ธรรมปัจจเวกขณ์ (66)
8 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
ผู้ที่เข้าใจคำว่า “ญาณ” เข้าใจถึงคำว่า “ทิฏฐธรรมสุขวิหาร” โดยรู้ว่าเราเอง เรามีสติสัมปชัญญะ มีธรรมวิจัย ซึ่งเป็นองค์แห่งโพชฌงค์อันสำคัญ มีวิริยะ ทำงานร่วมด้วยอย่างเต็มที่อยู่ ผลที่เกิดขึ้นได้คือ เกิดรู้ดี เห็นดี เข้าใจดี เป็นดีที่ถูกต้อง เป็นกุศลธรรมที่แท้จริง แล้วก็ละชั่ว หยุดชั่ว ระงับชั่ว พรากจากชั่ว พยายามค้นคิดหาเหตุผล ให้รู้ว่าโทษภัยของความชั่ว มันมีอย่างไรๆ เราได้ทำจริง เมื่อเกิดผลดี มีวิมุติก็ดี มีความรู้แท้ก็ดี เป็นวิมุติญาณทัสสนะ เป็นผลอันเป็นผลบริบูรณ์ เกิดอยู่เป็นอยู่ เราจะเกิดปีติ เราเรียกว่าปีติก็ดี เราเรียกว่าปัสสัทธิ ความสงบระงับลงมาได้ก็ดี หรือเราจะเรียกว่าอุเบกขา เป็นที่สุดก็ดี องค์แห่งธรรมที่เกิดอย่างนั้น เป็นผลที่เราเกิดอยู่ เป็นอยู่ หรือแม้ว่า มันจะไม่ถึงผลนั้น มันรู้อยู่แล้ว เราก็มีหิริโอตตัปปะ มีการละอายต่อบาปนั้น ที่เรายังมีอยู่เหลืออยู่ แล้วก็พยายามพากเพียรปฏิบัติ เพื่อหน่าย จาง คลาย ด้วยวิธีกดข่มฝืน พรากห่างมาแบบสมถะธุระดื้อๆ หรือว่าจะเป็นวิปัสสนาธุระ โดยการพิจารณาซ้ำซ้อน ให้เห็นวิปัสสนาญาณ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในโทษภัย จนกระทั่งแน่ใจว่า เราควรออก ควรพราก เราควรเปลื้อง ควรปล่อย
เมื่อเราได้ทำอยู่ดังนี้ และก็มีปกติ มีวิตกวิจาร มีปีติ คือผลได้, แล้วก็มีสุข เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร แล้วก็ทำให้จิตใจของเรา เป็นอุเบกขาธรรม องค์อุเบกขาธรรมนั้น มันจะมีเป็นสันตวิหาร ความวางความว่างเป็นอากาสาฯ ก็รู้จิตของเราเป็นธาตุรู้ เรียกว่าวิญญาณ ก็มีอยู่จริง ส่วนที่มันมี จนกระทั่งมันหมด เป็นอากิจจัญฯ สิ่งที่มี เรียกว่าโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าแม้อนุสัยอาสวะ ก็หมดไป นิดหนึ่งน้อยหนึ่งไม่มี ก็รู้ในส่วนที่มันไม่มี ในส่วนที่น้อยลงอยู่ ก็เป็นบทบาทที่กำลังไหลเอียงเท เดินทางไปสู่จุดที่เราหมาย เป้าหมาย อย่างมีอภิชัปปา อย่างไม่ร้อนรนจนเกินขอบเขต ให้ตัวเองมีทุกข์ ทับถมตนเข้าไปอีกซ้ำซ้อน อย่าไปเป็นอย่างนั้น เมื่อเราเจริญอยู่ ดำเนินไปอยู่ ถ้าจะเพ่งเพียร เพื่อให้มันเพิ่มได้ จงเพิ่มตามฤทธิ์ตามแรง ที่เราสามารถทนได้ หรือว่าแข็งแกร่ง หรือสามารถจะมีตบะ ก็กระทำเอา ให้พิจารณาให้เห็นความเป็นจริง ตามระดับความเป็นจริงที่มันมี เราก็เดินไปสู่เป้าหมาย เพราะฉะนั้น อันใดที่ยังไม่ชัด ยังไม่เป็นเนวสัญญานาสัญญา เราจะต้องกำหนดให้จริง กำหนดให้มันตรง ให้มันถูกลักษณะ ให้มันอ่านให้เป็น “สัญญาเวทยิต” ให้มันลูบให้มันเล้า ให้มันแลบเลีย ให้มันเคล้าเคลีย ให้มันอ่านให้มันรู้หัวรู้หาง รู้แง่มุม ให้ชัดเจนนั่นเอง ทำ “สัญญาเวทยิต” จนกระทั่ง เราอยู่เหนือ อยู่เหนือสิ่งเลวนั้น หรือว่าดับสิ่งที่เลวนั้นได้สนิท มันก็มีนัยอันเดียวกัน ว่าเราอยู่เหนือสิ่งนั้น โดยสิ่งนั้นไม่มีฤทธิ์อะไร หรือเราดับสิ่งนั้นได้สนิท ฆ่าสิ่งนั้นตาย เราสามารถเอาสิ่งนั้นเป็นปุ๋ย หรือเอาสิ่งนั้นมาใช้ เอาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์ได้เลยทีเดียว เป็นเจ้าของสิ่งนั้น เรียกว่า เป็นเจ้าของสิ่งนั้นโดยเก่ง.
*****