ธรรมปัจจเวกขณ์ (46)
8 สิงหาคม 2519 ณ พุทธสถานแดนอโศก
ทำความเห็นให้แจ้ง ความเห็นอันนี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “ทัสสนะ” เรียกว่า ความเห็นความเข้าใจให้เป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วก็พยายามกระทำให้ประเสริฐ ภาษาบาลีเรียกว่า “สังวระ” หรือ “สังวร” นั่นเรียกว่า ทำให้ประเสริฐ เพราะฉะนั้นในภาษา เราเอาความหมายจนเข้าใจสภาพ แล้วสังวร ก็หมายความว่า ให้มาระมัดระวัง มาพยายาม พยายามสอดส่อง สำรวมตน สำรวมจิต สำรวมกาย สำรวมทุกอย่าง ไม่ให้ละเมิดกฎ ละเมิดศีล ละเมิดวินัย หรือละเมิดบทกรรมฐาน ที่เราตั้งใจจะกระทำ เมื่อเรารู้ เกิดทัสสนะแล้วว่าอย่างนี้แหละ จะพาเราไปสู่จุดละ หน่าย คลาย หรือว่าเป็นไปด้วยดี แล้วเราก็สังวร สังวระ ก็คือทำให้มันประเสริฐขึ้นมาเรื่อยๆ อย่าให้มันตกต่ำ อย่าให้มันขาดดี ให้มันแถมดีๆๆๆ ขึ้นมาเรื่อย เรียกว่า “สังวรา” แล้วก็เกิด “ปฏิเสวนา” ทำซ้ำๆๆ ซ้ำซ้อนซ้ำแซะ เสวนา ก็หมายความว่า คลุกคลีหรือเกี่ยวข้อง หรือสัมผัส หรือแตะต้องอยู่อย่างนั้นแหละ ปฏิ = ทวนไป ทวนมาๆๆ แปลเอาความว่า เสพย์คุ้นวนเวียน หรือว่ากระทำให้มันเป็นอย่างนั้นอยู่ให้มาก “อธิวาสนา” มันถึงจะเกิดการยิ่งขึ้นๆๆ เขาก็เอามาแปลต่อไปว่า มันก็ต้องอด ต้องทน ต้องฝืนหน่อย ก็จริง
เราจะกระทำให้มันคุ้นอยู่ อย่างไม่เคยชอบ ไม่เคยกระทำ ไม่เคยเห็นจริงอย่างนี้ ไม่เคยเข้าใจอย่างนี้ จะต้องมาเปลี่ยนเสีย มันก็ยากหน่อย มันก็มีทนมีฝืนก็จริง เพราะฉะนั้น จะต้องทนต้องฝืน มันจึงจะดีขึ้น เรียกว่า อธิวาสนา ปริวัชชนา เราถึงจะได้ตัดรอบ ตัดจากสิ่งที่เราเคยหลุดจากสิ่งที่เราเคย ค่อยๆตัดมาเป็นขั้นๆมา มันก็เรียกว่าขั้น ตัดขั้นมาเรื่อย หรือตัดรอบมาเรื่อย มันถึงจะได้เบาบางลง เรียกว่า วิโนทนา ถึงจะได้ค่อยๆยังชั่ว เบาบาง เบาบางหรือง่ายขึ้นๆๆ มาเรื่อยๆ ทำรอบแห่งรอบ เป็นทัสสนา สังวรา ปฏิเสวนา อธิวาสนา ปริวัชชนา วิโนทนา มาเรื่อยๆ นี่แหละเป็นผล เกิดผลอย่างนี้ๆ มากเข้าๆนั่นแหละ ก็เรียกว่า “ภาวนา” เรียกว่าเกิดสภาพ เกิดสภาวธรรม เกิดสิ่งที่เรารู้แล้วว่า ทำอย่างนี้ รู้ว่าเป็นกุศล เป็นกุสลาธรรม เป็นทางที่เปลี่ยนทิศ ที่มันสวนทางกันอยู่ แต่โลกเขาเป็นแบบนั้น มาทางนี้ก็เป็นแบบนี้ เรียกว่า “ปฏิโสตัง” เรียกว่า “ทบ” เรียกว่า “ทวน” ทวนกระแส เมื่อเราหลุด เราปล่อยออกมาได้ ด้วยการตั้งใจ รู้เห็นจริง แล้วก็พยายามประกอบธรรม หรือพยายามกรรมฐาน หรือว่าทำการฝึกฝน กระทำการให้เป็นปัญญาอันแจ้ง แม้แต่บทฝึกหัดปฏิบัติอยู่นั้น เราก็ต้องรู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยควร รู้ด้วยถูก เป็นทัสสนา หรือว่าเป็น ญาณทัสสนวิเสโส เป็นญาณทัสสนวิเสส เป็นความเข้าใจอย่างยอดเยี่ยมจริงๆ อย่าไปเข้าใจเผินๆ อย่าไปเห็นแค่ตื้นๆ ต้องให้หยั่งลึกแน่ใจ แล้วเราก็มาพากเพียร มีสังวร มีทัสสนะ มีการเห็นการรู้ แล้วก็กระทำให้มันประเสริฐขึ้นๆๆๆๆ เราถึงจะเรียกตนเองได้ว่า “วระ” หรือ “พระ” เป็นแล้ว เป็น วระ หรือพระ ขึ้นไป ประเสริฐอยู่เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น สังวร ทุกบทบาททุกเวลา