ธรรมปัจจเวกขณ์ (61)
27 ตุลาคม 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
มนุษย์ที่ได้รับการฝึกฝน หรือว่าการเรียนรู้นั้นหนะ มันมีแต่เรียนรู้เรื่องโลกมาปรุง การทำความดี มันเป็นเรื่องของวัตถุ หรือเป็นเรื่องของรูป เป็นเรื่องของสังขาร เป็นเรื่องของการก่อเกิดให้เป็นอยู่ ในฐานะอันเหมาะสมกับฐานะ ให้มีสถานะภาพที่ลงตัว มีสถานะภาพที่เป็นไปด้วยราบรื่น ใช้กาละ ใช้ตามแหล่งที่ที่สมมุติ ใช้ตามความเหมาะสมของบรรยากาศ มันก็เหมาะสมดี เป็นการเกิดอันเป็นไปด้วยดี ส่วนด้านจิตใจนั้น ต้องเป็นธาตุรู้ ที่สามารถรู้ถึงความดี ที่เราจะสังขาร ที่เราจะปรุง ที่เราจะก่อเกิด ที่เราจะทำให้ชัดเจน สมควรที่จะทำ แล้วเราเองเราก็รู้ด้วยว่า เป็นหน้าที่หรือไม่ เกินกฎเกินระเบียบ เกินกติกาหรือไม่ด้วย ซ้อนลงไปอีก ธาตุรู้หรือจิตที่จะสามารถรู้นั้น เราจะต้องรู้สึกเข้าไปถึงสิ่งเหล่านั้นว่า มันเป็นของปรุงแต่ง เป็นของที่กระทำขึ้นใช้ เพื่อให้มันประกอบ ให้มันทำปฏิกิริยาสร้างสรรกัน หรือว่าเป็นเรื่องเป็นราวเป็นกิจ ที่จะสร้างกิจอันนั้น ให้ดำเนินไปถึงที่สุด แห่งกิจของมันเอง เราจะต้องรู้ว่า มันไม่ใช่ของเรา ของใครของเขา ไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้นมา แล้วเราจะไปยึดเอาได้ตามใจเสียอย่างนั้นๆ เสมอ เพราะว่ามันมีมากเหลือเกิน ในมวลสารในโลก ที่มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เราพลิกแพลง ทำให้เราประกอบขึ้นมาไม่ได้ ตามที่เราหมาย ก็เป็นได้
เมื่อผู้ใดรู้เท่าทันแล้ว ผู้นั้นก็จะไม่พลาด ไม่เจ็บใจ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ถ้ามันไม่สมหมาย และการที่เป็นไปตามจริงที่เราคาด ที่เราหมายที่เราหวัง มันก็เป็นได้ เมื่อการปรุงแต่ง หรือการประกอบ การผสมกระทำขึ้นมา มันมีข้อมูล มีเหตุปัจจัย มีสิ่งที่เป็นต้นรากเหง้า หรือว่ามีองค์ประกอบอะไรที่มันลงตัว มันเป็นไปตามนั้นจริง มันก็เกิดสิ่งนั้น มันอาจจะเกิดดียิ่งกว่าเราวาด เราคาด เราหวังก็ได้ แต่มันก็ไม่ใช่ว่า เรื่องที่จะน่าตื่นเต้นดีใจอะไร มันก็จะต้องมีเหตุปัจจัยมาแต่เหตุ ที่เราค้นไม่เจอ หรือว่าเรานึกไม่ถึงทั้งสิ้น แต่มันดีก็ดีไป มันดียิ่งกว่าเราคาดก็ดีไป จิตใจที่เรารู้เท่าทันสภาพที่แท้ มันจะไม่ถึงใจ หรือแม้ว่ามันจะเกิน ตามที่เราคาดเราหมาย ก็เป็นจุดธรรมดาที่เราจะได้รู้ ถ้าอาการที่เรารู้แล้ว ถ้าได้มากกว่าที่เราคาดหวังไว้ แล้วก็เกิดพองใจดีใจ ก็จงรู้เถิดว่า นั่นคือจิตของเราได้ฟู จิตของเราได้เกิดความเป็นจริง ตามความเป็นจริง จิตของเราได้เอร็ดอร่อย หรือว่าเป็นรสโลกไปมากแล้ว เราคาด เราก็พลาดหวัง เราก็เสียใจ เราก็น้อยใจท้อแท้ใจ นั่นก็เป็นเรื่องของโลกอีก ซึ่งมันเป็นไปได้ แต่เราจะต้องไม่เสียใจ ต้องไม่จริงๆ ต้องคิดให้เท่าให้ทันว่า จะไปเสียมันทำไมใจ ก็ของที่ไม่ได้สมใจ มันก็เสียไปหนึ่งขั้นแล้ว แล้วยังไม่พอ ใจของเรา ยังมาเสียซ้ำเข้าไปอีก แสดงว่าเราโง่มาก โง่ สิ่งนั้นที่มันยังไม่ได้ ด้วยเหตุปัจจัยครบ จึงไม่ได้ตามเป็นจริง แต่แล้วเรายังมาเอาใจของเรา ท้อแท้อ่อนแรง เสียลงไปอีก เบาลงไปอีก นั่นเราโง่จัดเกินไป ต้องคิดให้เห็นคิดให้ถึง เราจะต้องไม่ท้อแท้ ไม่เสียใจ เมื่อมันไม่ได้ตามที่เราคาด เราก็รู้ว่า มันไม่ได้ตามที่เราคาด แล้วก็ค้นหาเหตุที่บกพร่อง ถ้าดีที่เราควรจะทำ เราก็ทำขึ้นไป ถ้ามันไม่ดีแล้ว เราก็ไม่ทำอะไรสักอย่างหละ ถ้ามันไม่ควรทำ แต่สิ่งใดควรทำ ก็ทำให้ดีขึ้น ผู้เข้าใจความจริงตามความเป็นจริง ถึงสิ่งที่สร้างที่เกิด แล้วก็กระทำใจ อย่างที่ว่านี้ได้จริง เรียนรู้สภาวะทุกอย่างๆ ที่มันเกิดในโลก แล้วเราก็ทำใจของเรา ให้เฉยนิ่ง มีแต่ธาตุรู้ ที่เป็นธาตุรู้อันชัดเจน เราก็เรียกจิตเหล่านี้ว่า จิตวาง จิตว่าง จิตไม่ตื่นเต้น จิตไม่เสียใจ ไม่ดีใจ จิตไม่โลภ ไม่โกรธ แต่จิตนี้เป็นตัวปัญญาอันแท้จริง เป็นปัญญาอันยิ่ง เป็นญาณทัสสนะวิเสส อันมีวิมุติ อันมีสิ่งที่รู้ยิ่ง ที่ไม่ควรจะไปทุกข์กับมัน ที่ไม่ควรไปปรุงไปแต่งไปเพิ่มไปหลง กับที่โลกเค้าตั้งไว้ มันมีอยู่เต็มโลก โลกองค์ประกอบที่เรียกว่า เป็นเครื่องประโลมโลก นี่เรียกว่าอนุพยัญชนะ เรียกประโลมโลก เรียกกิเลส เรียกตัณหา เรียกอะไรต่างๆนานา พวกนี้ภาษาเรียกสิ่งเหล่านั้น คือจิตที่เราไปยึดหมาย แล้วก็ไปหลงรัก หลงชอบ หลงพอใจ หลงดีใจเสียใจอะไรอยู่นี่ เป็นตัวที่ทำให้เราเองนะ แพ้พ่าย เรียกว่า เป็นผู้ที่ยังไม่ถึงที่สุด แห่งการรู้อย่างแท้จริง ที่เป็นอริยะบุคคลขั้นสูงสุด หรือปราชญ์ขั้นสูงสุด
เราจะต้องเรียนรู้ แทงทะลุถึงสังขารที่ปรุง ดังกล่าวแล้ว กับการทำหัวใจ ให้มันเป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่จิตวาง ว่างอยู่ ปล่อยอยู่ เป็นธาตุรู้เต็มให้ได้
*****