สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูป แห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน เขียน
บทที่ ๗
บทบาทของผู้หญิง
เพื่อสังเกตความเป็นอยู่ของ ชาวศีรษะอโศก อย่างใกล้ชิด ผู้เขียนได้ติดตามไปทำงาน กับสมาชิกหญิง ๔ คน ที่ศีรษะอโศก คือ อารัตนา อาจันทิมา อาศิริวรรณ และ อาทางบุญ ผู้เขียนใช้เวลาอยู่กับผู้หญิง แต่ละคน ๑ วันเต็มๆ ผู้หญิงทุกคน มีอายุไล่เลี่ยกัน คือระหว่าง ๓๘-๔๐ ปี แต่มาจากที่ต่างกัน สภาพครอบครัวเดิมต่างกัน และมาร่วมเป็นสมาชิกของอโศก ด้วยเหตุผล ที่แตกต่างกัน วัตถุประสงค์ ของการรายงานชีวิตประจำวัน ของชาวศีรษะอโศก ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อและการปฏิบัติ ได้เสริมสร้าง เอกัตตบุคคล ชุมชน และสังคม (แม้ในส่วนน้อย) อนึ่ง รายละเอียดชีวิตของผู้หญิง ในชุมชนศีรษะอโศก ชี้ให้เห็นถึง ความแตกต่าง ระหว่าง ผู้หญิงที่อยู่ในระเบียบวินัยของวัด ตามแบบอโศก กับผู้หญิงที่อยู่ข้างนอก และดำเนินชีวิต ตามแบบชีวิตสมรส
ฐานะทางเพศในประเทศไทย พุทธศาสนา และอโศก
มีข้อสมมติฐานอยู่ ๒ ประการเกี่ยวกับผู้หญิงและผู้ชาย ในเอเชียอาคเนย์ คือ
๑) มีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน ระหว่าง เพศหญิงกับเพศชาย
๒) ผู้หญิงในเอเชียอาคเนย์ มีสถานะและสิทธิดีกว่า ผู้หญิงในส่วนอื่น ของทวีปเอเชีย
ข้อสมมติฐานทั้งสองนี้ มีส่วนที่เป็นจริงอยู่มาก สำหรับผู้หญิง ในประเทศไทย เพราะว่าหญิงไทย ไม่ได้ถูกบังคับให้แต่งงาน หรือมีคนจัดการ หรือเลือกคู่ให้ หญิงไทยเลือกคู่เอง และจัดตั้งครอบครัวของตัวเอง (แม้ว่าบางคู่ จะอยู่กับครอบครัว พ่อแม่ของเจ้าสาว ระยะหนึ่ง ในตอนแต่งงานกันใหม่ๆ) หญิงไทย ยังมีสิทธิในมรดก ของทั้งสองฝ่าย ความจริง ก่อนที่ค่าจ้างแรงงาน จะกลายเป็น มาตรฐาน หญิงไทยมีอำนาจ ในทางเศรษฐกิจสังคม และจิตวิญญาณ เพราะว่าการที่ผู้หญิง มีอำนาจ ในการควบคุม ทรัพยากร ภายในครอบครัว ทำให้ผู้หญิง มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการบริจาคทรัพย์ หรือ ทำบุญสุนทาน ในสังคมไทยทุกวันนี้ แม้ว่าผู้หญิง จะไม่ใช่ผู้หารายได้เป็นหลัก ผู้หญิงก็ยังมีหน้าที่จัดการเรื่อง การจับจ่ายใช้สอย ในครอบครัว
ในด้านการศึกษา ปรากฏว่า จำนวนนักเรียนหญิง กับนักเรียนชาย มีพอๆกัน ตั้งแต่ชั้น ป. ๑ ถึง ป. ๖ แสดงว่าเพศทั้งสอง มีความเสมอภาค ในการศึกษา โอกาสในการศึกษา และหน้าที่ในการควบคุมทรัพย์สิน ทำให้หญิงไทยมีอำนาจ และการตัดสินใจ ในกิจการบ้านเรือน ดังนั้น หญิงไทย จึงมีความเสมอภาคในระหว่างเพศ
แม้ว่าผู้หญิง จะมีสถานะค่อนข้างสูง และเป็นผู้ส่งเสริมครอบครัว ตามประเพณีไทยในชนบท แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้หญิงจะมีสิทธิ เสรีภาพ เท่าผู้ชายเสมอไป ในสังคมไทย การเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง และความลำเอียง เข้าข้างผู้ชาย มีมานานแล้ว เช่นการ “ไปเที่ยวผู้หญิง” แม้ว่าโสเภณี จะผิดกฎหมาย แต่ผู้ชาย ก็ยังคงไปเที่ยวกันไม่หยุดหย่อน นอกจากนี้ การไปร้านน้ำชา บาร์ และ สถานอาบอบนวด ซึ่งมีผู้หญิง เป็นพนักงานบริการ ก็ถือว่า เป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงบางคนรับว่า เธอเลือกอาชีพนี้ เพราะอยากอยู่ในเมือง อยากดำเนินชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อ อยากได้อะไร ก็หาซื้อเอาได้ อย่างไรก็ตาม มีผู้หญิงจากชนบท ที่ยากจน จำนวนไม่น้อย เลือกการขายบริการทางเพศ เพื่อค้ำจุนครอบครัว หรือ ถูกพ่อแม่ที่ขัดสน ขายไปตั้งแต่ ยังเป็นสาววัยรุ่น หญิงไทยไม่น้อย ถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในประเทศ ซึ่งกำลังพัฒนา ผู้หญิง ซึ่งทำงาน ในโรงงานอุตสาหกรรม ประสบความลำบาก เช่น ทำงานหนัก เกินชั่วโมงที่กำหนด เหนื่อยล้า อยู่ในสภาวะ ที่เสี่ยงอันตราย และได้ค่าจ้างต่ำ
