ธรรมปัจจเวกขณ์ (40)
17 มิถุนายน 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ทุกคนอย่าได้ประมาท ต้องพยายาม เรามาเรียนรู้ ก็ต้องรู้ ก็ต้องเอาให้จริง ต้องพยายามฝึกฝน คนเกิดมาก็มีแค่นี่แหละ กิน อยู่ หลับนอน อยู่อย่างนี้ แต่มันสัมพันธ์กับใจไปทั้งหมด แม้จะกินแม้จะอยู่ แม้จะหลับจะนอน ก็สัมพันธ์กับใจไปทั้งหมด พระพุทธองค์ถึงได้ตรัสรู้ถึง มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา ท่านถึงได้รู้ว่า ใจนี่แหละเป็นใหญ่ ใจนี่แหละมาก่อน ใจนี่แหละ เป็นยอดแห่งผู้ที่จะสั่งการ ผู้ที่จะกระทำดี-กระทำชั่วก็เพราะใจ เมื่อใจทำจนเคยชิน ใจมันทำจนแนบเนียนแล้ว มันจะจับได้ยาก มันจะแก้ไขมันยาก เพราะมันดูประหนึ่งเราไม่ได้ใช้ใจทำ ดูประหนึ่งว่าใจไม่ได้ไปเกิด ใจไม่ได้ไปสั่งการ แม้แต่จริงใจ เกิดใจสั่งการ แต่มันแนบเนียนมันไว มันสนิทเนียน จนกระทั่ง เราไม่สามารถจับมันทัน
เราจะต้องพยายามจับใจเข้าไป จนให้ทันให้เห็นให้แท้ เราจะรู้ว่ามันเป็นตัวการใหญ่ ถึงเรียกว่า “มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา” เป็นตัวแรกเกิด มันเป็นตัวแรกก่อ มันเป็นตัวแรกสร้าง มันเป็นตัวที่จะสั่งให้วจีเกิด สั่งให้กายกรรมเกิด หรือแม้แต่สั่งให้ใจ มันคิดอย่างโน้นคิดอย่างนี้ มันก็สั่งของมันเอง มันเป็นตัวดำริเอง มันเป็นตัวเห็นตัวเข้าใจเอง เข้าใจผิดมันก็พาไปผิด เข้าใจดีมันก็พาไปดี เพราะฉะนั้น เราต้องมาผลักดันเข้าไป ให้มันไปทางที่ดี แล้วก็พิจารณาหาความดี เห็นตัวดี เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ พยายามพิจารณาไตร่ตรอง ถึงสภาวะทุกสภาวะ ที่มันมีองค์ประกอบ หรือเรียกว่า มีเหตุมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ทุกกาละ ทุกเวลา ทุกอาการ มันไม่เหมือนกันมันจึงยาก อันที่ถูกที่ดีอย่างนี้ถูก ต่อไปอีกสภาพหนึ่ง กาละหนึ่งที่มีเหตุปัจจัยไม่เหมือนกัน มันก็จะบอกว่า อย่างที่เคยถูกนั้นน่ะ ไปถูกกับอันนั้นอีกไม่ได้ มันจึงยาก ฉะนั้นต้องพิจารณาให้เห็นจริงว่า เป็นไปในทางดี ไม่เห็นแก่ตัว เป็นไปในทางที่จะทำประโยชน์สูง ประหยัดที่สุด ไม่ให้มีเศษของอาการของจิตที่เป็นโลภะ-โทสะ และก็พยายามพิจารณาให้ตรงเป็นที่สุด อย่าให้มันหลงเบี้ยวเบี่ยง เรียกว่าโมหะไม่เอา ยังโมหะหรือว่าหลงเบี้ยวหลงเบี่ยงนั้นแหละ มันยากที่จะตัดสิน แต่ต้องตัดสินให้ซื่อตรงที่สุดว่า นี่เป็นดีที่สุดด้วยเจตนาดีแล้ว ก็เป็นที่สุดแห่งเรา ต้องพิจารณาไปหมด
