ธรรมปัจจเวกขณ์ (79)
18 ธันวาคม 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
คำว่าเดิน หมายความว่า “โพชฌงค์” เมื่อจะก้าวเดิน ถ้าไม่มีองค์ของโพชฌงค์ ก็เหมือนกับเราจะเดินแต่ไม่มีขา เราเดินไม่ออก เราเดินไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะเดิน เมื่อจะมีโพชฌงค์ เมื่อจะก้าวไปสู่มรรคสู่ผล เราจึงจำเป็นจะต้องมี องค์แห่งการเดิน องค์แห่งการเดินย่อมมี “สติ” เป็นตัวประธาน ถ้าไม่มีสติ ทุกอย่างก็ไม่มีการเดินได้ มีสติเป็นประธาน แล้วก็ใช้สติด้วยความพากเพียร ไม่ใช่ปล่อยไปตามธรรมดาที่เคยชิน ถ้าเราเคยชินก็เป็นสติอันเคยชิน ที่มันจะทำตามที่เราเสพย์คุ้นมาแล้ว ตามที่เป็นอัตโนมัติมาแล้ว มันก็จะเป็นอย่างนั้นๆ อย่างเก่า ไม่ได้แก้ไข
การเดินโพชฌงค์นั้น จึงหมายความว่า เราจะก้าวขึ้น ก้าวไปสู่ทิศ ก้าวไปสู่จุดหมายปลายทาง ที่เรามีสัมมาทิฐิแล้ว เมื่อมีสัมมาทิฐิแล้ว ต้องเดินโพชฌงค์ให้เต็มที่ เรียกว่า “สติ”นำ เรียกต่อไปว่า “สติปัฏฐาน” คือหยั่งลงให้เป็นฐานะที่เราจะกระทำได้ เพราะฉะนั้น บทบาทแห่งการกระทำ นอกจากจะมีสติ มีวิริยะเข้าห้อมล้อม มีความเพียรที่จะมีสติ กระทำงานตามที่เรารู้ แล้วเราจะต้องเพียรมัน ไม่เพียรมันไม่ขึ้น ไม่เพียรมันไม่ก้าว มันรู้ก็ทั้งรู้หละ มันจะอยู่อย่างนั้นหละ หยุดอยู่เฉยๆ สติรู้ก็รู้ ไม่มีวิริยะเข้าส่งเสริมนั้นไม่ได้ พร้อมกันนั้นธรรมวิจัย จะต้องวิจัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า วิจัยธรรมะให้รู้ดี ให้ละเอียดยิ่งขึ้น เราจะรู้ชัดเจนอยู่ ชัดเจนอยู่ หรือเราจะรู้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขึ้นไปอีก สูงขึ้นไปอีก นี่เป็นบทแห่งการทำงานของโพชฌงค์เจ็ด สามองค์อันต้นๆนี้ มีสติ ธรรมวิจัย และวิริยะ จะทำงานห้อมล้อมกัน จะทำงานเป็นองค์นำ เป็นขบวนนำหน้า เราจะเป็นผู้ที่เกิดผล เกิดผลมีปีติ มีปัสสัทธิ ตามไปเป็นระดับๆๆ เป็นลำดับ เป็นอนุกรม เรียงไปทีเดียว มากเข้าก็เรียกว่า จิตเราได้ และผลสุดเราเรียกว่า อุเบกขา นั่นเป็นความสูงสุดที่เป็นโพชฌงค์แท้ มีความหมาย และมีเนื้อหาสาระของมันจริง
เราจะต้องพยายาม อย่าให้สติเผลอ ทุกอิริยาบถ ทุกขณะกิน ทุกขณะอยู่ ทุกขณะหลับนอน นี่เป็นอิริยาบถใหญ่ เราจะกิน-อยู่-หลับนอน เราจะทั้งกิน ทั้งเป็นอยู่ ทุกๆครั้ง เราจะต้องรู้ขอบเขตของความใหญ่อันนั้น กินเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ในการปฏิบัติธรรม เราจะต้องมีการพิจารณาการตั้งใจ การกระทำด้วยรูปแบบ การกระทำอะไรก็ตาม ที่จะทำให้เราเกิดสติในการกิน กินมากกินเฟ้อ กินจนกระทั่ง ตัวเราเองลำบากลำบน และกินเป็นกิเลสมากมาย แม้แต่พระอรหันต์ก็ยังกิน เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังจะต้องกิน ไม่ได้ตัดไม่ได้ขาดออกไป เพราะฉะนั้น มันมีสภาวะซ้อน เราจะรู้ เราจะละเอียดลออเข้าไปเรื่อยๆ ลึกซึ้งเข้าไปเรื่อยๆ แม้ที่สุดเรากิน เหมือนมนุษย์ธรรมดาที่เขามีกิเลส แต่เราไร้กิเลสได้ นั่นแหละมันเป็นสภาพซ้อน มีในความไม่มี หรือไม่มีในความมี นี่เป็นสภาพสูง มีภาษาซ้อนอยู่ในตัว แต่ความเป็นจริงที่เป็นสัจจะ มันเป็นจริงได้ มีในความไม่มีคืออย่างไร หรือไม่มีในความมีนั้นคืออย่างไร มันจึงเป็นสภาพลึกซึ้ง สภาพแฝงซ้อน ไม่มีภาษาเรียกอีกแล้ว จึงจะต้องทำ จึงจะต้องปฏิบัติ จึงจะต้องประพฤติเรียนรู้ เข้าใจความจริง จนกระทั่ง ถึงผลที่สุดของเรานั่นแหละ เป็นประเสริฐที่สุดที่เราหมาย.
*****