รำลึกถึง สล่าปั๋น ดีไซน์เพื่อชีวิต
สล่าปั๋น นายมนตรี ดวงทรง ชื่อพ่อครูตั้งให้ “บุญดิน” อายุ 68ปี
สล่าปั๋น เป็นสล่า(ช่าง) แกะสลักฝีมือเยี่ยม เมื่อ30+ปีที่แล้วมาแกะสลักที่ลานนาอโศก เพื่อนำไม้ที่แกะได้ไปติดที่ศาลางาน ปฐมอโศก
ยังรำลึกถึงลุงปั๋นเสมอเมื่อเห็นภาพนั้น ขอให้ลุงพักผ่อนให้สบาย คงได้กลับมาร่วมงานกับพ่อครูอีก ยังจำได้เมื่อก่อนเวลาพ่อครูมาลานนา จะเรียกลุงสล่า อย่างกันเองมากๆ พ่อครูเรียก ปั๋น ปั๋นมาดูตรงนี้หน่อย เช่นนี้เป็นต้น เวลาพ่อครูมาตรวจงานแกะแล้วต้องการให้สล่า ตกแต่งงานตรงไหน …ต้นกล้า(อ๋อย)
ดีไซน์เพื่อชีวิต
ลุงปั๋นเป็นเด็กบ้านนอกทางภาคเหนือ พ่อแม่ทำไร่ทำนา มีลูกหลายคน
ในวัยเด็ก ปั๋นมักใช้เวลาว่างจากการเรียนไปปักเบ็ดหาปลา แล้วนำไปฝากญาติขายในตลาด ได้เงินมาก็แบ่งกันคนละครึ่ง
เงินที่หามาได้ ปั๋นจะฝากย่าไว้โดยใส่ออมสินที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ เมื่อเงินเต็ม ปั๋นก็จะผ่าออกแบ่งส่วนหนึ่งให้ย่าไว้ใช้ภายในบ้าน ที่เหลือเอาไปซื้อชุดนักเรียนไว้ใส่เอง ซึ่งในสมัยนั้นเสื้อราคาตัวละ ๑๐ บาท
ขณะนั้นปั๋นอายุเพียง ๙ ขวบ กำลังเรียน ป.๓ เนื่องจากเป็นคนรักสะอาด ชอบความงามและความมีระเบียบ เมื่อได้ใส่ชุดนักเรียนใหม่ไปโรงเรียน จึงมีความสุขมาก แต่ก็สุขได้ไม่นาน เพราะเห็นเพื่อนร่วมชั้นที่ยากจนใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ มาโรงเรียน ปั๋นจึงเกิดความคิดว่าน่าจะหาเสื้อใหม่มาให้เพื่อนๆ บ้าง แต่นั้นมา ปั๋นจึงตั้งหน้าตั้งตาหาเงินเพื่อซื้อเสื้อใหม่ให้เพื่อน และได้บอกเรื่องนี้ให้ย่ารู้ ย่าก็สนับสนุนเพราะย่าเองก็เป็นคนใจบุญ ย่าสอนให้ปั๋นไปวัดทุกวันพระ และห้ามปักเบ็ดในวันสำคัญทางศาสนา
เมื่อได้เสื้อใหม่แล้ว ปั๋นยังคิดต่อว่าจะเอาไปให้เพื่อนอย่างไร ถ้าบอกว่าตนให้ เพื่อนคงอายและไม่กล้ารับไว้ ปั๋นจึงไปหาใบตองมาห่อเสื้อให้เรียบร้อย แทนใส่ถุงเหมือนสมัยนี้ แล้วเอาไปให้เพื่อน โดยบอกว่ากำนันฝากมาให้ เพื่อนที่ได้เสื้อใหม่ก็ดีใจมาก
ปั๋นทำอย่างนี้เรื่อยมาจนจบ ป.๔ หาเงินซื้อเสื้อใหม่ให้เพื่อนได้หลายคน นับเป็นความภูมิใจของเด็กชายตัวเล็กๆ ที่ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่และไม่ธรรมดา เพราะเป็นการกระทำที่ไม่หวังผลตอบแทนหรือคำชมเชยใดๆ ความสุขที่เห็นเพื่อนๆ ได้ใส่เสื้อใหม่เช่นเดียวกับตนนั้นคือรางวัลที่แท้จริง
