ธรรมปัจจเวกขณ์ (45)
14 กรกฎาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
สภาพวิเวก เป็นสภาพที่พระพุทธองค์ ทรงเจริญยิ่ง เราจะต้องเข้าใจคำว่าวิเวก วิเวกไม่ได้แปลว่าเปลี่ยว ไม่ได้แปลว่าปลอดน่ากลัว แต่ ‘วิเวก’ ปลอดโปร่ง ปลอดแต่โปร่งโล่งสบาย เรียบร้อยราบรื่น เรียกว่าวิเวก เราจะต้องพิจารณา ให้เห็นในกายวิเวก วจีวิเวก มโนวิเวก
วิเวก หมายความว่า เห็นชัดแล้ว ราบรื่นเรียบร้อยปลอดโปร่ง ตั้งแต่สภาวะใหญ่หยาบ เห็นชัด ไม่ขัดแย้ง ทั้งข้างนอกและข้างใน ดูลึกเข้าไปก็เห็นได้ เรียกว่า กายวิเวก
วจีวิเวก หมายความว่า เสียงพูดก็เรียบร้อย ราบรื่น ปลอดโปร่ง สนับสนุนเป็นไปด้วยดี ถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้จะขัดแย้งกันทานกันบ้าง ก็เป็นไปเพื่อ การดีขึ้นเจริญขึ้น วจีอย่างนั้นเรียกว่า วจีวิเวก เรียกว่า ปลอดโปร่ง รื่นเรียบรื่น เป็นไปด้วยดี
มโนวิเวก ก็หมายความว่า จิตใจมีแต่ความปลอดโปร่ง สบาย เบา แม้แต่ขัดยอกในหัวใจ ไม่มีแม้แต่ความอึดอัด ไม่มีแม้แต่ความเคือง เป็นใจที่เบาสบาย เรียบรื่น ปลอดโปร่งอยู่ เบาอยู่ เช่นนั้นเรียกว่ามโนวิเวก หรือจิตวิเวก เรากระทำเพื่อให้เกิดผลสู่วิเวก เป็นที่สุด เราพยายามรักษาความง่าย ให้เห็นชัด ถ้าเผื่อว่า มันมีอะไรจุ้นจ้านเกินไป เราก็พยายามออกไป สิ่งที่ไม่จุ้นจ้านก่อน แล้วก็พิจารณาให้เรียบร้อย เป็นการพราก เป็นการห่าง ที่สิ่งกวน สิ่งที่คัดง้าง ที่ต่อต้านรุนแรง ในขั้นหนึ่งก่อน เรายุ่งกับอะไร เราเดือดร้อนกับอะไรๆ ที่มันขัดกับเรา ดูไม่ปลอดโปร่ง ดูไม่เรียบรื่น ด้วยปัญญาที่รู้แล้วว่า สิ่งนี้มันทำให้เรายุ่ง ทำให้เราหนัก ทำให้เราไม่เบา ทำให้เราไม่ปลอดโปร่ง สบาย ง่าย ทำให้เราต้องเป็นภาระ แบกหามหิ้ว เราก็พยายามที่จะเลิกมัน ละมัน
เมื่อพยายามจะเลิกจะละ ด้วยปัญญารู้แล้วว่า ควรเลิกควรละ สิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้เลว สิ่งนี้หนัก สิ่งนี้ยุ่ง สิ่งนี้เป็นภาระมากไป เราจะกำจัดมัน โดยการพรากตัวเรา ห่างออกจากมัน โดยไม่เอาเราเข้าไปคลุกคลี ห่างออกมา เหมือนพรากไม้ที่ชุ่มด้วยยาง ออกจากน้ำเสียก่อน แล้วเรามาดูจิตของเราที่ไม่วิเวก จิตของเราที่มันไม่ง่ายไม่สบาย จิตที่ยังดิ้นยังเดือดร้อน ยังไม่สงบ ยังวุ่นวายอยู่ ยังอาลัยอาวรณ์ ยังต้องการอยู่ แล้วก็พยายามทำให้มันสงบ ทำให้มันเบาลง ทำให้มันหน่ายคลาย ทำให้เราไม่ให้มันปล่อยปละ กำหนดรู้อาการของจิตของเราให้ชัด ให้มันวางให้มันปล่อย ด้วยวิธีข่มกดก็ตาม หรือด้วยวิธีใช้ปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าเราโง่ หรือเราไปติดมัน เราไปเกี่ยวโยงกับมัน ไปเป็นทาสมัน พยายามเห็นความชั่ว ความเป็นภัย ความเป็นโทษ ของสิ่งที่เราจะพรากมา เป็นความไม่จำเป็น เห็นในความเฟ้อ ความเป็นภาระต่างๆให้ได้ แล้วเราก็ทำให้จริง มันจะเกิดจิตที่ลดได้ จิตก็วิเวก
