660415 รายการ บรมภาวะสุดประเสริฐ 5 ประการ (เพลงเอกพ่อครู)
ดาวโหลดเอกสารที่ https://docs.google.com/document/d/1lolsRSckqRRp4BlK76s1_YMvCOvXfbxO/edit?usp=sharing&ouid=101958567431106342434&rtpof=true&sd=true
ดาวน์โหลดเสียงที่ https://drive.google.com/file/d/1DQ5EQ_VXuRd1gJtAc8fXlXYtDWpHH2TP/view?usp=share_link
ดูวิดีโอได้ที่ https://youtu.be/ASTZJDBslUE
และ https://fb.watch/jWoFUF5y7F/
บรมภาวะสุดประเสริฐ 5 ประการ (เพลงเอกพ่อครู)
หมอฟ้ารักว่า… กราบนมัสการพ่อครูด้วยความเคารพอย่างแรงกล้าด้วยสุดเกล้าสุดเศียรค่ะ กราบนมัสการ…เจริญธรรม…
วันนี้วันเสาร์ที่ 15 เมษายน 2566 ที่บวรราชธานีอโศก เป็นวันสุดท้ายของงานตลาดอาริยะ ซึ่งพวกเราก็ได้ประโยชน์มาตั้งแต่ 13 14 15 เมษายน เราก็เหน็ดเหนื่อยมาพอสมควร ถึงเวลาที่จะได้รับอะไรที่พิเศษสุดในวันนี้ แต่เราก็ได้รับมาแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 11 เมษายน เป็นธรรมะเข้มข้นมาก วันนี้จะเป็นการแสดงธรรมะแบบผ่อนคลาย ประกอบวงศิลปินชาวอโศกคือวงฆราวาส แล้วก็มีนักร้องจากวงฆราวาสมาขับร้องเพลงให้ท่านฟัง เพลงนั้นเป็นบทเพลงบรมภาวะสุดประเสริฐ
พ่อท่านแต่งเพลงไว้หลายเพลง แต่เพลง 5 เพลงนี้ เป็นเพลงที่ได้แสดงถึงความหมายของการปฏิบัติธรรมที่จะได้สิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะปฏิบัติให้ถึง ทำลำดับ โดยจะต้องมีอิสรเสรีภาพก่อน แล้วถึงจะมีภราดรภาพต่อกัน เมื่อมีภราดรภาพต่อกันแล้วจึงจะเกิดสันติภาพ เมื่อเกิดสันติภาพแล้วตามร่วมมือกันมาช่วยให้เกิดสมรรถภาพ และทำให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปเป็นบูรณะภาพ นั่นก็คือบรมภาสุดประเสริฐ 5 ประการ
วันนี้จึงเป็นวันสำคัญมากเพราะเป็นธรรมะผ่อนคลายสบายแต่เป็นธรรมะลึกซึ้งมาก ขอให้ท่านตั้งใจฟัง ได้ทั้งสาระและบันเทิง คิดว่าสมควรแก่เวลา ขอให้ทุกท่าน เตรียมพบกับบทเพลงแรกคือ เพลงอิสระเสรีภาพ ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย ครูรัก รักพงษ์ หรือพ่อครูสมณะโพธิรักษ์
เมื่อบทเพลงขับร้องจบก็จะมีพ่อครูมาย่อยเพลงธรรมะให้พวกเราฟัง ก็เชิญวงฆราวาสบรรเลงเพลงอิสรเสรีภาพ ขับร้องโดย เด็กชายป่าต้นโพธิ์ สิงห์คำ ขอเชิญรับชม ณ บัดนี้ค่ะ
เพลง อิสรเสรีภาพ
อิสระเป็นเช่นใด ใช่ฝันกันได้ง่าย
อิสระกายแต่ใจ ไม่พ้นคนคือทาส
เพราะเพียงกามโกรธยังบังอาจ
ขลาดกลัวแท้ แพ้มันไม่สร่าง
อิสระเป็นเช่นไร ใช่นึกทึกทักได้
อิสระใจหากใครเข้าถึง ซึ้งเกินอ้าง
นั้นคือคนที่มีใจว่าง ผู้เพียรล้าง จนกิเลสตาย
อิสระไซร้ใช่เพียง แค่เกี่ยงเอาได้ดั่งใจ
หรือจะประสงค์สิ่งใด แล้วได้ตามใจมุ่งหมาย
นั้นใช่อิสรชน นั้นแค่คนยังวุ่นวาย
เพราะว่าอัตตามากมาย ขายหน้าความเป็นทาสใจ
อิสระคือบุคคลผู้พ้นความเป็นทาส
ปราศจากปวงบ่วงกิเลสไซร้เป็นใจใหม่
เสรีภาพอาบใจยิ่งใหญ่
ใคร่ครวญซ้อนสังวรให้ดี
ผู้มีอิสระจริงนั้นยิ่งไม่เอาแต่ใจ
เพราะไม่ประสงค์สิ่งใดใคร่อยากบำเรอ“สุขี”
เพราะท่านไม่เห็นแก่ตัว รู้ทั่วตัวกิเลสดี
ลึกด้วยปัญญามากมี เหลือที่จะทายคาดเดา
อิสระคือบุคคลผู้พ้นโลกีย์ได้
หากปองสิ่งใด“ให้ตน” ไม่พ้นเกมคนเศร้า
ขืนงมจมอยู่ในโลกเก่า
ก็ยังเขลา มี“เรา”เรื่อยไป.
