สัมมาพัฒนา
สันติอโศก
ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน
เขียน
Right Development
The Santi Asoke
Buddhist Reform Movement of Thailand
Juliana Essen
ถนอม บุญ
แปลและเรียบเรียง
บทที่ ๑
บทนำ
ดร. จูลิอานา เอสเซน เริ่มต้นหนังสือเล่มนี้ ด้วยการกล่าวถึงนิทานปริศนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ปัจจุบัน ทรงใช้ในการสั่งสอนพสกนิกรของพระองค์ ให้ใช้ความรอบคอบในการพัฒนาประเทศ นิทานเรื่องนี้ความว่า
วันหนึ่ง พระมหาชนก เสด็จประพาสพระราชอุทยานหลวง และได้เสวยมะม่วงผลหนึ่ง พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “มะม่วงต้นนี้ ให้ผลที่มีรสหวานกลมกล่อม” แล้วเสด็จเลยไป แต่เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาประพาส พระราชอุทยานอีก ในวันต่อมา ไม่เห็นมะม่วงต้นนั้น ทรงตรัสถามคนสวน ก็ได้ความว่า หลังจากที่พระองค์เสด็จผ่านไปแล้ว ผู้คนกรูกันเข้าแย่ง เก็บผลมะม่วง จนกิ่งหักโค่นลงมา บัดนี้ มะม่วงถูกขโมยไปทั้งต้น แม้แต่รากก็ไม่เหลือ
ดร. เอสเซน บอกว่า นักปราชญ์ไทยหลายคน เช่น หมอประเวศ วสี ให้อรรถาธิบายว่า ประเทศที่ขับเคลื่อน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ด้วยแรงแห่งความโลภ หรือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ก็จะลงเอย เหมือนนิทานเรื่องนี้ (คือจะไม่มีมะม่วงให้กิน -ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ให้ใช้อีกต่อไป) ตัวอย่าง ประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นแหล่ง ที่ให้ความผาสุกแก่พลเมือง แต่เมื่อมีการเร่งรัดพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยการลงทุนแบบอุตสาหกรรม ก็ประสบปัญหา อย่างที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน เช่น สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ศีลธรรมเสื่อมลง ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ระหว่าง คนมั่งมีกับคนจน เพิ่มมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ เป็นที่ประจักษ์ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ในอาเซียอาคเนย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ บัดนี้ คนไทยหลายคน ตระหนักถึง ผลร้ายที่เกิดขึ้น กับการพัฒนาเศรษฐกิจ แบบนั้น และหันมาหาทางเลือกใหม่ เช่น การมีสังคมแบบชนบท ซึ่งดำรงชีพตามหลักพุทธศาสนา
ดร. เอสเซน ชี้ให้เห็นว่า สันติอโศก ประสบความสำเร็จ ในการปฏิรูปพุทธศาสนา เพื่อใช้เป็นแนวทาง สำหรับ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เธอรายงานว่า ชาวสันติอโศกจำนวนหนึ่ง (๗ ชุมชน) ได้ดำเนินชีวิต ตามอุดมคติทางพุทธ เช่น การไม่ยึดติดในวัตถุ และพยายามเข้าให้ถึง ความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ ปรากฏว่า ตลอดเวลาที่ประเทศไทย กำลังประสบความหายนะทางเศรษฐกิจ ชาวอโศก กลับพบความเจริญรุ่งเรือง อโศกได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า คนธรรมดาสามัญทั่วไป ก็สามารถดำเนินชีวิต ให้เกิดความสำเร็จ หรือการเป็นคนที่มีคุณค่าได้
ดร. เอสเซน เป็นสตรีอเมริกัน เชื้อสายสแกนดิเนเวียน และนับถือศาสนาคริสต์ เธอรวบรวมข้อมูล สำหรับเขียนหนังสือเล่มนี้ จากการคลุกคลีอยู่กับชาวอโศก ที่พุทธสถานศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ ในระหว่าง กันยายน – ตุลาคม ๒๕๔๒ และ กันยายน ๒๕๔๓ – กรกฎาคม ๒๕๔๔ เธอเล่าว่า เธอทำทุกอย่าง เสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่ง ของศีรษะอโศก เช่น ถือศีล ๕ เว้นอบายมุข นอนบนเสื่อกกในเรือนไม้ ตื่นตี ๓ ครึ่ง เพื่อสวดมนต์ และฟังธรรม ช่วยงานวัด กินอาหารมังสวิรัติ สนทนากับเพื่อนบ้าน ดูแลเด็ก ฟังการประชุมคณะกรรมการ และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงมีความเข้าใจลึกซึ้ง ถึงหัวใจ ของสิ่งที่ชาวอโศก ยึดถือและปฏิบัติ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง นอกจากนี้ เธอยังรวบรวมข้อมูล จากแหล่งอื่นๆ เช่น ห้องสมุด พุทธสถานสันติอโศก ที่กรุงเทพฯ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ความเป็นมาของอโศก การสำรวจความคิดเห็น แบบสุ่มตัวอย่าง จากสมาชิก มากกว่าครึ่งหนึ่งของศีรษะอโศก การสัมภาษณ์ ตัวแทนชุมชนศีรษะอโศก การแปลความ จากภาพถ่าย และข้อเขียน ของสมาชิกชุมชนศีรษะอโศก ซึ่งบรรยายความสำคัญ ของชุมชนของเขา
Chapter 1: Introduction
“Right Development”
The Santi Asoke Buddhist Reform
Movement of Thailand
One day King Mahajanaka visited the Royal Park where he tasked the sweet fruit of a mango tree. When he passed the tree later, he found it had been plundered and uprooted by greedy people scrambling for its delicious fruit.
His Majesty the King of Thailand uses this traditional Buddhist riddle in his recent book to teach his kingdom lessons about sustainable development. Prominent Thai scholars such as Dr. Prawase Wasi interpret it as and analogy for “development driven by greed.” Dr. Prawase1 laments, “We are short-sighted . . .
When people struggle only for economic gain, society and the environment are destroyed” (Bangkok Post, September 13, 1999). Indeed, after more than three decades of promoting rapid economic growth via capital-intensive industrialization, Thailand faces a widening socioeconomic gap, environmental devastation, and decline of Buddhist values. The 1997 economic crisis in Southeast Asia thus marks a critical moment in Thailand’s history. Now, many Thais pause to reevaluate their nation’s development path and to consider other options for a primarily Buddhist, agrarian society.
