ธรรมปัจจเวกขณ์ (19)
15 มีนาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ผู้รู้รอบย่อมรู้รอบทั้งนอกและใน ให้มันมีการปะติดปะต่อ สืบสัมพันธ์หากัน เมื่อรู้หยาบภายนอก ก็พยายามทำหยาบนั้นให้เป็นละเอียด เมื่อรู้หยาบใน ก็ทำหยาบนั้นให้เป็นละเอียด พิจารณาให้เห็นชัด ให้เห็นความจริงถึงสักกายะ ที่แปลว่าหยาบใหญ่ จุดใดที่เราติด แม้แต่สภาพภายนอก เป็นกายกรรม วจีกรรม เป็นการคลุกคลีกับวัตถุหยาบๆใหญ่ๆ เรารู้ว่ามันหยาบมันหนักมันมาก เราก็ทำหยาบนอกให้มันละเอียด ละปล่อยวางง่าย เบา ปลง เข้าไปให้เรื่อยๆ หลุดละไปเรื่อยๆ จนถึงใน มันก็จะเป็นละเอียดใน ซึ่งมันซ้อนตัวอยู่และก็จริง หรือหยาบใน ซึ่งเป็นภวตัณหาอันแรงกล้า มันจะเป็นรสชาติ จะเป็นการต้องการกำหนัดใคร่ที่รุนแรงอย่างไร ก็ต้องรู้ให้ชัดของเรา แล้วก็ทำหยาบในนั้น ให้เป็นละเอียด ให้มันเบาบาง ปลด วาง ละ ปล่อย พิจารณาให้เห็นทั้งนอกทั้งใน ดังนี้ตลอดเสมอมา อันใดใหญ่ เรียกว่าสักกายะ ผู้รู้สักกายะ ผู้นั้นแลเป็นพระอริยะ เมื่อทำสักกายะลดถอยน้อยลงไปเรื่อยๆๆๆๆ จนถึงเล็กละเอียด เราก็จะเก็บส่วนเล็กละเอียดไปเรื่อย ก็เป็นการทำให้ละเอียด ทำให้หายไป จนกระทั่งหมด แม้แต่ส่วนน้อย หมดอัตตานุทิฏฐิ เราก็เป็นผู้บริบูรณ์ล่วงส่วน การพิจารณา ไม่ว่าจะพิจารณาในการเป็นอยู่ การกินการใช้ เราก็จะต้องพิจารณาโดยนัยยะดังนี้ ตลอดเวลา อย่าให้เผลอไผล เราจะต้องทำด้วยกายกรรม มีรูปแบบมีอะไรก็ตามแต่ ก็เพื่อที่จะได้เป็นผู้พิจารณา เพื่อลดถอยหน่ายละวางลง แล้วก็รู้ความพอดี ไม่หลงใหล เป็นไปแต่สาระ เราจะกินก็กินสาระ เราจะใช้ก็ใช้สาระ เราจะอยู่ก็เป็นอยู่แต่ในสาระที่แท้จริงของมัน.
*****