ธรรมปัจจเวกขณ์ (60)
26 ตุลาคม 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
จิตอ่านจิต จับจิตเป็นแล้ว รู้ว่าจิตเราสบาย ก็ปล่อยไปตามสบาย และเราก็รู้ว่าจิตจะทำงาน เราก็ต้องให้พิจารณาจิตของตัวเอง พร้อมกับการทำงานด้วย จิตของเราจะต้องอ่าน จะต้องรู้ จะต้องมีสติและมีธัมมวิจัย และต้องวิริยะ ต้องพยายามอยู่เรื่อย ต้องเพียร เพราะว่าจิตมันจะพยายามไป ในทางที่มันจะเสพสุข หรือเสพย์ชอบ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีเพียรเป็นตัวกักกัน หรือเป็นตัวที่จะพยายามพิจารณาถึง จุดดีและจุดชั่ว หรือจุดควรจุดไม่ควร ให้ชัดเด่น การพิจารณาถึงสาระก็ดี ถึงชั้นเชิงสิ่งเกี่ยวข้อง สาระ เราเรียกว่าอัตถะ ชั้นเชิงสิ่งเกี่ยวข้อง เราเรียกว่าธรรมะ แล้วเราก็เอาตัวเราไปร่วมด้วย เรียกว่า อัตตะ สามกลุ่มนี้ จะต้องพยายามพิจารณาให้ดีก่อนอื่น แล้วพร้อมกันนั้น เราก็จะกระเถิบออกไปสู่การประมาณ สู่การที่จะต้องว่า เรายืดหยุ่นนั่นเอง ประมาณทั้งยืดหยุ่น ทั้งดูที่จะทำอะไรยังไง ต้องดูปัจจัยทั่วทิศ รอบตัวใกล้ตัวก็ดูก่อน แล้วขยับออกไปจากไกลตัว ไกลตัว ถ้าไกลเกินไป ก็ต้องรู้ขอบเขตว่าไกลเกินคิด ไกลเกินที่จะไปจับมานึกมาผสม เราก็อย่าไปเอามาผสม เช่นอดีตที่ไกลเกินไป อนาคตที่ไกลเกินไป หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม หรือว่าสิ่งที่เราจะรู้ได้เหมือนกัน จะพูดถึงได้เหมือนกัน คิดถึงได้เหมือนกัน แต่มันก็ไกลความเป็นจริง เราก็จะต้องรู้ตัวไกลความเป็นจริง อันใดควรตัดปล่อย อย่าไปเอามายุ่ง มันก็จะได้ไม่ยุ่ง มันก็จะได้ทำงาน หรือว่ามีองค์ประกอบ มีปัจจัยนั้นๆ เป็นจริงตามที่เราจะได้ร่วมทำงาน เราจะได้ประมาณลงตัว ได้ถูกต้องง่ายดาย เราต้องรู้กาละ ซึ่งไม่ใช่ตัวอะไรเลย กาละมันจะต้องดูความรอบ ซ้อนไปอีกนั่นเอง กาละก็คือนามธรรมของปัจจัยทั้งมวลในโลก เมื่อเราจะต้องรู้เหตุการณ์ รู้สมัย รู้เวลา รู้วาระ ซึ่งมียืดยาว มีทั้งๆ ทุกกาละเป็นตัวปัจจุบัน แล้วก็ขยายออกไป มีปัจจัยอะไรคำนวณร่วมกันกับเวลา บางทีแต่ละเวลาแต่ละปัจจัย มันไม่ตรงกัน กาละอย่างนี้ เวลาอย่างนี้ สมัยอย่างนี้ กับปัจจัยที่เคยเป็น เคยมีมาแต่เก่าก่อน มันก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเอามาปรุงร่วมกัน แล้วไม่เป็นเหมือนกันก็ได้ ต้องคำนวณให้สำคัญทีเดียว ว่ามันจะต้องละเอียดลออ
ผู้ใดฉลาด ผู้ใดขยันที่ได้กระทำเสมอๆ ก็จะทำได้เร็วได้ง่าย เรียกว่าปฏิภาณ ถ้าผู้ใดยังไม่ทำเสมอ ก็เรียกว่าช้า เรียกว่าปฏิภาณไม่ดี ผู้ใดรู้นิรุติ รู้ภาษา รู้บัญญัติอื่นๆมากมายด้วย ก็จะคล่องแคล่วในการที่จะเสนอออก แสดงออกแก่ผู้อื่นอีก เราต้องพยายามรู้สาระก่อน ส่วนจะเสนอออกนั้น ก็ต้องพยายามหัดด้วยฝึกด้วย เราก็จะต้องคำนวณ ปัจจัยที่เป็นหมู่ ปัจจัยที่เป็นเดี่ยว ที่เรียกว่า ปริสัญญุตา หรือว่า ปุคคลปโรปรัญญุตา ผู้ที่ฉลาด ผู้ที่รู้รอบนั้น ก็จะต้องรู้เป็นระยะ ต้องรู้ทั่วไปหมด ทั้งธรรมะ อัตถะ ทั้งคน และทั้งการประมาณกาลเวลา และก็ทั้งหมู่ ทั้งสิ่งที่ร่วมด้วยเป็นกลุ่ม ทั้งสิ่งที่เป็นเดี่ยว และเป็นลักษณะของมันเอง เรียกว่า ปุคคลปโรปรัญญุตา ซึ่งตัวมันเองนั้น ก็ยังมีกำหนดที่จะเดินไป