ธรรมปัจจเวกขณ์ (39)
16 มิถุนายน 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
เราต้องสำเหนียกเสมอว่า เราเป็นผู้มาเรียน เมื่อเป็นผู้มาเรียน เราก็ต้องพยายามเรียนรู้ตามพี่ๆ หรือว่าตามผู้ใหญ่ ที่ได้พยายามพาเป็นพาไป บางสิ่งบางอย่าง ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ก็ต้องค่อยๆสังเกตเอา เพราะบางอันบางอย่าง อาจจะไม่ได้บอกด้วยปาก แต่ว่ากระทำด้วยกายกรรมก็ดี จะว่ามโนกรรม ที่มีอยู่อย่างโน้นอย่างนี้ก็ดี ต้องตามให้ถึงจิต จิตรู้ยากก็ต้องเอากายไปก่อน กายรู้ไม่ได้ทำไม่ได้ ก็ต้องพยายามฝึกเพียร เมื่อฝึกเพียรกายก็ได้ วจีก็ได้ฟังออก สงสัยก็ถาม แล้วเราก็จะเจียนเข้าไปถึงจิต เราจะทำอะไรก็ตาม ถ้าเข้าใจยังไม่ได้ ก็ต้องพยายามถาม พยายามมีพิจารณาเอา ดูเอา ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องมีแบบนี้ ทำไมต้องมีอย่างนี้ ทำไมต้องมีจารีตอย่างนี้ ทำไมจะต้องมีประเพณีอย่างนี้
พยายามเข้าใจเหตุผลว่า ดีหมายเอาตรงไหน ถ้ามากไป ถ้าน้อยไป หรือว่าส่วนที่มันไม่ดี ไม่เหมาะสมกับสถานที่ ไม่เหมาะสมกับบุคคล ไม่เหมาะสมกับกาละ หรือไม่เหมาะสมกับสิ่งประกอบ เราก็ต้องพิจารณาให้รู้ วิเคราะห์วิจัยให้ออก ถ้ามันเหมาะสม เหมาะสมได้อย่างไร คิดดู ไตร่ตรองดู ก่อนจะไตร่ตรองพวกนี้ เราในฐานะผู้น้อยมาใหม่ ก็อย่าไปคิดอะไรมาก เพราะผู้ใหญ่ ก่อนจะคิดอะไร ก่อนจะพาทำอะไรนั้น จะต้องไตร่ตรองแล้ว เลือกสรรแล้ว และรับมาอย่างดีแล้ว เข้าใจผลแล้ว จึงเอามาทำ ตามที่เราได้ไว้ใจผู้ใหญ่นั้นแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ พยายามที่จะให้เรามุ่งเข้าไปเอาสำคัญ นอกจากว่า ทำอะไรก็ทำตามไปซะ ยิ่งบอกแล้วก็ยิ่งทำซะ แม้อย่างนั้นแล้ว ก็ต้องพยายามให้มันเข้าไปหาตนให้มาก
เตือนจิต ดูจิต มีผัสสะอะไรที่มีกิเลสโลภะ-โทสะ นี่เป็นการศึกษาขั้นสำคัญของเรา เราจะมามุ่งหมาย อ่านเรื่องกิเลสตัณหา จิตของเรามีโลภะโทสะ พวกนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นโมหะ คือเป็นสิ่งที่หลงผิด หลงกลับหัวเป็นหาง กลับท้ายเป็นหัว อะไรอยู่ตลอดเวลามาแต่ไหนๆ เราจะมาดูให้เห็นจริง มาดูให้เห็นว่า มันกลับแล้วยัง หรือว่าอันใดไม่กลับก็คือยังไง และเราก็ทำให้ถูก จะให้เห็นชัด และจะทำตามให้ได้ หมดโลภะ หมดโทสะ หมดกิเลสตัณหาภายในจิตใจ จิตเราอ่อนโยน จิตอ่อนเบา ว่าง ง่ายและก็รู้ดี จะกระทำอะไรๆ ก็มีความรู้ดีเป็นตัวนำ ซึ่งเรียกว่า ญาณทัศนะ หรือเรียกว่า อธิปัญญา นี่มันยอดของพระอรหันต์ หรือว่ายอดของผู้รู้ หรือผู้เจริญ ทำอะไรมีเหตุผล ทำอะไรรู้ดี เข้าใจดี ทำแล้วต้องพยายามเอาแต่สิ่งที่ มันจะเกิดผลดีเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ทำอะไรสุกเอาเผากิน ทำอะไรตามใจชอบไปเรื่อยๆ ไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่ใช่เราทำทุกอย่าง เราทำงานด้วยจิตของเรา เราไม่ใช่ทำเพราะอยากทำ แม้ไม่อยากทำก็ต้องทำ ถ้าเมื่อใดมันมีเหตุ มันสมควรจะต้องทำ มันเป็นการดี เราไม่ได้ทำเพราะอยากทำ เราไม่ได้ทำเพราะไม่อยากทำ ก็ไม่ใช่ อยากทำก็ไม่ใช่ แต่เราทำเพราะรู้ดี เพราะเห็นดี เพราะเข้าใจดี เพราะยินดี อะไรก็ตามแต่ภาษาที่เรียก ที่เอามาขานกัน
เพราะเรารู้ดีนั่นเอง รู้ว่าเป็นกุศล เราก็ยังกุศลนั้นให้ถึงพร้อม เป็นไปตามควร เรากระทำการงาน เรากระทำการพัก ตามที่เหมาะที่ควรของเรา ฉะนั้นผู้มาใหม่ ก็พยายามดู ไล่เรียงกันขึ้นมาตามลำดับ สงสัยอะไรให้ถาม สากัจฉาหรือว่าไต่ถาม แล้วก็ผู้ใหญ่หรือว่าผู้ที่เป็นพี่ รุ่นพี่ก็จะบอก รุ่นพี่บอกไม่ได้ ก็ให้มาถามรุ่นพ่อ รุ่นใหญ่ขึ้นไปอีก ตามลำดับๆ ซึ่งก็จะช่วยกันจูงกัน ให้พยายามสำเหนียกเสมอ ว่าเรามาศึกษา ถ้าเรามาเป็นผู้มาศึกษา กินข้าวชาวบ้านเขาแล้ว เราไม่ศึกษา ชื่อว่าเราเป็นผู้มดเท็จ ชื่อว่าเราเป็นผู้ไม่ซื่อ เพราะฉะนั้น อย่างน้อยที่สุด เราจะต้องศึกษา จะต้องฝึกฝน จะต้องเรียนรู้ แม้เราไม่ได้ไปสอนเขา ไม่ได้ไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเลย เราก็จะต้องซื่อสัตย์ต่องานนี้ คืองานศึกษาตน พากเพียรให้ตนเองเจริญ.
*****