641018 รายการ ตุ้ม ตะลุ่ม ตุ้ม ม้ง ครั้งที่ 14
ดาวโหลดเอกสารที่
https://docs.google.com/document/d/1LII_nA3vYAI9-tyNPE_4eoulK3GAXURhZKw-k9GBH-s/edit?usp=sharing
ดาวน์โหลดเสียงที่ https://drive.google.com/file/d/10YTLhwpi9VyrFhxwVzpRORn_OFpnNkJP/view?usp=sharing
และดูวิดีโอได้ที่ https://fb.watch/8J9dQTWqFa/ และ https://youtu.be/8gmhmiJof0I
ความหมดทุกข์จริงๆเป็นเช่นไร
_สู่แดนธรรม… วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564 ที่บวรราชธานีอโศก พ่อครูสอนให้พวกเราดับอวิชชาที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ แล้วออรหันต์หมดตรงไหน
พ่อครูว่า… วันนี้โยนคำถามโดยไม่ได้นัดแนะ
คำว่า ทุกข์ ที่ว่ามา ถามประเด็นว่า อรหันต์หมดตรงไหน อันนี้คือความยอด อาการของทุกข์มีตั้งแต่หยาบมา แบ่ง หยาบ กลาง ละเอียด 3 ขั้นหรือจะแบ่งละเอียดเป็นล้านลำดับก็ได้ มากน้อยกว่ากัน จบสุดอย่างที่สู่แดนธรรมว่า พระอรหันต์ก็ตาม บรรลุสูงสุดแล้ว มันไม่ได้พ้นทุกข์หรอก อรรถกถาจารย์ท่านก็สรุปไว้ เป็นทุกข์ที่เลี่ยงได้มีแค่ 4 กับทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ 6 ใน 10 ประเด็น ซึ่งก็เป็นความจริงทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญของการหมดทุกข์ มันจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะหมดทุกข์หรือไม่หมดทุกข์ ถ้าจะหมดทุกข์จริงๆก็คือ หมดทุกสิ่งทุกอย่าง หมดทุกข์ก็คือ หมดทุกสิ่งทุกอย่าง
เพราะฉะนั้นหมดทุกสิ่งทุกอย่างก็คือ จิตนิยามของเราแตกสลายไปหมดเลย เป็นปรินิพพานเป็นปริโยสาน
ปรินิพพาน คือ นิพพานรอบเป็นครั้งสุดท้าย จิตนิยามไม่เหลือแล้ว แยกธาตุจิตนิยามออกเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม ตายครั้งสุดท้าย หมดลมหายใจสุดท้ายที่พระอรหันต์ทุกพระองค์ ต้องรู้จุดนี้จึงจะปรินิพพานอย่างยั่งยืนถาวร เลิกไปเลย
เพราะฉะนั้นพูดถึงตรงนี้แค่นี้ คนที่ยังมีอารมณ์ติดยึดโลก ติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ติดลาภ ยศ สรรเสริญโลกียสุข จะติด หยาบ กลาง ละเอียด มันก็ปรินิพพานเป็นปริโยสานไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ยากอะไร จิตใจมันยังติดยึดอยู่ ยังรู้สึกเป็นรสชาติ เป็นสิ่งที่ควรได้ควรมีควรเป็นอยู่
Time line การสืบสานศาสนาพุทธของพ่อครู
พ่อครูว่า… อย่างอาตมาเป็นโพธิสัตว์ปางนี้ เข้าใจเรื่องพวกนี้มามากกว่ามากแล้ว แม้ที่สุด พูดจริงๆเลยนะ ทุกวันนี้ขันธ์อาตมานี้ฝืนๆ ฝืนพยายามต่ออายุ ฝืนจริงๆ แต่ก็เห็นความจริงอันนั้นก็คือว่า อายุขัยของคน มันฝืนให้ยาวยืนไปได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อานนท์เราจะมีอายุถึงกัปหรือเกินกว่ากัปก็ย่อมได้ ก็เคยได้ยินจริง จริงๆเลย
เพราะฉะนั้นอาตมาก็มีเหตุปัจจัยที่จะต้องลองด้วย 1. อาตมาก็ตั้งจิตจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องบำเพ็ญต่อ 2. สังคมก็ยังน่าช่วยเหลือมากจริงๆ เลย ในสังคมไทย เพราะอะไร
เพราะว่าไทยมีโลกุตรธรรม ที่ในโลกที่ไหนก็ไม่มีแล้ว อาตมากล่าวความจริง แต่คนไม่เชื่อไม่เข้าใจโลกุตรธรรม ไม่เข้าใจสิ่งวิเศษก็หัวร่อ อาจจะฟันหักไปหลายซี่แล้วก็ตามใจ หัวเราะจนฟันหักมีอาการหนักเหมือนกันนะ มันก็จริงที่สุดเลย แต่ก็ต้องพูดความจริง มันไม่มีความไม่จริงตรงไหนที่ไม่ควรพูด ก็ต้องพูดความจริง อย่างที่ยืนยันมา เมืองไทยมีโลกุตรธรรมหยั่งลง แล้วอาตมาก็ได้พูดไปมากแล้ว
