ธรรมปัจจเวกขณ์ (43)
6 กรกฎาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
เรายินดีในธรรม เบิกบานในธรรม ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าต้องพยายาม อย่าเหลิง อย่าหลงลอย อย่ากลับชาติไปเป็นฆราวาสอีก บางทีมากๆนัก มันก็ไม่ดี ต้องระวัง นัจจะคีตะวาทิตะ นัจจะที่มันไม่เกี่ยวกับท่าทางกิริยากาย กิริยากายใด มันเกินมัชฌิมา ไม่เหมาะสมในกาละ ไม่เหมาะสมในหมู่ชน ไม่เหมาะสมในเทศะต่างๆ เราก็ต้องควรรู้จักฐานะของเรา ถ้าเราอยู่ในฐานะกับหมู่ขนาดนี้ เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นนัก ปล่อยปละหน่อย เพราะว่าไม่เพ่งโทษกันแล้ว เข้าใจแล้วโดยธรรม ก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับหมู่บางหมู่ ต้องเคร่งให้เขา ถ้าไม่เคร่ง เขาเองนั่นแหละเขาไม่นับถือ เมื่อเขาไม่นับถือ เขาก็จะไม่ได้สิ่งที่ดีจากเรา เพราะแม้เราให้เขาก็ไม่ยินดี เขาไม่ยอมรับ มันก็เสียผลต่อกัน ถ้าจะบอกว่า เราได้ความนับถือมันก็ได้ แต่โดยจริงแล้วละก็ ถ้าเขาไม่นับถือเรา เขานั่นแหละไม่ได้อะไรจากเรา ถ้าเราไปเป็นผู้มีผู้ได้อะไรแล้ว มันก็ได้แล้ว แต่ว่าผู้อื่นซิ ควรจะได้จากเราต่อไปอีก
เพราะฉะนั้น การเกื้อกูลตน เกื้อกูลท่าน จึงมีวัฏจักรหมุนรอบไปรอบมา อยู่อย่างนี้เอง จึงต้องมีทั้งสมมุติ จึงต้องมีทั้งปรมัตถ์ จึงจะเรียกว่า บริบูรณ์สูงสุด เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน อันควรตลอดกาล จึงต้องพยายามดู บางทีการยินดีมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เราเหลิง แล้วก็กลายเป็นผู้ที่แสดงกิริยา หยาบกร้านขึ้นมาได้ หรือว่าแสดงกิริยามากไป หรือไม่ก็แสดงเสียงเป็นคีตะมากไป คำพูดคำจา เป็นเชิงที่ไม่น่าจะเป็นคำพูดของสมณะ ไม่เชิงเป็นคำพูด ที่น่าจะแสดงออกมาแล้ว สำหรับผู้อื่นเขาเพ่งโทส หรือผู้ใดที่เขาเห็นแล้ว เขายึดถือ แต่ถ้าเราดูแล้ว หมู่หรือบริษัทที่อยู่นั้น พอเป็นพอไป เราใช้ขนาดนี้มันพอได้ เราก็ต้องใช้ หรือจะให้ดี จะเห็นว่าเกินหน่อย เราก็แสดงให้เขารู้ว่า เรามี”สติ” เราจะพูดอย่างนี้ เราจะใช้อย่างนี้ ขอโอกาส เราจะใช้อย่างนี้หน่อยนะ แสดงว่าเรามีสติ ไม่ได้ใช้ไปด้วยความหลงหรือโมหะ รู้อยู่ว่า ชักจะไม่ค่อยดีอยู่เท่าไหร่หรอก แต่คิดว่าใช้ดีกว่า และก็ขอโอกาสแล้วก่อน อย่างนี้ก็ควร ก็เป็นไปได้