ยิ่งกว่านั้น ตามปกติ หญิงไทยถูกมองว่า เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ชาย คำพูดที่ว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า และผู้หญิง เป็นช้างเท้าหลัง” แสดงให้เห็นว่า ผู้ชายเป็นผู้นำ และผู้หญิงเป็นผู้ตาม ความจริง ในประเทศไทย ผู้ชายครอบครอง ปริมณฑล ทางการเมือง และศาสนา รวมทั้งอื่นๆ ด้วย
ผู้เขียนเล่าว่า ครั้งหนึ่ง เธอเป็นพีส คอร์ อาสาสมัครมาเมืองไทย เธอไปประชุม สัมมนาเกษตรเขต ที่อำเภอหนึ่ง ในจังหวัดกำแพงเพชร เขาเชิญชาวนา ๔๐ คน มาประชุม เป็นผู้ชายทั้งหมด มีผู้หญิงเฉพาะ คนเสิร์พอาหารเท่านั้น
นักมานุษยวิทยาคนหนึ่ง (นีลด์ มุลเดอร์) แปลคำว่า “ช้างเท้าหลัง” ของไทยว่า เป็นหน้าที่ค้ำจุน เพราะถ้าไม่มีเท้าหลัง ช้างก็คงหกคะเมน ผู้เขียนเล่าต่อไปอีกว่า ขณะที่เธอ อาสาสมัคร ทำงานอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรนั้น เธอเห็นผู้หญิงหลายคน ทำงานด้วยความลำบาก ตรากตรำ เป็นประจำทุกวัน ผู้หญิงเหล่านั้น รับผิดชอบในการเลี้ยงลูก ทำความสะอาด หุงหาอาหาร ทำสวนครัว ทำงานกลางทุ่ง ตลอดจน การหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ส่วนสามีนอนเอกเขนก อยู่ใต้ถุนบ้าน บางคนเมามาย หรือ ยังไม่สร่างเมา ผู้เขียนบอกว่า ถ้าไม่ได้ภรรยา “ค้ำจุน” ครอบครัวเหล่านั้น ก็ต้องพังแน่
ทนดูความไม่ยุติธรรม อคติ และการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง ไม่ไหว ขบวนสตรีไทย เริ่มต้นต่อต้าน และมีการเคลื่อนไหวหลายอย่าง ในที่สุด ก็มีผู้พิพากษาหญิง และ ส.ส.หญิง ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่า ผู้ชายคบชู้ ยังไม่เป็นสาเหตุ ที่จะใช้ฟ้องอย่าได้ แต่การมี “เมียน้อย” ก็ไม่ถูกกฎหมาย และสามีก็ไม่อาจขายทรัพย์สิน ที่ภรรยาเป็นเจ้าของร่วมอยู่ได้ โดยที่ภรรยาไม่ยินยอม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้นักปราชญ์ไทยคนหนึ่ง กล่าวว่า “ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่า ช้างเดินถอยหลัง
ตั้งแต่พุทธศาสนา เข้ามาสู่ประเทศไทย สถานะทางเพศของคนไทย เริ่มสับสน แม้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่มีสติสัมปชัญญ สมบูรณ์ สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ และพระองค์ ก็ทรงสั่งสอน ภิกษุ ภิกษุณี รวมทั้ง พระมารดาเลี้ยงของพระองค์ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ คณะสงฆ์ไทย ก็ยังประกอบด้วยเพศชาย แต่เพียงเพศเดียว คณะสงฆ์ไทย ไม่ยอมรับภิกษุณี เพราะว่า ตามความเชื่อของเถรวาทนั้น เชื้อสายของภิกษุณี ได้ขาดตอนไปแล้ว จะบวชขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้ เพราะตามพระวินัย การบวชภิกษุณี ต้องบวชต่อหน้าภิกษุ และภิกษุณีอาวุโส อย่างน้อย ๕ รูป อย่างไรก็ตาม เรื่องการขาดตอน ของภิกษุณี ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในหมู่พระสงฆ์นิกายเถรวาท
