ธรรมปัจจเวกขณ์ (21)
19 มีนาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
เราจะต้องพยายามพิจารณา หาความจริงจุดหนึ่ง คือ สิ่งที่ประกอบกัน คนจะตั้งอยู่ได้ จะต้องประกอบด้วยปัจจัย แล้วเราจะต้องกำหนดลงไปถึงปัจจัย ว่าเรามีปัจจัยประมาณอย่างนี้ๆ ในกาละเท่านี้ เราพอดี สบาย เราไม่ต้องห่วง เราได้เตรียมตัวแล้ว เราจะรู้ว่า เราขาดบ้างเกินบ้าง ได้เล็กๆน้อยๆ เราก็พออยู่ได้ด้วยดี ไม่เดือดร้อนไม่ทุกข์ แม้รูปขันธ์ เราก็ไม่เป็นอะไร ขนาดเสียหายเสื่อมสลายไปได้ ทันทีทันใดอะไรนัก เราก็จะรู้ แม้ที่สุดเมื่อเรารู้ปริมาณของ รู้แล้วก็จะต้องรู้ในส่วนที่จะประกอบ ส่วนที่สัมพันธ์อยู่ด้วย มันไม่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ขนาดปานนี้ เรารู้แล้ว เราก็ต้องเข้าใจ และกำหนดลงไปอีก พิจารณาไตร่ตรองลงไปอีกว่าอย่างนี้ๆ เป็นแต่เพียงสักแต่ว่าเป็นของมันจริงๆ โดยเราเองจะต้องอ่าน หยั่งลึกลงไปในจิตของเรา ให้รู้ชัดว่า จิตของเราติดมันหรือไม่ติด ถ้าไม่ติดเป็นแต่เพียงรู้ ก็รู้ว่าดีอยู่หรอก อันนี้ดีกว่าอันนี้ อันนี้ไม่ดีกว่าอันนี้ อันนี้จัดไป จัดไปทางฝืดจัดไปทางฝืนมากไป จัดไปในทางไหน ก็ฝืดทั้งนั้น นั่นเพราะงั้นทางไหนที่มันจัด เราก็รู้ว่านี่มันจัด ถ้าสมควรก็รับ ไม่สมควรก็ไม่รับ นั่นเป็นการตัดสินหรือเป็นการรู้ แต่จิตที่มันยินดีจัดจ้าน มันยินดี และมันก็จะต้องโน้มน้อมเข้าไปใฝ่หาอยู่อีกบ้าง จำไว้ ถ้าอย่างนี้แล้วก็ เราจะต้องดีเป็นสุข มันจะพยายามยั่วยวนของเราไว้เสมอ
เราจะต้องเป็นผู้รู้เท่าทัน แล้วก็บอกกับตนเองทุกครั้ง รู้จักจุดจบ รู้จักจุดตัด ความพอดีลงตัว แล้วประมาณนี้นี่แหละพอดี และจิตของเราก็รู้ได้ เท่าทันจิตที่แท้จริง ว่าเราได้หลงยินดี ได้หลงติด ได้หลงเสพย์ ได้หลงเอร็ดอร่อยหรือไม่ เผลอไผลลงไปหรือไม่ ถ้าเผลอไผลลงไปนั้นแหละ เราเองเราก็ได้สั่งสมลงไปแล้ว แต่ถ้าไม่เผลอไผล ได้รู้ตัวรู้ตนอยู่ แล้วก็ได้พยายาม มีจิตที่โน้มน้อมไป ในทางที่รู้เท่าทัน ไม่ติดไม่ยึด ตัดออก ดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ดีเราก็เข้าใจว่า นี่ฝืดฝืนตามมีตามได้ เป็นไปโดยควร ไม่ดีดไม่ดิ้น ให้มันดูเกินขอบเขต ต้องเลือกต้องเฟ้น จนกระทั่ง เพื่อรส เพื่อรูป เพื่อกลิ่น เพื่อสัมผัส เพื่อส่วนประกอบ ที่เป็นอนุพยัญชนะเท่านั้น อย่าไปให้มันดีดดิ้น ถึงปานนั้นเลย เสียสมณสารูป
