บันทึกผ่านเลนส์ส่องโพธิกิจ….ประโยชน์ตน(ลดกิเลส)ประโยชน์ท่าน(สร้างกุศล)เป็นเส้นทางโลกุตระของอาริยชน…
วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2561
หลังจากพ่อครูตื่นนอน ท่านออกกำลังกาย 4 ท่าบริหาร ตามปกติพร้อมกับวิดพื้นวันนี้วิดพื้นได้ 29 ครั้งตามจำนวนที่จะเพิ่มวันละครั้ง หลังจากนั้นนั่งสนทนากับท่านปัจฉาสมณะ.. พ่อครูออกมายืนบริเวณทางเดินหน้าเข้าลิฟท์ดูงานก่อสร้างอุทยานไม้ตาย เดินมาที่สวนเอาพิษออกบอกพวกเราว่า ที่ต้นพิลึกพิลั่นจะมีสายล่อฟ้าอยู่บริเวณนั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องฝนตกฟ้าคะนองแล้วจะมีระบบการป้องกันเบื้องต้นเรื่องฟ้าผ่า ฟ้าแล๊บ.. พ่อครูกลับมาที่ห้องทำงาน นำกระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองหน้านำมาตัดในส่วนช่องตัวหนังสือที่ยังเหลือเป็นกระดาษสีขาวๆด้านข้าง เพื่อนำมาเป็นกระดาษโน๊ตเล็กๆ ซึ่งเป็นปกติที่พ่อครูจะตัดส่วนที่ยังไม่ได้ใช้งานนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด แม้กระดาษแผ่นนั้นใช้ในการปริ้นงานไปแล้วทั้งสองหน้าก็ตามแต่ก็ยังมีส่วนที่ว่างพอที่จะเกิดประโยชน์ได้อีกแม้จะเป็นชิ้นเล็กๆก็ตาม ซึ่งพวกเราจะเห็นได้บ่อยที่พ่อครูหยิบกระดาษเหล่านี้มาบันทึกหัวข้อธรรมอยู่เสมอๆ ท่านเป็นตัวอย่างในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตัดกระดาษไปพร้อมทั้งดูข่าวสารจากจอทีวีทั้ง 3 เครื่อง…
11.24 น.พ่อครูลงมาฉันภัตตาหารที่ชั้นล่างเฮือนศูนย์สูญ หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จ พ่อครูออกมาเดินย่อยอาหาร ถนนด้านหลังพระพุทธโต ดูความคืบหน้างานก่อสร้างถนน วันนี้เริ่มตีแบบถึงหลังสโตนเฮ้าส์ข้างพระพุทธโต..พ่อครูเดินมาดูรูปหล่อโลหะปางอภัยที่ขนย้ายมาจากบวรสันติอโศก ที่ได้นำมาวางใกล้ก้อนหินที่พ่อครูดำริจะจัดให้วางไว้….พวกเราเห็นซุ้มขยะวางขวางการจัดวางรูปหล่อองค์พระจึงช่วยกันย้ายซุ้มขยะออกจากบริเวณนั้นก่อนเพื่อจะได้ทำงานกันได้อย่างสะดวก…..มีคณะครูจากจังหวัดยโสธร เห็นพ่อครูแล้วดีใจเพราะติดตามชมรายการพ่อครูและเคยพานักเรียนมาทัศนศึกษาที่ราชธานีอโศกมาก่อนได้มาขอถ่ายรูปกับพ่อครู….
พ่อครูเดินมาถนนหน้าอาคารบวร งานก่อสร้างถนนคอนกรีตเริ่มคืบหน้าไปมากพอสมควร มองเห็นรถบัสจอดที่ด้านหน้าป้ายราชธานีอโศก ต่อไปผู้ที่มาบ้านราชโดยรถบัสคันใหญ่อาจจะได้จอดด้านหน้าแล้วจึงเดินเข้ามาเยี่ยมชมภายในหมู่บ้านจะสะดวกมากยิ่งขึ้น…ท่านสมณะพอแล้ว สมาหิโต เข้ามากราบนมัสการพ่อครู ท่านเพิ่งเดินทางมาจากจังหวัดตรัง ท่านสมณะพอแล้วเรียนพ่อครูว่าท่านจะเริ่มซ่อมแซมเรือโคกใต้ดินแล้ว..