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์ ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปบวชเป็นภิกษุณี ที่ประเทศศรีลังกา แต่ตอนกลับมาอยู่เมืองไทย ในฐานะภิกษุณี ก็เกิดความสับสนวุ่นวาย เป็นการใหญ่
สตรีที่แต่งกายนุ่งขาวห่มขาว โกนศีรษะ ถือศีล ๘ หรือบางรายศีล ๑๐ นั้น เรียกกันทั่วประเทศไทยว่า แม่ชี แต่แม่ชีไม่ใช่ภิกษุณี และไม่ได้รวมอยู่ ในคณะสงฆ์ แม่ชีบางคน ทำหน้าที่ปัดกวาด ทำความสะอาด ล้างถ้วยชาม ดูแลวัด และ รับใช้พระสงฆ์ บางคนบวชชี เพื่อปฏิบัติธรรม อย่างเคร่งครัด บางคนบวชเพราะ ไม่มีที่พึ่ง อย่างไรก็ตาม วัดไม่ยอมรับเด็กเล็ก ให้อาศัยอยู่ในวัด ดังนั้น แม่ลูกอ่อน จึงไม่สามารถบวชชีได้
นักเขียนสตรีไทยคนหนึ่ง (นฤมล หิญชิระนันทน์) ผู้ซึ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา กล่าวว่า “ความไม่เท่าเทียมกัน ในทางจิตวิญญาณ” ที่เห็นได้จาก การไม่ยอมรับภิกษุณี และถือว่าแม่ชี อยู่ในฐานะที่ค่อนข้างด้อยนั้น เป็นผลที่เนื่องมาจาก ความอคติในสังคมไทย เธออธิบายว่า
ตามลัทธิพุทธศาสนา ผู้หญิงสามารถสำเร็จเป็น พระอรหันต์ได้ ด้วยการทำวิปัสสนา และการรักษาศีลธรรม อันดีงาม ผู้หญิงจึงต้องพึ่งตนเอง แต่เนื่องจาก ในลัทธิพุทธศาสนา ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย การกดขี่ทางเพศจึงไม่มี อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธทั่วไป เชื่อกันว่า ผู้หญิงสามารถ ทำบุญอันยิ่งใหญ่ได้ ด้วยการบวชญาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบวชลูกชาย จึงเห็นได้ว่า ผู้หญิงก็ยังต้องพึ่งผู้ชาย ในการทำบุญ อยู่นั่นเอง ไม่ใช่พึ่งตัวเอง ได้อย่างเด็ดขาด ในทางศาสนา ดังนั้น ในศาสนาพุทธ โดยทั่วๆไป ก็ยังมีความลำเอียง ในทางเพศ
นักเขียนคนนี้ แสดงความเห็นต่อไปว่า สตรีมีความซ่อนเร้น ต่างจากบุรุษ ในจิตวิญญาณ เพราะว่าสตรี เป็นตัวแทนของ ความเกี่ยวพัน อยู่กับโลกียวิสัย
ขบวนการปฏิรูปพุทธศาสนา สันติอโศก ให้โอกาสแก่สตรี ในการปฏิบัติธรรม สูงกว่าโลกภายนอก ผู้หญิงที่ต้องการ ปฏิบัติธรรม อาจจะเข้าเป็นสมาชิกชุมชนอโศก ในฐานะคนวัด หรือสิกขมาตุ สิกขมาตุในสังคมอโศก มีฐานะสูงกว่าแม่ชีมาก เพราะสิกขมาตุ สอนธรรมได้ ให้คำปรึกษาแก่คนธรรมดา ร่วมตัดสินใจ เกี่ยวกับกิจการของชุมชน เช่นเดียวกันกับสมณะ ความจริง สมาชิกหญิงบางคน ยินดีที่จะปรึกษา กับสิกขมาตุ มากกว่าปรึกษาสมณะ ผู้หญิงหลายคน แสดงความดีใจ เมื่อได้ข่าวว่า สิกขมาตุจินดา จะย้ายมาประจำที่ศีรษะอโศก เพราะเขารู้สึกว่า ผู้หญิงเข้าใจผู้หญิงได้ดีกว่า ในปัญหาบางอย่าง และรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ที่จะปรึกษากับพระ ในปัญหาเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ฐานะของสมณะ และสิกขมาตุไม่เท่ากัน ข้อแรก สิกขมาตุ ถือศีล ๑๐ แต่สมณะ ถือศีล ๒๒๗ ตามพระวินัย ข้อที่สอง มีกฎเกณฑ์ว่า ต้องมีสมณะ ๔ รูป ต่อสิกขมาตุ ๑ รูป และผู้หญิง ใช้เวลานานกว่าผู้ชาย ในการฝึกฝน แต่ละขั้นตอน ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้บวช จึงเห็นได้ว่า ผู้หญิงที่มีวัยเกิน ๔๐ มีโอกาสน้อยมาก ที่จะได้บวช เพราะว่า ต้องรอให้ได้จำนวน สมณะครบ ๔ รูปก่อน
แม้จะไม่ได้บวช ผู้หญิงก็อาจเลือกดำเนินชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนาได้ ตามความประสงค์ ที่อโศก ผู้หญิงโสด หย่าร้าง หรือแยกทางกับสามี ทั้งที่มีลูก และไม่มีลูก ก็อาจสมัครเป็นสมาชิก และอาศัยอยู่ในชุมชนได้ ตรงกันข้ามกับที่อื่น ซึ่งไม่อนุญาต ให้นำเด็กเล็ก เข้ามาอาศัยอยู่ในวัด
