ธรรมปัจจเวกขณ์ (64)
6 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
ท่าทีต่างๆหรือว่ารูปแบบต่างๆ ที่เราทำกันอยู่เป็นประจำ ต้องพิจารณา ถึงผลประโยชน์ ถึงคุณประโยชน์ของมัน ว่ามันได้คุณประโยชน์ ตรงเป้าหมายที่เราเอง เราได้กระทำขึ้นไปหรือไม่ ถ้าสักแต่ว่าทำโดยรูปแบบ สักแต่ว่าทำท่าที แต่ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจว่า เราหมายอะไร เราจะทำอะไร เราจะให้ไปถึงสภาพละเอียดลออ ไปถึงกระทั่งขั้นนามธรรม เข้าไปหยั่งรู้ถึง จิต-เจตสิก-รูป แม้กระทั่ง ปรับเปลี่ยนจิต-เจตสิกได้ มันได้ผลประโยชน์อย่างนั้นหรือไม่ ถ้าทำแล้วไม่มีผลประโยชน์ แม้ตนก็ไม่ได้ คนอื่นก็ไม่ได้ด้วย ก็เลิกกันก็ต้องทิ้งกัน แต่ถ้าทำแล้วได้ประโยชน์ ทั้งตนเองก็เป็นประโยชน์อยู่ ทำแล้วก็ได้ตั้งอกตั้งใจ ได้พิจารณา ได้กระทำอะไร ส่งผลให้เกิดการตัด ละ หน่าย คลาย ลดกิเลสตัณหา หรือว่าทำให้เราได้รู้จับจิตได้ จับเจตสิกได้ รู้อารมณ์ได้ มีสภาวะปรมัตถ์ สามารถที่จะรู้กาย รู้เวทนา จับถึงจิต แล้วก็อ่านถึง ธรรมารมณ์ออก พิจารณาเป็นกุศล-อกุศลได้ และก็ได้ปรับเปลี่ยนกุศล ปรับเปลี่ยนอกุศล ให้กุศลมั่นคงขึ้น ให้อกุศลละลายไป จางคลายไป
ถ้าเราได้ทำอย่างนั้นอยู่ เป็นประโยชน์อยู่ ก็จงดำเนินไป แม้เราเอง เราจะได้ประโยชน์นั้นแล้ว ในบางครั้ง เราจะมีรูปแบบอย่างนั้น เราจะมีอาการอย่างนั้น ท่าทีอย่างนั้น สร้างรูปแบบนั้นเอาไว้ เพื่อประโยชน์ผู้อื่น เราก็จงรู้เพื่อประโยชน์ผู้อื่น รู้ในประโยชน์ท่าน ว่าเราทำนั้น ได้เกื้อกูลได้เอื้อเฟื้อ ด้วยการที่จะส่งผลสืบต่อ เป็นประโยชน์ เป็นธรรมทาน เป็นการสืบต่อ เป็นการทำประโยชน์ จูงดึงกันขึ้นมาๆ ก็ให้รู้ต่อประโยชน์นั้น ถ้ามันไร้สาระทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านไม่มี ก็เป็นอันจบกัน เพราะงั้น การกระทำใดๆ เป็นรูปแบบใดๆ ท่าทีใดๆ ที่เรากระทำอยู่ อย่าให้เปล่าประโยชน์ ถ้ามันได้ประโยชน์ทั้งสองส่วนก็ยิ่งดี ถ้าเราจบประโยชน์นั้นแล้ว แม้การกระทำนั้นๆ เป็นแต่เพียงรูปแบบท่าที เพื่อผู้อื่นเท่านั้น เราก็จงวางใจ เราก็จงเบาใจ ได้ประโยชน์เต็ม ก็จงปั้นประโยชน์ ปั้นรูปแบบนั้น ทำอันนั้นให้เป็นวินัย เป็นจารีต เป็นประเพณี เป็นฐานพัก ให้ผู้อื่นจูงดึงขึ้นมา เขาจะได้อาศัยอันนั้น ติดขึ้นตามขึ้นมา
เราก็จงพยายามทำความเข้าใจให้ชัดเจน และก็ยังประโยชน์เหล่านั้นต่อไปๆ สิ่งเหล่านี้ จึงเรียกว่า ศาสนา
*****