เมื่อจิตวิเวก วจีก็วิเวก กายก็จะวิเวกตามไปด้วย เมื่อเรามาอยู่ในสถานที่ห่างไกล จากเคยติดเคยยึด มันก็จะมีจิตที่ดิ้น ปากมันก็จะออกอาการ มันก็จะไม่สงบ ก็พยายามสงบอาการกาย แล้วก็พยายามอย่าให้มันดีดดิ้น มันจะประท้วง จนกระทั่ง กลายเป็นป่วย ดีดดิ้นทุรนทุราย นั่งสงบก็นั่งไม่อยู่ อยู่ที่นี่ก็อยู่ไม่ได้ จะต้องดิ้นเข้าไปหาสิ่งที่เราติด เราจะต้องรู้มันให้ได้ว่ามันยาก แม้ที่สุด มันจะประท้วง เป็นอาการเจ็บปวด เป็นอาการทุรนทุราย เป็นอาการแม้แต่ จะสำรอกออกมาเป็นโลหิต จะอาเจียน จะวิงจะเวียน จะกระตุกด้วยประสาทต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ เป็นการประท้วงของจิต ที่มันยังไม่สงบนิ่ง จิตที่มันยังไม่วิเวกแท้ จิตที่ยังต้องการแสวงหานั้นทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้เท่าทันมันว่า มันจะกระตุก อาการกายเป็นโรคเป็นภัย บางสิ่งบางอย่าง มันวิงเวียน มันอาเจียน มันเดือดร้อนอะไรบางสิ่งบางอย่าง เพราะอะไร มันก็เพราะจิตของเราเป็นเหตุ นั้นก็มีส่วนอยู่ เพราะได้รับเชื้อโรค เข้ามาโดยตรงก็มี แต่เมื่อไม่ได้รับเชื้อโรค เข้ามาโดยตรงแล้ว จะเกิดจากจิตทั้งสิ้น ต้องพยายามรู้เท่าทันจิต และบำบัดด้วยการปล่อยวาง ด้วยการรู้ด้วยปัญญา ฆ่ามันลงไป ว่าเราจะไปโหยหาสิ่งเหล่านั้น อย่าไปเดือดร้อนในสิ่งเหล่านั้น เราจะเกิดการวิเวกได้ เมื่อถึงจิตเป็นจิตแล้ว กายก็วิเวก วจีก็วิเวก วจีก็วิเวกสนิท จะพูดจะจา จะเข้าไปคลุกคลีกับมันก็ได้ โอกาสหลัง นี่เป็นบทที่แท้จริง เป็นการประพฤติที่บริบูรณ์จริง เราไปกระทบสัมผัสแต่กาย มีวจีพูด ก็มีวจีเป็นสักแต่ว่าพูด
การเรียนรู้ หรือการฝึกหัดปฏิบัติ เราจะต้องรู้ภาษา ต้องเข้าใจความหมายที่แท้ ถ้าเข้าใจความหมายตื้นๆเขินๆ เผินๆอยู่ วิเวก ก็หมายความว่า จะมาอยู่ที่สงัดเฉยๆ กายมันยังไม่วิเวก วจีมันยังไม่วิเวก แม้แต่ใจ ก็ยังไม่วิเวกอย่างสนิท ยังดิ้นรนอยู่อย่างมาก ด้วยซ้ำไปก็ไม่รู้ แสดงว่า เราไม่เข้าใจคำว่าวิเวกเลย
เราจะต้องพยายาม แม้พรากกาย หรือว่าพรากสิ่งที่เราเสพย์เราติด ให้ห่างจากมัน ก็เป็นเพียงพรากไม้ที่ชุ่มด้วยยาง ให้ออกจากน้ำ แล้วเราจะยังมารีดยาง มาทำกิจนั้นเอง กิจที่ยังมีกิเลสตัณหานั่นเอง ให้มันแห้งเกราะ ให้มันหยุดสนิท ไม่ให้มันดีดขึ้น ให้มันตาย หรือให้มันหยุดติด หยุดเสพย์ หยุดหลง ไม่รักไม่ชอบ ไม่มีการชัง และไม่มีการปฏิเสธ จนที่สุดเราจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ไปใกล้ข้อง ไปใกล้ชิดสิ่งเหล่านั้น เราก็อ่านจิตเราได้ว่า มันนิ่งสนิทเฉย ไม่มีปฏิกิริยา ไม่มีอาการ ไม่ว่าจะผลักออกหรือว่าดูดเข้า จึงจะเรียกว่า เป็นที่สุดแห่งวิเวก.
*****