611126 วิถีบวร 1 ใน 1000 ตอน…เสฎฐสังคม เสฏฐบุคคลมีจริง_นะจ๊ะ!!
วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
ทุกวันจันทร์เป็นวันบวร ชาวชุมชน นิสิต วนบ. นักเรียน นักศึกษาสัมมาสิกขาและนักบวชได้มารวมกัน เพื่อช่วยกันสร้างสรร สัมมาอาชีพ โดยเฉพาะเรื่องกสิกรรมไร้สารพิษ
พื้นที่ของบวรราชธานีอโศก ติดริมแม่น้ำมูน น้ำก็จะท่วมขังทุกปี โดยเฉพาะบริเวณริมมูน พวกเราจึงไม่ได้สร้างที่พัก ติดริมมูนกันสักเท่าไหร่ มีเพียงเรือเอี่ยมจุ๊นหลายลำ ที่จอดเป็นที่พัก ให้กับผู้ที่ต้องการพักผ่อนหรือมากางเต็นท์บนเรือ
ก่อนหน้านั้น 2-3 เดือน น้ำก็จะท่วมพื้นที่ ติดแม่น้ำมูนมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมพอน้ำเริ่มลดได้โอกาสทอง ของชาวกสิกรรมริมมูน ที่จะเตรียมไถดิน ตีแปลงเพื่อปลูกพืชผักหน้าหนาวกันได้แล้ว
เช้านี้นิสิต วนบ.นักเรียน นักศึกษาสัมมาสิกขา และชาวชุมชน ถึง 5 กลุ่มรวมกว่า 70 ชีวิต ได้มาช่วยกันปลูกกระเทียม ซึ่งนำพันธุ์มาจากจังหวัดศรีสะเกษ ได้คุยกับปู่เถาผู้ดูแลแปลงกระเทียมนี้ บอกว่าปีนี้เราโชคดี ที่มีผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องการปลูกกระเทียม คือคุณอนุวัฒน์และครอบครัว ได้มาปลูกบ้านอยู่ที่บ้านราชมาเป็น 1 ใน 1000 และประสงค์จะปลูกกระเทียมไร้สารพิษ เพื่อให้ได้รับประทานกัน จึงได้นำพันธุ์มาจากจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เก็บรักษาได้นาน ปีชนปี โดยที่ไม่ฝ่อ
มาโฮมแฮงกันหลายคน จึงได้แบ่งงานได้หลายแผนก ช่วยกันเร็วขึ้น ตั้งแต่เริ่มแกะกลีบกระเทียม เพื่อนำออกมาทีละหัว ส่วนแปลงดินฝ่ายชายก็จะนำคราดที่ประดิษฐ์เอง เพื่อให้ระยะห่างของกระเทียมเท่ากัน แล้วคราดยาวเป็นทาง
จากนั้นก็จะนำกระเทียมไปวาง โดยให้ทางด้านขั้วรากจมดินเพียงครึ่งเดียว เพื่อให้สามารถแตกยอดได้ง่ายขึ้น
จากนั้นจึงได้โรยปุ๋ยให้อาหาร ท่านสิกขมาตุผาแก้ว ได้สอนเทคนิคการใส่ปุ๋ยร่องกระเทียมให้กับนักศึกษาเกษตรว่า ควรโรยในร่องที่คราดไว้ เพราะจะได้รับปุ๋ยเต็มที่ ไม่ควรหว่านโปรยไปทั่วแปลงเฉยๆ จากนั้นนำฟางมาคลุมและรดน้ำทันทีเพื่อไม่ให้ฟางปลิวไปกับลม
ทุกครั้งที่ได้มีการโฮมแฮงสิกรรม ก็จะเห็นภาพของการเข้าห้องเรียนขนาดใหญ่ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวชุมชน นิสิต วนบ.หรือแม้กระทั่งนักเรียนสัมมาสิกขา ที่จะได้เรียนรู้ เกี่ยวกับการทำกสิกรรมไร้สารพิษ ที่เป็นสัมมาอาชีพ
โดยเฉพาะการปลูกกระเทียมดูแล้วไม่ยากเลย ส่วนมากเราก็มักจะนำเงินไปซื้อสะดวก รวดเร็วกว่า แต่ความประณีตและความปลอดภัยมีน้อยมากเพราะส่วนมากกระเทียมจะมีสารเคมีมาก