ชมพูทวีปที่จะมีแดนที่มีอาริยบุคคล ที่มีโลกุตรธรรม มันอยู่ที่เมืองไทย อุบัติเคลื่อนจากอินเดียมาอยู่เมืองไทยแล้ว พยายามจะเคลื่อนไปอยู่เมืองจีนเหมือนกันนะ แต่มาเมืองไทยจนป่านนี้ แม้เมืองไทยจะเกิดหลังเมืองจีน แต่เมืองไทยก็เอาโลกุตรธรรมมาไว้ได้ เพราะมันมีเหตุปัจจัยที่เป็น อจินไตย มีสถานที่สัปปายะ 4 ที่สมบูรณ์แบบจริงๆ
จะสังเกตได้พระโพธิสัตว์ อย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างอาตมาก็มาเกิดที่นี่ มาเป็นคนไทยอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่คนไม่เชื่อก็แล้วไป เรามีสิทธิ์พูดความจริง ส่วนคนไม่เชื่อว่าเป็นความจริง จะไปบังคับอะไรได้
ทุกวันนี้ พ.ศ 2500 เลยไปแล้ว เลยกึ่งพุทธกัป ของพระพุทธเจ้าสมณโคดมที่จะมีอายุ 5,000 ปี อันนี้ก็เป็นความจริง ซึ่งไม่ใช่อาตมาเป็นคนกำหนด แต่ท่านผู้รู้เก่าก่อนอาตมาอีกกำหนดมา ว่า ศาสนาพระพุทธเจ้าสมณโคดมมีอายุ 5,000 ปี แล้วมันก็เสื่อมมาจนถึง ครึ่งพุทธกัป มันก็ต้องเสื่อมด้วยกฎไตรลักษณ์ เสื่อม ไม่เสื่อมครึ่งพุทธกัป แล้วจะให้ไปเสื่อมตรงปลายพุทธกัป พ.ศ. 3000, 4000 มันก็ไม่จริง มันก็ไม่มีวันจะฟื้นใหม่
ฟื้นขึ้นใหม่แล้ว ก็จะเสื่อมลงไปอีก จึงกำหนดดังรูปสามเหลี่ยมที่อาตมาทำ ซึ่งรูปpattern สามเหลี่ยมนี้ น่าจะขยายความเพิ่มเติมอีกบ้าง มันเป็นสัญลักษณ์ที่อธิบายครบครันในเรื่องของเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ชัดแล้ว
มันก็จะเป็นอย่างที่อาตมาได้อธิบายไปหลายทีแล้ว ว่า ในชั่วระยะศาสนาพุทธอีก 2,500 ปี ก็คือฐานที่ยาวมาข้างล่าง
อาตมาได้เริ่มมาต่อศาสนา เกิดมาในชีวิตนี้ อายุ 36 ปี ซึ่งอาตมาเกิดมาในโลกมนุษย์ เกิดมาจะว่าไปก็ ลิงลมอมข้าวพอง ในช่วง 36 ปี เหมือนกับ พระพุทธเจ้า ท่านอุบัติขึ้นมาในโลก ท่านก็ ลิงลมอมข้าวพองอยู่ถึง 35 ปี ซึ่ง 29 ปี ถูกมอมเมาอยู่อย่างหนักในเวียงวัง แล้วอีก 6 ปีก็ถูกสังคมทางธรรมะครอบงำจึงเป็นลิงลมอมข้าวพองอีก 6 ปี นึกว่าการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนั้น แต่ท่านรู้สึกตัวเอง
ที่จริงท่านบำเพ็ญสัมมาสัมโพธิญาณได้มาแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะมาอุบัติเป็น เจ้าชาย สิทธัตถะ ท่านก็จะได้มาประกาศศาสนาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในทำเนียบ แล้วก็เป็นพระพุทธเจ้าสมณโคดม ประกาศศาสนา 45 ปีก็พอแล้วก็ปรินิพพานไป ก็เหลือศาสนาพุทธไว้ให้รุ่นหลังมาสืบทอดซึ่งเป็นโพธิสัตว์นั่นเอง อาตมาก็รับผิดชอบหน้าที่มาจากโพธิสัตว์องค์อื่นด้วย
36 ปีผ่านไปที่เป็นฆราวาส ก็ถือเป็นการบำเพ็ญโพธิสัตว์เหมือนกัน ใช้หนี้วิบากด้วย บำเพ็ญโพธิสัตว์ด้วย ก็ไม่ได้ทำวิบากเลวร้ายอะไร ก็อยู่ในโลกของคนดีกันกระทั่งออกมาบวชตอนอายุ 36 ปี บวชไปได้ถึง 72 ปี ก็เป็นอีก 36 ปี ก็ทำหน้าที่เต็มที่มา
เริ่มต้นออกมาทำงานจึงเจออุปสรรคขนาดหนัก เพราะว่ามันเสื่อมไปหมดจริงๆ เสื่อมไป 100% ซึ่งเป็นจริงๆ ไม่มีใครรู้เลย ไม่มีใครรู้โลกุตรธรรมเลย นำพาโลกุตรธรรมขึ้นมาไม่ได้ อาตมาต้องมาเป็นไก่ตัวพี่ ออกมาประกาศโลกุตรธรรม ก็มีหลักฐานที่คนกล่าวถึงโลกุตระธรรมมาก่อนก็คือท่านพุทธทาส ในวงการศาสนาพุทธยังไม่ประสีประสา
อาตมาถึงว่ายังตายไม่ได้ง่ายๆ อาตมาเคยพูดไปแล้ว อายุขันธ์ของอาตมา 72 ปี แต่ถึง 72 แล้วก็คิดว่ายังตายไม่ได้ เพราะยังมีภารกิจ สรุปว่าต้องอยู่ต่อ ต้องทำต่อ ขาดช่วงไม่ได้ ขาดช่วงก็ต่อไม่ติดเลย อาตมาก็เลยต้องพยายาม