หมอฟ้ารักว่า… ร้องได้ดีมากค่ะป่าต้นโพธิ์ แต่ในเนื้อหาจะเป็นอย่างไร อิสระเสรีภาพที่แท้จะเป็นเช่นไรต้องขออาราธนานิมนต์พระครูย่อยธรรมะเพลงอิสระเสรีภาพนี้ด้วยครับ
พ่อครูว่า… อาตมาได้เคยเขียน ขยายความเอาไว้แล้วก็พิมพ์ลงไป หนังสือในหลังปกของหนังสือเราคิดอะไร ตั้งแต่ ฉบับเดือนสิงหาคม 2560 อ่านในนี้ก่อน ถ้าไม่ละเอียดก็ค่อยขยายความอีกที ก็ให้เวลาตั้ง 15 นาทีต่อ 1 เพลง
เพลง“อิสรเสรีภาพ”นี้แต่งทำนองเอาไว้ตั้งแต่ 30 พ.ค. 2499 แล้วมาเขียนเนื้อร้องเมื่อ 29 ม.ค. 2529
แถมยังแก้ไขใหม่อีกเสร็จ 27 ก.พ. 2534 แล้วให้ปราจีณ ทรงเผ่า แยกเสียงประสาน และ The Hot Peppers Singings ซึ่งประกอบด้วย รุ่งพิรุณ เมธารมณ์,ผุสดี เอื้อเฟื้อ,ศาสสัณฑ์ บุญญาสัย,ยงยุทธ มีแสง เป็นคณะแรกที่ขับร้องอัดเสียงลงอัลบั้ม“ขวัญ” พร้อมด้วยแผ่นเสียง long play เมื่อ 29 เม.ย. 2529 วางตลาด มิ.ย. 2529 จากนั้น ก็มี สุทธินันท์ จันทระ ขับร้องเดี่ยวในอัลบั้ม“ฟากฟ้าฝั่งฝัน”ที่วางตลาด ธ.ค. พ.ศ.2534 และต่อมามีอีกหลายคนจำไม่ได้
เพลง“อิสรเสรีภาพ”นี้คือเพลงที่ชื่อว่า ศิลปะที่เป็น “โลกุตระ”แท้ๆชัดเจน เพราะเป็นเพลงที่สื่อถึงเรื่อง“จิต-เจตสิก-รูป-นิพพาน”โดยตรง ผู้ที่ไม่มีภูมิรู้ใน“โลกุตรธรรม”หรือผู้ที่ติดยึดอยู่แค่บัญญัติ
ศิลปะนั้นแบ่งเป็น 5 ระดับ ลามก ราคะ สาระ ธรรมะ โลกุตระ
เพลงอิสรเสรีภาพนี้ เป็นศิลปะขั้นโลกุตระ
คำว่า โลกุตระ หมายถึงมีความรู้และมีความจริงของตนที่ศึกษาแล้ว สามารถมีธาตุรู้หรือมีสัญญา มีปฏิภาณปัญญา เข้าใจ จิต เจตสิก รูปนิพพาน แยกเข้าไปถึงเจตสิกต่างๆได้ แล้วแยกแยะเจตสิกที่เป็นธาตุรู้ที่แท้ กับเป็นธาตุรู้เที่เก๊ที่ปลอม เป็นกิเลสนั่นเองมันแฝงตัวมา มันทำตัวเหมือนจิตเหมือนเจ้าเข้าเจ้าของจิตเลยเจ้ากิเลสนี่ แยกออก อาการ ลิงค นิมิต แยกออกได้ แล้วที่สุดผู้ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าสามารถแยกออกจากจิต แล้วก็รู้จักกิเลส สามารถใช้ปัญญาอันยิ่งทำให้กิเลสมันพ่ายแพ้ สูญหาย ไม่เกิดในจิตของเราอีกเลยได้ นี่เป็นความรู้ความสามารถของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของพุทธ เท่านั้นในโลกที่มี (ไมค์ดับไปพักหนึ่งตัดออกด้วย)
