ธรรมปัจจเวกขณ์ (2)
19 กุมภาพันธ์ 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
เราต้องพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่าเราเป็นผู้ไม่ใช่คฤหัสถ์แล้ว ไม่ใช่ฆราวาสแล้ว รูปกายเราก็ไม่ได้เหมือนแล้ว เราจะต้องรู้รูปกาย เราจะต้องทรงกายไว้ด้วยอิริยาบถต่างๆ ก็จะต้องสำเหนียกเสมอพิจารณาเสมอ รู้เท่าทันเสมอว่าเราไม่ใช่คฤหัสถ์ เราไม่ใช่ฆราวาส ขณะใดเรากำลังทำอะไรก็ต้องรู้ พิจารณาเสมอ ขณะนี้เรากำลังทำอะไร? เรากำลังอยู่ในห้วงของอกุศล หรืออยู่ในห้วงของกุศล ต้องรู้เสมอพิจารณาจริงๆ แล้วต้องมีสติระลึกตัวอยู่ตลอดเวลาจริงๆ ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เป็นอกุศลหรือมันเป็นกุศล เราจะต้องปรับเปลี่ยน จะรู้ในกุศล-อกุศลเป็นที่สุด ในทุกระยะที่เราจะต้องพิจารณาเนืองๆ อย่าให้ขาดได้ พิจารณาแม้ที่สุดตั้งแต่ ตอนรู้สึกตัวที่เต็มด้วยสติ แม้แต่เราจะลุกเหินเดินย่าง กระทำงานกระทำกิจ ต้องพยายามแก้ไข หาบทแก้ไข เป็นวิมังสา พัฒนาปรับปรุง เราจะทำงาน งานอันนี้มันไม่ได้ผลดี มันเต็มไปด้วยถีนะมิทธะ มันเต็มไปด้วยความซึมเซา มันจะต้องแก้ เปลี่ยนระบบ ให้สติตื่น ให้กายตื่น ให้ตัวความรู้ตัวมาก มันจึงจะทำงานได้ประโยชน์
เมื่อจะนอน เต็มที่ เมื่อมันทนไม่ได้ต่อความง่วงอันเต็ม เวลาพักที่เรามีให้พัก เราก็พักนอนให้เต็มที่ ก่อนจะนอน เราก็ต้องพยายามคุมจิต ทำจิตให้มันหัดสงบเป็นนิโรธ หัดสงบให้ดับให้สนิท ให้เป็นอภิสัญญานิโรธให้ได้ หลับจนกระทั่งไม่มีฝัน ให้มันดับสนิท มันจะดับได้อย่างมาก และจะได้พักผ่อนที่สูง กิเลสตัณหาก็จะน้อย เป็นการปิดทางทำงานของกิเลสด้วยชนิดหนึ่ง
เราจะต้องดับ ก่อนนอนจะต้องตั้งสติให้ดี แม้เราจะหัดดับเป็นอภิสัญญานิโรธ เราก็ต้องทำ หรือเราไม่ต้องการดับมาก เราก็ตั้งสติของเราให้รู้ตัวก็ได้ ให้พยายามรู้ว่า เราจะไว้ขนาดใด เราจะนอน ขณะที่เราจะไม่ให้ถึงขนาดอภิสัญญาล่ะ เราจะทำตนให้เป็นผู้รู้ตัวอยู่ ตื่นง่าย ถ้าดับอภิสัญญานิโรธ ก็ตื่นยากหน่อย แต่ตั้งเวลาตั้งใจกำหนด ก่อนเข้าก่อนออก ให้รู้ว่าก่อนจะหลับ เราจะพยายามนอน ให้ได้มีระยะยาวนานเป็นชั่วโมง เป็นเวลาอย่างนั้นเท่านั้น และให้ตื่นขึ้นมาด้วยความสดใส ด้วยความเต็ม เราก็กำหนดหัดเอา พิจารณา เมื่อตื่นแล้ว เริ่มต้นทำงาน เริ่มต้นมีกิจ อย่าให้ทำงานด้วยความเป็นเนวสัญญานาสัญญา คือ ทำงานอย่างเบลอๆพร่าๆ ทำงานด้วยรำเรืองๆ จะว่าไม่รู้ก็รู้ จะว่ารู้หรือมันก็ไม่ค่อยรู้ มันเบลอๆ มันไม่ชัดไม่เจน อย่างนั้นไม่เอา