ถ้าเมื่อว่าผู้ใดขาดสติ ไม่รู้เอาเลยโมหะไปเลย ก็ให้ระวัง ต้องพิจารณาซับซ้อน แม้แต่ซุ่มเสียง ที่คละเคล้าออกมา ในคำพูดคำจา ในการหัวเราะ ถ้าเผื่อว่าหัวเราะลงลูกคอ เสียงเรอเอิ้กๆๆๆ อะไรอย่างนี้ เราก็รู้อยู่แล้ว ระดับเคยพูดกันถึง “หสิตุปปาทจิต” ต่างๆ ๖ ระดับ เราต้องพยายามให้รู้ ลดลงมา ลดลงมาเรื่อยๆดี ต้องมีเสขิยวัตรด้วย แล้วมันก็จะไม่ขึ้นแรง แม้จะหัวเราะมีเสียงเบาๆ เท่านั้นแหละอย่างมาก ยิ้มแย้มเต็ม หัวเราะออกมาน้อยๆ น่ะ เต็ม นอกนั้นแล้วก็กลายเป็น หัวเราะของอย่างคนๆ ถ้ายิ่งต่อหน้าคนเลย ถ้าหัวเราะให้คนได้ยิน เขาเพ่งโทษเลย หัวเราะเอิ๊กอ๊าก เอิ๊กอ๊ากนี่ไม่ใช่กิริยา ไม่ใช่มหากิริยาของพระอรหันต์ หรือพระอริยะชั้นสูง มันมากไป ยิ้มแย้มอยู่ในหน้าอยู่เป็นนิจ ก็ไม่เป็นไร นอกจากบางคราว มันไม่ควรยิ้มแย้ม ก็ยิ้มเด๋ออยู่นั้น มันก็มากไป แต่ว่าอยู่ในหมู่ชนอยู่ในอะไร ก็ให้มันดูเบิกบาน แจ่มใส แสดงตนอยู่ว่าเป็นผู้รู้ รู้นี่หมายความว่า ไม่ใช่รู้มาก หมายความว่ารู้ตัว แสดงตนว่าเป็นผู้รู้ตัว คือผู้ตื่น เป็นผู้เฉลียวฉลาด เฉลียวฉลาดในสิ่งที่ควรจะเฉลียวฉลาด คือเฉลียวฉลาด ในการช่วยเหลือเฟือฟายผู้อื่น ไม่ใช่ในการโกงมาให้ตน แล้วก็เป็นผู้ตื่นอยู่ มีประสาทสำนึกรู้ทุกกาลเทศะ ว่าเรารับรู้ผัสสะอยู่ในโลก
ตื่น หมายความว่า เป็นผู้รับผัสสะอยู่ในโลกอย่างดี แม้หลับ นั่นเป็นการรับผัสสะน้อยลงไปแล้ว ก็ยังจะต้องเป็นผู้มีไหวพริบ หรือมีไหวที่จะรู้ว่า นี่เราเคลื่อน เราทำอาการอย่างโน้นอย่างนี้ เปลี่ยนไปในสภาพที่ดี ที่สุภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียด ที่เราจะต้องพยายามรู้ซ้อน แล้วก็กระทำการฝึกปรือ เอาแต่ปากพูดไม่พอ ต้องมีสติ ต้องรู้กาโย ต้องรู้เวทนา เวทนามันดีแล้วละ เราจะเอาเป็น ปโมทยัง เป็นการสุขเวทนาบ้าง แต่ก็อย่าให้มันกายออกมา มันมากเกินไป หรือจะให้กายมันชัด แต่ใจของเราไม่มีอะไร เบาๆ บางอยู่ ก็นั่นแหละดีที่สุด