แต่ถ้าเผื่อว่า ตามพอมีพอได้พอเป็น เราก็ได้ ก็เอา ก็รับสิ่งนั้น หรือเราเอง เราก็อยู่ได้ด้วยพอดีแล้ว สิ่งใดที่มากเกิน เขามาถวายเกินมีมาเกิน เราจะแสดงเป็นรูปธรรม ให้เขาเห็นว่าไม่ควรหลงนะ ไม่ควรที่จะใช้สิ่งนี้ร่วมประกอบชีวิต หัดละเสียบ้าง หัดลดเสียบ้าง หัดเฉยเมยจากมันเสียบ้าง คนกระโดดใส่ เรากระโดดถอย มันเป็นตัวอย่างย้อนแย้ง ที่เราจะแสดงรูปธรรมเหล่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่น เพื่อทำให้เขาได้นึก เพื่อทำให้เขาคิด เพื่อทำให้เขาได้รู้สึกตัวบ้าง ว่า เอ๊ะ! นั่นอะไร นี่เขาทำไมถึงผลัก สิ่งที่ไม่น่าผลัก เขาทำไมถึงไม่ชอบสิ่งที่เขาชอบ เขาทำไมจึงไม่หลง ไม่กระโดดเข้าใส่ อย่างมัวเมา อย่างที่เราได้หลง มันเป็นการสอน มันเป็นการที่จะติงเตือน มันเป็นอุบายโกศล เป็นสิ่งที่เราทำเป็นครู เราก็ต้องรู้เจตนารมณ์ของเรา ว่าทำเป็นครูในส่วนสิ่งนี้ ส่วนสิ่งที่เรามี เราได้เราเป็นอยู่แล้วนั้น เราก็พอดีอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น ส่วนนี้เกินมา ปรุงแรง รูปจัด รสจัด กลิ่นจัด สัมผัสจัดหรือว่าตกแต่งมาอย่างจัด เราจะประท้วง เราจะติงเตือนบ้าง ประท้วงไม่ให้เขาเจ็บแสบ ให้เขาได้รู้สำนึก ให้เขาได้ไปคิดเป็นแง่อย่างนี้ เรียกว่าการสอน เรียกว่า การเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ได้รู้สึกสำนึกบ้าง เราต้องฉลาดในการที่จะกระทำ ด้วยการที่จะปั้นขึ้น หรือว่าทำขึ้นให้เขาเห็น แต่อย่าหลงดี อย่าติดดี อย่าอวดดี จนกระทั่ง ทำแล้วก็ยังอุตส่าห์ยกเขาไปทบไปทวน เอาไปที่ไปแย้ง เพื่อจะยกตน ให้เด่นให้ชัดให้จ้านเกินไป อย่างนั้นก็ไม่ดี ต้องพยายามสงวน เขารู้ได้ก็มีละ บางคนเขารู้ไม่ได้ก็ปล่อยไปก่อน ให้มันได้ผลตามสมควร ตามที่เราจะต้องคำนึงคำนวณดู ไม่ยังงั้น มันจะกลายเป็นโอ้อวด อวดดี ตีตนยกข่มเขาเกินไป แล้วมันไม่ดี มันรุนแรง คนเขาอาย แล้วคนเขาเลยกลายเป็นตีกลับว่า ฉันไม่เอาก็ได้ มันก็ไม่ได้ผลอีกเหมือนกัน พวกนี้พูดไปพูดมา แล้วก็วน แต่ต้องพยายามรู้จุดสำคัญ แล้วก็กําหนดเอาจุดสำคัญเป็นปัญญาให้ได้ แล้วเราก็เอามาใช้ มาคำนวณ มาประมาณจริงๆ ไม่เที่ยง ไม่แน่ตายตัว ยังพูดตายตัวไม่ได้ แล้วมันก็จะต้องเข้าใจจุด หรือเข้าใจเขตที่เราจะปั้น ที่เราจะกระทำความเกิด กระทำความดับ ในส่วนเหล่านี้ เป็นประโยชน์ตน เป็นประโยชน์ท่าน อยู่ตลอดกาล จนกระทั่ง เราตายดับขันธ์ไปเถิด.
*****