ก็อาจจะเห็นว่าเพลงนี้ยังมีภาษาคือคำว่า“บุคคล”ปนอยู่ในเนื้อเพลงนี้ ก็มีจริง..แต่คำว่า“บุคคล”ที่มีในเพลงคำนี้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ“รูปธรรม”คู่อยู่กับ“นามธรรม” ซึ่งแสดงถึงความเป็น“ภาวะจริงที่มีคนจริง”ใน“ธรรมะ 2”ยืนยันว่ายุคนี้มีจริงๆโดยอธิบายความเป็น“กาย”ของ“ปรมัตถธรรม”แท้ ซึ่งบุคคลผู้พ้นความเป็น“ทาส”จริง หรือพ้นความเป็น“โลกีย์”แน่แล้วที่ยืนยันว่า ตนเป็นผู้มี“อิสระเสรี”เหนียวและมั่นคงแน่นนานจริงนั้น มันมีได้ใน“ยุคนี้”ตามธรรมที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าอยู่จริง
ไม่ได้หมายถึงว่า มีได้ใน“คน”ที่ยังอยู่แต่“ยุคทาส”ที่เป็นกันเมื่อหลายร้อยหลายพันปีโน้นเท่านั้น ทว่าหมายถึง“อิสรเสรีภาพ”ที่เป็น“อาการใจ”ของคนแท้ๆนั้นมีได้แม้ในคนยุคปัจจุบันนี้ทีเดียว ยืนยัน(confirm) นั่นต่างหาก
“อิสรเสรีภาพ”ในเพลงนี้ จึงไม่ได้หมายถึง ความเป็น“สมมุติธรรม”โดดๆเพียงอย่างเดียว แต่มีความเป็น“ปรมัตถธรรม”ของจริงร่วมยืนหยัดอยู่ เราขอยืนยันจริงๆ
เพลงนี้คือ“ศิลปะโลกุตระ”ที่มีมนุษย์ยุคนี้อยู่กันอย่างเป็นสังคมหมู่ชนที่เป็น“ประชาธิปไตยผู้สัมบูรณ์”ด้วย“อิสรเสรีภาพ-ภราดรภาพ-สันติภาพ-สมรรถภาพ-บูรณภาพ” ไม่ขึ้นต่ออำนาจ“โลก”ยุคนี้ที่เต็มไปด้วย“อบายลาภ-นรกยศ-อเวจีสรรเสริญ-อสูรกายสุข-เปรตจิตว่างจิตเป็นกลาง”ที่มีอยู่ในประเทศใหญ่,ประเทศเล็ก และประเทศกลางๆ มัวเมากันอยู่อย่างหน้ามืดบ้าง ยังจมดิ่งดื่มอยู่อย่างไม่เงยหูเงยหัวบ้าง ยังหลงงมงายผลุบๆโผล่ๆอยู่บ้าง หรือพอรู้ได้แต่ยังกระมิดกระเมี้ยนแอบๆแฝงๆแก้ตัวไปปะล่อมปะแล่มปัดๆป้องๆตนเองอยู่บ้าง หรือที่ทำเป็นหลบๆนิ่งเงียบซ่อนบังฉากบางๆอยู่บ้าง.
“สมณะโพธิรักษ์”(5 ก.ค. 2560)
**[หลังปกเราคิดอะไร? ฉบับ 325 สิงหาคม 2560]
หมอฟ้ารักว่า… คือ เพลงของพ่อครู เวลาที่เราจะเอาให้คนอื่นร้องเขาจะบอกว่าเขาฟังไม่รู้เรื่อง เขารู้สึกว่าเขาเข้าไม่ถึง แต่พวกเราฟังจะรู้สึกว่าเพลงแต่ละเพลงของพ่อครู อิสระของพ่อครูไม่ใช่ Freedom แบบฮิปปี้ ต้องหมดกิเลสจริงๆเพราะฉะนั้นมันก็คือนิพพานนั่นแหละ เพราะฉะนั้นเพลงนี้ถ้าทำถึงที่แล้วเรียนรู้กายแยกตัวปลอมออกแล้วเหลือแต่ตัวจริงก็คือบรรลุนิพพาน
หมดเวลาสำหรับเพลงนี้แล้วก็คิดว่าเข้าใจสำหรับทุกท่าน
เพลงต่อไป เรากำลังสู้อยู่กับฟ้าเปิดให้ก็คือกว้างกว่านี้อีกนิดนึงค่ะ
เมื่อใจเรามีอิสรเสรีภาพแล้วเราก็จะมีความสุขที่เป็นพี่เป็นน้องเข้าหากัน ช่วยเหลือกัน มีภราดรภาพต่อกัน ขับร้องโดย Guru สู่แดนธรรมค่ะ
เพลง ภราดรภาพ
(สร้อย) ภราดรภาพเพราะคนหยาบบาปจึงหนา
ภราดรภาพสังคมบาปจึงเหมือนสาป
ภราดรภาพล้างเลิกบาปจึงพ้นสาป
ภราดรภาพนี้กำซาบอาบฝังใจ
