วิถีอโศกกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ : กรณีศึกษาชุมชนราชธานีอโศก
ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
อนงนาฏ ชูกลิ่น และ จิตรกร โพธิ์งาม
ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (2017): มกราคม – มิถุนายน : วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาหลักการและความคิดของวิถีอโศก พุทธปรัชญาแห่งความพอเพียงรวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชนราชธานีอโศก 2) เพื่อศึกษาวิธีการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชนราชธานีอโศก 3) เพื่อศึกษาวิธีการบริหารความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะโลกร้อนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนอื่น ๆ ต่อไป พื้นที่กรณีศึกษาคือหมู่บ้านในชุมชนบุญนิยมราชธานีอโศก ตำบลบุ่งไหม อำวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี วิธีวิทยาเป็นแนววิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แนวการตีความเชิงวิพากษ์ เครื่องมือที่ใช้คือ การสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งมีกลุ่มผู้ให้ข้อมูลจำนวน 16 ท่าน โดยแบ่งเป็นสมาชิกชุมชน 7 ท่าน ผู้นำชุมชน 3 ท่าน และนักวิชาการ 6 ท่าน รวมถึงการสังเกตการและการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุมชนราชธานีอโศกเป็นชุมชนที่พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ตั้งใจจะให้เป็นตัวแบบของเศรษฐกิจชุมชนแนวใหม่ที่มีพุทธธรรมเป็นตัวกำกับตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ชุมชนนี้ได้พัฒนาอยู่บนพื้นฐานของพุทธปรัชญาแห่งความพอเพียงผสมผสานแนวคิดแบบบุญนิยมและสาธารณโภคี นั่นคือวิถีอโศกที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
2. ในภาคปฏิบัติชุมชนนี้เน้นการสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพอย่างยั่งยืนโดยการสร้างกิจกรรมชุมชนที่หลากหลายคลอบคลุมหลายมิติที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวมตั้งแต่เศรษฐกิจการผลิตอาหารและโภชนาการ สวัสดิการสังคม สิ่งแวดล้อมพลังงาน การศึกษา สุขภาพและอนามัยไปจนถึงการสร้างเครือข่ายสังคมที่เกี่ยวโยงกันระหว่างชุมชนอโศกด้วยกัน แนวทางของชุมชนราชธานีอโศกได้ให้ข้อสรุปว่า ถ้าจะให้ชุมชนมีความมั่นคงจะต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องความมั่นคงในการดำรงชีพอย่างพอเพียงและยั่งยืนในเขตชนบทโดยมีหลักปฏิบัติของการพึ่งตนเองเป็นพื้นฐาน
3. วิถีอโศกสามารถเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชนได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในอดีตชาวชุมชนราชธานีอโศกสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างดี แต่ในอนาคตท่ามกลางภาวะโลกร้อนที่รุนแรง ชุมชนจะต้องริเริ่มสร้างระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงและความไม่แน่นอนขึ้นมา เพื่อพิทักษ์รักษาความมั่นคงของชุมชน นอกจากนั้นควรมีแนวคิดเกี่ยวกับความคงทนเข้ามาผสมผสานด้วยเครื่องมือสำคัญ คือ การสร้างระบบท้องถิ่นแบบใหม่ที่เรียกว่า“ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อความคงทนทางนิเวศ” และชาวชุมชนราชธานีอโศกเท่านั้นที่จะต้องร่างออกแบบระบบนี้ด้วยตนเอง
คำสำคัญ : วิถีอโศก, พุทธปรัชญาแห่งความพอเพียง, ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
อ้างอิงจาก https://www.tci-thaijo.org/index.php/humanjubru/article/view/210282