พ่อครูเดินขึ้นมาที่เฮือนบวรมองด้านบนหลังคา เห็นเชิงชายใบโพธิ์รูปหยาดน้ำใจนำมาติดตั้งได้อย่างงดงาม พ่อครูเดินมาที่เรือเจิ้นเทิ้น เดินขึ้นไปด้านบน ดูงานขัดพื้นของอาคารบวรทั้งสองฝั่ง พ่อครูเดินผ่านนิทรรศการพระโพธิสัตว์ไปที่หลังเฮือนบวรหน้าเวทีไปดูข้าวพันธุ์กข 43 ที่เพิ่งเกี่ยวนำมาตาก หลบฝนไว้ภายในอาคารเมื่อเช้านี้ ข้าวพันธุ์กข 43 เป็นข้าวที่กรมการข้าวได้นำมาให้ชาวราชธานีอโศกได้ทดลองปลูก ข้าวพันธุ์กข43 ถูกคัดเลือกจากการผสมข้ามพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี(พันธุ์แม่) กับพันธุ์สุพรรณบุรี1 (พันธุ์พ่อ) ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ในฤดูนาปรัง พ.ศ. 2542 คัดเลือกได้สายพันธุ์ SPR99007-22-1-2-2-1 ปลูกทดสอบผลผลิตในศูนย์วิจัยข้าวและในนาเกษตรกรตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2551 มีการรับรองพันธุ์ คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว พิจารณารับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 ใช้ชื่อว่า ข้าวเจ้า กข-43
แหล่งปลูกข้าวพันธุ์กข43 ในปัจุจุบันจะพบแหล่งปลูกอยู่ที่จังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากข้าวกข. 43 ควรปลูกในพื้นที่นาชลประทาน พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หรือพื้นที่ที่เกษตรกรมีเวลาทำนาน้อยกว่าพื้นที่ปลูกข้าวอื่น ๆ รวมไปถึงในพื้นที่ที่มีปัญหาวัชพืชระบาดในนาข้าวก็เหมาะจะปลูกข้าว กข. 43 ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ข้าวกข. 43 เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 95 วันก็เก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งข้าวกข43 ยังเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อโรคใบไหม้และปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระดับปานกลาง ในพื้นที่ที่มีปัญหาเพลี้ยกระโดดจึงสามารถปลูกข้าวกข43 ได้
ลักษณะทั่วไป
เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 95 วัน ปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม ความสูงประมาณ 103 ซม. ทรงกอตั้ง ต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียวจาง ใบธงตั้งปานกลาง ข้าวเปลือกสีฟาง น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 30.35 กรัม ข้าวกล้องสีขาว ยาว 7.59 มิลลิเมตร รูปร่างเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย มีปริมาณแอมิโลสต่ำ (18.82 %) คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้มรับประทาน ดี ข้าวสุก นุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ (ใกล้เคียงข้าวหอมดอกมะลิ 105 ) มีระยะพักตัว 5 สัปดาห์ ผลผลิต ประมาณ 561 กิโลกรัมต่อไร่ คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้มรับประทาน ดี ข้าวสุกนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ (ใกล้เคียงข้าวหอมดอกมะลิ 105 )
คุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ
ค่าดัชนี้น้ำตาลของข้าว
กข15 69.1
กข43 57.5
พิษณุโลก80 59.5
ความน่าสนใจ
จากการศึกษาวิจัยของกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาและใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวในเชิงสุขภาพ โดยคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยมากกว่า 100 พันธุ์ พบว่า ข้าวเจ้าพันธุ์ กข43 ให้ปริมาณน้ำตาลกลูโคสต่ำกว่าข้าวอมิโลสต่ำชนิดอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ในมนุษย์จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีที่พบว่าข้าวพันธุ์ กข43 มีค่าดัชนีน้ำตาลในข้าวขาวน้อยกว่าข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และมีค่าใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์หอมกระดังงา ซึ่งเป็นข้าวอมิโลสสูงและร่วนแข็ง