ผู้เขียนสังเกตว่า ที่ศีรษะอโศก ผู้หญิงกับผู้ชาย มีความเสมอภาคระหว่างเพศ มากกว่าที่อื่นในสังคมไทย ที่นี่ ผู้หญิงทำงาน หนักพอๆกับผู้ชาย ในงานทุกอย่าง ที่ทำด้วยกัน นอกจากนี้ ผู้หญิงยังทำหน้าที่เป็นผู้นำ เช่น สิกขมาตุจินดา เป็นหัวหน้าสิกขมาตุ อาอ้อย เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน อาเปิ้ม เป็นผู้ประสานงาน ระหว่างชุมชน กับหน่วยสงเคราะห์ ด้านสวัสดิการ กับอำเภอกันทรลักษ์ ยิ่งกว่านั้น ผู้หญิงยังมีสิทธิ์มีเสียง ในการตัดสินใจ ในที่ประชุมของชุมชน ความรู้สึก ในระหว่างเพศ อาจมีอยู่ ตามวัฒนธรรมไทย แต่อโศก ได้ปรับปรุงและวางระเบียบ ให้ผู้หญิงและผู้ชาย ทำงานร่วมกัน ด้วยความผาสุก
ผู้หญิงทั้ง ๔ คน ที่ผู้เขียนเลือกสังเกต มีความแตกต่างกัน ในเรื่องภูมิลำเนา ฐานะการสมรส กิจกรรมที่ทำอยู่ ในชุมชนศีรษะอโศก และบุคลิกภาพ นอกเหนือจากความคุ้นเคย และความสนใจที่คล้ายคลึงกับผู้เขียน ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่าน เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิง ในชุมชนอโศก
รัตนา
อารัตนา เป็นหญิงที่สุภาพเรียบร้อย และขี้อาย เธอเป็นคนโสด ที่มาจากภาคกลาง เธอพูดน้อย และเคลื่อนไหว โดยไม่รีบร้อน ลักษณะสงบเสงี่ยม และเนิบนาบ อาจเป็นบุคลิกลักษณะ ที่ติดมาจาก การเคยบวชชีอยู่ในวัด ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเวลา ๑๔ ปี อารัตนา สมัครเป็นสมาชิกอโศก หลังจากพบว่า อโศกปฏิบัติ ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เธออยู่ที่ปฐมอโศกปีหนึ่ง แล้วย้ายมาอยู่ที่ ศีรษะอโศก อารัตนา เป็นคนค่อนข้างเก็บตัว เธอไม่ได้ให้ข้อมูล มากมายนัก เกี่ยวกับ ชีวประวัติของเธอ
ก่อนที่ฉันรู้จักที่นี่ (ศีรษะอโศก) นะคะ คนอื่นแนะนำ ให้ฉันไปที่ปฐมอโศก ฉันเดินทางไปที่นั่น ฉันไปฟังธรรมหลายครั้ง ฉันฟังธรรมแล้ว ฉันเข้าใจดี ฉันเข้าใจว่า กินมังสวิรัติได้บุญ และกินเนื้อได้บาป ฉันหยุดกินเนื้อ ตอนนั้น ฉันบวชเป็นแม่ชี เรียนจากแม่ชี ฉันไปอยู่ที่ปฐมอโศก ฉันนุ่งห่มอย่างนี้ (เสื้อมีแขนสีคราม ผ้าถุงสีคราม คลุมผมด้วยผ้าพันคอสีคราม) และเป็นคนวัด ถือศีล ๘
ผู้เขียน: ทำไมคุณย้ายมาอยู่ที่ศีรษะอโศก ทำไมไม่อยู่ที่ปฐมอโศก
ฉันอ่านพบในนิตยสาร นิตยสารอโศกนะคะ เขาบอกว่าที่นี่ (ศีรษะอโศก) เขามีกสิกรรมธรรมชาติ เขาปลูกผัก จำนวนมาก ฉันอยากมาดู เพราะฉันอยากปลูกผัก ฉันอ่านพบว่า เขาทำนาข้าวด้วย เก็บเกี่ยวและนวดเอง ฉันสนใจมาก เพราะว่า ฉันไม่เคยทำนามาก่อน ฉันกินข้าว แต่ไม่เคยปลูกข้าว ฉันตั้งใจมาที่นี่ เพื่อจะมาปลูกข้าว ฉันจึงเดินทางมาที่นี่ เมื่อมาถึง ฉันก็ได้ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว แล้วก็นวดข้าว ฉันรู้สึกว่า มีความสุข ฉันมีความสุขที่ได้เป็นชาวนา
อารัตนา ไม่ปรารถนาที่จะบวช เป็นสิกขมาตุ เพราะสิกขมาตุ ไม่สามารถถือเงิน หรือมีเงินในธนาคารได้ เป็นข้อห้ามในศีล ๑๐ แต่แทนที่จะบวช อารัตนา ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลดกิเลส เช่น ลดสิ่งฟุ่มเฟือย สิ่งที่อยู่นอกเหนือความจำเป็น ในการยังชีพ อารัตนากล่าว “มีชีวิตอยู่กับ ความพอใจที่มีน้อย พอใจกับสิ่งที่ตัวมี พอใจกับความเรียบง่าย … อย่างนี้ก็มีความสุข”
วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔
ผู้เขียนใช้เวลาอยู่กับ อารัตนาทั้งวัน เริ่มต้นที่ศาลาธรรม เมื่อเวลา ๓.๓๐ นาฬิกา ทั้งสอง ไปทำวัตรเช้า ร่วมกับสมาชิกอื่นๆ และ นักเรียนชั้นมัธยม ประมาณ ๑๐๐ คน ทุกคนทำวัตรเช้า ด้วยการกราบพระ ๓ ครั้ง แล้วสวดมนต์ พร้อมๆกัน ในบทสวด ที่หัวหน้าสมณะขึ้นต้น หลังจากนั้น ก็ฟังธรรมของสมณะ ที่ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่เทศนา วันนี้สมณะ มุ่งหมาย ที่จะอบรมนักเรียน จึงยกเรื่องระเบียบวินัย ความร่วมมือ และการเตรียมตัวให้พร้อม ที่จะทำการงาน ขึ้นมากล่าว การเทศนาสิ้นสุด เมื่อเวลา ๕.๒๐ น. นักเรียนทุกคน แสดงการคารวะต่อสมณะ โดยกราบพร้อมๆกัน แล้วคารวะต่อผู้ใหญ่ ด้วยการกราบ เช่นเดียวกัน ต่อจากนั้น ก็ไปเข้าแถว เพื่อสำรวจความเรียบร้อย แล้วแยกย้ายกันไปทำงาน ส่วนผู้ใหญ่ ก็แสดงความเคารพ ต่อสมณะ แล้วมุ่งหน้าไปทำงาน
ผู้เขียนกับอารัตนา รับหน้าที่ขุดหลุม สำหรับปลูกมะเขือเทศ ถั่วฝักยาวและบวบ ในที่ดินแปลงใหม่ ที่ผู้ชาย –อาชวน อาทางบุญ และอาเจนจบ – ขึงเชือก กำหนดร่องไว้ ผู้เขียนกับอารัตนา ต่างคนต่างทำงาน จากปลายร่องคนละด้าน จึงแทบไม่ได้พูดคุยกัน ทั้งสองคนเก็บจอบเสียม เมื่อได้ยินเสียงฆ้อง เป็นสัญญาณบอกให้หยุด เมื่อเวลา ๘.๔๕ นาฬิกา ต่างคนต่างล้างมือ แล้วอวดรอยช้ำ และเม็ดน้ำข้าว ที่เพิ่งปรากฏบนฝ่ามือ เนื่องจาก ขุดดินที่แข็ง เหมือนคอนกรีต
เวลา ๙.๐๐ น. ทุกคนไปประชุม ที่ศาลาธรรม เพื่อฟัง “ธรรมะก่อนฉัน” ตามปกติ จะมีปาฐกถา เช่น สมณะรูปหนึ่งขึ้นเทศน์ เผยแพร่ข้อมูล หรือแนะนำ วิธีการบางอย่าง เช่น การเลือกตั้ง วันนี้ อาทางบุญ ขอร้องให้ผู้เขียนพูด เรื่อง “4Rs” ให้นักเรียนฟัง ถึงแม้ผู้เขียน จะไม่ตื่นเต้นต่อการพูด ในที่ประชุม พูดภาษาอังกฤษ กรอกไมโครโฟน ให้ได้ยินไปทั่วหมู่บ้าน ผู้เขียน ก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะไม่ใช่ ธรรมเนียมไทย หรือทำเนียมอโศก และจะดูเหมือนว่า เป็นคนไม่มีมารยาท ความจริง ผู้เขียน พร้อมที่จะพูด เพราะเคยพูดเรื่องนี้ มาแล้วหลายครั้ง สมัยที่เป็น พิสคอร์ อาสาสมัคร ผู้เขียนจึงตอบตกลง และขอร้องอาเปิ้ม ให้ช่วยเหลือ อาเปิ้มเตรียมตะกร้า ที่มีขยะ เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์
ขั้นแรก ผู้เขียนสอนนักเรียน ให้รู้จักศัพท์ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า 4Rs เช่น RECYCLE, REUSE, REPAIR, REJECT และ PLASTICS, PAPER, GLASS, POLLUTION, BIODEGRADABLE ต่อจากนั้น อาเปิ้ม ดึงสิ่งของออกมาจากถังขยะ ทีละชิ้น ให้นักเรียน ตะโกนบอก ชื่อสิ่งนั้น แล้วให้บอกว่า มันเป็นมลพิษ (POLLUTION) หรือว่า สามารถนำไปแปลงรูป แล้วใช้ใหม่ได้ (RECYCLE)
เวลา ๙.๕๐ น. สมาชิกโรงครัว นำอาหารหลายชนิด ที่ใส่เต็มภาชนะใบใหญ่ มาวางบนถาดไม้ รูปสี่เหลี่ยม ถาดละใบ ถาดไม้ทุกถาด มีล้อเลื่อน สมาชิกชาย เลื่อนอาหาร ไปถวายสมณะอาวุโส ซึ่งนั่งอยู่หัวแถว สมณะอาวุโส ตักอาหาร แล้วเลื่อนถาดต่อ ไปยังสมณะที่นั่งถัดไป อาหารทุกถาด จะถูกเลื่อนต่อ ไปยังสมณะทุกรูป แล้วเลื่อนต่อ ไปยังสิกขมาตุ และฆราวาส ผู้ชายที่นั่งหัวแถว ฆราวาส ยกถาดลงมาวาง ระหว่างแถวผู้ชาย และแถวผู้หญิง ซึ่งหันหน้าเข้าหากัน แล้วถาดอาหาร ก็ถูกเลื่อนต่อ ไปให้ทุกคน ได้ตักอาหาร ตามที่ต้องการ ส่วนพวกเด็กๆ เข้าคิวกันตักอาหารที่โต๊ะอาหาร หลังศาลาธรรม เมื่อทุกคน ตักอาหารเต็มจานแล้ว นักเรียนคนหนึ่ง นำสวดขอบคุณอาหาร ชาวนา และผู้ที่ประกอบอาหาร แล้วสมาชิกทุกคน รับประทานอาหาร ในศาลาธรรม และดูวีดีโอ ไปพร้อมๆกัน จนถึงเวลา ๑๑.๓๐ น. อารัตนาและผู้เขียน ลาจากกันชั่วคราว เพื่อไปทำธุระส่วนตัว
