ธรรมปัจจเวกขณ์ (20)
16 มีนาคม 2519
ณ พุทธสถานแดนอโศก
บุคคลทุกคน จะต้องเป็นผู้ที่ใช้จิตใช้ปัญญา ที่ตัวเราเองได้มา ให้มันเป็นจิตเป็นปัญญา ที่ก่อความเจริญให้ตน ทำความบริบูรณ์ให้ตน พิจารณาเห็นความเจริญที่แท้จริงของจิตที่เอาเปรียบเขา ไม่ใช่จิตเจริญ จิตเสียสละเป็นจิตเจริญ จิตหลงอะไรต่ออะไรต่างๆนานา เพื่อที่จะเอามาเสพย์ เพื่อที่จะเอามาผลาญมาทำลาย โดยไม่ใช่การยังขันธ์ ไม่ใช่การยังชีวิต ไม่ใช่การยังรูปขันธ์-นามขันธ์นี้ ให้ไปด้วยซ้ำไป เป็นการจ่ายรูปขันธ์-นามขันธ์ไปด้วยซ้ำ เพื่อจะต้องให้รู้ให้ชัดว่า นั่นไม่ใช่การก่อความเจริญ ถ้าพิจารณาเข้าไปถึงจิต เห็นรูปรอยของความเจริญ ที่จะก่อความเจริญให้แก่ตัวเราเองนั้น หรือบุคคลนั้น มันจะย้อนแย้งกับที่โลกเขาเข้าใจเป็นอย่างมาก เราจะมีความพอดีแต่แค่สร้างรูปขันธ์-นามขันธ์ไว้แค่ปัจจัย ดังที่พระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสเอาไว้แล้วว่ามี ๔ อย่าง นอกนั้นเป็นการสร้างก่อให้ประโยชน์ผู้อื่น หรือแม้แต่เราเอง เราจะก่อให้แก่เราอีกบ้าง ก็เป็นแต่เพียงปลีกย่อย ไม่ใช่สารัตถะอะไร ไม่ใช่สาระที่แท้จริงอะไร
ต้องพิจารณารู้จิตอันชาญฉลาด ทำจิตให้เป็นจิตชาญฉลาด อย่าให้เป็นจิตโง่เง่า เป็นจิตที่ไปเห็นแก่ตัว กดขี่ข่มเหงเบียดเบียน สร้างก่อมาก็สร้างก่อเพื่อทำลาย เราจะไม่ทำอย่างนั้น เราจะต้องเป็นจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เห็นสาระที่แท้จริงว่าชีวิตนี้ ดำเนินไปวันต่อวันนั้นง่าย ไม่เปลือง ไม่ดีดดิ้นอะไร ไม่ยุ่งยากอะไรมากมาย เมื่อก่อไว้ให้มันเดินไปได้แล้ว มันก็จะทำงานได้ แล้วมันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นนั้นเป็นค่าของชีวิต นั่นเป็นการสร้าง นั่นเป็นการเจริญ นั่นเป็นการโต หรือก่อความเกิดให้แก่โลก
สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์สูงสุด เราจะรู้เท่าทันจิต ที่มันเคยถูกสั่งสอนมา เคยถูกยั่วย้อมมา ด้วยอารมณ์ความรู้สึก หรือความเข้าใจนั้นอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้ เราจะทำความเข้าใจ ละปลดปล่อยความเคยอารมณ์ และเคยหรือความเข้าใจอย่างโน้น เราเรียกมันว่ามิจฉาทิฏฐิ ให้เข้าใจใหม่ ให้เห็นแจ้ง และลดจิตที่เคยแล้ว ไม่เป็นนิสัยไปเคยอย่างโน้น ไม่มาอย่างนี้ เป็นนิสัยอย่างโน้น ไม่ใช่นิสัยอย่างนี้
เราจะปรับเปลี่ยนนิสัยใหม่ จึงเรียกว่านักบวชนั้น จะต้องมาสร้างนิสัย สร้างให้เป็นวิสัย สร้างให้อยู่ได้อย่างพระ อย่างบัญญัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ อย่างพระพุทธเจ้าเคยเป็นเคยมี อย่างพระอริยะสาวกต่างๆ เคยเป็นเคยมี แม้ที่สุด แต่จะเป็นพระอริยะที่ยังเป็นฆราวาส ก็จะให้เป็นฆราวาสที่มีฐานะ เป็นพระอริยะ เป็นพระโสดาก็ตาม พระสกิทาก็ตาม ที่ซ้อนแฝงอยู่ในรูปรอย เป็นผู้มีใจดี มีปัญญา มีความเกื้อกูล มีการให้ มีการทาน การไม่เอาเปรียบ มีการขยันหมั่นเพียร แม้เป็นโสดาบันทางโลกก็ต้องขยัน เป็นโสดาทางพระก็ต้องขยัน ขยันอย่างพระ ถ้าไม่ขยันอย่างอื่นใด ก็ขอให้ขยันศีลสิกขา-จิตสิกขา-ปัญญาสิกขา แล้วไม่หลบไม่เสี่ยง ไม่โกหกตนเอง
เมื่อทำศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ขยันหมั่นเพียร ได้ผลได้ประโยชน์ ก็จะละ ไม่ยึด แม้ที่สุดถึงจุดสงบจุดหยุด ก็จะเวียนคืนสลัดคืน มาหางาน มามีการงานหรือมีความขยัน ซึ่งเป็นความขยันที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเรา เกื้อกูลผู้อื่น สั่งสอนผู้อื่น เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เวียนไปกลับอีก เป็นการทำงานให้แก่โลก เพราะพระพุทธเจ้าเป็นบรมครู สาวกของท่านก็เป็นครู เป็นครูน้อยที่จะทำงานศาสนาต่อๆไป
นั้นเป็นงานเอกของเรา งานรองที่จะช่วยเหลือเฟือฟายอื่นๆ ก็จะเป็นไปบ้าง ตามที่จะอนุโลมไป ตามครั้งตามคราว นี้เป็นจุดที่เราจะเรียนรู้ และจะทำความเจริญให้แก่ตน ในช่วงที่เราเกิดมาเป็นคนชาติหนึ่งๆ ให้บริบูรณ์ที่สุด เท่าที่จะหาได้.
*****