ที่สำคัญก็คือพิสูจน์การต่ออายุขัย อย่างสำคัญทีเดียว ก็พยายามทำจริงๆ ต่อมาได้จนอายุ 84 ปี ผ่านมา 1 นักษัตรไปแล้ว ตอนนี้กำลังเข้านักษัตรที่ 2 ที่เหลืออายุขัย ถ้าอายุ 96 ก็เป็น 2 นักษัตร ก็คืออีกประมาณ 8 ปี พิสูจน์ไปอีก 2 นักษัตรไม่ใช่เรื่องเล่นนะ
แต่ละคนพวกเราใกล้ชิดคงจะเห็นว่าอาตมาฝืน อาตมาพยายาม ซึ่งมันนับวันแล้ว โอ้โฮ..ต้องต่ออายุ แม้แต่การกินอาหาร มันอย่างกับเข้าสู่สนามรบ
สู่แดนธรรม… พ่อท่านต้องการต่ออายุ เกิดจากจิตที่ไม่มีความอยาก แต่หากพวกเรามีความอยากเป็นต้นทุนจึงง่ายกว่าพ่อท่านที่ไม่มีความอยาก
พ่อครูว่า… อันนี้สู่แดนธรรมพูดนี้ ลึก คนจะพยายามคิดตาม ไม่มีความอยาก แต่ก็จะต่ออายุศาสนาไปได้ ที่อธิบายธรรมะคนก็รับได้เพิ่มขึ้น จริงๆแล้วแฟนนานุแฟน แฟนคลับ FC มีจำนวนมากขึ้นอยู่นะ มีอัตราการก้าวหน้าอยู่นะ แต่อย่าไปเทียบกับลิซ่านะ มันคนละเรื่องกัน หรือว่าเทียบกับใครๆอีกเยอะแยะ แม้แต่ไปเทียบกับสนธิ ลิ้มทองกุล หรือใคร อาตมาไม่ขึ้นหรอก ไม่ขึ้นอย่างนั้นแน่นอน
แต่ก็มีจำนวนอัตราการก้าวหน้าอยู่ เพราะฉะนั้นต้องพยายาม ถ้าพยายามพากเพียรจนถึงอายุ 90 ดูซิว่าอีก 2-3 ปีนี้ มันจะมีท่าทีที่ดูดีขึ้นไหม หรือแม้ว่ามันไม่ดี แต่พยายามฝืน พยายามพัฒนาตนเอง พยายามใช้ Coefficient พากเพียรสร้างสัมประสิทธิ์ให้ก้าวหน้าที่จะต่ออายุไขขึ้นไป ด้วย 8 อ.ก็ดี ด้วยจิตนิยาม จิตใจ ทางรูปธรรมก็ดี ก็ต้องพากเพียรทุกอย่าง
จนถึงอายุ 90 แม้ไม่มีอัตราก้าวหน้า ก็จะพอรู้ว่าไหวหรือไม่ไหว จาก 90 ไปถึง 96 จะรู้ชัดขึ้นเยอะ มันครบ 2 นักษัตร จนไปถึง 96 ก็น่าจะดี ถ้าถึง 96 อาตมาว่าไปถึง 100 กว่าได้แน่นอน
พอ 100 กว่าไป ถ้าถึง 108 ก็ครบ 3 นักษัตร ทีนี้ล่ะติดเครื่องเลย อาตมาว่าหากอาตมาถึง 108 new โพธิรักษ์ จะเป็นคนอย่างไรหนอ ทั้งหุ่นหน้าตา fresh up ขึ้นมา
จากนั้นไปได้ถึง 120 เป็นเรื่องข้ามขั้นพิเศษแล้ว ตอนนั้นอยู่ที่ว่าเจ้าตัวจะตัดสินใจไปถึง 144 หรือไม่ ถ้าไปถึง 144 โดยไม่ต้องไปเกิดใหม่ศาสนาวิเศษเลย อีก 7 ปีไปถึง 151 ก็ครบครัน โครงสร้างจินตนาการหรืออะไรก็แล้วแต่ มันบริบูรณ์เลย หากว่าปางนี้เชื่อมต่อไปถึง 151 ปี ก็นอนตายตาหลับเลย ไม่ต้องเกิดอีก ศาสนาพุทธก็จะไปถึง 2,000 ปีครบ หากว่าอาตมายังพยายามอยู่ถึงอายุ 151
แต่ถ้ามันไม่ถึง ตอนนี้อายุยังไม่ถึง 100 อีกตั้ง 51 ปีมันไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นถ้ามันเสียไปก็ต้องกลับมาเกิดต่ออีก เพราะอาตมารับผิดชอบจริงๆ รับผิดชอบศาสนาพุทธกับสมณโคดมจริงๆ อันนี้ก็พูดย้ำความจริง อาตมามีสิทธิ์พูดความจริง ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ แล้วก็ทำจริง พิสูจน์ยืนยัน
พิจารณาสิว่า ศาสนาพุทธโลกุตรธรรมเป็นอย่างไร พวกคุณได้มาขนาดนี้ก็ยังไม่ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ คนข้างนอกที่เขายังไม่รู้เรื่องไม่ต้องไปพูดถึง มาแวะตรงนี้นิดนึง เอาประเด็นมาพูด
รูเล็กๆที่ชื่อว่า นรก เป็นเช่นไร
_Nack Zigma แน็ค ซิกม่า : อยากฟังเรื่อง นรก บ้างครับ
พ่อครูว่า… นรกนี่คือ ถ้ำ ที่เป็นรูเล็กๆของผู้ไม่รู้ตัวว่า ตัวเอง คือ นร + ก
นร คือ คนคือผู้เป็นเจ้าของชีวิต พอขึ้นมา ก ตัวนี้ก็คือ กลล กาละ มันเป็นตัวสภาวะที่เคลื่อนไป กาละ พอเกิดมาได้จุดนี้แล้ว เป็นตัวเป็นตนดำเนินไปกับกาละ เกิดก้อน กลล เคลื่อนดำเนินไปตามเวลา
ทุกอย่างมันก็ไม่เที่ยง มันก็ต้องเปลี่ยนไป มันเปลี่ยนไปดีขึ้นหรือเลวลง แต่คนมันอวิชชามาก่อนวิชชา มันก็มักจะเลวลงมากกว่าดีขึ้น เพราะฉะนั้นมันก็เปลี่ยนไป
