ธรรมปัจจเวกขณ์ (42)
5 กรกฎาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ให้สำนึก ตั้งตัวตั้งใจเสมอ ในทุกอิริยาบถ ทุกขณะที่เราจะกระทำ ยิ่งกรรมหรือการกระทำ ที่เป็นบทบาทใหญ่ๆชัดๆ การกินก็ดี จะทำงานอันใดอยู่ก็ดี หรือว่าจะหลับจะนอน จะลุกจะเดิน จะไปจะมา ที่เป็นอิริยาบถใหญ่ๆชัดๆ พึงสำนึกเตือนสติตนทุกครั้ง ว่าเราจะกระทำอันนี้ ถูกอยู่หรือ ดีแล้วหรือ เหมาะควรแล้วหรือ เป็นบาปเป็นบุญ เป็นกุศล-อกุศลปานใด ถ้าทำลงไปเพื่อกุศล มีกุศลเจตนาเป็นที่ตั้ง และไม่ได้เพื่อตัวเพื่อตน ได้ยิ่งสนิทเนียน ยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ อย่างนั้นเป็นผลสูงในการประพฤติธรรม จะต้องรู้ตัว ฝึกเพียรให้มีเสมอๆๆ
ดังนั้น ก่อนฉันอาหาร พวกเราจึงมีธรรมเนียม ในการพิจารณา ในการตั้งสติตั้งใจ เพื่อที่จะไม่กินไม่หลงรูป ไม่หลงรส ไม่หลงกลิ่น ไม่หลงสัมผัส ในอาหารต่างๆ เรากินเพียงเพื่อให้อาหาร เข้าไปเลี้ยงยังขันธ์ไว้ วันต่อวัน แล้วเราก็จะได้เป็นอยู่ ทำงานไปตามควร มีกินก็กิน ไม่มีกินก็ไม่กิน หรือมีกินก็ต้องพยายามรู้จักความพอ รู้จักกะรู้จักประมาณ ไม่ใช่กินเล่น ไม่ใช่กินหัว ไม่ใช่กินเพื่อมัวเพื่อเมา ไม่ใช่กินเพื่อตกแต่งโอ่อวดอะไร เรากินแต่เพียงให้เป็นไป เพื่อจะได้ทำตนให้สูงขึ้นๆ หรือทำเพื่อประโยชน์ให้แก่โลกให้ได้ และโดยเฉพาะประโยชน์ตน ที่ต้องละโลภะ-โทสะ-โมหะ หรือกิเลสตัณหาอุปาทาน ของเราออกไปเรื่อยๆ อย่าให้เห็นแก่ตน หรือเห็นแก่ตัว ต้องหัดหน่ายคลายเสียสละ มันพอมีพอไป ถ้าเราเป็นคนขยันหมั่นเพียร ทำงานทำการ เราก็จะต้องมีสิ่งที่มากินมาใช้แลกเปลี่ยน อยู่นั้นแหละ แล้วเราก็จะต้องหัดกินหัดใช้ แต่ประหยัด แต่พอดี น้อยเกินไปนัก ก็เสียสุขภาพกาย เสียสุขภาพใจ ต้องกินแต่พอเหมาะพอควร อย่าให้มีแนวโน้มไปในทางมาก ให้มีแนวโน้มไปทางน้อย เพราะคนเรามันเคยมากมาเก่า แล้วก็ให้น้อยลงๆๆ เรียกว่า อัปปิจฉะ น้อยลงมาแล้ว ก็กำหนดความพอไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง รู้ในความพอดีของชีวิตว่า กินแต่ประมาณเท่านี้ ภายในหนึ่งวันก็พอแล้ว
เราก็จะต้องรู้ปริมาณนั้น แล้วก็กินตามกำหนดตามหมาย ไม่อร่อยกินน้อย รูปดีกินมาก รสดีกินมาก รสไม่ดีรูปไม่ดีกินน้อย ไม่ใช่อย่างนั้น เราจะต้องกินอย่างรู้ชัดรู้แจ้ง ตามปริมาณที่เรารู้แล้วว่า เราจะกินเอาไปเลี้ยงร่างกายขันธ์ของเรา ให้พอเป็นไป อย่างนี้เรียกว่าเป็นรู้กิน แม้เรื่องอื่น เรื่องการใช้เครื่องใช้ เรื่องอะไรอื่นๆ เราก็จะต้องรู้เท่าทัน ให้มันลึกซึ้งไปหมด ต้องพิจารณาทุกอิริยาบถ เรียกว่า ปฏิบัติธรรมอย่าง “วิปัสสนา” หรือ สติปัฏฐาน แล้วเราก็จะช่วยตน ให้เป็นผู้ละโลภะโทสะโมหะ ละกิเลสตัณหาอุปาทาน ลดลงไปได้เรื่อยๆ จนแม้ที่สุด ก็หลุดล่อน ได้เป็นพระอิริยะขั้นสูง ช่วยโลกเขา เป็นประโยชน์แก่โลกเขาต่อไป จนกระทั่ง จะถึงกองฟอน หรือหลุมฝังศพ.
*****