The Santi Asoke Buddhist Reform Movement in Thailand offers one such alternative. The Asoke group’s aim is not a Western ideal—to accumulate high levels of material comfort—but a Buddhist ideal—to release attachment to the material world and attain spiritual freedom. The fact that the seven Asoke communities have continued to thrive throughout the nation’s economic troubles is a testament to the movement’s success in raising the quality of life for ordinary people. This book draws on ethnographic research at one community, the Srisa Asoke Buddhist Center, to illustrate Asoke beliefs and practices that foster material and spiritual development on three levels: individual, community, and society.
The research sprang from a fundamental critique of the mainstream development paradigm that promotes economic growth through monetary and technical aid. Anthropologists and other social scientists have exposed Western development models as historically and culturally constructed, which thus cannot be reproduced globally with consistently satisfying results. These scholars further criticize the overemphasis on economic growth, not only for failing to “trickle down” to improve ordinary people’s lives, but for in fact worsening their existence through the burdens of structural adjustment programs and environmental ruin. …
“Right Development” examines the Santi Asoke Buddhist Reform Movement of Thailand as a culturally and environmentally appropriate alternative to western development programs. The Asoke group’s aim is not a Western ideal, to accumulate high levels of material comfort, but a Buddhist ideal to release
Chapter 2
Context: Thai Buddhism(s)
The Santi Asoke Buddhist Reform Movement is chiefly concerned with the practice and propagation of Buddhism in a nation that is 95 percent Buddhist. As such, background on Thai Buddhist traditions and responses to modern problems will facilitate a deeper understanding of the Asoke movement’s foundational principles and its significance within the wider Thai context. While much acclaimed literature on Buddhism in Thailand1 focuses on the relationship between Buddhism and the state, this political level of analysis gives only a partial picture. Thus, this chapter aims to give a fuller sense of the diverse beliefs and practices that make up Buddhism in Thailand.
Elementary Buddhism
But first, a brief overview of elementary Buddhist tenets may be helpful to the less familiar reader. There are many schools of Buddhist thought and innumerable forms of practice, yet these variations maintain certain common principles. Buddhism is non-theistic; that is, the Buddha is an exemplar and teacher, not a god. A Buddhist vows to take refuge in the Three Jewels: Buddha, Dharma (meaning the Buddha’s teachings, duty, and the laws of nature), and Sangha (traditionally the hierarchical order of monks, but more loosely understood as the Buddhist communiry). The Buddha’s central doctrine, the Four Noble Truths, teaches that there is suffering (dukkha), the cause of suffering is craving or desire (tanha), there is an end to suffering, and the Way to end suffering is the Eightfold Path (also known as the Middle Way). According to the Buddha, the negative craving that causes suffering stems from the delusion that there is a separate, permanent self. In fact, the three basic moral defilements (kilesa) …
บทที่ ๒
สภาพพุทธศาสนาของไทย
(ก่อนสันติอโศก)