แต่ถ้าใครไม่เปลี่ยนเลย ก็คือผู้จมอยู่ในรูนั้น มันก็เป็นเด็ก มันก็เป็นเล็ก อยู่ในรูนั้นแหละแคบๆ ไม่กว้างต่อไป ก็อยู่กับนรกตรงนั้นแหละ อยู่จนกว่าจะเป็น
นร ผู้ไม่ต้องมี ก คือ คน ผู้ไม่ต้องมี ก
ฟังให้ดี อาตมาอาศัยพยัญชนะ 2-3 ตัวอธิบายสภาวะ ไม่งงนะ ก็จะเป็น นร ผู้ไม่มี ก
แต่เป็น นร ก็ไม่เป็น นรก คำว่า นร ก็แปลว่าคน
ทีนี้คำว่า นรก ก็คือทุกข์ คือภาวะที่ “มี”
ถ้าปรมัตถ์หรือโลกุตระแล้วคือ ความมีกับไม่มี “ถ้ามีคือนรก สวรรค์ก็คือความไม่มี”
ความมี ความไม่มี ของกายของจิต
อาตมามา จุติ ลงตรงคำว่า มี กับ ไม่มี ตั้งหลักให้ดีตรงนี้ จะเข้าสู่วิชาการแล้ว
มี กับ ไม่มี พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน พระไตรปิฎกเล่ม 16 ข้อ 43 …
“พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรกัจจานะ โลกนี้ โดยมากอาศัยส่วน 2 อย่าง คือ ความมี 1 ความไม่มี 1 ความไม่มี ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลก ย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบาย อุปาทานและอภินิเวส แต่พระอริยสาวก ย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น อันเป็นอภินิเวสและอนุสัยอันเป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิตว่า อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่าทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับ ย่อมดับ พระอริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล กัจจานะ จึงชื่อว่าสัมมาทิฐิ ฯ
[44] ดูกรกัจจานะ ส่วนสุดข้อที่ 1 นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดข้อที่ 2 นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง 2 นั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ … ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ”
พ่อครูว่า… ความมีกับความไม่มี 2 คำนี้เป็นคำหลัก แล้วมีตัวชีวิตของแต่ละบุคคล อยู่กับความมีและไม่มี รวม สามเส้า ตัวคุณก็อยู่กลางระหว่างความมีกับความไม่มี
ทีนี้ ความมีกับความไม่มีนี่แหละ ในโลกนี้มี ความมี กับความไม่มีเท่านั้น
มี ทุกข์มีสุข แล้วก็มีไม่ทุกข์ไม่สุข มีดีกับชั่ว สรุปรวมตรงคำว่า เทวะ ที่แปลว่าภาวะ 2
ผู้ที่ยังไม่ตายมีอยู่ไหม ก็ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีความรู้ทุกอย่างเต็มที่อย่างบริบูรณ์ด้วย อยู่กับความมีและความไม่มี 2 อย่างนี้แหละ
เพราะฉะนั้นโลกเขาจะมีทุกข์มีสุข เขาจะมีความเดือดร้อน เขาจะมีความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินขนาดไหน เป็นคู่ๆๆ กันทั้งนั้น มีดูดมีผลัก มันก็มี 2 อันนี้ เทวะ
ไม่มีอื่นเลยคำว่า เทวะ จึงคลุมหมดเลย ทุกสิ่งทุกอย่างในมหาจักรวาลนี้ ตั้งแต่เรามี กาย มี จิต
ทีนี้คำว่า กาย กับ จิต นี่แหละ แค่นี้ในเรื่องโลกุตระ ก็ผิดเพี้ยนแล้ว ทุกวันนี้มันเสื่อมจนกระทั่งคำว่า กาย โดยเฉพาะคนไทย เอามาใช้กาย หมายถึงร่างกาย หมายถึงร่างสรีระ ไม่เกี่ยวกับจิตนิยาม ไม่เกี่ยวกับจิตใจเลย นี่คือความเสื่อมที่ชัดเจนของศาสนาพุทธ
เพราะฉะนั้นผู้ใดเข้าใจคำว่า กาย คำนี้ยังมิจฉาทิฏฐิอยู่ ผู้นี้ก็เจ๊งเลย แล้วข้อผิดดูนิดเดียว แต่มโหฬารเลย แต่หมดกระบวนเลย ปิดประตูบรรลุธรรมเลย นั่นคือ สังโยชน์ข้อที่ 1
สังโยชน์ข้อที่ 1 คือเข้าใจสักกะ กับ กายะ โดยเฉพาะกายะ คุณผิดแล้ว โดยเฉพาะเข้าใจ กายะ เป็นร่าง ผิดทันที แล้วคนส่วนใหญ่กาย เป็นภาษาไทยสมบูรณ์แบบแล้ว เขาเข้าใจคำว่า กาย เป็นอย่างไร พูดได้เลยว่าผิดทั้งนั้น