เวลา ๑๒.๑๕ น. สมาชิก “สวนร่วมบุญ” ซึ่งมีอารัตนา อาทางบุญ อาชวน อาเจนจบ และผู้เขียน มาพร้อมกัน ที่แปลงผัก ซึ่งเริ่มต้นไว้เมื่อเช้า ตอนนี้ ทุกคน ทำงานใกล้ชิดกัน จึงมีโอกาสคุยกัน ขณะที่ทำงาน อาทางบุญถามว่า แปลกไหม ที่อารัตนาไม่แต่งงาน ผู้เขียนตอบว่า ผู้หญิงอเมริกันจำนวนมาก เลือกทำงาน แทนที่จะแต่งงาน หรือบางคน หาผู้ชายที่ถูกใจไม่ได้ จึงอยู่เป็นโสด แต่ก็มีงานทำเลี้ยงชีวิต ที่ประชุม ปรารภถึงคู่แต่งงานที่หย่าร้างกัน ซึ่งเพิ่มจำนวน มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในอเมริกาและประเทศไทย อารัตนากล่าวว่า “ผู้หญิงต้องการความช่วยเหลือ เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง และพ่อแม่ แต่ผู้ชายไม่น้อย ที่ไม่มีงานทำ” อาทางบุญเสริม “คนจำนวนมาก รีบแต่งงาน โดยไม่คิดให้รอบคอบ เขาเห็นในหนัง แล้วอยากมีชีวิต อย่างนั้นบ้าง แต่ความเป็นจริง ไม่ใช่”
อารัตนา เปลี่ยนเรื่องสนทนาไปที่ข่าวสด เธอถามว่า ได้ยินข่าวไข้หวัดนก และ โรควัวบ้า ซึ่งกำลังระบาด อยู่ในประเทศไทย และบางส่วน ของโลกไหม บังเอิญผู้เขียน ได้รับบทความ เกี่ยวกับโรควัวบ้า จากสหรัฐอเมริกา จึงได้เล่าสู่กันฟัง ทุกคน ลงความเห็นว่า การกินมังสวิรัติ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ในขณะที่โลก กำลังเผชิญอยู่กับปัญหา โรคระบาดเช่นนี้
การสนทนาเปลี่ยนไป เป็นเรื่องศาสนา อารัตนาถามผู้เขียนว่า รู้สึกอย่างไร ในฐานะที่เป็นคริสเตียน มาอยู่ในหมู่ชาวพุทธ ผู้เขียนตอบ อย่างหนักแน่น ว่ารู้สึกสบายดี เพราะทุกศาสนา สอนให้คนดำเนินชีวิตเป็นคนดี และ ชาวศีรษะอโศก ต้อนรับผู้เขียน อย่างอบอุ่น
งานปลูกผักเสร็จสิ้น เมื่อเวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา ทุกคนแยกย้าย กลับที่พัก เพื่ออาบน้ำ และรับประทานอาหาร แต่อารัตนา ไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยง ผู้เขียนจึงต้องรับประทานอาหารเย็น ร่วมกับนักเรียน ก่อนจากกัน ทุกคนนัดพบกัน เวลา ๑๘ นาฬิกา เพื่อชมการซ้อมใหญ่ “การแสดงทางวัฒนธรรม” ของนักเรียน
ผู้เขียนมาถึงศาลาธรรม เวลา ๑๘ นาฬิกา เห็นห้องประชุม เต็มไปด้วยนักเรียน แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลากสี กำลังอุ่นเครื่องดนตรี ทบทวนท่าเต้นรำ จัดหางเครื่อง และทดลอง เครื่องขยายเสียง การซ้อมใหญ่ ในเย็นวันนี้ เพื่อให้สมณะได้ตรวจสอบ ว่าไม่มีอะไรผิดแผก แตกต่างจาก แนวทางศีลธรรมของอโศก เนื่องด้วย นักเรียนจะไปแสดง ต่อหน้าสาธารณชน ที่ร้านเลมอนฟาร์ม ในกรุงเทพ ฯ
ในการแสดงครั้งนี้ นักเรียนชาย-หญิง เต้นระบำพื้นเมือง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยโบราณ มีดนตรีไทยประกอบ และบรรเลงโดย นักเรียน ๑๕ คน มีการบรรยาย และอธิบายถึง การร่ายรำแต่ละชุด ซึ่งเกี่ยวกับการทำนา เก็บเกี่ยวการนวดข้าว สีข้าว ปั่นฝ้าย และทอหูก นอกจากนี้ ยังมีการแสดง การเกี้ยวพาราศี ชักคะเย่อ และเต้นสิงโต ขณะที่โฆษกประกาศ ฉากสุดท้าย เกี่ยวกับ ชุมชนศีรษะอโศก และกสิกรรม ที่จะช่วยชาติ นักเรียนเข้าแถว หันหน้าเข้าหาคนดู แล้วร้องเพลง ด้วยสำเนียงเจื้อยแจ้ว โดยไม่ต้อง มีดนตรีคลอ ทุกคนปรบมือ ด้วยความนิยมชมชอบ สมณะยินยอมให้การแสดงผ่านไปได้ โดยไม่ต้องแก้ไข ผู้เขียนและอารัตนา จากกัน เมื่อเวลา ๒๐ นาฬิกา
จันทิมา