ที่เราจะบอกแก่ตนเองได้ การกินนี่ เราจะกระทำอิริยาบถใหญ่ การทำงาน การเป็นอยู่ในช่วงไหน ที่เราจะเปลี่ยนอิริยาบถ จากการทำงานนี้ ไปสู่การทำงานโน้น ให้ตั้งใจไว้เสมอ ให้มีอธิษฐาน แม้การนอน นอนแล้วก็ตื่น แม้การตื่น พอตื่นแล้วก็ตั้งใหม่ ตื่นขึ้นมาแล้วก็ตั้งใจให้ดี อย่าไปหลงอร่อย อย่าไปหลงติด อย่าไปหลงแถม แถมนอน ประมาณก่อนนอนให้ดีว่า เราจะนอนเท่านั้นชั่วโมง เท่านี้ชั่วโมง บอกกำหนดเลย ถ้าเลยเท่านั้นแล้ว ถ้าเรารู้สึกตัวขึ้นมา ถึงเวลาเท่านี้แล้ว ลุกขึ้นมา ฝึกตัดใจขึ้นมาจริงๆ อย่าแถม ถ้าแถมแล้วไม่มีจบ มันจะมีแต่มากไปๆ อย่าแถม ต้องตัดออกๆ มันถึงจะสั้นเข้าๆ ต้องพยายาม แล้วก็ต้องรู้ประมาณให้พอดี อย่าไปทำให้น้อยเกินไป น้อยเกินไปทรมานร่างกาย ทรมานสุขภาพ ทรมานจิตใจ มากเกินไปมีแต่ติด มีแต่ยืด มีแต่บานปลายออก ไม่มีจบสิ้นนิรันดร เราจะตัดออกๆ มันจะสั้นเข้าๆๆ แล้วถึงที่สุด
ถึงที่สุด ก็หมายความว่า สิ่งที่ประมาณแล้ว ลงตัวแล้ว เป็นความเหมาะสม เป็นนิยยานิกธรรม เป็นตัวเหมาะสม เป็นตัวที่แน่นอนที่สุด แล้วก็เป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น นอกจากนั้น เราก็จะปล่อยคืน นอกจากปัจจุบันแล้ว เราก็ปล่อย เราก็วาง เราก็เลิก แต่จะจำได้อยู่ เราก็รู้อยู่ สักแต่ว่า จำว่ามันเป็นความวิเศษของจิต ที่มันสามารถจำได้เท่านั้นเอง มันจำได้มากๆเท่าใด ก็ไม่ประหลาดอะไร ไม่เสียหายอะไร แต่ข้อสำคัญอย่าให้มัน อารมณ์ชอบ อารมณ์ชื่นหลง จำได้มากก็ไม่เอา หลงรู้ดี แล้วก็ไปติดตัวที่รู้นี่ ก็ไม่เอา เราถึงจะเป็น ผู้ที่ไม่มีอะไรเดือดร้อน ไม่มีอะไรที่จะทำร้ายให้แก่เราในภายหลัง เราจึงเป็นผู้ที่หมด หมดสิ่งที่จะเป็นอะไรในอนาคต หมดสัมปราย ปร แปลว่า ไม่มีอื่นอีกแล้ว อาย = ปราย มันไม่มีประโยชน์อื่นอีก ก็ประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น เราไม่มีประโยชน์อื่น นอกกว่าปัจจุบัน จึงเรียกว่า หมดปรายภพ หมดสิ่งที่จะเกิดอีก เป็นอีก เรียกว่า สิ้นสัมปรายภพ ต้องเป็นสัมปรายภพ อยู่เสมอๆ ก็คือ สมะ นี่แหละ สม, สัมปราย นี่แหละ มันรู้ในประโยชน์ ไม่มีในสัมปรายภพ ก็เป็นผู้ตัดภพ ถ้ามีสัมปรายภพก็มีสิ่งต่ออยู่ มีจิตนี่แหละ ไปก่อไปสร้างไปยึด ในประโยชน์นั้น เป็นของเราเป็นตัวเรา จะได้จะมีจะเป็นอีกให้ได้ ถ้าไม่ได้ไม่มี ก็ไม่เป็นไร จะมีอีกถ้ามันเป็นของดี จะให้มันมีทุกปัจจุบันก็ได้ ก็เข้าใจปัจจุบันนั้น ให้เป็นที่สุด แล้วให้มันปัจจุบันนั้น ตามเรารู้แล้วว่าดีเท่านั้น ก็มีอันลงตัวเป็นที่สุด
ขอให้สังวร ระวังทุกอิริยาบถใหญ่ แล้วก็เตรียมตัว ตั้งตัวอธิษฐานจิตขึ้น อย่าให้ประมาท แล้วเราจะถึงที่สุดได้ แล้วก็อย่าเร่ง อย่ามีอภิชัปปา อย่ามีตัณหาล้ำหน้า อยากได้เกินเวลา เหตุปัจจัยยังไม่ครบ ก็อยากได้ก่อน เร่งไปก่อน เราก็ไม่สบาย มันเป็นแผนซ้อนแผน รูปซ้อนรูป เป็นสภาวธรรมที่ดี ย้อนทำให้เราทุกข์ เราจะต้องเป็นผู้ตามรู้ เท่าทันทุกอย่าง ที่มันจะก้าวเดินไป เป็นจังหวะๆๆ ย่อมได้ ย่อมมี ย่อมเป็น ตามที่เราสามารถ แล้วเราจะถึงที่ที่เราถึง
อย่าประมาท อย่าให้ขาดเพียร แล้วก็อย่าย่อหย่อน อย่าให้มี ‘อภิชัปปา’ เป็นที่สุด.
*****