เมื่อปั๋นจบ ป.๔ ก็ตามพี่สาวไปอยู่ในเมือง ทำงานก่อสร้างอยู่ปีเดียวก็มาเรียนแกะสลักไม้ เพราะเคยเห็นคนแกะสลักพระพุทธรูปไม้ที่มีใบหน้ายิ้มละไม แล้วรู้สึกทึ่งและแปลกใจมากว่า ทำไมช่างไม้ถึงได้เก่งกาจเสียเหลือเกิน ทำให้ไม้เป็นท่อนยิ้มได้
ปั๋นไปนั่งเฝ้าดูเขาแกะอยู่ ๗-๘ วัน อยากจับสิ่ว อยากเรียนรู้ และขอเขาทำ เขาก็ไม่ให้ จนเพื่อนคนหนึ่งซึ่งมีพี่ชายเป็นช่างแกะสลักรู้เข้า จึงชวนไปเรียนกับพี่ชายเขาอยู่ ๑ ปี พอแกะสลักเลี้ยงชีพได้ ปั๋นแกะสลักได้ทุกอย่าง แล้วแต่ใครจะจ้างให้ทำอะไร แต่ที่ถนัดและชอบมากคือแกะรูปช้างป่าและชาวเขา
ขณะทำงานรับจ้างอยู่นั้น ก็ได้รู้จักสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งซึ่งต้องการให้ปั๋นทำงานให้ โดยให้ค่าแรง ๒๐๐ บาท แต่ปั๋นขอเพียง ๑๕๐ บาท ทั้งที่ไม่อยากคิดเงิน เพราะเป็นงานศาสนา แต่ปั๋นมีครอบครัวแล้วในตอนนั้น และมีลูกต้องส่งเสีย ๒ คน
ช่วงอยู่วัดนี้เองที่ปั๋นเริ่มใกล้ชิดศาสนา เข้าใจหลักปฏิบัติให้ลด ละ เลิก อบายมุขต่างๆ และหันมาฝึกใช้ชีวิตสมถะ
– กินให้น้อยลง
– ใช้ให้น้อยลง
– เสียสละให้มากขึ้น
ปั๋นอยากทำงานโดยไม่รับเงินอย่างเต็มตัว ติดแต่ยังต้องส่งลูกเรียน จึงแบ่งเวลาทำงานให้วัด และรับจ้างแกะสลักหาเงินไปด้วย
ขณะอยู่วัด ลุงปั๋นได้รู้จักนักศึกษาคนหนึ่งที่มาปฏิบัติธรรมที่วัด และชวนลุงไปช่วยสร้างโรงเรียนบนดอยให้เด็กชาวเขาเดือนหนึ่ง เพราะโรงเรียนที่ใกล้หมู่บ้านที่สุดอยู่ห่างออกไปเกือบสิบกิโลเมตร เด็กๆ ไม่สามารถเดินเท้าไปเรียนได้ ถ้าไปโรงเรียน ก็ต้องค้างที่นั่นเลยเพราะเดินกลับไม่ทัน และไม่มีหนทางหรือพาหนะอื่นนอกจากการเดินเท้าเท่านั้น
เมื่อไปถึงดอย ลุงปั๋นก็เห็นว่าชาวบ้านยากจนมาก ไม่มีอะไรเลย ไม่รู้จักการเพาะปลูก ความเป็นช่างผู้มีใจอารี ทำให้แต่แรกที่คิดจะสร้างโรงเรียนเล็กๆ ธรรมดาๆ เปลี่ยนเป็นสร้างให้ใหญ่ขึ้น และให้คงทนถาวร
เนื่องจากได้เห็นไม้สัก จึงอยากทำให้ดีๆ อยู่ได้นานๆ แต่เมื่อไม่มีงบจากทางการ จึงเริ่มขอเงินบริจาค มีนักศึกษาและญาติพี่น้องหลายรายรวบรวมเงินก้อน และบริจาคสมทบมาเรื่อยๆ จนสำเร็จ เป็นโรงเรียนที่ไม่เล็กนัก และมั่นคงแข็งแรง เพราะได้รับการร่วมแรงร่วมใจจากชาวบ้านและเด็กนักเรียน
ชาวบ้านช่วยกันเลื่อยไม้ให้ถึง ๖ ครั้ง โดยไม่คิดค่าแรง แต่ทางลุงปั๋นและพวกก็หาอาหารของแห้งไปให้เป็นของตอบแทน
เด็กๆ ตั้งแต่ ๕ ขวบขึ้นไปก็มาช่วยขนทราย หิ้วกระป๋อง แบกน้ำ