ในที่แปลสู่ฟังแล้วว่า มันยังจะมี ปรปโร มันยังมีอื่นและอื่นอีก คืออันนั้นก่อนนั้น กลับมาเป็นบัดนี้ แล้วจะต่อไปอีกเป็นส่วนร่วม ถ้าเผื่อว่ายิ่งจะคำนวณต่อออกไปอีก แต่ละคนเขา เราก็ต้องดูว่า มันควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อธิบายอย่างนี้ ก็หมายความว่า ให้คำนวณละเอียดซ้อนลงไปอีก แม้แต่บุคคลก็ต้องคำนวณซ้อนในบุคคล หมู่กลุ่มก็คำนวณซ้อนในหมู่กลุ่ม กาละเวลา ก็ต้องคำนึงถึงอนาคตบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไปเด่นชัด หรือว่าจะไปห่วงแต่อนาคตจนเกินไป เราก็ต้องคำนวณถึงอดีตบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไปเอาอดีต เป็นจริงเป็นจังเสียจนเกินไป ก็ไม่ใช่ เราเอามาใช้งาน เรารู้จักการใช้ รู้จักคำนวณอะไรต่างๆ หรือประมาณนั่นเองแหละ คำนวณหรือประมาณ แล้วแต่จะใช้ภาษา แล้วก็กระทำโดยตัวเราเองเป็นคนทำ เราเอาๆๆๆ เข้าไปเทียบ มันเห็นเทียบแต่เพียงว่า เราเอง เราทำงานเพื่อเรา แล้วเราเอาตัวเราไปเป็นตัวเรา ไปทับถมไปข่มขี่ ไปเอาเปรียบเอารัด หรือว่าเรายังมีเศษเห็นแก่ตัวอยู่อย่างไร ก็อย่าให้มันมี แต่ความเป็นจริงนั้น เราทำงานอยู่ ก็มีความเป็นจริงอยู่ว่า เราเอง เราเทียบเท่าหรือเราเสมอ หรือว่าเราต่ำกว่า – สูงกว่า อะไรอย่างนี้ต่างๆนานา เราจะทำงานอะไร เราจะยกธรรมอะไร ก็ต้องพยายามรู้ว่า เราเป็นคนทำสิ่งนั้นๆ ยกธรรมะไว้เหนือเสมอ
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ยกธรรมะไว้เหนือ ท่านมองหาใคร ท่านมองหาโดยบุคลาธิษฐาน ท่านบอกว่า ใครที่ท่านควรเคารพ ท่านก็มอง แล้วท่านก็เห็นว่า ท่านเองท่านไม่เห็นใคร ที่จะเป็นผู้ที่น่าจะเคารพได้ นอกจากธรรมะ นี่ท่านไม่ได้เข้าข้างใคร ท่านเอาสัจจะ ท่านพูดได้ ท่านเป็นได้ ท่านกระทำได้ แต่เราไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไปคำนวณจนกระทั่งว่า เราเคารพธรรม นอกนั้น เราไม่เคารพใครนั้นหนะ ผู้จะปฏิญาณ หรือผู้ที่จะพูดได้ออกมา มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์เดียวเท่านั้น ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว อย่าพึงไปพูดอย่างนั้น แม้เราจะรู้ ก็ต้องรู้เป็นนัยๆของเราว่า เราจะสูงเหนือใครก็รู้สูงอย่างนั้นแหละ แต่บางสิ่งบางอย่าง เราจะต้องไม่สูงเหนือกว่าเขา เพราะเราจะเก่งรอบด้าน เป็นสัพพัญญูทั้งหมดไม่ได้ เราจะต้องมีบางอย่าง ที่เขาเหนือเราอยู่ เขาดีกว่าเรา เขาเก่งกว่าเรา เรามีเหมือนกัน เพราะเราจะต้องรู้ความจริงทั้งหมด แล้วไม่ใช่ว่า เราจะมาอวดดี แต่เรามาทำดีที่เราถนัด ดีที่เราเห็นว่า จะกระทำให้มากที่สุด สิ่งใดดีแล้ว ควรที่จะทำให้มากที่สุด เป็นประโยชน์สูงสุด เราทำสิ่งนั้น ถ้าได้ทำสิ่งที่ถนัดก็ยิ่งดี บางอย่างไม่ถนัด เราก็จำเป็นต้องทำ ตามกาละบางกาละ เราจะได้เก่งขึ้นดีขึ้น เจริญขึ้น ก็เป็นธรรมดา พิจารณาทั้งหมดในสัตบุรุษ หรือว่าสัปปุริสธรรม ๗ ประการก็เรียก สัตบุรุษ ๗ ก็เรียก เป็นสำคัญที่สุด เราจะต้องใช้ตลอดชีวิต ถ้าเผื่อว่าใช้ได้เป็น พิจารณาเป็น รู้เนื้อหาสาระของมันแล้ว ทำทุกเวลา เราจะมีสัตบุรุษ ๗ นี้กำกับ ตัวเราเองทำจริงๆ แล้วละก็ ทุกอย่างเจริญและก้าวหน้า
*****