อาจันทิมา อายุ ๓๘ ปี อาชีพเดิมเป็นชาวนา มาจากจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นคนเปิดเผย และมีนิสัยชอบช่วยเหลือคน เธอมีความกระตือรือร้น ที่จะพัฒนาตนเอง และคนรอบข้าง เธอชอบร้องเพลงและฟ้อนรำ อาจันทิมาย้ายเข้ามาอยู่ ในชุมชนศีรษะอโศก ๓ ปีมาแล้ว เธอเอาลูก ๒ คนมาอยู่ด้วย และปล่อยให้สามี เฝ้าบ้านอยู่คนเดียว เธอเล่าถึงชีวิตของเธอ
ก่อนที่ฉันรู้จักอโศก ฉันเป็นคนเครียด ฉันเป็นลูกคนสุดท้อง แม่ฉันตาย เมื่อฉันอายุ ๑๓ ปี ฉันต้องช่วยตัวเอง อย่างทรหด เพราะพ่อของฉัน มีเมียใหม่ และพาครอบครัว ไปอาศัยอยู่กับพี่สะใภ้ พี่สะใภ้ของพ่อ รังเกียจครอบครัวของเรา เพราะทำให้เขา มีภาระเพิ่มขึ้น ฉันทนดูเขา ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ไหว จึงคิดว่า น่าจะมีวิธีทำมาหากิน ที่ดีกว่านี้ ฉันเดินทางไปกรุงเทพ ฯ ไปเข้าเรียนที่ รามคำแหงได้ปีหนึ่ง ฉันเรียนไม่จบ ตามที่ตั้งเข็มไว้ เพราะฉันรู้สึกว่า สิ่งที่ฉันเรียน จะไม่ได้ใช้… ประจวบเหมาะ พ่อเรียกให้ฉันกลับบ้าน ฉันจึงกลับบ้าน… ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงรู้จักผู้ชายคนหนึ่ง…
พ่อของลูกหนึ่งคน เรารู้จักกัน แล้วก็สนิทสนมกัน เขาบอกว่า เขาอยากมีบ้านอยู่ในชนบท เขาเป็นคนร่างเล็ก แต่มีครอบครัว ที่อบอุ่น คนซึ่งฉันรู้สึกว่า เขามีอะไรอยู่ในหัวใจ ฉันอยากได้สิ่งนั้น… (หัวเราะแล้วฮัมเพลง)
ฉันคิดว่า ชีวิตนี้มีบ้าน มีนา ซึ่งมีข้าวอยู่เต็มแปลง มีที่ทำงาน และที่กิน มีคนที่รู้จัก และรู้ว่า มีอะไรอยู่ในหัวใจ ของซึ่งกันและกัน สนิทสนมกัน อยู่ด้วยกัน เลี้ยงชีวิต พอสมเหตุสมผล เป็นคนดีตามธรรมชาติ แค่นี้ –สำหรับครอบครัว – ก็ควรจะเพียงพอแล้ว แต่เท่าที่เป็นมา มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภายหลัง มีสารพัดอย่าง มนุษย์นี้ไม่มีความสุข ที่แท้จริงหรอก การเจ็บไข้ได้ป่วย ที่เนื่องมาจากความเครียด ซึ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ในครอบครัว –คุณมีความรับผิดชอบต่อลูก รับผิดชอบต่อครอบครัว… ขณะเดียวกัน ฉันต้องการพัฒนาตัวเอง ฉันต้องทำงานนอกบ้าน พอๆกับในบ้าน แต่เขาต้องการให้ฉัน อยู่ดูแลลูก อย่างเดียว ไม่ให้ไปทำงานนอกบ้าน ขึ้นรถไฟ หรือไปทำงานให้ชุมชน เพียงครอบครัวของเรา ก็พอแล้ว ดีแล้ว นี่เป็นความคิด ที่เข้ากันไม่ได้เลย
ฉันไปเกี่ยวข้าวในนา และทราบข่าว -จากปากสู่ปาก- ทุกปัญหาชีวิต ฉันได้ยิน เขารายงานข่าว ว่ามีการรักษาโรค ให้หายได้ ด้วยการกิน อาหารธรรมชาติ ชีวิตของเราก็เหมือนกับ สิ่งที่เรากิน ฉันลองเดินตามนี้ คือทดลอง กินมังสวิรัติก่อน แล้วดูว่า สุขภาพของฉัน ดีขึ้นหรือไม่ และแล้ว ฉันทำของกินเล่น จากข้าวกล้อง และขายด้วย ฉันทำนมถั่วและขายด้วย ฉันทำทุกอย่าง ที่ไม่ทำด้วยเนื้อสัตว์ แล้วขาย หลังจากฉันได้ฟังธรรม ฉันกลัวเรื่องทำบาปมาก เมื่อก่อนฉันไม่กลัว ถ้าไปวัด ฉันต้องฆ่าปลา ตัวใหญ่ๆ เนื้อมากๆ เพื่อทำกับข้าว ไปถวายพระที่ฉันนับถือ เผื่อว่าแม่ของฉัน ที่ตายไปแล้ว จะได้กินด้วย ความจริง สิ่งนี้ไม่ถูก หลังจากฉันฟังเทศน์ จากสมณะอโศก ฉันจึงเข้าใจว่า มันไม่จริง เพราะสิ่งที่ตายไปแล้ว ไม่สามารถกินอาหารได้ ฉันจึงเลิกทำสิ่งนั้น แต่ฉันก็ยังคง ถวายอาหารพระ อยู่เช่นเดิม เพราะจะได้ทำความดีต่อไป