(เนื้อร้อง) จะรอจะคอยก็พลอยแต่จะพาเพ้อ
ละเมอเสนอเพียงพร่ำ
อวดรู้ชูโชว์โอ่ทฤษฎีที่ชี้จนฉ่ำ
ต่างคลำต่างทำก็ย้ำก็ย้อน
(สอดสร้อย) ภราดรภาพเพราะคนหยาบบาปจึงหนา
ภราดรภาพสังคมบาปจึงเหมือนสาป
(เนื้อร้อง) อย่าคอยอย่ารอยุ่งเราอย่าเมาฝันค้าง
มาเลย มุ่งล้างตนก่อน
เทิดศีลเป็นธงส่งค้ำนำพาอย่าเพี้ยนเพียรผ่อน
ขืนหยาบขืนหย่อนเดี๋ยวเถอะปราชัย
(สอดสร้อย) ภราดรภาพสังคมบาปจึงเหมือนสาป
ภราดรภาพล้างเลิกบาปจึงพ้นสาป
(เนื้อร้อง) เมื่อธรรมค้ำจุนเรา
เลิกอบายหายเมาแม่นศีลมั่นไว้
มวลใดแม้นคนดี โกรธร้ายคลายไป
กามโลภในใจจืดจาง
(สอดสร้อย) ภราดรภาพล้างเลิกบาปจึงพ้นสาป
ภราดรภาพนี้กำซาบอาบฝังใจ
(เนื้อร้อง) จะยืนจะยันจะพลันเกิดมวลชนผอง
รวมเป็นพี่น้องตัวอย่าง
แจกน้ำใจเจือเอื้อเฟื้อเมตตาขยันสรรสร้าง
-
ล้วนสละล้วนต่างซึ้งตอบต่อกัน
(ร้องสร้อย) ภราดรภาพเพราะคนหยาบบาปจึงหนา
ภราดรภาพสังคมบาปจึงเหมือนสาป
ภราดรภาพล้างเลิกบาปจึงพ้นสาป
ภราดรภาพนี้กำซาบอาบฝังใจ
-
ล้วนสละล้วนต่างซึ้งตอบขอบคุณ
(ร้องสร้อย) ภราดรภาพเพราะคนหยาบบาปจึงหนา
ภราดรภาพสังคมบาปจึงเหมือนสาป
ภราดรภาพล้างเลิกบาปจึงพ้นสาป
ภราดรภาพนี้กำซาบอาบฝังใจ.
_สู่แดนธรรม… ผมขอสารภาพว่าตั้งแต่ร้องเพลงมา ไม่เคยร้องเพลงอะไรยากขนาดนี้เลยครับ
หมอฟ้ารักว่า… กราบนิมนต์พ่อครูย่อยธรรมะอันนี้ด้วยค่ะ
เพลง“ภราดรภาพ”นี้ แต่งเนื้อร้องเสร็จ ๑๒ ก.ย. ๒๕๒๘ โดยใช้ทำนองที่ปรับปรุงเพิ่มทำนองสร้อย
ส่วนทำนองเนื้อร้องมาจากเพลง“ผู้ถูกสาป”ของเดิมที่แต่งไว้ตั้งแต่ ๑๘ ธ.ค. ๒๕๑๐ แล้วให้ ปราจีน ทรงเผ่าแยกเสียงประสาน และรุ่งพิรุณ เมธารมณ์ กับผุสดี เอื้อเฟื้อ(The Hot Pepper Singers) ร้องสร้อย และสอดสร้อยประสานเสียง ในวันที่ ๒๙ เม.ย. ๒๕๒๙ เสร็จร้องสร้อย แล้วจึงมาให้ จินตนา สุขสถิตย์, สุเทพ วงศ์กำแหง, ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล, พูนศรี เจริญพงษ์, สันติ ลุนเผ่ ขับร้องเนื้อ กัน อัดเสียงอยู่หลายวัน เสร็จ ๘ พ.ค. ๒๕๒๙ เวลา ๑๘.๔๖ น. เทปคาสเซ็ทอัลบั้มชุด“ขวัญ” ออกวางตลาดเมื่อ มิ.ย. ๒๕๒๙ ทำเป็นแผ่นเสียง long play ด้วย
พ่อครูว่า… ในเรื่องของ ลีลา ของทำนอง ลีลาของเพลง มันไม่ง่ายสำหรับคนทั่วไปที่จะเข้าใจ เพราะว่ามันเป็นเพลงที่มีทั้ง เสียง และมีทั้งจังหวะ มีทั้งเสียงทั้งทำนองและมีทั้งจังหวะ