ในบทนี้ ผู้เขียนอธิบาย หลักพุทธศาสนาอย่างคร่าวๆ เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่มีความรู้ ในพุทธศาสนา เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า และกล่าวถึง ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจาก การพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างเร่งรีบ เนื่องจาก ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ ๙๕) พุทธศาสนา จึงมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของคนไทย เมื่อมีปัญหาในชีวิต คนไทยมักหาทางออก โดยการพึ่งพระศาสนา แต่ในขณะที่ประเทศชาติ ทุรนทุรายอยู่กับ การแก้ปัญหา ทางเศรษฐกิจและสังคม พุทธศาสนาของไทย ก็มีความสับสนอยู่ไม่น้อย มีผู้เข้าใจศาสนาไขว้เขว และปฏิบัติแตกต่างกัน บางคน นำเอาลัทธิ หรือประเพณีอื่น มาปะปนกับการปฏิบัติ และเข้าใจว่าเป็นพุทธศาสนา กลุ่มอโศกได้ก่อตั้งขึ้น ในขณะที่ ประเทศชาติและศาสนา กำลังมีปัญหา กลุ่มนี้ ค้นหาหลักพุทธศาสนาที่แท้จริง มาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต และช่วยแก้ปัญหาของสมาชิกในกลุ่ม บัดนี้กลุ่มอโศก ได้เจริญก้าวหน้า และขยายตัวออกไป อย่างกว้างขวาง ทุกภาคในประเทศไทย
ผู้เขียนอธิบายว่า พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ไม่มีพระผู้เป็นเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นแบบอย่าง และครูที่ดี ชาวพุทธนับถือพระรัตนตรัย นั่นคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม (คำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า) และพระสงฆ์ (ตามประเพณี หมายถึงพระ หรือ ผู้ออกบวช ที่มีการปกครองเป็นขั้น ลดหลั่นกันไป แต่ในความหมายกว้างๆ หมายถึง ชาวพุทธ ที่อาศัยอยู่ในที่เดียวกัน และปฏิบัติตามกฎ ข้อบังคับ อันเดียวกัน) ใจกลางของคำสอนในศาสนา คือ อริยสัจ ๔ ซึ่งหมายถึงทุกข์ สาเหตุให้เกิดทุกข์ คือความอยาก หรือตัณหา การดับทุกข์ และ หนทางแห่งการดับทุกข์ อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ผู้เขียน อ้างคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ความอยากในทางลบ ที่ทำให้เกิดทุกข์นั้น เกิดจากความหลง ว่ามีตนที่ถาวร กิเลสซึ่งมีโลภโกรธหลง ผูกพันอยู่กับความมีตน พระพุทธเจ้า จึงสอนหลักอนัตตา หรือ ความไม่มีตน การปล่อยวาง ความยึดมั่นในตน (“ตัวกู” “ของกู”) และการเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงความจริงเหล่านี้ จะนำไปสู่ปรินิพพาน
ศาสนาพุทธได้รับสมญาว่า ลัทธิแห่งตัวบุคคล เพราะว่าคนแต่ละคน มีความรับผิดชอบ ในตัวของตัวเอง ในการดำเนินชีวิต ไปสู่การหลุดพ้น หรือปรินิพพาน โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจสิ่งศักดิสิทธิ์ และ การที่จะเข้าให้ถึงปรินิพพานนั้น บุคคลต้องปฏิบัติ มรรค ๘ ตามความสามารถของตน และพิสูจน์ความมีเหตุผล ของมรรค ๘ ด้วยตัวของตัวเอง องค์ประกอบของมรรค ๘ คือ การมีความเห็นชอบ การพยายามชอบ การคิดชอบ การเจรจาชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ การมีสติชอบ และ การมีสมาธิชอบ (ชอบ-ในที่นี้ หมายถึง ความถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม ไม่ใช่ชอบตามอารมณ์) ผู้ปฏิบัติดำเนินการ ตามองค์ประกอบ ทั้ง ๘ นี้พร้อมๆกันไป โดยไม่ต้องเรียงลำดับความสำคัญ แต่ก็มีความหมายมั่น ที่จะทำศีล สมาธิ และปัญญา ให้สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม สำนักต่างๆในประเทศไทย เน้นความสำคัญ ของการฝึก ศีล สมาธิ และปัญญา ไม่เหมือนกัน
พุทธศาสนาในระบอบวัดของไทย
พระสงฆ์ เป็นภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา ผู้เขียนกล่าวว่า ในขณะที่พระสงฆ์ไทยบางรูป มีความผูกพัน อยู่กับส่วนกลาง สร้างความก้าวหน้า ในตำแหน่งหน้าที่ทางศาสนา และเสนอแนะความคิดเห็น ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนา แก่รัฐบาล ยังมีพระสงฆ์ อีกจำนวนไม่น้อย ที่เป็นพระนักวิชาการ พระป่า ซึ่งปลีกตัวภาวนาอยู่ตามลำพัง และพระชนบท ซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน พระประเภทหลังนี้ มีจำนวนมาก แต่ได้รับความสนใจน้อย และโดยหน้าที่แล้ว พระเหล่านี้ ไม่มีเวลาจะศึกษาเล่าเรียนภาวนา หรือ แสวงหาอำนาจทางการเมือง ตรงกันข้าม ท่านทำหน้าที่ ตามความต้องการของชุมชน เช่น เป็นครู เป็นผู้ไกล่เกลี่ย กรณีย์พิพาท เป็นที่ปรึกษาครอบครัว เป็นหมอยากลางบ้าน เป็นนักออกแบบก่อสร้าง เป็นหมอดู และเป็นนักโหราศาสตร์ เมื่อรัฐไม่มีงบประมาณ หรือละเลยการฟื้นฟูชนบท พระเหล่านี้ รับหน้าที่โดยปริยาย เช่น เป็นพระนักพัฒนา พระสิ่งแวดล้อม
อะไรจูงใจให้ชายไทยออกบวช?
เป็นคำถาม ที่ให้คำตอบคลุมเครือที่สุด มีอยู่น้อยมาก ที่คนไทยบวชเพื่อศาสนา ผู้เขียนกล่าวว่า ในจำนวนนี้ มีนักบวช ที่พ่อแม่ส่งมาอยู่วัด ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อจะได้อาหารรับประทาน มีเสื้อผ้าใช้ และจะได้รับการศึกษา โดยทั่วไป หนุ่มไทย บวชตามประเพณี ระหว่างเข้าพรรษา เพื่อเป็นพิธีการผ่านวัยรุ่น ไปสู่การแต่งงาน คนทั่วไปเชื่อกันว่า การรักษาศีล ฝึกสมาธิ และเจริญปัญญา ในระหว่างบวช จะทำให้ผู้ชาย มีคุณสมบัติดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีประเพณี ที่ลูกชายหัวปี บวชในช่วงสั้นๆ เพื่อให้แม่ ได้รับบุญกุศล
