั้น เราเอง เราจะต้องพยายามจะดูดหรือจะผลัก ก็จะต้องพยายามให้รู้ขนาด เราสมควรจะผลักออกหรือยัง หรือสมควรจะดูดเอาไว้ พอประมาณนั้นหรือยัง หรือว่าพอแล้ว ไม่ต้องดูดมาอีกหรอก แค่นั้น แม้มันจะผ่านเข้ามา มันก็ผ่านเข้ามาเฉยๆ โดยเราไม่ดูดไว้ มันก็หลุดออกไปต่อ การไม่ดูดไว้ การที่ผ่านมา แม้เอามายัดไว้ที่เรา มันก็ผ่านไปต่อ เพราะเราไม่ดูดไว้นั่นแหละ คือเราไม่มีโลภะ และเราก็ไม่ผลักแรง แม้อะไรจะผ่านมา เราก็ไม่ผลักแรง รู้ว่าไม่ค่อยดีก็รู้ เราก็ต้องทำตามจังหวะ ทำตามความสุภาพ และค่อยๆผลัก ค่อยๆปล่อย ค่อยๆย้าย ค่อยๆเคลื่อน ค่อยๆเปลี่ยน ให้มันได้รูปได้ร่าง ให้มันได้ลักษณะที่ดี รู้ว่าสิ่งนี้จำเป็น รู้ว่าจำเป็นจะต้องผลัก สิ่งนี้จะต้องไม่เอา ไม่รับละ แต่ก็รู้ ไม่ใช่รีบร้อนจนเกินไป ขยะแขยงจนเกินควร อย่างนั้นมันก็มีการสดุ้ง มีการสะเทือน มีการหวือหวา มีการรุนแรง เร็วและแรงอยู่ในตัวเกินไป เราก็ต้องทำอย่างเป็นผู้ที่มั่นคง เป็นผู้ที่เที่ยงแท้ เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวง่าย เป็นเหมือนหลัก รู้ไม่ดีก็ทำเป็นออกว่าไม่ดี ก็ทำออกว่าเห็นชัดๆ ถ้าทำเร็วๆ เขาก็ไม่รู้ มารู้ว่านี่ควรรับไว้ ก็ให้รู้ว่ารับไว้ มีทั้งประมาณทั้งคุณภาพ เท่านั้นเท่านี้ มีรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เป็นผู้รู้ละเอียด แล้วก็เป็นผู้แสดง หรือเป็นผู้กระทำ เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นด้วย ยืนยันให้รู้ทั้งมุมเหลี่ยมว่า รับไว้หรือผลักไสไป
เมื่อเราเป็นผู้ที่เข้าใจมุมเหลี่ยมชั้นเชิง ได้ละเอียดลออ ดังที่กล่าวพวกนี้ นั่นก็เป็นความรู้เพิ่มเติม เป็นปฏิภาณ ข้อสำคัญใจ ของเราที่วางเฉย ไม่มีฤทธิ์ผลักแรง แม้จะร้อน แม้จะทุกข์ แม้จะหยาบ แม้จะลำบากลำบนยังไง ก็ไม่มีการผลักแรงทันที จนเกินไป มีความมั่นคง มีความแข็งแรง มีความต้านทาน มีสิ่งที่เป็นไปได้ บางทีอาจจะแรง แต่ก็ทำประโยชน์ได้ ต่อกรรมหรือการกระทำนั้นๆ หรือต่องานนั้นๆ ในบางครั้งบางคราว เราก็ยังต้องรับ ยังต้องทำด้วยเลย บางอย่างก็ง่ายๆ และบางอย่างรู้ชัดเจนว่า เบาไปน้อยไปอ่อนไป เราก็ต้องดูดขึ้นมาเพิ่มขึ้นมา กระทำให้มันมีเนื้อหาสาระมากขึ้น เราก็ต้องพยายามรู้ และกระทำให้มันตรงสัดส่วน ให้มีสัดส่วนที่มีผลที่ดี ผู้รู้ชั้นเชิงมาก เรียกว่าผู้มีปัญญา และผู้มีประโยชน์ มีปัญญาแท้จริง และทำประโยชน์สมประโยชน์แท้จริง ไม่เฟ้อไป ไม่มากไปไม่น้อยไปจริงๆ เราจะเรียนรู้อย่างนี้แหละ และข้อสำคัญของตัวเราก็คือ ไม่หวั่นไหวง่าย มั่นคง หรือไม่หวือหวา ไม่รีบเร่งรีบร้อน ไม่กระพรึบกระพรับอะไรหรอก เป็นไปอย่างนิ่งแน่ง่ายรู้ และก็เป็นไป จะผลักออก จะดูดเข้า ก็เป็นไปตามจังหวะจะโคนที่ดี อย่างนี้ก็เป็นผู้รู้แท้ เราจะมาปรับปรุงจิตใจของเรา ให้ทนต่อสิ่งที่ใช้แรง ที่คนเขาทนไม่ได้ และเราก็จะรู้ว่า การทนนั้นก็เป็นไปเพียงเพราะว่า จิตเมื่อมันไม่รู้มันทน ถ้าจิตมันรู้แล้ว มันจะทนน้อยลงๆ และจะมีวิธีมาฝึกหัด วิธีให้มันทนน้อยลงได้ การที่ทนได้ก็เพราะว่า มีทั้งรูปทั้งนามประกอบกันเข้าไป ครบบริบูรณ์ มันก็ทนได้ นามก็ช่วยได้มาก รูปก็ช่วยได้มาก เพราะฉะนั้น
เราฝึกเข้า แล้วมันก็เป็นจริงได้ เรียกว่าสัจธรรม หรือเป็นความเป็นจริง เรามาเรียนรู้ทั้งวิธี มาเข้าใจสิ่งที่ได้อธิบายมาแล้ว ให้ได้ทั้งหมด แล้วก็เป็นผู้ได้จัดแจง เป็นผู้กระทำ เป็นผู้ผสม เป็นผู้ปรุง เป็นผู้ประกอบอะไรก็ตามแต่ ที่จะใช้ภาษาเรียก ให้เกิดขึ้นในโลก เพื่อเป็นประโยชน์แห่งโลก และตนก็สบายทุกประการ แม้จะหนักก็สบาย แม้จะเบาก็สบาย และเราก็รู้ เลือกทางที่เราจะทนได้อย่างดี ในบางขณะ มันอาจจะแรงหน่อยก็มี เป็นบางคราว แล้วเราก็ฉลาดในการที่จะลด พอทนได้แล้ว เราจะเก่งขึ้นๆ จนทนได้มาก ทนได้โดยไม่ยาก ทนได้โดยไม่ลำบาก ผู้นั้นก็ยิ่งทำได้กว้างขวาง ทำได้อย่างมาก ทำได้ต่อทุกกาลเทศะ ทุกสถานที่ ประดุจน้ำแข็ง กลางเตาหลอมเหล็ก ฉะนั้นแล.
*****