ธรรมปัจจเวกขณ์ (31)
8 พฤษภาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
เราทุกคน ต้องพยายามหาความเจริญให้แก่ตน พร้อมกันนั้น ก็ทำความเจริญนั้นให้มันสะพัด หรือทำให้มันกระจาย ให้ไปเป็นสัมพันธ์กับผู้ที่อยู่ร่วมด้วย แล้วก็ทำให้มันส่งผลเลยออกไป อย่าไปติดขัดอยู่ที่ไหน ให้มันเจริญทะลุไป จนกระทั่งถึงปวงชนอื่นด้วย นั่นเป็นผลที่สำเร็จ หรือเป็นผลที่กว้างไกลที่สุด ที่เราจะกระทำให้แก่ตน เพราะฉะนั้น เราจึงจําเป็นต้องพิจารณาให้รู้ตนเอง ที่มันยังเหลือตัว ที่มันยังเห็นแก่ตน ที่มันยังคิดเอาเปรียบ ถ้าเผื่อว่าเราลดได้มาก การช่วยเหลือเฟือฟาย การไม่เห็นแก่ตัวมาก เราก็เป็นผู้ที่ทำประโยชน์เมื่อใด มันก็จะสะพัดออกไปสู่หมู่ แล้วก็จะสะพัดออกไป สู่ประชาชนรอบนอกที่ไกลขึ้น ไกลขึ้นออกไปอีก บุกตะลุยทะลุออกไป เพื่อผลกับทุกๆคนได้มากที่สุด
การเป็นอยู่ การฝึกตน เรามาเรียนรู้ ใช้ปัญญารู้ให้ลึก รู้จิตของเราให้ลึก ที่เหลือเศษอะไรที่เห็นแก่ตน แล้วก็พยายามปรับเปลี่ยน ลดความเหลือตัวตน เหลือความชอบ แม้กระทั่งที่เราจะชอบด้วยผัสสะ ทางทวารตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย หรือเหลือแม้แต่ใจ เราอาจจะเอาแต่ใจตัว จะเอาแต่ใจตน ก็ต้องคิดถึงให้มันจริงๆ แล้วก็พยายามลดละ พยายามผ่อนคลาย เบามันลง อย่าให้มันเอาแต่ใจตัว อย่าให้มันคิดเอาแต่ตัวเป็นเอก ใจมันเป็นตัวบงการงาน บงการให้ทำงานเท่านั้น ให้มันบงการทำงาน ถ้างานนั้นจะเป็นประโยชน์ไปแก่ผู้อื่น กว้างไกลขึ้นๆ จงคิดเถิดว่านั่นแหละคือความเจริญ นั่นแหละ คือความดีที่เราจะพึงสั่งสม พึงประกอบ พึงฝึกปรือกระทำให้เกิดแก่เรา แล้วก็จะไปเป็นผลประโยชน์ต่อผู้อื่นๆ สืบทอดต่อไปเรื่อยๆๆๆๆๆ เราจะต้องกระทำให้ได้เสมอๆ กระทำให้ได้จริงๆ จึงจะเป็นผลที่เรียกว่า ความเจริญที่แท้ พยายามฝึกไป ละไป ทำไป เห็นให้ชัด อย่าดูดายหรือว่าปละปล่อย อย่าประมาท ๆ อย่าเอาแต่ว่าเราตั้งใจจะมาฝึกธรรมะ แต่เราไม่รู้จุดหมาย หรือไม่รู้การกระทำว่าเราทำอะไร
ธรรมะก็คือความเจริญ โดยนัยยะประการอย่างนี้ พักสบาย กระทำก็เหนื่อย แต่เวลาเราพัก เรามีเราได้พัก เราได้หยุดพอเหมาะพอสม พักทางกายก็รู้ พักทางวจีก็รู้ แม้ที่สุดเราจะพักในใจ ให้มีการพักอยู่ในใจ ปล่อยวางอยู่ในใจเสมอ มันก็จะเสริม นั่นเป็นความละเอียดลึกซึ้ง ที่เราจะกระทำได้อย่างแนบเนียนเข้าไปมาก นั่นแหละคือ ความสำเร็จทางปฏิบัติธรรม แล้วเราก็กระทำงานตามควร ทำก็เหนื่อย เมื่อยก็พัก พักแล้วก็ทำ ทำแล้วก็เป็นการเหนื่อยเป็นธรรมดา ทำมากเมื่อยมาก ทำน้อยเมื่อยน้อยเป็นธรรมดา เมื่อพักเมื่อย พักทำมันก็หยุดเมื่อย มันก็เพลาเมื่อยก็สบาย ก็เป็นธรรมดา
จงรู้สัจธรรมอย่างนี้ให้ชัดเจน แล้วเราก็สามารถเจริญให้แก่โลกไป เราเป็นผู้มักน้อย ไม่มักในลาภในยศในสรรเสริญ เราเป็นผู้อยู่สุข ทำงานก็สุข พักก็สุข ให้มันได้เท่าเทียมกัน ทำงานก็สุข พักก็สุข เห็นความเจริญที่ดี เป็นกุศลธรรมอันดีนั้น เจริญก็เป็นความสุข เมื่อเราจะพักจะเบาจะง่าย ก็เป็นสุขอีกอย่างหนึ่งเป็น นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง หรือเป็นความสุขเพราะหยุด เพราะพักก็เอา ก็รู้ความสุขทั้งสองส่วน แล้วเราก็เป็นผู้ทำความสุข ให้เจริญทั้งสองส่วน ทำมากก็เจริญมาก พักมากความเจริญน้อย พักมากนี่ความเจริญน้อย ความก้าวหน้าของโลกไม่มี แต่เป็นความสบายของจิต เป็นความสบายของตน การพักนี่ เพราะฉะนั้น ถ้าพักมากๆ ก็เหลือคนที่สบาย คนที่พักมาก หยุดมาก เพราะเห็นความจริงอันนี้ ซ้อนไปให้ชัดแล้ว เราก็กระทำให้พอดี หรือเป็นผู้ยังความเจริญไปได้ ให้มากที่สุด เพราะเราเอาความพักไว้ในจิต แม้เราทำงานเราก็มีพัก เรามีพักผ่อนอยู่พอสมควร ไม่มาก แต่มีการทำงานได้มากและเป็นความเจริญได้แท้จริง.
*****