ตามปกติ พระสงฆ์ในประเทศไทย ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูง แต่เนื่องจาก ความนิยมในวัตถุเพิ่มขึ้น และ ศีลธรรมเสื่อมลง ความเลื่อมใสในพระสงฆ์องค์เจ้า ก็ลดตามไปด้วย นอกจากนี้ พระสงฆ์บางรูป ไม่เคร่งครัด ในพระธรรมวินัย เช่น นำเงินอนุโมทนา ไปซื้อตู้เย็น ทีวี เครื่องปรับอากาศ และเครื่องอำนวย ความสะดวกสบาย ที่ทันสมัย การกระทำเหล่านี้ ขัดกับคำปฏิญาณของพระ ว่าจะอยู่อย่างเรียบง่าย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีพระที่ประพฤติ นอกรีดนอกรอย ผิดพระวินัย และศีลธรรมของบ้านเมือง ข่าวเน่าเปื่อย เกี่ยวกับ พระเปื้อนโลกีย์ มีเป็นประจำ ทั้งในหนังสือพิมพ์ไทย และต่างประเทศ ผู้เขียนยกตัวอย่าง หนังสือพิมพ์ ต่างประเทศ เช่น ลอนดอนไทม์ และ แอสโซสิเอทเต็ด เพรสส์ ซึ่งลงข่าวว่า ตำรวจค้นพบว่า พระเขียนจดหมายรัก รับนิตยสารโป๊ มีขวดเหล้าในกุฏิ ใส่ผมปลอม เที่ยวบาร์ หลอกลวงเด็กหญิงชาวเขา มาเพื่อกามารมณ์ นอกจากนี้ ผู้เขียนกล่าวถึง กรณีย์อื้อฉาว ที่วัดธรรมกาย ขายซองบูชา และสมภารวัด ครอบครองที่ดินหลายร้อยไร่ ผู้เขียนกล่าวว่า มหาเถรสมาคม (ซึ่งมีหน้าที่ ดูแลพระสงฆ์ทั้งประเทศ) แทบไม่ได้ทำอะไรเลย ในการที่จะปฏิรูปคณะสงฆ์ นอกจาก ลงโทษพระที่กระทำผิด ในกรณีย์ ดังกล่าวเท่านั้น
ชาวพุทธที่เป็นฆราวาส
นักมานุษยวิทยาบางคน ตั้งข้อสังเกตว่า พุทธศาสนา เป็นวิถีทางแห่งการดำเนินชีวิต และเป็นเอกลักษณ์ ของชาติไทย มาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่มีคนเพียงส่วนน้อย (เมื่อเทียบกับ พลเมืองทั้งประเทศ) เท่านั้น ที่ออกบวชเป็นพระ ถ้ากระนั้น คนส่วนใหญ่นับถืออะไร? มีผู้ให้คำตอบว่า คนที่สนใจจะเข้าถึงนิพพาน ก็ปฏิบัติตามวัด หรือคำสอนในศาสนา ส่วนคนอื่น นับถือสิ่งต่างๆ เปะปะ ไม่จำเพาะเจาะจงว่า เป็นศาสนาอะไร คนที่กลัวกรรมชั่ว ก็ใช้เวทมนต์คาถา หรือบูชาเทวดาบางองค์ คนที่อยากให้ครอบครัว อยู่เย็นเป็นสุข หรือ ทำธุรกิจรุ่งเรือง ก็ตั้งศาลพระภูมิไว้บูชา ในระดับจังหวัด หรือชุมชนใหญ่ ทุกเมือง มีศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งถือกันว่า เป็นที่สิงสถิตของเทวดาประจำเมือง ประชาชน จะนำของ มาสักการะบูชา และขอให้เทวดาคุ้มครอง ให้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้า และมีฐานะร่ำรวย นอกจากนี้ ยังมีวัตถุมงคล ซึ่งใช้กันดาษดื่น แม้ในระหว่าง ผู้ที่ได้รับการศึกษาสูงๆ ในเมืองหลวง เชื่อกันว่า วัตถุเหล่านี้ ได้รับการบรรจุ ด้วยอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถบันดาลให้ ผู้สรวมใส่ แคล้วคลาด จากอันตราย มีกำลังวังชา ร่ำรวยและฉลาด สุดท้าย พระสงฆ์ก็ได้รับนิมนต์ ไปทำพิธีอวยชัย เช่น ประพรม น้ำมนต์ เจิมหน้ารถ หรือ เจิมประตูบ้าน เพื่อป้องกันภูตผีปีศาจ ที่จะมุ่งร้าย นำความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือ ภัยพิบัติมาให้
แม้ว่าจะมีพระ ไปเกี่ยวข้องอยู่กับการปฏิบัติ ทางเวทมนต์คาถา ก็ยังมีคนไทยไม่น้อย ที่ไม่เห็นด้วย กับการปฏิบัติเหล่านั้น ชาวไทย ก็ยังแยกความเชื่อทางไสยศาสตร์ ออกจากพุทธศาสนา ชาวพุทธที่มีหัวปฏิรูป มักตั้งคำถาม เอากับชาวพุทธ ที่เอนเอียงไปทางไสยศาสตร์บ่อย ตัวอย่างเช่น ท่านพุทธทาส ผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้ยิ่งใหญ่ของไทย กล่าวไว้ ในหนังสือ คู่มือมนุษย์ ว่า
ถ้าคนสามารถ ทำลายความทุกข์ได้ ด้วยการถวายของ กราบไหว้บูชา และสวดอ้อนวอน ก็จะไม่มีคน ที่มีความทุกข์ เหลืออยู่ในโลกนี้ แม้แต่คนเดียว แต่ยังมีคนทนทุกข์ทรมาน อยู่มากมาย แม้แต่ในขณะที่เขาทำพิธี แสดงความเคารพ หมอบ กราบไหว้บูชา แสดงว่า วิธีนี้ ไม่ใช่ทางแห่งการพ้นทุกข์
ท่านพุทธทาส เน้นว่า ศาสนาพุทธ มีพื้นฐานอยู่บนเหตุผล และการเข้าใจอย่างถ่องแท้
นักมานุษยวิทยาบางคน เห็นว่า หลักศีลธรรมสำหรับฆราวาส ยังคลุมเครือ และไม่มีทางที่คนธรรมดาสามัญ จะสามารถปฏิบัติ ให้สมบูรณ์แบบได้ แต่มีผู้แย้งว่า ศีลธรรม ไม่ใช่ทางเลือกเพียงทางเดียว ยังมีทางอื่นให้เลือกอีก เช่น การทำกรรมดี ยิ่งๆขึ้นไปในอนาคต เพื่อให้สมดุลกับกรรมชั่ว ที่ทำไว้ในอดีต ความจริง กรรม ไม่ใช่คติในพุทธศาสนา แต่ถูกเอามารวมกับศาสนาพุทธ แทบแยกไม่ออก อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนเชื่อว่า กฎแห่งเหตุและผล ที่เกี่ยวเนื่องกัน (ปฏิจจสมุปปบาท) ควบคุม ธรรมชาติทั้งมวล รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย ดังเช่น คติที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