ลุงปั๋นไม่เพียงสร้างอาคารไม้ แต่ยังทำโต๊ะนักเรียน ที่เก็บจานชาม ช้อน แก้วน้ำส่วนตัว โดยมีหมายเลขกำกับทุกช่อง ตรงกับชื่อเด็กที่ติดไว้เหนือหิ้ง ทำระบบล้างจานแบบประหยัดน้ำ สร้างห้องน้ำห้องส้วมไว้อย่างครบครัน ทุกอย่างสะอาด มีระเบียบ สวยงามตามนิสัยของลุงปั๋นผู้ก่อสร้าง
ลุงใช้เวลาอยู่เกือบ ๔ ปี ทั้งที่แต่แรกกะจะมาเดือนเดียว แต่เมื่อต้องสร้างไป รอเงินบริจาคไป และโครงการขยายออกไป จึงใช้เวลานานขึ้น อีกทั้งการก่อสร้างบนป่าบนดอยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโรงเรียนอยู่ไกลและกันดาร หนทางก็ย่ำแย่ ขนาดรถขับเคลื่อนสี่ล้อยังวิ่งไม่ได้ ค่าขนส่งก็แพงมาก ไม่ว่าจะปูน สังกะสี ต้องบวกค่าขนส่งอีกหลายเท่า ทำให้ต้องใช้เงินมากกว่าปรกติ แต่ในที่สุดโรงเรียนก็เสร็จด้วยงบประมาณ ๒ แสนบาทเศษ
ระหว่างอยู่ที่นั่น ลุงเห็นชาวบ้านที่ยากจนได้แต่หาของป่าไปวันๆ กินข้าวเปล่ากับพริกตำ ลุงปั๋นรู้สึกสงสารชาวบ้านมาก จึงสอนให้ปลูกกล้วย ปลูกผัก ทำเกษตรที่โรงเรียน ให้เด็กมีอาหารกิน เคยเพาะเห็ดหอมไว้กินกันเองด้วย น่าเสียดายว่าภายหลังไม่มีผู้สานต่อเพราะหนุ่มสาวลงจากดอยไปเรียนหนังสือที่ข้างล่างกันหมด เหลือแต่เด็กเล็กซึ่งไม่อาจดูแลการเพาะเห็ดหอมได้
ลุงปั๋นเป็นคนแข็งแรง วิ่งขึ้นลงเขาระยะทาง ๔ กิโลเมตรได้สบายๆ เพราะดูแลอาหารการกินดี เน้นยอดผักธรรมชาติ ผักป่า ข้าวกล้อง กล้วยน้ำว้า ลุงบอกว่าอยากให้วันยาวกว่านี้ จะได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้มากๆ
เมื่ออาคารเรียนเสร็จ ก็สร้างโรงอาหารให้เด็ก ๗๐ คนต่อ เมื่อก่อนเด็กต้องใช้ห้องเรียนเป็นห้องอาหารด้วย แต่เนื่องจากพื้นเป็นปูน หน้าหนาวจะหนาวมาก เพราะเด็กๆ ต้องนั่งพื้น ลุงจึงสร้างโรงอาหารต่อจากโรงเรียน โดยปูพื้นไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันหามาให้ แต่ก็ต้องรอเงินบริจาคเพื่อซื้อสังกะสีมุงหลังคา และแท็งค์เก็บน้ำฝน เพื่อให้เด็กมีน้ำดื่มกันตลอดทั้งปี
แม้ลุงไม่มีรายได้อะไรเลยและไม่อาจบริจาคเงิน แต่ลุงก็บริจาคแรงงานอย่างเต็มที่ ทำให้ทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ลุงได้พิสูจน์คำสอนของครูบาอาจารย์ที่ว่า
“คนเราไม่จำเป็นต้องมีเงินก็อยู่ได้ ขอให้ขยัน ซื่อสัตย์ และทำแต่ความดี เราจะไม่อดตายเลย”
ลุงปั๋นในวันนี้เป็นนักแกะสลักมือฉมัง สามารถแกะน้ำเป็นน้ำ แกะเมฆเป็นเมฆ หากรับจ้างฝรั่ง ลุงคงได้เงินมาก แต่ลุงบอกว่า
“เราเกิดมาจากดิน ตายแล้วก็ไปสู่ดิน ลุงตายตรงไหนก็เผาตรงนั้น ”
Everyone can be great, because everyone can serve – Dr. Martin Luther King Jr.
…อ.หญิง(รัศมี กฤษณมิศ)