ตอนนั้น ฉันต่อสู้กับสังคมภายนอก และสามีของฉัน ซึ่งยังไม่มี “สัมมาทิษฐิ”. มันยากมาก ฉันมีความขัดแย้ง กับหลายสิ่ง หลายอย่าง แต่ฉันก็อดทน ทนเก่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง ลูกของฉัน… ฉันเริ่มรู้จักอโศก ในปี ๒๕๓๙ พอต้นปี ๒๕๔๑ พ่อของฉันเสีย ก่อนหน้านั้น ฉันมาไม่ได้ เพราะว่าพ่อยังอยู่… ปีนั้น ลูกชายของฉัน มาอยู่ที่วัด ตามลำพัง ส่วนฉันและลูกสาว ยังอยู่ที่บ้าน กับพ่อของเขา ในปี ๒๕๔๒ ฉันให้ลูกสาว มาเข้าโรงเรียนใหม่ที่นี่ เข้าเรียนชั้น ป. ๓ พ่อของเขา อนุญาตให้มาได้ เขาไม่คัดค้าน… เขาไม่ได้คัดค้าน แต่เขาเอง ยังมาไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร… ฉันขออย่างเดียว ..ให้ฉันและลูก มาอยู่วัด และปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งดี และสามารถไปโรงเรียนที่ดี
ทุกวันนี้ ฉันกลับบ้าน ไปช่วยสามีดำนา และเกี่ยวข้าว ไปช่วยทำสิ่งที่เขาไม่ถนัด เขายังอยากจะรักษา ครอบครัวเอาไว้ แต่ครอบครัวของเรา… จุดหมายคือ ฉันต้องการให้เป็นครอบครัว ที่ปฏิบัติธรรม ทุกๆคนในครอบครัวของฉัน ฉันไม่อยาก ให้ใครผ่าเหล่า ฉันต้องการให้ทุกคน มีความคิด ไปในทางเดียวกัน และช่วยเหลือกันในกลุ่มอโศก เพราะว่ากลุ่มนี้ ยังมีคนน้อย
[ ผู้เขียน: แล้วคุณคิดว่า สามีของคุณ จะตามคุณมาอยู่ที่นี่หรือ? ]
ฉันหวังอย่างนั้น ถ้าเขาทำได้ ก็จะประเสริฐที่สุด เขาเคยพูดว่า จะมาเมื่อเขาพร้อม
อาจันทิมา ย้ายมาอยู่ที่ศีรษะอโศก เพื่อให้ลูกๆ ได้เรียนจริยธรรม รู้จักเสียสละ และฝึกอาชีพ ๓ อย่าง ที่จะช่วยชาติ เธอยืนยันว่า ถ้าลูกของเธอ ต้องกลับไปอยู่ร้อยเอ็ด พวกเขาก็จะยังคง เจริญเติบโต ไปในทางที่ดี เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “ฉันอยากให้กลุ่มอโศก ของเราเข้มแข็ง เป็นแกนนำ ของชาวนา ที่จะต้องปฏิบัติ -คนบ้านนอก ผู้ซึ่งพยายามที่จะพึ่งตัวเอง โดยไม่ถูกกดขี่ นี่คือเป้าหมายของฉัน”
วันพุธที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔
ชาวศีรษะอโศก มาพร้อมกันที่ ศาลาธรรม ตั้งแต่ตี ๔ เพื่อประชุมรายสัปดาห์ ผู้เขียนเข้าร่วมประชุมด้วย และนั่งขัดสมาธิ บนเสื่อกก ติดกับอาจันทิมา สตรีทั้งสอง แสดงการคารวะต่อกัน ด้วยการไหว้ และทักทายกัน ด้วยคำว่า “เจริญธรรมคะ”
อาอ้อย เป็นผู้ดำเนินการประชุม ที่ประชุมพิจารณา รับรองการประชุม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วดำเนินการ ประชุมต่อไป เกี่ยวกับธุรกิจ ที่เริ่มไว้ก่อน ตามวาระ ที่พิมพ์ไว้ บนหมายกำหนดการ ดังนี้
-
อาพลีขวัญ ประกาศว่า มีนักเรียนหลายกลุ่ม จะมาชุมนุม เพื่อฝึกฝน ที่ศีรษะอโศกใน ๒-๓ สัปดาห์ข้างหน้า
-
อาจริงจริง เสนอร่างโครงการ “เร่งรัดพัฒนามนุษย์” เพื่อขยายกิจการ ด้านการผลิตอาหารให้เพียงพอ ที่ประชุมลงความเห็น เป็นเอกฉันท์ รับโครงการ อาจริงจริง เชิญชวนสมาชิกที่สนใจ เข้าร่วมประชุม เพื่อช่วยกันวางแผน ในตอนเย็นวันนั้น
-
เอ็ม รายงานความก้าวหน้า เกี่ยวกับการตระเตรียม การแสดงที่ “เลมอน ฟาร์ม” และประกาศ วันและเวลาที่จะแสดงจริง
-
หมูเฒ่า ทบทวนบัญชีของปีที่แล้ว การประชุมดำเนินมาอย่างราบรื่น จนกระทั่ง ถึงจุดนี้ แม้ว่าหมูเฒ่า จะแสดงตาราง รายรับ-รายจ่าย บนกระดานดำ อย่างละเอียด แต่ตัวเลขบางแห่งผิดพลาด หมูเฒ่าเริ่มสับสน ในที่สุด อาแก่นฟ้า ลุกขึ้นช่วย แต่เมื่อเวลาล่วงไปหนึ่งชั่วโมง ทุกคนขอให้เลื่อนไปพิจารณา เรื่องอื่นก่อน
-
อาดินผิว รายงานสรุปสิ้นปี เกี่ยวกับกิจการ ร้านน้ำใจ
-
สมาชิกคนหนึ่ง จากองค์การอโศก ระดับชาติ ซึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาผลผลิต ได้มาแนะนำกิจกรรม เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง ด้วยการทำงาน เพิ่มรายได้ จากการปรับปรุงผลผลิต และจะสามารถทำความสำเร็จได้ ด้วยการปฏิบัติธรรม