เนวสัญญานาสัญญา อย่างนั้นไม่เอา ต้องทำงานให้ชัดเจนมีสัญญาเต็ม มีสัญญาเวทยิต รู้ถ้วนทั่วสติเต็ม มีสัมปชัญญะให้ผ่องใสรู้เต็ม ถีนะมิทธะมันครอบงำ ได้แนะนำเสมอ ออกมาเดิน นวดเนื้อนวดตัว หายใจ แม้แต่อาบน้ำล้างหน้า หรือไม่ก็ทำงานเสียเลย ทำงานที่มันออกกำลังกาย หรือว่ามันขยับเขยื้อนมาก มันจะปลุกตนเองอยู่ตลอดเวลาอย่างงั้นเลย มันก็แก้ไขการง่วงได้ เราจะพยายามแก้มัน ถ้าไม่แก้มันไป ยิ่งจมกับมันไป ยิ่งติดกับมัน มันยิ่งจะจมเข้าไปใหญ่ หนักเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้น การแก้หลับอีกชนิดหนึ่ง ก็คือหัดนั่งเลย ถ้ามันง่วงก็หัดนั่ง นั่งหลับตานี่แหละ แล้วก็ใช้กสิณใดก็ได้ หรือไม่ใช้กสิณ ก็จะใช้พุทโธเป็นกสิณ จะใช้สัมมาอรหังเป็นกสิณ จะใช้ลมหายใจเป็นกสิณ จะใช้อะไรกำหนดไว้ ที่ตรงไหนก็ได้เป็นกสิณ คือเป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะ แล้วให้จิตใจของเรานั้น มันรู้อยู่ในภวังค์ ถ้าปล่อยหลับลงไป มันก็เป็นชนิดปล่อยภวังค์ ถ้าให้มีสติตื่นอยู่ ก็หมายความว่า เราดับครึ่งหนึ่ง เรารู้ตัวครึ่งหนึ่ง เราปิดแต่เพียงทวาร๕ ข้างนอก แต่ข้างในใจของเรายังตื่นโพลง รู้ตัวอยู่ทุกๆอย่าง จิตของเราคิดได้สั่งได้ แม้กำหนดรู้อย่างนั้นอย่างนี้ เราก็รู้อยู่ คิดไปอย่างนู้นคิดไปอย่างนี้ ก็คิดได้ จะหยุดก็หยุดได้ กำหนดเอง หัดทำให้แคล่วคล่องก็ทำเอา ปิดทวาร๕ ข้างนอก หู-ตา-จมูก-ลิ้น-กาย ไม่รู้ล่ะ แต่รู้ในทวารจิตในทวารในเรา ก็หัดนั่งหลับตาทำอย่างนั้นบ้างก็ทำ ก็เป็นการแก้การหลับ เป็นการแก้การตื่นเหมือนกัน ในการทำงาน ก็พยายามพิจารณาเสมอทุกอย่าง แม้กระทั่งการกิน การอยู่ การทรงจีวร อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ทรงบาตร ทรงจีวร เอี้ยวแขน ไกวขา ก้าวย่าง แม้แต่อุจจาระปัสสาวะ ให้รู้อยู่ในที่ รู้อยู่ในกรรมนั้นๆหรือการกระทำนั้นๆ หรืออิริยาบถนั้นๆ งานนั้นๆอยู่กับงานนั้นๆ ทรงไว้ซึ่งความรู้โดยปัจจุบันให้ตรงให้เต็ม ทำจิตให้ตรงจิต ทำกิจให้ตรงกรณียกิจอันนั้น อย่าให้มันเป็นสิ่งเพี้ยนๆ พลาดๆ
นี่เป็นการฝึกสติสัมปชัญญะให้มันตรง ให้มีสติสมณาคโต เป็นผู้ที่ซึ่งได้สมณาคโต มีกิจอันอยู่ในความตรง ในการรู้ที่มีการสัมผัสอยู่ ไม่ไปอื่น ไม่เพี้ยนไปอื่น เป็นชอบหรือเป็นชังนั่นเอง เราจะปล่อยใจให้ไปตกกับชอบไม่เอา ตกไปกับชังก็ไม่เอา ตกเป็นโลภะไม่เอา ตกเป็นโทสะไม่เอา ขุ่นหมองไม่เอา แม้แต่หลงในปีติก็อย่าไปหลงในปีติ รู้ในปีติ แล้วก็ตามดับปีติอยู่เสมอ ไม่ให้มีปีติวิสัย เป็นผู้ที่มีปีติเป็นเครื่องอาศัยอยู่ เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหารเท่านั้น มีปีติบ้างมีสุขบ้างเล็กๆน้อยๆ แต่ต้องรู้เท่าทันมัน ถ้าไม่รู้เท่าทันมันจะเผลอสั่งสม
สติต้องตามเก็บเสมอให้ได้ตลอดเวลา เราก็เป็นผู้ที่ไม่ขาดทุน เป็นผู้ที่กระทำได้ด้วยการพิจารณา และก็มีวิปัสสนาเป็นผู้รู้ที่สุด ตัดที่สุดแล้ว ผู้นั้นก็รู้เขตขอบของจิต รู้ขอบเขตของตัวเราเอง จะอยู่ในสังขารธรรมอย่างใด เราเป็นผู้ปรุงเอา จึงเรียกว่า วิสังขาร หรืออิทธาภิสังขาร เป็นผู้ที่อยู่เหนือสังขาร ด้วยความเก่งอย่างยิ่ง.
*****