แม้การกินการอยู่ ที่พูดก่อนกินนี่ ก็เป็นเวลาหนึ่ง ที่เราควรจะได้กระทำ แม้เวลาอื่น ที่จะได้เตือนกันด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่ตัวอาตมาบอก รุ่นพี่ รุ่นพี่ที่เป็นเพื่อน หรือแม้แต่น้องบอก ก็จงเห็นว่า เขาชี้ขุมทรัพย์ให้แก่เรา อย่าทำตนให้เป็นผู้มีมานะทิฏฐิ เป็นผู้ที่ใครบอกไม่ได้ สอนไม่ได้เตือนไม่ได้ เป็นแต่เพียงบอกกันดีๆเตือนกันดีๆ อย่าไปถือตัวใหญ่ บอกกันดีๆก็ดีเหลือแล้ว เขาจะด่าให้ด้วยซ้ำไป ถ้าเผื่อเราผิด นั่นเขาก็สามารถจะทำได้ถ้าเราผิด แต่นี่เขาบอกกันดีๆเตือนกันดีๆ บางทีเตือนกัน ด้วยหัวเราะกันด้วยซ้ำไป ก็ถือตัวถือตนว่าฉันใหญ่ ใครเตือนไม่ได้ ใครบอกไม่ได้ อย่างนั้นเป็นความเลว ไม่ใช่ความดี ต้องพยายามเตือนตนให้มาก ใครจะบอกใครจะว่า ใครกล่าวใครจะติจะติงยังไง ก็ให้เขาบอกเขาว่าไป เราเอามาพิจารณา เราฟังโดยความสงบ แล้วอย่าให้มีใจโดดดิ้นด้วย สงบจริงๆถ้ามันโดดดิ้น เห็นที่ใจแล้วก็ระงับลง เห็นที่ใจแล้วระงับลง เราจะฟังความดี เราจะฟังความชั่ว โดยธรรมมันมีของที่เกิดอยู่ในโลก ประกอบไปด้วยดี ประกอบไปด้วยชั่วเท่านั้น มันไม่ใช่ตัวเราตัวเขาอะไร ถ้าเราเอาตัวเราไปอีก แม้ตัวเรายึดว่า ตัวถือดีตัวมีดี ชั่วจะไม่ให้เสียเลยนั้น มันก็ไม่จริง เราไม่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันอาจจะมีท้วงติงได้ ทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้น อย่าไปถือสา
ผู้เป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นผู้ที่รู้ชั่วก็คือชั่ว รู้ดีก็คือดี บางสิ่งบางอย่าง เราจะบกพร่องอะไร พระอรหันต์ก็ให้เขาท้วงติงได้ ให้เขาติด้วยซ้ำไป โดยไม่มีใจโทสะ เพราะไม่ได้โลภะในตน ไม่ได้โลภตน ไม่ได้หวงตน ไม่ได้มีตนไว้ มันจึงไม่มีโทสะ จะต้องพยายามพิจารณาให้ลึกซึ้ง เตือนตนไป แม้รสชาติอาหาร รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ก็พยายามอย่าประมาท เราพึงเพียรในทุกๆสิ่ง เราไม่ประมาทในทุกๆสิ่ง ไม่ให้จิตของเราหยาบ จิตของเราจะไปหลงในรส ในรูป ในกลิ่น ในเสียง เป็นจิตหยาบ แม้เราจะไม่หลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่หลงในสุข ไม่หลงในทุกข์ เราก็จะรู้สุขรู้ทุกข์ ที่มันเกิดในโลกเท่านั้นเอง มันไม่ใช่ของใคร มันไม่เป็นของใคร แต่มันเป็นมันมี ตามเหตุปัจจัยเท่านั้น แล้วก็ยังอยู่มีชีวิตอยู่ด้วย ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด.
*****