เสียงทำนอง ก็ยังมีเพลงแบ่งครึ่งเสียงอีก ครึ่งเสียงสูง ครึ่งเสียงต่ำ อย่างนี้เป็นต้น แม้แต่จังหวะ ก็ยังมีลักจังหวะ ลักข้างหน้า ลักข้างหลัง เขามีภาษาของเขาเยอะแยะไป เสียงครึ่งทางสูงก็เรียก Sharp เสียงครึ่งทางต่ำก็เรียก Flash หรือแม้ ลักจังหวะก็เรียก ซิงเกอร์เบชั่น
อย่างเช่นเพลง อิสรเสรีภาพ ก็มีลักจังหวะ คนที่เข้าใจทั้งลีลาซุ่มเสียงสำเนียง แม้แต่เสียงที่เป็นครึ่งอย่างที่กล่าวแล้ว ก็เอามาประกอบ มา compose มาจัดแต่งให้เป็นเพลงขึ้นมา
คนที่แต่งเพลงนี้ที่มีความรู้จริงๆ เราก็จะรู้ได้ว่าคนแต่งมีความรู้ อย่างเพลงในหลวงอย่างนี้เป็นต้น ก็น้อย คนที่แต่งเพลงที่เข้าใจ ทำนองแล้วก็กำหนดทั้งทำนอง ทั้งจังหวะ ที่มันต้องการให้เป็นเช่นใด
อย่างอาตมานี่ ก็พอมีความรู้พวกนี้ ที่พูดไปนี้ก็เป็นความรู้ตนเอง ความรู้ที่มีมาแต่เดิม ชาตินี้ จะว่าไป อาตมาก็ไปเรียนบ้าง เคยไปเรียนกับอาจารย์ ที่เป็นทหารอากาศ ลูกของพระเจนฯ เรียนที่ครุศาสตร์ เรียนอยู่น้อยเดียว แล้วก็สอบเทียบมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ มหาวิทยาลัย trinity สอบได้เกรด 4 แล้วก็ไม่ได้ไปสอบอีกเลย เทียบกับมัธยมก็ประมาณมัธยมที่ 1
ตั้งใจศึกษาตั้งเป็นฆราวาส เรื่องเพลงนี้ชอบมาก ตั้งใจจะทำถึงเพลงคลาสสิค สั่งซื้อหนังสือจากอังกฤษเลย เอาไปเอามา บวชเสียก่อน ทิ้งตำราให้ คนอื่นไปหมด
เพลงภราดรภาพ อาตมาว่าเป็นเพลงที่ไม่ง่ายทีเดียว เพราะมีทั้งสร้อยมีทั้งคำร้อง ที่เป็นเนื้อหาของมันด้วย ก็เจตนา แล้วมันยาวด้วยนะ เพลงนี้อัดมาแล้วตั้ง 10 นาที เพลงสันติภาพก็ยาว
ก็เป็นเพลงที่สื่อความหมาย ตามลำดับที่เป็นเรื่องของมนุษยชาติ เป็นเรื่องของบรมภาวะอย่างที่พูด มันเป็นภาวะที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติและสังคม
มนุษย์รู้จักอิสรเสรีภาพ แล้วก็ทำความอิสรเสรีภาพให้ได้ ศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาที่มีอิสรเสรีภาพสมบูรณ์แบบที่สุด แม้แต่พระเจ้าก็ไม่เป็นทาสพระเจ้า
ศาสนาเทวนิยมเขายังเป็นทาสประจำพระเจ้ายังเป็นนายของเขา แต่ของศาสนาพุทธนั้นไม่เป็นทาสพระเจ้า เป็นตัวเองเป็นนายตัวเองเป็นเจ้าตัวเอง จึงเป็นอิสรเสรีภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุด
ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องศึกษาอาการของจิตทั้งหมดเลย ว่า จิต ของเราอิสระ ไม่ได้ติดยึดแม้แต่คำว่า พระเจ้าหรือเทวะ เทวะน้อยเทวะใหญ่อะไรนี่ ก็คืออาการที่เราเองที่ยังตกเป็นทาส ทาสสภาพอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้ยังมีอำนาจเหนือเรา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเทวะ เทวะน้อยเทวะใหญ่ก็แล้วแต่ ยังมีอำนาจเหนือเรา อย่างนี้ก็ยังเป็นทาสอยู่
