ธรรมปัจจเวกขณ์ (13)
2 มีนาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
อยากจะให้พยายามเข้าใจจุดสุดยอด พิจารณาไปจนถึงใจ แล้วก็ตัดสินถึง อารมณ์เบาอารมณ์ว่าง อารมณ์ปล่อยด้วยสบาย คนเราอยู่สบายตามที่เราหมายเอา ถ้าเราไปหมายเอาจัด สุดโต่งไป เงียบงุดไปอยู่เดียวดายไป เราก็เป็นคนเดียวดาย ถ้าเราพยายามจับให้รู้จุดพอดีๆ ตามที่เราพอดี ว่าง-เบา-ไม่อึดอัด ไม่เก็บเอาไว้ที่จะเป็นอุปาทาน ไม่ยึดเอาไว้ติดเอาไว้ อะไรเราก็เข้าใจ นอกให้สะอาดชัดเจน และในของเราก็สะอาดอยู่แล้ว ในของเราเป็นสว่าง ในของเราเป็นสะอาด ในของเราเป็นปล่อยเป็นวางอยู่แล้ว เป็นสบาย จิตนี้เป็นภาษาพูดแทน แต่สภาวะธรรมมันมีจริง จะได้พิจารณาให้เห็น แล้วก็อยู่ต่อไปให้ได้ สิ่งใดมันยังเป็นรูปราคะ อรูปราคะ ที่เราจะตามเก็บไป มันก็จะตามเก็บย้อนทวนออกมาอีก ในสภาพที่เราได้มีผัสสะ และก็มีพิจารณาที่จะตามๆๆไปเรื่อยๆนี่แหละ แล้วก็จะเป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน อันสมควร ตลอดต่อไปอย่างสบาย
เรามีฐานพัก เราอุเบกขาธรรม เราเอาอุเบกขาจิตนี้เป็นฐานพัก หรือเอาอากาสานัญจานี้เป็นฐานพัก แล้วก็ทำงานไปในตัว เราจะรู้สึกละเอียด รู้สึกละเอียด ถ้าเราไม่ห่างใจ เราทำความไม่หมองใจ ไม่หม่นใจ ไม่อึดอัดใจ ตัดทิ้งไปได้หมดแน่นอน เกลี้ยงเกลาแล้วละก็ นั่นแหละเป็นที่ที่เดินทาง เดินทางไปสู่จุดที่สุด เรารู้จุดพักจุดหยุด นี่เป็นสำคัญแล้ว สบายที่สุดแล้ว นอกกว่านั้นก็ไม่มีอะไร อย่าไปสร้างอภิชัปปา ให้มันเกินขอบเขตก็แล้วกัน อันใดที่มีอยู่ มันยังไม่หมดก็ให้มันรู้ อันใดที่มันน้อยแล้วก็ให้รู้น้อย อันใดที่หนักจัดจ้านก็รู้จัดจ้าน ถ้าผู้ใดยังไม่รู้ก็ต้องพยายามรู้แท้ แต่อย่างหยาบคาย เป็นกาม เป็นรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส พิจารณาตาม อย่าประมาท เข่นฆ่า จะทำตบะธรรมอะไรเพื่อตัวเอง ในสิ่งเหล่านั้นส่วนเหล่านั้น ก็จงทำ แต่ถ้าไม่ทำแล้วเป็นรูปราคะ-อรูปราคะ แล้วอย่าประมาท อย่าเผลอ อย่าไปปล่อยให้มันสั่งสมนะ พยายามลดละ ลดละไปจริง วันหมดจะต้องถึง วันหมดจะต้องมี เกลี้ยงเกลาได้อย่างแน่แท้ อย่าอึดอัดขัดเคือง อย่าตะกละตะกราม อย่ารีบร้อนจนเกินไปเป็นอภิชัปปา เมื่อทำได้อยู่ดั่งนี้ ก็มีฐานพัก และมีทางจะไหลเอียงไปสู่ที่จบได้อย่างแน่แท้.
*****