อาตมามาพูดอันนี้ขึ้นว่า กาย ไม่ได้หมายถึงร่าง แต่เน้นเอาจิตเป็นสำคัญด้วย กายเน้นเอาจิตเป็นสำคัญ แต่ร่างคือสรีระ แล้วต้องกายนี่แหละ สิริมหามายา คุณจะต้องมาศึกษาให้ดีๆเลย สุดท้ายคุณจะต้องไม่มีกาย แต่คุณต้องเข้าใจกายอย่างสัมมาทิฏฐิ
กาย คือสภาวะคู่ คำว่า กาย มีรายละเอียดอีกเยอะซึ่งไม่ง่ายเลย มันยากมาก การปฏิบัติธรรมขาดคำว่ากาย ไม่ได้ ในมิติ นัยยะ หนึ่ง ของความหมายคำว่ากาย คือภายนอก
นัยยะ หนึ่งของคำว่า กาย ต้องมีภายนอกด้วย ไม่มีภายนอกไม่ได้ ไม่ใช่กาย เพราะกาย มีความหมายเป็นภาวะ 2 จะเป็น 1 ไม่ได้ เข้าใจกายคือสรีระอย่างเดียวไม่มีจิตเลยเป็นมิจฉาทิฏฐิ ปฏิบัติไม่บรรลุหรอก
เพราะฉะนั้นสักายะทิฏฐิ คุณก็มิจฉาทิฏฐิแล้ว จะไปพิจารณา กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม แต่เริ่มต้นคำว่ากาย คุณก็ผิดแล้ว ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ไม่มีทางเลยที่จะสำเร็จจะเข้าเป้า
เพราะฉะนั้นยิ่งไม่เข้าใจคำว่ากาย คำว่าจิต ที่พระพุทธเจ้าท่านกำชับกำชาให้อุปัชฌาย์สอนภิกษุบวชใหม่ให้เข้าใจนิยาม ทั้ง 5 หากคุณเข้าใจลักษณะของจิตนิยามที่เป็นพีชนิยามไม่ได้ คุณก็ต้องทุกข์ต้องสุขอยู่อย่างนั้น หรือคุณแยกจิตนิยามให้เป็นอุตุนิยามไม่ได้ คุณไม่มีทางปรินิพพานเป็นปริโยสาน
ข้างนอกไม่มีทางเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะเขาอธิบาย อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม แล้วต้องประพฤติด้วยกรรมนิยาม มีการกระทำกับทรงไว้ Static กับ Dynamic คือ กรรมนิยามกับธรรมนิยาม
เพราะฉะนั้นในการประพฤติ ถ้าคุณยังเข้าใจอาการของอุตุก็ยังมิจฉา อาการคืออาการทางจิต หากไม่ใช่อาการทางจิตก็เป็นอุตุ ดินน้ำไฟลม หรืออาการทางจิตที่เป็นพีชะ คือจิตคุณเป็นชีวะอยู่ แต่ไม่มีกายแล้ว ไม่มีเวทนาไม่มีวิญญาณ มีแต่สัญญากับสังขาร มีแต่ 3 รูปสัญญากับสังขาร มันไม่สุขไม่ทุกข์ มันไม่มีวิญญาณมาผูกพันมีวิบากวิบากบุญไม่มี
ซึ่ง ขออภัยต้องพูดอีก มันไม่มีใครอธิบายอย่างที่อาตมาอธิบายหรอกในยุคนี้ มีอาตมาอธิบายคนเดียวละมั้ง อาตมาก็ไม่ได้กว้างขวางไปศึกษาคำสอนผู้อื่นบ้าง เพราะไม่มีเวลาจริงๆ นี่ก็พยายามอ่านหนังสือพุทธธรรมของท่านประยุทธ์อยู่ทุกวัน ยังไม่ได้ครึ่งเล่ม 1 ของท่านเลย มันมี 3 เล่ม พยายามอ่านอยู่ทำงานไป ก็เข้าใจท่านมากขึ้น น่าสงสารมากขึ้น
อาตมายังไม่รู้ว่าอ่านจบเล่ม 1 แล้วจะสงสารท่านขนาดไหน ก็ยังนึกไม่ออก คือ ท่านเป็นคนจริงจังกับธรรมะนะ เป็นคนน่าเคารพจริงๆ ในชีวิตนี้ท่านทุ่มเทให้กับธรรมะจริงๆ น่านับถือ น่าเคารพ น่าบูชา แต่ก็น่าสงสารท่านตรงที่ว่า ท่านจะฟังโพธิรักษ์สักนิดก็ไม่ได้ นี่ไม่ได้เข้าข้างตัวเอง แต่มันต้องมีปรโตโฆษะบ้าง แล้วต้องศึกษาจริงๆว่า โยนิโสมนสิการทำอย่างไรต้องมี ปรโตโฆษะ กับ โยนิโสมนสิการ
ปรโตโฆษะ ท่านไม่รับฟังอาตมา ไม่รับฟังคนอื่นเลย ท่านจึงโยนิโสมนสิการไม่เป็น โยนิโสมนสิการไม่ถูกต้อง ไม่แยบคาย ไม่ถ่องแท้ ทั้งที่ท่านทำใจในใจนะ ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิ สมาธิของท่านก็ยังเป็นสมาธิแบบโลกๆอยู่ แบบโลกีย์
สมาธิของพุทธคือสมาหิโต
คำว่า สมาธิ นั้น เดียรถีย์ ก็เข้าใจอย่างนึง ชาวพุทธที่สัมมาทิฏฐิก็เข้าใจอีกอย่างหนึ่ง
เดียรถีย์ก็คือชาวพุทธนี่แหละ แต่เป็นผู้ที่แสวงบุญนอกขอบเขตพุทธก็เป็นเดียรถีย์ทั้งนั้น ก็เข้าใจคำว่าสมาธิที่เรียกกันอยู่ทั่วไป พุทธก็อย่างหนึ่ง เดียรถีย์ ก็อย่างหนึ่ง มันผิดแผกแตกต่างอย่างไร