เพราะฉะนั้นความเป็นอิสรเสรีภาพสมบูรณ์แบบที่สุด ยิ่งใหญ่มาก
เมื่อมีความอิสรเสรีภาพแล้ว เราก็จะเข้าใจมนุษยชาติ ว่า จิตที่ยังเป็นทาส หรือจิตที่ อิสรเสรีภาพแล้วจริง มันเป็นอย่างไร เราก็จะคบหากับคนอื่นๆ ซึ่งเขาจะยังไม่รู้จักความเป็นอิสรเสรีภาพ เขาจะยังไม่รู้จักความเป็นมนุษย์ ที่มีอัตตา มีกิเลส ยึดถือตัวเอง ยึดถือสิ่งที่ตัวเองยอมเป็นทาส ตั้งแต่เทวะน้อยเทวะใหญ่ จนถึงพระเจ้า เราก็เข้าใจเขาแล้วอยู่ร่วมกัน ประสมประสานปรองดอง ถ้อยทีถ้อยอาศัย
และถ้าเรามีภูมิปัญญารู้เขารู้เรา แล้วเราก็รู้เขา แล้วเราเข้าร่วมกับเขาอย่างอนุโลมปฏิโลมได้ เหมือนผู้ใหญ่ที่รู้จักอนุโลมเด็ก เด็กระดับนี้แค่นี้ มันยังไม่โตพอ ก็อนุโลมให้ไปอีก โตขึ้นมาแล้วรู้ความแล้ว ไม่ได้ จะต้องรู้จักระดับ ก็แข็งขันขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ มีวัยวุฒิที่ต้องรับผิดชอบเต็มรูปไม่มีอนุโลมแล้ว ต้องรู้จักความเต็มรูป อย่างนี้เป็นต้น
การเรียนรู้อย่างนั้นสามารถเข้าใจถึงจิตวิญญาณ มีมาก มีน้อย มียึดถือขนาดไหน มีกิเลสอย่างไร จึงสามารถอยู่กับคนอย่างภราดร อยู่อย่างมีอนุโลมปฏิโลม ผสมผสานกันอยู่ ปรองดองกันอยู่ เป็นภราดรภาพที่ดี
เมื่อเป็นภราดรภาพที่ดี ดีได้มากเท่าไหร่ ความ อิสระ สบาย สงบ อบอุ่น อิ่มเอม เกษมใส ใจเกื้อกูล และเพิ่มพูนเสียสละ ก็เกิดขึ้น เรียกเต็มคำว่า สันติภาพ เอ้าต่อไป
หมอฟ้ารักว่า… เพลงต่อไปเพลง สันติภาพ ขับร้องโดยคุณ เปีย(พลังจิต) คชสารทอง
เพลง สันติภาพ
สันติภาพเอย…
สันติภาพเอย…
สันติภาพเอย…
โลกธรรมอำนาจเด่น เป็นของปองหมาย
แข่งรวยแข่งอาวุธร้าย กลายเป็นบ้า
คนทำตนวน จนเกิดความสับสนซ่อนซ้อนเชิงกล หวาดผวา
หลงอวิชชา ว่า เป็นความรู้
ต่างแนวคิดโลมหลงจิต ต่างฝัน สันติธรรม
แย่งกัน แยกกรรม ซ้ำร้ายทำลายหมู่
เลยกลายเป็น พรางจึงเกิดกลางสันติซ้อน ชอนไช อดสู
ค้นความจริงดู รู้จริง ให้จริง
สันติภาพเอย…
สันติภาพเอย…
สันติภาพเอย…
ด้วยโพชฌงค์ คงมรรคแปดเป็นทาง ทวนกระแส
ปราชญ์องค์ผู้ทรงพุทธแท้แล จริงยิ่ง
ใครเรียนตรงตาม งามต้น,กลาง,จรดปลาย ไล่ผีที่ใจถูกสิง
พ้นมารพาลพิง นี้จริงยิ่งกว่า
โลกเมืองคน ทนทุกข์ยากหลากหลาย รายล้อม
หากเย็น ให้ยอมน้อมรับธรรม นำค่า
พึงบำเพ็ญเพียรเรียนเลิก,ละ,ขยัน สร้างสรร,กล้าจนเถิดหนา
ศีลนำ กรรมพา พบสันติเอง.
