ธรรมปัจจเวกขณ์ (44)
7 กรกฎาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ก็พยายามหัดดูตัวจุดวาง ตัวจุดเต็มรอบ หรือจุดลงตัวให้พอดี ให้รู้ในขนาดของสักกายะ ของอัตตานุ ให้รู้ความจริง แม้ที่สุดพ้นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสุญญตะ สุญญตะก็ต้องให้รู้ จุดของความรอบความสิ้นความเกลี้ยง หรือเหลือส่วนน้อย เป็นอัตตานุก็ให้รู้ เป็นสักกายะก็ให้รู้ ให้เข้าใจในระดับ อย่าคิดผิด ต้องรู้ในสักกายทิฏฐิ อัตตานุทิฏฐิ หรือแม้แต่สุญญตทิฏฐิ ก็ต้องมีความเห็นความเข้าใจ ในสุญญตนั้นแท้ๆ ถ้าไม่เช่นนั้น เราจะตัดรอบไม่ลง แล้วก็จะไม่วางใจ แล้วก็จะประมาท หรือไม่ก็จะเกิดจิตที่กังวลมาก อย่างหยาบคายก็ไม่รู้หยาบ กลางไม่รู้กลาง ละเอียดไม่รู้ละเอียด หมดสิ้นสูญแล้ว ก็ไม่รู้หมดสิ้นสูญแล้ว วนกลับไปเอาใหม่มาอีกก็ยังได้ เพราะนานัตตสัญญา เพราะกำหนดมันยังไม่พ้นการกำหนดนั้นๆ กำหนดรู้ การหมายรู้ การเข้าใจ อ่านให้ชัด มันไม่ชัด เมื่อไม่ชัดมันก็ไม่ถูกเรื่อง
ต้องให้ชัดเจน อย่าให้เป็นเนวสัญญานาสัญญา ต้องพ้นนานัตตสัญญา ทุกรูปร่าง แม้แต่พระอรหันต์ อัตตาขั้นที่เรียกว่าอรหัตตะ หรืออรหัตตา หรืออรหัตผล ก็ต้องรู้ในอรหันตผลนั้นให้ได้ ว่าเราลงรอยอย่างไร การวางใจหรือการปล่อยใจ หรือการสบายแล้วนั้น ในขณะบางที เรายังมีการปรุง มีการร่วมงาน มีกิริยาเป็นมหาวิบาก มีกุศลเป็นมหากุศล มันยังมีกรรม ยังมีการกระทำ เป็นสัมมากัมมันโต อยู่ได้โดยบุคคลผู้เจริญแล้ว ก็เจริญแต่กรรม รู้กรรม รู้ดับ รู้วาง รู้ปล่อย เพราฉะนั้น การดับหรือการปล่อยการวาง ที่สุญญตนั้นไม่ใช่สิ้นเกลี้ยง จนไม่เหลือหรออะไร การสิ้นเกลี้ยงก็รู้ด้วย เราจะดับเป็นอสัญญี ไม่กำหนดหมายโดยใจก็ให้รู้ โดยกายก็ให้รู้ โดยกายไม่ต้องสัมผัสอะไร ไม่ต้องแตะต้องอะไรก็รู้ หรือให้กายมันสัมผัส ตา-หู-จมูก-กายสัมผัสอยู่ รู้อยู่แล้ว เราก็ดับในรู้ เราก็รู้ของเรา จิตของเรารู้อยู่ ทำงานอยู่อย่างมากอยู่ แต่เราก็มีวางมีเฉย มีไม่สะท้าน-สะท้อน-สะเทือนอะไร เป็นจิตตัง ยัสสะ น กัมปติ เป็นสภาพที่จิตมันสัมผัสอยู่ รู้จริง แต่ไม่หวั่นไหว น กัมปติ ไม่ได้หวั่นไหวจริงๆ ไม่หลงในสุขในทุกข์ หมดสุขเวทนา หมดทุกขเวทนา อยู่โดยอทุกขมสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาแท้ เรียกว่า อยู่เหนือเวทนา จึงเรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” ไม่ได้หมายความว่า ดับเวทนา เราดับเวทนาเหมือนกัน แต่ดับเวทนาส่วนทุกข์ส่วนสุข ส่วนเวทนา ส่วนรู้อยู่ว่า ความรู้ตามความเป็นจริง เรามี เรารับรู้ และเรามีทั้งสัญญาที่กำหนดหมายรู้ เป็นสัญญาเวทยิตะ เรารู้กำหนดหมายชัด เป็นความรู้
เวทยิต หมายความว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ได้รู้แล้ว เรียกว่า เวทยิต เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามอ่านจิตอ่านใจ อย่าเข้าใจปนเป แม้แต่การกินมีรส เราก็ต้องรู้รส และรสที่เราวางใจแล้ว คือขนาดใด แม้รูปแม้กลิ่นแม้สียง แม้สัมผัสด้านอื่น ก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องพิจารณาไปหมด รู้ไปหมด แล้วก็ไม่เป็นทาส ในสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด อยู่เหนือมัน เรียกว่า อุทธาหรือนิรุทธา อยู่เหนือมัน หรือเรียกว่า วสวัตตี หรือจะเรียกว่า นิโรธ ก็ได้เหมือนกัน เราอยู่เหนือมัน เพราะดับส่วนที่มันเฟ้อออกไปเป็นโลภ เป็นโลกียรส เป็นอัสสาทะ เราจึงเรียกว่า เราอยู่เหนือ หรือเราดับสิ่งที่มันเป็นโลกหมด เหลือแต่โลกุตระ เหลือแต่จิต เหลือแต่วิญญาณที่แท้ รับรู้อย่างชัดเจน และมีส่วนที่เป็นโลภะโทสะโมหะ สูญ ดับเกลี้ยง ไม่มี ไม่เหลือ จึงเรียกว่า อยู่เหนือโลกที่แท้จริง.
*****