คนไทยเข้าใจว่า กรรม เป็นความสัมพันธ์ ระหว่าง วิบากกรรม (ผลของการทำชั่วในอดีต) กับบุญ ซึ่งอาจสะสมไว้ได้ โดยการกระทำความดี เพื่อที่จะทำให้ชีวิตในชาตินี้ หรือชาติหน้า ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ คนไทยจึงเชื่อว่า การทำบุญ เป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม ในพระพุทธศาสนา การทำบุญ อาจรวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกทุนสร้างวัด หรือซ่อมแซมโบสถ์วิหาร บวชเป็นพระ หรือบวชลูกชาย ถวายอาหารพระทุกวัน ปฏิบัติธรรมในวันพระ และถือศีลห้า อย่างเคร่งครัด ผู้เขียนกล่าวว่า คนทั่วไป -ยกเว้นสมาชิกอโศก -ถือว่า การทำบุญ ง่ายกว่าการถือศีล และภาวนา
พร้อมกับการตื่นตัว ของคนชั้นกลางในเมืองหลวง คนไทยบางคน นำเอาพุทธศาสนา ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการทำงาน ผู้เขียนยกตัวอย่าง พลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งได้รับสมญาว่า “มิสเตอร์ คลีน” พลตรีจำลอง ได้นำเอาหลักพุทธศาสนา ไปใช้ในการปฏิบัติราชการ (เช่น เมื่อท่านเป็นเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร หัวหน้าพรรคการเมือง และ รองนายกรัฐมนตรี) ผู้เขียนเล่าว่า ภรรยาของพลตรีจำลอง เป็นคนเคร่งศาสนา และถือศีลห้า อย่างเคร่งครัด พลตรีจำลอง เอาเธอเป็นตัวอย่าง โดยการเลิกบุหรี่ เหล้า หมากฝรั่ง และยาอม คนทั้งสองปฏิญาณว่า จะไม่ดูหนัง ดูละคร หรือ การละเล่นอื่นๆ ที่ทำให้เสียเวลา นักรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งศึกษาชีวิตและการทำงาน ของพลตรีจำลอง รายงานว่า ด้วยการตัดกิจกรรมที่ไร้สาระ ตามมาตรฐานพุทธศาสนา ทำให้คนทั้งสอง ประสบความสำเร็จ ในการศึกษา และการทำงานทางการเมือง
ผู้เขียนยกตัวอย่าง ชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติสุดโต่ง ไปในทางโลก กลุ่มนี้มีชื่อว่า ธรรมกาย ผู้เขียนบรรยายว่า ทุกเช้าวันอาทิตย์ จะมีรถบรรทุกคน ประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน จากสารทิศ ทั่วกรุงเทพฯ มายังโบสถ์สมัยใหม่ ที่วัดธรรมกาย เพื่อร่วมพิธีคอนเสิร์ท ซึ่งเตรียมการเอาไว้เป็นพิเศษ แล้วก็ฝึกภาวนา ในสนามหญ้าผืนใหญ่ ที่เขียวขจี ผู้เขียนกล่าวว่า กลุ่มชนชั้นกลาง ระดับสูงเหล่านี้ มองไม่เห็นความขัดแย้ง ระหว่าง การมุ่งมั่นที่จะทำจิตใจให้เจริญ กับการสะสม ความร่ำรวยทางวัตถุ แต่คณะธรรมกาย เชื่อว่า การภาวนา ทำให้คน มีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จ ในชีวิต
ตรงกันข้ามกับวัดธรรมกาย ขบวนการปฏิรูปพุทธศาสนา สันติอโศก ไม่เห็นด้วย กับการปฏิบัติ “ทางโลก” ที่คนไทยส่วนใหญ่ กระทำอยู่ ชุมชนอโศก เน้นหลักศีลธรรม การร่วมมือกัน และความเป็นอยู่อย่างเพียงพอ ความจริง ทั้งธรรมกายและอโศก ต่างก็เป็นขบวนการปฏิรูป ที่เริ่มต้นในเมือง แต่ที่แตกต่างกันมาก ก็คือ สมาชิกส่วนใหญ่ของอโศก เป็นชาวชนบท
๖ ใน ๗ ชุมชนของอโศก อยู่ในชนบท (๗ ใน ๙ ขณะพิมพ์หนังสือเล่มนี้) สมาชิกของชาวอโศก มีความหลากหลาย มีทั้งคนจีน คนไทย ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขณะนี้ รวมภาคใต้ด้วย) ระดับการศึกษา มีตั้งแต่คนที่ ไม่เคยเข้าโรงเรียน ไปจนถึงคนที่จบปริญญาโท ทำอาชีพต่างๆ กันมาก่อน เช่น วิศวกร ครู ผู้พัฒนาที่ดิน ศิลปิน และคนหาบเร่ แรงจูงใจ ที่ทำให้คนเหล่านี้ มาเป็นสมาชิก ก็คือ “ความรู้สึกว่า เป็นญาติพี่น้องกัน” (ญาติธรรม) ผู้เขียนกล่าวว่า ชุมชนอโศก อาจมีวิธีการเลี้ยงชีพ ที่มั่นคงกว่าวิธีอื่น ที่คนไทยบางคน จะดำเนินด้วยตัวเอง นอกจากนี้ อโศก ยังเป็นสถานที่หลบภัย จากปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด การหย่าร้าง อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของอโศก สลับซับซ้อน
พุทธศาสนาที่เชื่อมกับสังคม
ปัญหาที่ถกเถียงกันมาช้านาน คือ “พระควรอยู่ป่า และตั้งใจภาวนา โดยไม่พัวพันกับสังคม หรือว่า พระควรอยู่ในเมือง เกี่ยวข้อง อยู่กับการศึกษา และสาธารณกิจ” พระนักปราชญ์บางรูป ก็ตั้งคำถามว่า “ทำไมเอาศาสนา ที่สอนให้ละโลก ไปผูกพันกับโลก?” นักพุทธศาสน์สังคม ตอบว่า “ก็หลักและวิธีการ ที่พุทธศาสนา เกี่ยวข้องกับสังคมนั้น มีมาตั้งแต่พุทธกาล” เรื่องนี้เคยมีการอภิปราย กันมาแล้ว ที่ประเทศศรีลังกา เมื่อราว พุทธศตวรรษที่ ๑ เรื่องมีอยู่ว่า
“พระรูปหนึ่ง (คัลลาบินดทิยะ ทิสส) ไปบิณฑบาต ที่บ้านของอุบาสิกานางหนึ่ง ซึ่งบ้านของเธอ ถูกไฟไหม้วอดวาย ตั้งแต่ตอนกลางคืน รุ่งเช้า พระก็ยังไปบิณฑบาต ที่บ้านหลังนั้นตามเคย โดยไม่สนใจว่า บ้านของอุบาสิกา ถูกไฟไหม้หรือไม่”
คำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีมากมาย เช่น ทำไม พระไปบิณฑบาต ที่บ้านซึ่งถูกไฟไหม้? พระจะได้อาหารหรือไม่? และอะไรจะเกิดขึ้น? คำตอบที่เป็นไปได้ เช่น “พระไม่ได้อาหาร จากบ้านที่ถูกไฟไหม้” “พระจะแนะนำให้อุบาสิกา คิดถึงหลักอนิจจัง” หรือ “พระเกิดความเห็นอกเห็นใจอุบาสิกา เลยทำให้ เกิดการช่วยเหลือ เกื้อกูลกันต่อไป” อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ชี้ให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ (และความสำคัญ) ของศาสนากับสังคม
การปฏิบัติศาสนา ที่กำลังมาแรง อีกแบบหนึ่งของคนไทย คือการเอาพระศาสนา มาเกี่ยวข้องกับสังคม คนไทยบางคนเห็นว่า พระสงฆ์ ซึ่งมีภาระหน้าที่ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ควรจะมีความรับผิดชอบ ทางสังคมบ้าง
ท่านพุทธทาส เป็นนักปรัชญาอาวุโส ท่านหนึ่ง ซึ่งสนับสนุนพุทธศาสนสังคม แต่ท่านไม่เห็นว่า คนที่กำลังแสวงหา ความกระจ่างส่วนตัว เป็นคนโดดเดี่ยวเดียวดาย ที่มุ่งหมาย จะเอาแต่ความยิ่งใหญ่ใส่ตน คนแต่ละคน ไม่ใช่เพียงแต่อาศัย อยู่ในสิ่งแวดล้อม ร่วมกันเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่อยู่ในระเบียบของสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ ความดีของคนแต่และคน ย่อมส่งเสริมความดี ของส่วนรวม และในทางกลับกัน ความดีของส่วนรวม ก็สนับสนุนให้คนแต่ละคน ทำความดี ขณะที่ท่านพุทธทาส เป็นนักคิด ข้อคิดของท่าน ก็เป็นแรงบันดาลใจ ให้คนอื่นปฏิบัติ เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิพากย์วิจารณ์ สมณะโพธิรักษ์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำ ของขบวนการปฏิรูปพุทธศาสนา สันติอโศก
ความเจริญก้าวหน้าอย่างรีบรุด ทางเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับพุทธศาสน์ทางสังคม ผู้เขียนกล่าวว่า โปรแกรมที่ เร่งรัดพัฒนา ผลผลิตของชาติ (GNP) ซึ่งเริ่มในสมัยรัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. ๒๕๐๓) ทำลายสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และค่านิยมของคนไทย เขม่าควันจากรถยนต์ และ โรงงานอุตสาหกรรม ในกรุงเทพฯ กลิ่นจากขยะปฏิกูล ในเชียงใหม่ น้ำเสียจากนากุ้ง ในปักษ์ใต้ การตัดไม้ทำลายป่า ในภาคเหนือ ซึ่งส่งผลให้ดินถูกชะ ตลิ่งพัง น้ำท่วม และเกิดภาวะแห้งแล้ง คนภาคอีสาน อพยพลงมา หางานในเมืองหลวง ฯลฯ ปัญหานิเวศน์ หรือ ความสัมพันธ์ ระหว่าง คนกับสิ่งแวดล้อม ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ระหว่าง “คนมี” กับ “คนไม่มี” ก็ยิ่งปรากฏชัด และ แผ่วงกว้างออกไป วัฒนธรรมที่เอื้ออาทรต่อกัน กลับกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ที่ให้ความสนใจในวัตถุ และเงินทอง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นเรื่องน่าเศร้า สำหรับชาวพุทธ ที่มีธรรมจริยาว่า “ไม่ยึดติด”
ปัญหาทางสังคมอีก ๒ ประการ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ คือ ปัญหายาเสพติด และโสเภณี เจ้าหน้าที่รัฐบาล รายงานว่า พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นปีที่คนไทยใช้ “ยาบ้า” มากที่สุด มีการคาดคะเนว่า คนไทยประมาณ ๓ ล้านคน ติดยาเสพติด เพื่อรักษา ภาพลักษณ์ของประเทศ รัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้กวาดล้างการค้ายาบ้า เป็นการใหญ่ ส่วนโสเภณี แม้ว่าผิดกฎหมาย แต่จำนวนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก พ่อแม่ที่ยากจน ขายลูกสาว ให้วงการค้าประเวณี และ หญิงสาวบางคนขายตัว เพื่อแลกกับความเป็นอยู่ อย่างฟุ่มเฟือยในเมืองหลวง บ้างก็ทำเพื่อ เอาเงินจุนเจือครอบครัว ที่ยังอยู่บ้านนอก
เพื่อจะช่วยแก้ปัญหา ทางเศรษฐกิจ สังคมและค่านิยม ที่กำลังเปลี่ยนแปลง พระสงฆ์หลายรูป ในชนบท มองหาแนวทาง จากพุทธศาสนา ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ พระนักพัฒนา ๗๒ รูป มีความเห็นว่า
(๑) กิจการพัฒนา สอดคล้องกับ ความรับผิดชอบของสงฆ์ ที่มีต่อสังคม
(๒) ความเจริญของศาสนา และของสงฆ์ ขึ้นอยู่กับ ความเจริญรุ่งเรืองของสังคม
(๓) การพัฒนาทางโลก เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก จนคนกลายเป็น นักวัตถุนิยม ซึ่งเป็นผลให้ คนละทิ้งศาสนา
ผู้เขียนเอ่ยถึง พระหลายรูป ที่คำนึงถึงนิเวศน์วิทยา และ ชักชวนชาวบ้านปลูกป่า พร้อมทั้งรักษาธรรมชาติ เช่น พระอาจารย์ พงศักดิ์ สมภารวัด ในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดการฝึกอบรม ให้คนพื้นเมือง รู้จักปลูกป่า ทดน้ำเข้านา และเปิดศูนย์การศึกษา เกี่ยวกับธรรมชาติ สำหรับชาวเมือง ข้าราชการ และพระสงฆ์ พระครูพิทักษ์ ชักชวนชาวบ้าน ทำพิธี “บวชต้นไม้” โดยเอาจีวรห่มต้นไม้ ที่อาจถูกโค่น เพื่อเตือนคนตัดไม้ ไม่ให้ทำลายป่า (ตัดต้นไม้ที่บวชแล้ว ก็เหมือนกับฆ่าพระ) ท่านพุทธทาส เคยกล่าวว่า ธรรมก็คือธรรมชาติ ดังนั้น การทำลายธรรมชาติ ก็คือ การทำลายธรรม นั่นเอง
สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูป
ผู้เขียนกล่าวว่า สันติอโศก เป็นขบวนการทางสังคม ที่พยายามทำให้พุทธศาสนา มีความหมาย สำหรับโลกปัจจุบัน ขบวนการสันติอโศก เกิดขึ้น ในปลาย พ.ศ. ๒๕๑๓ เมื่อพระหนุ่ม นักวิจารณ์รูปหนึ่ง อำลาคณะสงฆ์ ไปก่อตั้งกลุ่มพุทธ ของท่านเอง สมณะโพธิรักษ์ ประกาศถอนตัว ออกจากคณะสงฆ์ไทย เพราะว่า คณะสงฆ์ ย่อหย่อนต่อความรับผิดชอบ และตัดจากสังคมภายนอก ท่านประกาศว่า
“สถาบันศาสนา ควรช่วยสังคมแก้ปัญหา มิฉะนั้น การดำรงอยู่ของศาสนา ก็ไม่มีความหมาย ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว แก่สถาบัน พุทธศาสนาหลัก ในประเทศไทย”
ด้วยภาระหน้าที่ จะฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศไทย สมณะโพธิรักษ์ กับผู้ติดตามเพียงไม่กี่คน เริ่มการทดลอง “วิถีทางที่ถูกต้อง” แห่งชีวิต
แดนอโศก จังหวัดนครปฐม เป็นถิ่นฐานแรกที่ตั้งขึ้น เพื่อการปฏิบัติธรรม ในท่ามกลางชุมชน ที่ให้การสนับสนุน การปฏิบัติธรรม ผสมผสานกับการก่อสร้าง สาธารณูปโภค –จากไม่มีอะไรเลย จนมีสิ่งที่จำเป็น – เช่นบ่อน้ำ ส้วม และที่อยู่อาศัย ได้กระทำจนสำเร็จ นี่เป็นการฝึก การร่วมแรงร่วมใจ การอดทนต่อความลำบาก และการพึ่งพาอาศัยตัวเอง สมณะโพธิรักษ์ ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยเป็นนักแต่งเพลงชื่อดัง เป็นพิธีกรทางทีวี เคยสุขสำราญ อยู่กับชีวิตที่มั่งคั่ง กลับต้องมาทำงานหนัก อาบเหงื่อต่างน้ำ เคียงบ่าเคียงไหล่ อยู่กับผู้ติดตาม ๓-๔ คน ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติของวัดอโศก ที่พระไม่โกนคิ้ว (เพื่อกันเหงื่อไหลเข้าตา) ก็ได้เกิดขึ้น สองสามปีต่อมา เมื่อประชากรของอโศก เพิ่มขึ้น และใช้ที่ดิน บริเวณใกล้เคียง เป็นที่ทำการกสิกรรม แดนอโศกได้กลายเป็น ปฐมอโศก ซึ่งเดี๋ยวนี้ อวดได้ว่า เป็นชุมชน และโรงเรียนตัวอย่าง
ขณะที่พิมพ์หนังสือเล่มนี้ (ครั้งแรก เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘) มีชุมชนอโศกอยู่ ๗ แห่ง มีสมาชิก ที่อาศัยอยู่ในชุมชน ๘๐๐ คน และมีนักเรียนประจำ หลายร้อยคน ชุมชนอโศก ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ นครปฐม นครสวรรค์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และเชียงใหม่ (ธรรมชาติอโศก ที่ชุมพร เกิดหลังจาก หนังสือขึ้นแท่นพิมพ์ ) กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ของการจำแนกแจกจ่าย ผลิตภัณฑ์ ที่ตั้งสำนักพิมพ์ และมีพระวิหาร ที่เกี่ยวกับจินตนาการ เรือนล้านบาท ซึ่งใช้เชื่อมกับภายนอก (ดูรายละเอียดในบทที่ ๕) ชุมชนอโศกทั้งหมด เชื่อมโยงติดต่อกัน อย่างหลวมๆ แม้ว่าทุกชุมชน ดำเนินตามนโยบาย อโศกแห่งชาติ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องรับคำสั่ง หรือ การบังคับบัญชาจากเบื้องบน แต่ละชุมชน มีอิสระ ในการจัด กิจกรรมของตัวเอง หัวหน้าชุมชน จะร่วมประชุมเดือนละครั้ง กับสมณะโพธิรักษ์ พระ “ปัจฉา” ของท่าน และผู้นำ ที่ชุมชนยกย่อง เพื่อรายงาน และฟังข่าว ความเป็นไปของแต่ละชุมชน อภิปรายปัญหา เรื่องเงินทอง หรือการปรับปรุงนโยบาย ส่วนเงินทุนสำหรับโครงการนั้น แต่ละชุมชน อาจได้รับเงินจากบัญชีกลาง (ประกอบด้วย เงินอนุโมทนา และรายได้ จากการจำหน่าย หนังสือ เทป เป็นต้น) เงินจากบัญชีของชุมชนเอง เงินสนับสนุนโครงการ จากรัฐบาล หรือเงินจากองค์การเอ็นจีโอ สมาชิกของแต่ละชุมชน อาจย้ายไปสังกัด ชุมชนใดก็ได้ ไม่ว่าจะย้ายไปอย่างถาวร หรือไปอยู่ชั่วคราว เวลามีสัมมนา หรือเมื่อมีงานเฉลิมฉลอง ที่ชุมชนหนึ่งชุมชนใด
สมาชิกของอโศก ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนอโศก มีประมาณ ๗,๐๐๐ คน สมาชิกเหล่านี้ รับวารสาร เทปคำสอน และ การบรรยาย และเข้า ร่วมประชุม เมื่อมีสัมมนาในท้องถิ่น หรือการประชุมระดับชาติ สมาชิกส่วนมาก สนับสนุนกิจกรรม ของชมรมต่างๆ เช่น สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ชมรมมังสวิรัติ และกลุ่มย่อย ซึ่งช่วยงานการพิมพ์ สมาชิกซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนอโศก บางครั้ง ก็นอนค้างที่อโศก