นอกจากจะเรียนรู้เรื่องการปลูกกระเทียมแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้เวทนา กับผัสสะที่เจอ ซึ่งห้องเรียนที่ไหน ก็คงไม่ได้สอน นอกจากห้องเรียนโลกุตระบนแผ่นดินพุทธ ที่พ่อครูได้สอนแทบทุกเย็น เน้นการปฏิบัติธรรมแบบสมาธิลืมตา เรียนรู้กับทุกผัสสะที่เจอ
พ่อครูสอนว่า กรรมฐานของนักปฏิบัติธรรมคือเวทนา เพราะการกระทำของเราทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ในการที่จะมอง จะพูดหรือจะกระทำใดๆ ต้องตรวจดูจิตใจของตนเองตลอด ว่ามีอกุศลปนอยู่หรือเปล่า อ่านจิตตัวเองว่ามีกิเลสตัวไหนขึ้นมา ในขณะที่ทำงาน แล้วจับให้มั่นคั้นให้ตาย เอากิเลสตัวนั้นออกให้ได้ตามอินทรีย์ พละที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นที่ผัสสะที่เราเจอแล้วเกิดอาการรัก อาการชอบ รำคาญ หงุดหงิด โมโห สารพัดอาการที่จะให้พวกเราเรียนรู้ได้ จากการทำงานซึ่งถือว่าเป็นไตรสิกขา ศีล สมาธิปัญญา ในห้องเรียนใต้ขอบฟ้ากว้างกับจิตใจตนเอง
แวะมาดูอีกแห่งหนึ่งสำหรับวันบวรเป็นนาข้าวของพ่อทุ่งข้าวประมาณ 1ไร่เศษๆได้ที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว คุยกับพ่อทุ่งข้าวซึ่งปฏิบัติธรรมกับชาวอโศกตั้งแต่ปี 2529 จนมาถึงปัจจุบัน จนได้เรื่องว่า
30 กว่าปีสำหรับการมีชีวิตอยู่กับชาวอโศก พ่อทุ่งข้าวบอกว่ามั่นใจว่าที่ ทุกชุมชนของชาวอโศกที่พ่อไปอยู่มา พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายกันได้ พ่อทุ่งข้าวถ้าเจอพื้นที่ไหนว่างเปล่า ก็จะไปหากล้าผักไปปลูก ปลูกอะไรบ้าง แทบไม่รู้เลย
มองไปเห็นข้าว ต้นอ้อยซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของพ่อทุ่งข้าว ที่จะปลูกข้าวและอ้อยรสชาติหวาน ถึงหวานมาก 2 สายพันธุ์(พันธุ์ทำน้ำตาลปึก กับพันธุ์ไว้หีบน้ำอ้อย) ไว้คู่กันเสมอ รวมถึงต้นหอม โหระพา ใบกระเพรา มันญี่ปุ่น เผือก กล้วยและพืชอีกหลายชนิด มองแล้วขานให้พ่อฟัง พ่อทุ่งข้าวถึงกับหัวเราะว่า พ่อเองไม่เคยได้นับว่าปลูกอะไรไปบ้าง ปลูกได้ผลผลิตก็ส่งส่วนกลางทั้งหมด
เรื่องราวของวันนี้ดิฉัน นึกถึงคำสอนของพ่อครู ในเรื่องที่พ่อครู บอกว่าชาวอโศกเป็นเสฏฐสังคม มีเสฏฐบุคคล อาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นบุคคลและสังคมที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้แล้วอย่างสมบูรณ์ เพราะมีเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ ผลิตเองทำกินเองใช้เองได้ ไม่เบียดเบียนใคร ที่เหลือแจกจ่าย เจือจานสู่สังคม เป็นสังคมที่สงบสุขที่สุด เป็นบุคคลที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร สร้างสรรค์เสียสละให้กับสังคมเป็นอุดมการณ์ของชาวบุญนิยม เป็นสังคมที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้แล้ว เป็นนักเศรษฐศาสตร์เบอร์ 1 ของโลก….