หมอฟ้ารักว่า… เป็นเพลงที่ถูกใจหมอฟ้ารักมาก ตอนที่คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องเพลงนี้ แล้วพ่อครูก็ใส่เสียงระเบิดลงไป ตอนที่เขาทำร้าย แต่พอใช้โพชฌงค์ องค์มรรค 8 พ่อครูก็ปล่อยเสียงระฆัง มันให้ความรู้สึกสงบจริงๆ เป็นสันติภาพที่แท้จริง
พ่อครูว่า… เพลงนี้ดีนะ ที่พูดว่าเราใส่ Sound effect อย่างที่หมอฟ้ารักพูด ให้เสียงระเบิดเสียงปืนบึ้มๆๆๆ เราก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็เอาในอะไรก็ได้ เก็บๆมา แต่ก่อนยังไม่ถึงขนาดนี้นะ ตอนอัดเสียงแต่ก่อนนี้ นี่มันอัดเสียงตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เทคโนโลยียังไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้มันไปเก็บเอามาจาก tiktok อะไรมาได้หมด จะเอาเสียงอะไรมาใส่
เสียงระฆัง พอถึงท่อนธรรมะ ด้วยโพชฌงค์องค์มรรค 8 จะต้องเป็นเสียงระฆัง เป็นสัญญาณของศาสนา โอ้โห..หาระฆังอัดเสียง เอาระฆังจริง เอาไปเคาะอยู่ในห้องส่งเลย แล้วระฆังเล็กก็ดูกระป๋อง ดูไม่ดี ต้องแบกระฆังใหญ่ๆไป หามกันเข้าไป โอ้โห..กว่าจะหาระฆังได้แล้วกว่าจะหามเข้าไปในห้องส่ง พอถึงเวลาก็เคาะกันเป๊งๆ อย่างที่มีในเสียง นี่คือเบื้องหลังการถ่ายทำ
เพลง“สันติภาพ”นี้ แต่งเสร็จ 17 ก.ค. 2528 จากเพลงที่อาตมาแต่งไว้เดิมคือเพลง “สนธยาลัย” เวอร์ชั่นแรกให้ สมาน กาญจนะผลิน แยกเสียงประสาน บรรเลงออกอากาศทางโทรทัศน์ช่องแรกของประเทศไทยตั้งแต่ยังเป็นขาวดำ คือ ช่อง ๔ เท่านั้น ไม่ได้อัดเสียงลงแผ่นลงเทป ต่อมานำทำนองมาแต่งเพิ่ม ปรับปรุงใหม่ ใส่เนื้อร้องใหม่ เป็นเพลง“สันติภาพ” เสร็จเรียบร้อยเมื่อ 12 ก.ค. 2528 อัดเสียง
ครั้งแรก 8 พ.ค. 2529 โดยมี สุเทพ วงศ์กำแหง ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นศิลปินแห่งชาติ ขับร้อง เสร็จเวลา 12.34 น. เทปออกวางตลาดชุด“ขวัญ” มิ.ย. 2529 มีแผ่นเสียงลองเพลย์ด้วย ทุกวันนี้ก็ยังหาฟังจากยูทูป หรือกูเกิล ได้อยู่
เพลง“สันติภาพ”นี้ยังมีเวอร์ชั่นหนึ่งที่เต็มวงใหญ่พิเศษ ปฏิพล เหมวรานันท์ แยกเสียงระสาน ทำดนตรีบรรลเลงกันเต็มวงใหญ่ ยาว เป็น 10 นาทีทีเดียว โดยมี วัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์กับ สุทธินันท์ จันทระ ขับร้อง หาฟังดูเถิด ส่วนเพลงที่สุเทพร้องเดี่ยวก็ไม่ยาวเท่าไหร่
พ่อครูว่า… จะอยู่ร่วมกับคนในโลกที่เป็นโลกีย์ คนที่เป็นโรคุตตระจะต้องเป็นคนที่ยอมแพ้อนุโลมปฏิรมณ์กับคนทั้งโลกยังมีปฏิภาณปัญญาไม่ให้คนทางโลกมารุกราน ยอมให้เขาแต่เขาจะไม่กล้ามารุกราน อันนี้เป็นท่าที ที่ยิ่งใหญ่เยี่ยมยอด เรายอมให้เขาแต่เขาไม่กล้ารุกรานเรา เพราะเราจะต้องมีสิ่งที่ดีแสดงออกให้เขาจำนน แค่นี้ผู้รู้ก็รู้ว่า ถ้าขืนไปแย้งไปต้าน เราก็เสียเรา เราก็ต้องทำได้ แล้วคนที่ไม่มีคุณธรรมจริง ไม่สามารถละลาบละล้วง ไม่สามารถที่จะมาทำร้ายอะไรได้ แต่เขาก็แอ๊ค ซึ่งเขาก็ทำไม่ได้หรอก เหมือนอย่างที่อาตมาทำโลกุตระอย่างทุกวันนี้ ทุกวันนี้ใครจะมาต้านอาตมา แต่อาตมาก็ทำสุดยอดสบาย มีแต่พวกเรานั่นแหละ จะรับธรรมะที่ละเอียดสูงขึ้นไม่ทันเท่านั้นเอง