คำว่าสมาธิของเดียรถีย์มีมากที่ยึดถือ เข้าใจกันอยู่ แม้แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็บอกว่าเกือบเข้าใจอย่างนั้นหมด จะบอกว่าทั้งหมดก็ดูถูกกันเกินไป ชาวพุทธนั้นเกือบทั้งนั้น กำหนดหมายกันว่า สมาธิคือสภาวะที่ สติเป็นสมถะ ของเดียรถีย์หรือของชาวพุทธทั่วไปที่ยังมิจฉาทิฏฐิอยู่
เขาเข้าใจว่าสติเป็นสมถะ เขาไปฝึกสติอยู่ในภพเป็นสมถะ ปัญญาก็คือการกำหนดสัญญาภายในไม่มีภายนอก ไม่ใช่ปัญญา 8 มีอยู่แค่นั้นแหละ เขากำหนดอยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นมันก็ตรงกันข้ามกับสมาธิของพระพุทธเจ้า แต่สมาธิของพระพุทธเจ้า ท่านเรียก สมาหิโต หรือสมาหิตะ
สมาหิตะคือ ผู้ตื่นเต็ม มีอธิปไตย 3 สมาธิของพระพุทธเจ้าแปลเป็นไทยว่าคือ ความตั้งมั่นของจิต เดียรถีย์ สมาธิของเขาก็คือความตั้งมั่นของจิต แต่ความตั้งมั่นของจิตเขาเก่งในทางนั่งหลับตา เก่งกว่าของชาวพุทธด้วย อาจจะเก่งเกินกว่าอาตมาเยอะ พวกนั่งหลับตาสมถะ สมาธิเดียรถีย์
แต่ของพระพุทธเจ้านั้นตั้งมั่นแบบลืมตา ที่มีการเคลื่อนไหว มันซ้อนนะ มันเป็นสมาธิชนิด กายปาคุญญตา จิตปาคุญญตา
กายปาคุญญตา แปลว่า แคล่วคล่อง ว่องไว ปราดเปรียว ไม่ใช่นิ่งๆนะ กาย มาข้างนอก ตาหูจมูกลิ้นกาย โผฏฐัพพะ การเคลื่อนไหวกายวิญญัติ วจีวิญญัติ นัจจะ คีตะ วาทิตะ นัจจะคือท่าทีลีลา คีตะ คือสุ้มเสียงสำเนียง โพธิรักษ์เคลื่อนไหวแคล่วคล่องว่องไวอย่างกับลิง นี่คือสมาธิของพระพุทธเจ้า สมาหิโต
แต่สมาธิของ เดียรถีย์ นิ่ง นิ่งได้มากเท่าไหร่น่านับถือเท่านั้น ใช่ไหม แล้ว นัจจะ คีตะ วาทิตะ คุณไม่ใช้ทำไม เขาว่าใช้แล้วไม่นิ่ง คือเขาคุมไม่ได้ เขาคุม นัจจะ คีตะ วาทิตะ หรือ หากไปขึ้นไว้ภายนอกจิตของเขาก็ไม่ได้ เขาจึงต้องหยุดภายนอก หยุดกายวาจาแล้วหยุดใจ ทวนกระแสของพระพุทธเจ้าเลย
ของพระพุทธเจ้านั้นยิ่งทำให้ กาย วจี แคล่วคล่อง จิต ที่มีพลังพิเศษ มุทุภูตธาตุ ซึ่ง มุทุแกนหลักของภาษาแปลว่า อ่อน แล้วคู่กันกับลหุ ลหุ เบาๆๆ มุทุไวๆๆ ทั้งไวทั้งเบา ยิ่งกว่ากังฟู ยิ่งกว่าจอมยุทธ ทั้งเบาทั้งไว ยิ่งกว่าหายตัว ลหุ เบา มุทุไวเร็ว ปราดเปรียว มุทุนี่คลุมยิ่งกว่าลหุ มุทุนี่เป็นแกนสอง ส่วนลหุเป็นแกนเดียว มุทุทั้งเบาทั้งเร็วไว
กัมมัญญา ที่เป็นอันที่สามในวิการรูป อีกสองอันเป็น กายวิญญัติ วจีวิญญัติ ส่วน ลหุ มุทุภูตธาตุ กัมมัญญา เป็นแกนใน เป็นแกนหลัก
เป็นธาตุรู้ที่ฝึกฝนอบรมแล้วเจริญยิ่ง วิเศษยิ่ง ยิ่งปรมาณูยิ่งเล็กยิ่งละเอียด ยิ่งเบายิ่งมีพลัง สุดแรง แต่ไม่ใช่เป็นทางที่เลวร้ายนะ เป็นไปในทางที่วิเศษ ดี ประเสริฐ
คำว่าสมาธิของพระพุทธเจ้า อาตมาสรุปลงไปแล้วว่า มันจะเกิดจิตเป็นสมาธิ เป็นจิตที่ตั้งมั่นของศาสนาพุทธนั้น มันไม่ใช่ไปทำอย่าง เดียรถีย์ แต่ทำอย่างพุทธ จรณะ 15 วิชชา 8 เพราะคุณปฏิบัติจรณะ 15 เป็นชาญเป็นวิมุต วิมุติก็ต้องล้างอวิชชา ตามวิชชา 8
วิชชา 8 โดยสังเขป
วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิ อิทธิวิธี โสตทิพย์ เจโตปริยญาณ ตรวจสอบด้วยเตวิชโชอีก 3 คือ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ
วิปัสสนาญาณคือ ต้องเห็นต้องลืมตา ตามวิโมกข์ 8 อย่าไปหลับตานะ อย่างนั้นเป็นโมฆะ ไม่เห็นรูป ไม่มีรูปีรูปานิปัสสติ ไม่มีวิปัสสนาไม่เห็นได้ลูกตา จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา อาโลก มันก็สูญไปแล้ว
นิมนต์พ่อครูจิบน้ำ
สู่แดนธรรม… เวลาที่เหลือให้พ่อท่านอธิบายวิชชา 8 ให้ครบเลยครับ
พ่อครูว่า…