เพราะฉะนั้น ใจจะต้องเป็นก่อน ใจจะต้องน้อยต้องเล็กก่อน ต้องสำรวมระวังในใจให้มาก ส่วนจะสร้างเป็นรูปออกมาทางกาย กาโย เป็นส่วนประชุมที่ใหญ่กว่าขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องให้มันรู้ว่า เราเอง เราจงใจสร้างให้ใหญ่ ให้รูปเป็นอย่างนี้ ให้รูปชัดอย่างนี้ เพื่อให้ผู้ที่รับรู้ได้ชัดนั่นหนะ เขาจะได้ประโยชน์ไป แต่ตัวเราเองนั้น ใจไม่ได้ถึงขนาดนั้นหรอก ก็ให้รู้เป็นธรรม อย่าโกหกตัวเอง ถ้าเลี่ยงให้ตัวเองแล้วไม่ได้ดีขึ้น ไม่ได้ดีขึ้น คนอื่นไม่รู้เรารู้ รู้แล้วเราอย่าหลบ ต้องสู้กับเราเอง ให้แท้ ยิ่งสู้กับผู้อื่นด้วย บอกเขาเลยตรงๆ เปิดเผยสารภาพ ปลงอาบัติ อย่างนี้คนอื่นจะได้รับรู้ แล้วคนอื่น จะได้ช่วยอีกทีหนึ่ง นั่นเป็นทางดี แต่ถ้าเราอายมาก เราไม่กล้า ไม่กล้าบอกเขาหรอก มันเป็นหิริ อายมากเหลือเกิน แล้วสิ่งเหล่านี้ เราก็ทำของเราได้แล้ว แน่ใจแล้วว่า เราจะหาจริงๆ ก็ให้รู้ให้ชัดเจน แล้วก็อย่าเบี้ยวตัวเอง เบี้ยวคนอื่นไม่เป็นไร มันไม่เลวหรอก ไม่ใช่ไม่เลว เลวเหมือนกัน แต่ว่ามันยังเบี้ยวคนอื่น แต่ว่าเราตั้งใจจะทำแก่ตนจริงๆละก็ มันก็ยังดี แต่ถ้าให้คนอื่นช่วยด้วยมันยิ่งดี ส่งเสริมขึ้น ว่าเขาจะได้ช่วยกำหราบปราบเรา ช่วยเตือนช่วยติงเรา เขารู้แล้วว่า เราจะทำอย่างไร เราจะไปสู่จุดไหน ต้องระมัดระวัง แม้จะดีใจอยู่ แม้จะโศกเศร้า โศกเศร้าอาดูรไม่ว่าประตูไหนๆ เราไม่ให้มีทั้งนั้น แม้จะเบี้ยวๆ บูดๆ บึ้งๆ หม่นๆ หมองๆ อะไรก็ไม่เอา ไม่ใช่ลักษณะพุทธะ
ลักษณะพุทธ จะต้องเบิกบานแจ่มใส เป็นผู้รู้เป็นผู้ตื่น และระวังอย่าให้มันมากเกินไป ที่จริงใจเราหมอง แต่มาทำแกล้งยิ้ม นี่มันแสนรู้ มันดูแล้วมันเบี้ยวๆ มันไม่บริบูรณ์ บางทีบางอย่าง ก็พยายามให้รูปมันลงตัว มันถึงจะงามพร้อม ให้นอกให้ในมันลงตัวพอดีๆ ถ้าอย่างนี้เป็นการฝึกเพียร ขั้นที่เจียนลงไป ทั้งนอกและใน ที่เราบอกว่า สติปัฏฐาน มีกายนอกกาย กายในกาย เวทนาภายในก็รู้ภายใน ภายนอกก็รู้ภายนอก จิตใจภายในก็รู้ภายใน จิตใจภายนอกก็รู้ภายนอก ธรรมในธรรม ก็คือรู้ธรรมารมณ์ต่างๆ และรู้ธรรม คือชั้นเชิงของธรรม ความต่ำความสูง ความหยาบความหนา หรือความละเอียดสุขุม ความอ่อนความบาง รู้ชั้นเชิง เป็นชั้นๆๆๆ ยิ่งละเอียดมากชั้นเท่าไหร่ ผู้นั้นแหละ เป็นผู้ละเอียดลึกซึ้ง เท่านั้น.
*****