อาตมาแต่งเพลงเมื่อก่อนเป็นฆราวาสแต่งเพลงโลกียะบ้าง แต่ก็พยายามเก็บ ไม่เหลือเท่าไหร่ เป็นเพลงโลกียะที่ไม่จี๋จ๋าอะไรมาก เหลืออยู่ไม่กี่เพลง อาตมาเมื่อมาบวชก็มาแต่งเพลงที่เป็นโลกุตรธรรมเยอะ แล้วก็มาใช้กันอยู่
คนทางโลกเขาก็รับไม่ได้ เขาก็บอกว่าไม่ได้เรื่อง แต่คนที่มีภูมิก็จะรู้ว่า เพลงอาตมาไม่ใช่เพลงขี้ไก่ เขาเรียกว่าเพลงปราบเซียนด้วยซ้ำ แต่เขารับไม่ติด มันไม่รู้จะรับอย่างไร แม้ว่านักดนตรีหรือนักเพลงเขาพอจะเข้าใจที่ว่า เพลงนี้ไปตำหนิไม่ได้ ในเรื่องของทำนอง ในเรื่องของเพลง เขาตำหนิไม่ได้
ยิ่งเนื้อร้องแล้ว เลิกเลย เพราะฉะนั้นก็จะมีร้องอยู่ในแต่พวกเรานี่แหละ ก็ไม่มีปัญหาอะไร
เนื้อหาสาระของเพลง“สันติภาพ”นี้ เป็นเพลงโลกุตระแท้ชัดเจนใน“ศิลปะคือมงคลอันอุดม(เอตัมมังคลมุตตมัง)” เริ่มต้นเพลงก็ชี้ลงไปที่โลกธรรม(ลาภยศสรรเสริญสุข)ให้เห็นเลย ว่าคือ ตัวการอำนาจใหญ่ของโลก ที่ทำให้คนหลงใหลมันจนเกิดความร้ายกาจกลายเป็นบ้าระห่ำ เพราะความสับสนวนซ้อนซ่อนเล่ห์หลอกกันของชาวโลก แล้วก็หลงติดยึดโลกธรรมกันอย่างไม่เงยหูเงยหัวกันเลย ดำดิ่งฤษณากันหนัก จนฆ่าแกงกัน แข่งสร้างอาวุธให้ร้ายให้แรงยิ่งๆมาถล่มล้มล้างกันอย่างน่าสังเวชใจที่สุด เขายังไม่ตื่นจากเลือดเดรัจฉานที่ห้ำหั่นกันด้วยเขี้ยวด้วยเล็บ เอากันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง ยังไม่เริ่มมีสำนึกสำเหนียกเมตตาธรรมใดเลยแม้แค่ขั้นเห็นว่า สัตว์โลกทั้งหลายล้วนเกิดมามีทุกข์ทั้งสิ้น ต่างเกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย ไปเหมือนกันหมดไม่ละเว้นสัตว์ตัวใดเลย แต่ก็ยังมืดบอด ยังไม่สามารถมี“ปัญญา”อันเป็นความฉลาดโลกุตระเข้าใจในความเป็น“จิตนิยาม”ในความเป็น“สัตว์”ขึ้นมาในโลก
จึงไม่รู้จัก“ค่าแห่งความเป็นชีวะระดับจิตนิยาม” อันกว่าจะเป็น“พลังงานขั้นนี้”นั้น มันต้องใช้เวลาสะสมยาวนานกี่ล้านต่อกี่ล้านอสงไขยกัปป์ เขาก็ไม่สามารถรู้หรอก มันเสียเวลา เพราะมัน“ไม่รู้”(อวิชชา)จึงต้องหลง“วนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสาร มีทุกข์-หลงสุขทรมาน”อยู่อย่างสุดแสนโง่เง่า(อวิชชา)ปานใด ผู้ยังไม่เกิด“ปัญญา”ที่เป็นโลกุตระ จะไม่มีทางเดาได้เลย เพราะเป็น“อจินไตย”จริงๆ คนเอ๋ย…
ยิ่งเป็น“ชาวพุทธ”อยู่แล้ว อย่ามัวเมาหลงโลกธรรม ประมาทอยู่เลย ยุคนี้เป็นยุคที่“โลกุตรธรรม”เจิดจ้าปรากฏขึ้นแล้ว “ความจริงยิ่งใหญ่อันประเสริฐ”นี้ในหลวง ร.9 ทรงตราลงไปในประเทศไทยยืนยัน แล้ว จะมัวงมจมอยู่กับ“โลกโสโครก”กันไปอีกนานเท่าใดหือ?
-
สมณะโพธิรักษ์ (31 ม.ค. 61)