ธรรมปัจจเวกขณ์ (7)
24 กุมภาพันธ์ 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
วันหนึ่งๆ เรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังคิดดี หรือเรากำลังคิดชั่ว เรากำลังพูดดีหรือว่าเรากำลังพูดชั่ว เรากำลังทำกายกรรมใดอยู่ๆอยู่ มันเป็นไปเพื่อทางดี หรือเป็นไปทางชั่ว เราจะต้องพิจารณาตั้งแต่หยาบ ไปจนกระทั่งละเอียด กายกรรมอย่างหยาบก็มีอยู่ กายกรรมจนละเอียดขึ้นๆๆ จนกลายเป็นความสงบระงับ กลายเป็นคนสุขุมสำรวม กายกรรมก็เป็นไปในทางที่พอเหมาะพองาม ทุกอากัปกิริยา ในขณะเดินก็ต้องให้มันมีเดินอยู่ แต่ว่าเดินอย่างไรที่ซัดส่ายเกิน เดินในขณะที่ทำงาน ทำงานอยู่ อะไรที่เกินกว่างาน น้อยไปมากไป ต้องพิจารณาดูให้สมควรทั้งหมด อย่าให้อะไรมาแทรก อย่าให้อะไรมันมาเกิน ในตัวของมันเอง เพราะแม้แต่ทำงาน แม้แต่เดิน แม้แต่ยืนแม้แต่นั่ง แม้แต่นอนอยู่ในท่านั้นท่านี้ ก็ควรจะให้อยู่ในรูปทรงของมัน อยู่ในสภาวะที่ลงตัว ไม่มากไปไม่น้อยไป แม้แต่พูด ตอนนี้ควรพูดดัง ตอนนี้ควรพูดเบา ตอนนี้ควรพูดเน้น ตอนนี้ควรพูดอ่อน ตอนนี้ควรพูดมาก ตอนนี้ควรพูดน้อย มีสภาพที่เราจะต้องรู้ความพอดีของตัวมัน มากไม่เอา น้อยก็ไม่เอา เจียนลงมาทุกๆตอน ทุกๆอย่าง พิจารณาให้เสมอๆ
แม้แต่การคิด ตอนนี้คิดมากไป ตอนนี้คิดน้อยไป เราก็จะต้องรู้จักกำหนด แม้แต่ความคิด คิดมากไปก็ไม่เอา คิดน้อยไปก็ไม่เอา แม้ที่สุดว่าจะคิดน้อยขนาดนี้ ก็ให้มีขอบเขต น้อยเกินไปจนกระทั่งหยุดเลย จะหยุดคิดเลยก็ให้รู้ว่า หยุดคิดเลยคืออะไร แล้วทำอย่างไร ทำให้ได้เป็นที่สุดให้เด็ดขาด จะหยุดคิดหยุดปรุง ไม่ให้มีความคิดเลย อสัญญีก็รู้ หรือแม้แต่ไม่อสัญญี อย่างที่เรียกว่า ดับไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่มีกำหนดหมายเลย หรือจะมีกำหนดหมายอยู่ อย่างนิโรธสมาบัติ นิโรธสมาบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรู้กำหนดหมาย เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ ให้สัญญามันรับรู้อารมณ์แล้วเรียบร้อย ให้สัญญามันเป็นผู้รู้อย่างแจ่มชัด รู้ความจริงตามความเป็นจริง แล้วก็อย่าให้มันฟุ้งเฟ้อ อย่าให้มันต่อ ดับมันเสีย เท่าที่รู้ความจริงตามความเป็นจริงนั้น
นี่เป็นนิโรธสมาบัติ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่นิโรธแบบอสัญญี โดยไม่มีกำหนดหมาย ดับสัญญาไปทั้งหมดนั้น นั่นไม่ใช่ แต่ดับสัญญา เราก็ต้องควรรู้ควรเป็นควรมีควรได้เหมือนกัน ถ้าสามารถหาได้ แต่พระพุทธเจ้า ท่านไม่หมายเอาอันนั้นเป็นตัวสำคัญ ท่านหมายเอาสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นนิโรธสมาบัติเป็นตัวสำคัญ คือกำหนดหมายรู้ มีสัญญาทำงานเต็ม รับรู้อารมณ์แล้วรับรู้สิ่งที่ควรรู้แล้ว โดยความเป็นจริง ไม่มีกิเลสมาผสม ไม่มีการไปปรุงไปสร้างอะไรต่ออะไรเกินขอบเขต อันนี้เป็นที่สุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราพิจารณาไปให้หมดทุกขั้นทุกตอน ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยประการอย่างนี้ มีการทำจริงรู้จริง ไม่ใช่รู้แต่ภาษาที่บอกไป.
*****