ชาวนาผู้ที่มาโฮมแฮงเกี่ยวข้าวบอกว่าขณะนี้ข้าวพันธุ์นี้มีราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 80 บาท เพราะมีผู้นิยมรับประทานกันมาก ชาวบ้านใกล้เคียงพอทราบว่าเราปลูกข้าวพันธุ์นี้ก็มาขอพันธุ์ข้าวกับพวกเรา ก็มีพวกเราก็นำข้าวบางส่วนให้ชาวบ้านนำไปเช่นกัน..อาคารบวรแห่งนี้จึงเป็นอาคารอเนกประสงค์ ถ้าตากข้าวที่ถนนหรือในนาพวกเราก็คงจะต้องดูแลมากกว่านี้ ยิ่งเป็นช่วงหน้าฝนคงเป็นไปไม่ได้ที่ข้าวจะแห้งแต่อาคารบวรแห่งนี้ตอบโจทย์การตากข้าว หน้าฝนได้เป็นอย่างดี…
ส่องผ่านเลนส์ เดินผ่านนิทรรศการพระโพธิสัตว์ สะดุดตากับภาพพ่อครูกำลังนั่งพักเช็ดหน้า ด้านล่างภาพมีคำความว่า”เอาแต่ใจตัวคือชั่วโดยอัตโนมัติ จะดีได้ต้องหัดให้ หัดเห็นใจคนอื่นเสมอ สมณะโพธิรักษ์”ทำให้นึกถึงคำสอนของพ่อครูที่สอนให้เราฝึกฝืน ฝึกฝนเป็นคนยอมถูกขัดเกลา ไม่เอาแต่ใจตัวเอง มีแต่เจริญถ่ายเดียวมองไปแล้วถ้าลูกหลานพ่อครูทำตามคำสอนนี้ได้ คงทำให้พ่อครูหายเหนื่อยไปได้ไม่มากก็น้อยกันเลยทีเดียว…
พ่อครูเดินมาด้านหน้าเฮือนบวรโดยมีแป้งสู่แดนธรรมวันนี้ติดตามพ่อครูมาดูงานด้วย ท่านเดินมาด้านหลังวิทยาลัยอาชีวะวันนี้วันจันทร์ประตูด้านหลังปิด ท่านจึงเดินอ้อมมาออกอีกด้านหนึ่ง เข้ามาภายในโรงช่าง เห็นเครื่องจักรหลายชนิดที่ยังสามารถทำงานได้ รวมถึงเรือมาด(เรืออนุรักษ์ที่หายากแล้วในปัจจุบัน)ที่ยังรอการซ่อมแซม พ่อครูเดินมาด้านล่างอาคารวิทยาลัย ผ่านรถหางเทเลอร์ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ สำหรับใช้ในการขนหินก้อนใหญ่ เดินข้ามสะพานหลังเรือไฟฌานออกมาทางแก้งตำอิด อาไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก กับ พี่เอกชัย เข้ามากราบนมัสการพ่อครูอาไม้ร่ม รายงานเรื่องการปลูกต้นไม้ต่างๆบริเวณรอบเรือไฟฌาน พ่อครูฟังแล้วก็เดินไปดูรถแบคโฮ 800 ที่จอดซ่อมยังไม่แล้วเสร็จ แล้วก็เดินมาหลังบ้าน Stone House สังเกตเห็นต้นมะละกอที่มีถุงเท้าสวมห่อไว้ ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใด สังเกตเห็นยอดมะละกอมีหอยทากขึ้นไปอยู่บนยอดสุด พวกเราบอกว่าเป็นสัญญาณของการมาเยือนของน้องน้ำแล้ว หลายปีที่แล้ว ก่อนน้ำจะท่วมสูง จนพวกเราต้องนำเรือออกมาแล่นสัญจรภายในชุมชน สัตว์เหล่านี้ก็จะส่งสัญญาณให้เห็นล่วงหน้าก่อนเช่นกัน..
พ่อครูเดินไปสักครู่ทนายรินไท มุ่งมาจนได้เข้ามากราบนมัสการพ่อครูสนทนากันเล็กน้อยก่อนที่พ่อครูจะเดินกลับมาที่เฮือนสูญ ขึ้นไปชั้น 4นั่งพักสักครู่แล้วจึงหยิบกระดาษมาตัดเหมือนเมื่อเช้า พวกเรานำคลิปวีดีโอที่ถ่ายทอดสดผ่านทาง facebook บุญนิยมทีวี การอุปสมบทพระสันติจากบวรปฐมอโศก เข้าสู่ทำเนียบนักบวชชาวอโศกไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับสมณะสันติ อาภัสสโร อดีตพระอาคันตุกะลงทะเบียน จากวัดโพธิกระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ได้เลื่อนฐานะเปลี่ยนรูปแบบเป็นสมณะชาวอโศก โดยมีสมณะบินบน ถิรจิตโต เป็นพระอุปัชฌาย์ ประจำอยู่บวรปฐมอโศก ท่านได้ชื่อและฉายาดังเดิมว่า สมณะสันติ อาภัสสโรเป็นสมณะรูปที่88 ของชาวอโศก..พ่อครูบอกว่าเรื่องราวการบวชของนักบวชชาวอโศกเป็นการแสดงให้เห็นถึงวัตรปฏิบัติของนักบวชที่มีเจตนาเข้าสู่เส้นทางอุปสมบทตามแบบพุทธแท้ มุ่งสู่นิพพาน ตามรอยองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ถูกต้อง ตามพุทธประเพณี…