วิปัสสนาญาณนั้นคุณจะต้องเข้าใจวิโมกข์ 8 อย่างสำคัญ
วิโมกข์ 8 คืออะไร คือสูตรที่บอกถึงภาคปฏิบัติ 8 ข้อนี้
วิปัสสนาญาณ ตาต้องเปิด ตาหูจมูกลิ้นกายต้องเปิดรับรู้ ไม่ใช่ไปปิด ไปอยู่ในภพหลับตาอย่างเดียว ไม่ใช่เลย แต่ที่เขาสอนกันนั้น ไปวิปัสสนาคือไปนั่งหลับตา พูดแต่พยัญชนะแต่การปฏิบัติผิดไปคนละเรื่องเลย วิปัสสนาคุณหลับตาไม่ได้ วิปัสสนามันบังคับเลยว่าคุณต้องลืมตาเห็นรูป ปัสสะคือเห็น ตัวแรกของตาหูจมูกลิ้นกาย ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง มันต้องเปิดสัมผัสทวารทั้ง 5 หลับตาไม่ใช่วิปัสสนาเลย ก็ยังคลุมเครือวุ่นวายกันอยู่อย่างนั้น หลับตาวิปัสสนา สายนั่งหลับตาผิดหมดเลย ไปทำวิปัสสนาจะต้องไปลืมตา เรียนรู้จรณะ 15 วิชชา 8
มโนมยิทธิ คือมีฤทธิ์ทางใจ มย คือเป็นเรา อิทธิคือฤทธิ์ มีฤทธิ์อะไร ฤทธิ์ทาง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ฤทธิ์ทาง อาเทสนาปาฏิหาริย์ อิทธิปาฏิหาริย์
เช่น ศีล 5 ข้อ 1 สัมผัสกับสัตว์กับคน จะต้องมีความเอ็นดู เมตตา ปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งปวง แต่ไปปฏิบัติอย่างนี้ สีลพตุปาทาน ปฏิบัติศีลก็แค่ไปวัดตามเขา ไปไม่ได้รู้เรื่อง ศีลข้อ 2 สัมผัสของ ศีลข้อ 3 ต้องปฏิบัติกับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสก็ปฏิบัติไม่เป็น เหลือแต่วินัยเป็นข้อบังคับสำหรับภิกษุ 227 ข้อ อย่าผิดข้อบังคับนะ ทำตามวินัยเฉยๆ ไม่ได้ปฏิบัติตามศีล อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อธิวิมุติ ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญของพระพุทธเจ้าเลย
มโนมยิทธิ คือ สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จทางใจ ในการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา มีความสำเร็จ มีพลังแรงทำให้กิเลสลด กิเลสดับได้ มโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ
อิทธิวิธญาณ คือ ทำ มโนมยิทธิ ทำได้มากเรื่อง มากมาย นัยยะต่างๆเยอะขึ้นเรียกว่า อิทธิวิธญาณ
โสตทิพย์ ทำได้ละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ละเอียดเล็กไกลกว้างลึก โสตทิพย์ รู้ได้รอบมุมทุกมิติ ทุกนัยยะ ท่านอธิบายว่า ได้ยินเสียงสอง เช่น ได้ยินเสียงจากไกลๆก็มีปฏิภาณแยกได้รู้ว่า เสียงอย่างนี้เสียงกลอง เสียงอย่างนี้เสียงตะโพน เสียงอย่างนี้เสียงเปิงมาง เสียงอย่างนี้เสียงบัณเฑาะว์ เป็นนักดนตรีก็จะรู้ว่าเสียงต่างกันอย่างไร ใครนึกออก เข้าใจดี
กลองก็ตุ้มตะลุ่มตุ้มม้ง ตะโพนก็เล็กๆหน่อย ตะล็องต๊องๆ เปิงมางคือกลองวง รัวๆ บัณเฑาะว์ ก็ตะล็องต็องแต๊งป๊องแป๊ง มีสองหน้า เป็นความรู้ที่เอามาใช้สื่อให้รู้ภาษาเป็นธรรมะ ได้ยินเสียงไกลๆก็แยกออกว่า เป็นเสียงกลองตะโพน เปิงมางหรือบัณเฑาะว์ ไม่เห็นรูปมีแต่เสียงก็ยังแยกได้ เหมือนเราฟังเสียงคน เรารู้ว่าเสียงนี้เสียงคนไหน ถ้าจะให้ง่ายเข้าไปหน่อย อันนี้เสียงวัว อันนี้เสียงม้า อันนี้เสียงไก่ ก็ยิ่งง่าย แม้แต่เสียงคนก็พอรู้ว่าเสียงใคร ถ้ารู้ชัดเจนจำได้เสียงคนนี้ต่างกับคนนั้น แยกออก นั่นคือนัยยะสำคัญว่ามี ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สูงส่งลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เจโตปริยญาณ 16 คือ หลักสูตรหรือมาตรวัดเลย ถ้าคุณไม่มีมาตรวัดก็ไม่บรรลุธรรม เพราะเป็นลำดับขั้นตอนสัจจะธรรมะที่คุณจะต้องทำได้ตามหลักเจโตปริยญาณ 16
คือ การกำหนดรู้ใจสัตว์อื่น (รู้สัตว์ชั้นต่ำสูงในจิตตน-ปรสัตตานัง) .
รู้บุคคลชั้นต่ำ-สูงอื่นๆในจิตอาริยของตน(ปรปุคคลานัง) เป็นปรมัตถ์.
-
สราคจิต (จิตมีราคะ)
-
วีตราคจิต (จิตไม่มีราคะ)
-
สโทสจิต (จิตมีโทสะ)
-
วีตโทสจิต (จิตไม่มีโทสะ)
-
สโมหจิต (จิตมีโมหะ)
-
วีตโมหจิต (จิตไม่มีโมหะ)
ทำให้ ราคะ โทสะ โมหะ ลดลงก็เป็นวีตะ ต้องอ่านอาการออก มันจางคลายลง ตั้งแต่มันไม่เที่ยง ถ้ามันเที่ยงเราตีมันไม่แตกหรอก บางคนเชื่อว่าจิตเที่ยงกิเลสก็เลยไม่เที่ยงมันก็เลยตีกิเลสไม่แตก โดยกาละขณะมันก็ไม่เที่ยงแล้ว ด้วยตัวจริงมันก็ไม่เที่ยง เป็นอนัตตาด้วยซ้ำไป คุณสามารถทำ ตามหลักสูตรพระพุทธเจ้าจรณะ 15 วิชชา 8 กิเลสลดได้ ทุกเวลา ที่ปฏิบัติทุกลมหายใจเข้าออกเรียกว่า อานาอาปานะ ไม่ใช่ไปนั่งจุ้มปุ๊กนี่คืออานาปานสติหลับตาทำสมาธิ นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติคงมั่น เป็นสูตรของพวกเดียรถีย์เขา
แม้จะปฏิบัติอย่างฤาษี เดียรถีย์ทั้งหลาย นั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติคงมั่น ก็จะต้องพิจารณาอย่างนี้ พิจารณาให้เห็นจิตทั้งหมด ให้เห็นแม้เป็น กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วแยกกิเลสให้ออก ตั้งแต่หยาบทางกาย เวทนา จิต ให้ออก รู้จักอาการ ราคะโทสะโมหะ แล้วทำให้มันจางคลายลงได้ทำได้แล้วเป็นขั้นตอนหนึ่งเป็นอีกคู่ ทำทีละคู่
-
สังขิตฺตํจิตตํ. (จิตเกร็ง-จับตัวแน่น หด คุมเคร่งอยู่) เป็นสังขตังตีไม่แตก แต่แข็งด้านทื่อ ยิ่งกว่าโจรร้ายที่พระราชาให้ไปฆ่าด้วยหอก 100 เล่มเช้ากลางวันเย็น
-
วิกขิตฺตํจิตตํ . (จิตกระจาย-ดิ้นไป ฟุ้ง จับไม่ติด) มันได้แต่จับไม่มั่นคั้นไม่ตาย ฟุ้งกระจาย
ถ้าเป็นก้อนก็ต้องขยายให้ออก ถ้ามันกระจายก็ต้องรวมให้ติด ถ้าคุณสามารถทำสำเร็จเจริญได้ จะไม่เกาะอยู่ที่ สังขิตตัง วิกขิตตัง หากไปติดอยู่ตรงนั้นคุณก็ไม่เจริญ คือ อมหัคคตจิต
-
มหัคคตจิต (จิตเจริญยิ่งใหญ่ขึ้น)
-
อมหัคคตจิต (จิตไม่เจริญขึ้น)
ก็ต้องทำให้เจริญให้ได้ เมื่อเจริญไปเรียกว่า สอุตระ
-
สอุตตรจิต (จิตมีดีแต่ยังมีดียิ่งกว่านี้-ยังไม่จบ) ยังไม่เป็นที่สุดแห่งที่สุดยังไม่เป็นอนุตตรังจิตตัง
-
อนุตตรจิต (จิตไม่มีจิตอื่นสูงยิ่งกว่า) คือจิตที่สุดแล้ว เป็นจิตเจริญสูงสุด ไม่มีจิตอะไรเจริญยิ่งกว่านี้อีกแล้ว ก็แยกเป็นอีกสองคู่
-
สมาหิตจิต (จิตตั้งมั่นเป็นประโยชน์ดีแล้ว)
-
อสมาหิตจิต (จิตยังไม่ตั้งมั่นไม่เป็นประโยชน์)
-
วิมุตตจิต (จิตหลุดพ้น) . . .
-
อวิมุตตจิต (จิตยังไม่หลุดพ้นสิ้นเกลี้ยง) .