ผู้เขียนกล่าวว่า สมณะโพธิรักษ์ ก่อตั้งขบวนการปฏิรูปขึ้นมา ก็เพื่อจะแก้ปัญหา การปฏิบัติอย่างผิด ๆ ของชาวพุทธ และความหลงใหลในวัตถุ ของสังคมไทย กลุ่มอโศก ปฏิบัติแตกต่างไปจาก ชาวพุทธสายหลัก คือ ชาวอโศก ไม่บูชารูป แต่รักษาศีล ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ อย่างเคร่งครัด (รวมทั้ง กินอาหารมังสวิรัติ เพื่อให้สอดคล้องกับศีลข้อแรก ที่ห้ามการฆ่าสัตว์) และเน้น การทำงานประจำวัน ว่าเป็นการทำสมาธิ ยิ่งกว่านั้น สมณะโพธิรักษ์ และปัญญาชนชาวอโศก โจมตีระบบทุนนิยม –โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตะกละ การแข่งขัน และการเอารัด เอาเปรียบ – ว่าเป็นรากเหง้าของปัญหาในสังคมไทย ท่านเหล่านั้นเห็นว่า ความนิยมของสังคมสมัยใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการไหลมา ของวัฒนธรรมตะวันตก ประกอบกับ ระบบทุนนิยม ทำให้คน ต้องรับความทุกข์หนักขึ้น และ เป็นการทำลายธรรมชาติด้วย เพื่อต่อต้านแรงเคลื่อนอันนี้ กลุ่มอโศก เสนอ “บุญนิยม” ซึ่งเป็นแบบอย่าง ที่จำเพาะเจาะจง และ มีพื้นฐานมาจากพุทธศาสนา และ ค่านิยมของไทย
บุญนิยม มีหลักสำคัญอยู่ ๒ ประการคือ พึ่งตนเอง กับ เสียสละ ทั้งสมาชิกและชุมชน ให้การสนับสนุน ซึ่งกันและกัน ในหลักทั้ง ๒ นี้ กล่าวคือ สมาชิกเสียสละเวลาและแรงงาน เพื่อสร้างความดีให้แก่ชุมชน ขณะเดียวกัน ชุมชนส่วนรวม ซึ่งพึ่งตัวเองได้ ก็สนับสนุนให้สมาชิก ขยายการเสียสละ ออกไปช่วยสังคมไทยภายนอก
แม้ว่าขบวนการอโศก ประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาบุคคล ชุมชน และสังคมไทย ชุมชนอโศก ก็ไม่ใช่ “ยูโทเปีย” (อาณาจักร ที่มีความสมบูรณ์) อย่างที่บางคนเข้าใจ ผู้เขียนเห็นว่า ความตึงเครียด ความขัดแย้ง และอุปสรรคต่าง ๆ ในศีรษะอโศก ก็ยังคงมีอยู่ รวมทั้ง การใช้ทรัพยากรของชุมชน โดยสาธารณะ ความเห็นไม่ลงรอย ในระหว่างสมาชิก ความนิยมในของสมัยใหม่ ความกดดัน ที่จะเป็นคนโสด และไม่มีบุตร ความขัดแย้ง ระหว่าง การไม่ยึดติดในวัตถุ กับการสะสมวัตถุ ที่ใช้ในระดับชุมชน เหล่านี้เป็นต้น
ผู้เขียนบันทึกว่า สมณะโพธิรักษ์ และขบวนการอโศก ได้รับการวิพากย์วิจารณ์ จากคนภายนอก เช่นคนไทยที่ไม่ใช่ชาวอโศก ว่าการดำเนินชีวิต ที่เคร่งอย่างนั้น แม้น่าสรรเสริญ แต่ก็ยากเกินไป ที่คนไทย ระดับปานกลาง จะปฎิบัติได้ และไม่เหมาะกับชีวิต ในเมืองหลวง ยิ่งกว่านั้น พระสงฆ์หลายรูป กล่าวโทษ สมณะโพธิรักษ์ ว่าหย่อนความรู้ และแปลคัมภีร์ พุทธศาสนาผิด สมณะโพธิรักษ์ยอมรับว่า ในระยะแรก ท่านอ่านภาษาบาลีไม่คล่อง แต่ก็สามารถแปลได้ โดยใช้ความรู้ ที่เกิดขึ้นเองในใจ (สั่งสมมาจาก ความสำเร็จ ในชาติปางก่อน) ท่านกลับถูกกล่าวโทษ หนักขึ้นว่าโม้ เกี่ยวกับความสำเร็จ ทางจิตวิญญาณ (อวดอุตริมนุสธรรม)
คนไทยบางคนเห็นว่า ขบวนการอโศก ผูกพันอยู่กับ กิจกรรมทางการเมือง ของพลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. และหัวหน้า พรรคพลังธรรม และหาเสียง ในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภา ฯ รับรอง การเกี่ยวข้องของ ศาสนากับการเมือง เจ้าของเกสเฮาส์คนหนึ่ง ที่เชียงใหม่ เสนอแนะว่า สมณะโพธิรักษ์ ควรอบรมสั่งสอนคน โดยการปฏิบัติ ให้ดูเป็นตัวอย่าง แทนที่จะกระโดดเข้าไป เกี่ยวข้องอยู่กับการเมือง
ดูเหมือนว่า ผู้นำทางพุทธศาสนาสายหลัก เห็นว่า กิจกรรมเกี่ยวกับการเมือง ของขบวนการอโศก คุกคามต่อสถาบัน พระศาสนา ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ คณะสงฆ์ไทย ฟ้องสมาชิกอโศก ว่าเลียนแบบพระภิกษุสงฆ์ มีการต่อสู่กันในศาล นานถึง ๑๐ ปี ในที่สุด ศาลตัดสินว่า คณะอโศก มีความผิด ในทางเทคนิค คือ สมณะโพธิรักษ์ ตั้งตัวเป็นอุปัชฌาย์ บวชพระอื่น ทั้งๆที่ตัวเอง มีพรรษาแค่ ๖ พรรษา -ยังไม่ครบ ๑๐ ปี ตามกฎหมาย- มหาเถรสมาคม ยังตัดสินว่า พระอโศกทำผิดกฎ เพราะไม่โกนคิ้ว จึงไม่ใช่พระภิกษุสงฆ์ กลุ่มอโศก มีสิทธิตามกฎหมาย ที่จะปฏิบัติศาสนาอะไรก็ได้ แต่จะเรียก การปฏิบัตินั้นว่า ศาสนาพุทธไม่ได้
ผู้เขียนกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือสมาชิกอโศก เห็นว่า คดีนี้ให้ผลดีมากกว่าผลเสีย สมณะที่ห่มผ้าขาว กลับมาห่มจีวรสีน้ำตาล (ตามประเพณีของพระป่า) และชีวิต ก็ดำเนินก้าวหน้าไปตามปกติ
สรุป
ในบทนี้ผู้เขียนบรรยายย่อๆ เกี่ยวกับวัดในประเทศไทย และการปฏิบัติ ของชาวพุทธทั่วๆไป เพื่อเป็นอรรถาธิบาย ถึงการเกิด ของขบวนการพุทธปฏิรูป ของสันติอโศก ผู้เขียนกล่าวว่า อโศกไม่ได้หลุดออกมาจาก “ฟองอากาศ” แต่เป็นการสนองตอบ ต่อความต้องการ ของสังคมเป็นพิเศษ ขณะที่สถาบันพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย พยายามแก้ไขปัญหา ภายในสถาบันเอง และปัญหาสังคมภายนอก อย่างเชื่องช้า พุทธศาสนาประยุกต์ ที่มาในแนวใหม่ เช่นอโศก ก็เข้ามาเสนอวิธีแก้ปัญหาให้
สัมมาพัฒนา : สันติอโศก
ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย